เบื้องหลังความสำเร็จของเว็บไซต กระฉ่อนโลกอย่าง yahoo.com เนสเคป หรือแม้แต่แอปเปิล
คอมพิวเตอร์ ล้วนแต่มี venture capital เข้าไปมีส่วนด้วยทุกกรณี เพราะพวกนี้คือ
new money ที่ให้โอกาสกับคนที่มีไอเดียดี มองเห็นโอกาสของตลาดแต่ขาดเงินทุน
การลงทุนของ venture capital มักจะใช้ระยะเวลาลงทุนตั้งแต่ 1-5 ปีขึ้นไป
ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ คือจะเข้าไปลงทุนในช่วงเริ่มต้น จากนั้นจะขายหุ้นออกไปในช่วงที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มีการให้เปรียบเทียบแหล่งเงินทุนที่มาจาก
venture capital นั้นเหมือนพายุทอนาโด คือมาเร็วไปเร็ว และทำลายล้าง ด้วยเหตุนี้การลงทุน
venture capital จึงเป็นแหล่งเงินทุนที่ลงตัวเอามากๆ สำหรับธุรกิจในยุคอินเตอร์เน็ต
เพราะธรรมชาติของธุรกิจที่เกิดจากอินเตอร์เน็ตจะไม่มีโมเดลที่แน่นอน
ไม่มีใครรู้ว่าเด็กอายุ 13 ขวบที่นั่งทำเว็บอยู่กับบ้านจะกลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืนเหมือนกับความสำเร็จของโปรแกรมไอซีคิว
เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้บนอินเตอร์เน็ต ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสการยอมรับของตลาด
และบางครั้งธุรกิจนั้นก็อาจจะทำกำไรหรือไม่ก็ตาม หรือจะขาดทุนอย่างสะบักสะบอม
แต่ราคาหุ้นที่ขายในตลาดหลักทรัพย์อาจจะเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่าตัว หากได้รับการประเมินมูลค่าทางการตลาดมีอยู่มหาศาล
เป็นที่รับรู้ว่าโดยทั่วไปว่าการลงทุน venture capital ก็คือการลงทุนในธุรกิจที่เริ่มต้นแต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว
หากแบ่งการลงทุนของ venture capital แล้วสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นการลงทุนในธุรกิจเพิ่งเริ่มต้นจากศูนย์
venture capital ที่เข้าไปลงทุนในช่วงนี้จะเรียกว่า seeding หรือ angles
ซึ่งจะมีน้อย
ระยะที่สอง ระยะที่ธุรกิจมีสินค้าหรือบริการออกสู่ตลาดแล้ว และระยะที่สาม
คือเป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโต ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่บริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่นาน
venture capital แต่ละรายจะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกลงทุนในระยะที่สามของธุรกิจ
เพราะความเสี่ยงในการลงทุนจะน้อยที่สุด
บางครั้งธุรกิจไอทีขนาดใหญ่จะทำตัวเป็น venture capital เช่น กรณีของ
อินเทล ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ซิสเต็มส์ ที่ใช้เงินทุนไปในกิจการไอทีขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะเกือบหนุนกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ในกรณีของบริษัทแอด
เวนเจอร์ ของชินคอร์ปอเรชั่น ที่ลงทุนในเว็บไซต์ หรือซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ต่างก็จัดอยู่ในการลงทุน
จะว่าไปแล้วลักษณะการลงทุนของ venture capital ก็ไม่ต่างไปจากบรรดานักเสี่ยงโชค
หรือนักพนัน เพราะไม่มีทางรู้เลยว่า ธุรกิจที่เขาไปลงทุนนั้นสำเร็จหรือไม่
และไม่มีอะไรมาค้ำประกันเงินลงทุนด้วยว่าจะต้องได้เงินคืนกลับมา ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของโครงการ
หรือการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือขายหุ้นให้กับนักลงทุนอื่นๆ เช่นกรณีของ
yahoo หรือ amzon.com หรือ แอปเปิล คอมพิวเตอร์ หรือเงินลงทุนนั้นอาจจะละลายหายไปทันที
"ลงทุนไป 10 ราย ผิดพลาด 1 รายนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ถือว่าขึ้น
สวรรค์แต่ถ้าผิดพลาด 2-3 ราย ถือว่าเยี่ยม และถ้าผิดพลาดอีก 2-3 รายก็ถือว่าธรรมดาถ้าต่ำกว่านี้คือตกนรก"
ธาริน เอี่ยมเพชราพงศ์ ผู้จัดการการลงทุน บริษัท ไอเอฟซี โนมูระ/จาฟโก้ แคปปิตอล
จำกัด สะท้อนแนวคิด
การลงทุนของเวนเจอร์แคปปิตอล จึงต้องอาศัยประสบการณ์ในการวิเคราะห์
ความเป็นไปได้ของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเหล่านั้น ซึ่งหลักในการพิจารณาก็แตกต่างกันไป
ธารินเปรียบเป็น "กล่องดำ" ของแต่ละ venture capital จะนำมาใช้ในการตรวจสอบธุรกิจเหล่านั้น
การพิจารณาของ venture มักจะเริ่มตั้งแต่การดูในเรื่องของแผนธุรกิจ
(business plan) เป็นด่านแรกที่บางครั้งจะบอกได้เลยว่า จะเข้าไปลงทุนหรือไม่
และหลังจากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนของการพิจารณาที่จะลงรายละเอียดที่ลึกลงไป
ตั้งแต่การตรวจสอบรายละเอียดขั้นต้น จนกระทั่งการพิจารณาโครงสร้างการเงิน
(Deal diligence) โดยละเอียด ดูทั้งการเงิน อุตสาหกรรม ทีมบริหาร เทคโนโลยี
จากนั้นจะต้องพิจารณาเงื่อนไขการลงทุน และกำหนดแผนธุรกิจร่วมกันก่อนจะตัดสินใจเป็นขั้นสุดท้ายว่าจะลงทุนหรือไม่
ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 เดือนจนถึง 1 ปี
การตีมูลค่าของธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน
เพราะมันหมายถึงเม็ดเงินที่จะใส่เข้าไปในธุรกิจ และมูลค่าหุ้นที่จะเข้าไปถือ
ธารินบอกว่าส่วนใหญ่มักจะพิจารณาจากความสามารถในการทำรายได้ และกำไรของสินค้าหรือบริการ
และความสามารถนั้นจะเหนือกว่าคู่แข่งแค่ไหน ซึ่งจะเป็นจุดที่จะออกเป็นยอดขายหรือกำไร
(ดูตารางประกอบ) gap จะบอก ถึงความสามารถของสินค้าหรือบริการ ที่จะเหนือกว่าคู่แข่งมากน้อยเพียงใด
ซึ่งจะบอกถึงรายได้และผลกำไรที่จะเกิดขึ้นส่วน cap จะบอกถึงระยะเวลาที่บริษัทเหล่านี้มีขีดความสามารถเหนือกว่าคู่แข่ง
ซึ่งความสามารถในการทำกำไรนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะมีกลยุทธ์อย่างไร
ในการที่จะทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรได้ยาวนาน เพียงใด
"แน่นอนเวลาที่ผ่านไปแต่ละปีย่อมมีผล เพราะช่วงแรกคนที่ยอมรับในการใช้สินค้ายังมีไม่มาก
แต่จะสูงขึ้นถึงจุดสูงสุดจากนั้นเมื่อมีคู่แข่งเข้ามา ก็ต้องลดราคาสินค้าลงมา
ความสามารถ ในกำไร หรือรายได้จะลดต่ำลงเรื่อยจนไปถึงศูนย์ นั่นก็คือจุดสิ้นสุดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทแห่งนั้น
ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของบริษัทว่าจะมีธุรกิจก้อนที่สองหรือสามต่ออีกหรือไม่"
ธารินบอกถึงวิธีการประเมินมูลค่าธุรกิจของ venture capital
หลักการของ venture capital คือ จะถือหุ้นส่วนน้อย ซึ่งคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าจะต้องเป็นหุ้นสามัญเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การถือหุ้นของ venture จะมีตั้งแต่หุ้นบุริมสิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ์หรือในรูปแบบอื่น
"บางครั้งการลงทุนในหุ้นเลย อาจมีความเสี่ยงมากเกินไป อาจขอเข้ามาฐานะเป็นเจ้าหนี้ก่อน
แต่มีสิทธิที่จะแปลงสภาพหนี้ที่จะซื้อหุ้นได้ในอนาคต แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของธุรกิจ
และเวนเจอร์แคปปิตอลด้วยว่าจะลงทุนในรูปแบบไหน" ธารินเล่า
ถึงแม้ว่า venture capital เอาเงินมาให้ และปล่อยให้ธุรกิจบริหารงานเอง
แต่สิ่งที่ธุรกิจจะต้องเรียนรู้ ก็คือการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพราะสิ่งที่
venture capital ต้องการจากผู้ลงทุนเหล่านี้ก็คือ ข้อมูลความเป็นไปของธุรกิจ
รายได้ กำไรขาดทุน ต้นทุน ภาวะการแข่งขันของธุรกิจที่ไปลงทุน ที่ต้องรายงานผลทุกเดือน
เป็นสิ่งเดียวที่จะเป็นหลักประกันความสำเร็จอย่างหนึ่งที่จะทำให้เขาไม่พลาดกับการลงทุน
"ลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้ดูข้อมูลเป็นรายไตรมาส เรายังใจไม่ดีเลยตั้ง
3 เดือนกว่าจะรู้ ซึ่งช่วงนั้นเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในแง่ของผู้ลงทุนการได้ข้อมูลที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเมื่อ
เกิดปัญหาขึ้นจะแก้ไขได้ทันท่วงที" ธารินชี้แจง
ธารินเข้าใจดีว่าการส่งข้อมูลผลประกอบการของธุรกิจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องธุรกิจ แต่ในแง่ของ
venture capital จำเป็นต้องนำไปใช้เป็นหลักฐานในการอนุมัติเงินลงทุน และเพื่อประโยชน์สำหรับขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
และสำหรับการเข้าไปจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์
หลักการของ venture capital คือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการทำธุรกิจแต่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารแต่ก็ต้องให้ธุรกิจที่ลงทุนบรรลุผลสำเร็จ
venture capital ก็อาจจะใช้ประสบการณ์และ connection เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจ
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดยทั่วไปแล้ว venture capital จะมีการลงทุนในธุรกิจจำนวนมาก และหลากหลาย
และลงทุนในหลายประเทศด้วยเครือข่ายการลงทุนที่กว้างขวางนี้เองจะทำให้ venture
capital ใช้ประสบการณ์ทั้งสำเร็จและล้มเหลวมาช่วยเกื้อกูลให้แก่ธุรกิจที่เข้าไปลงทุน
ทั้งในแง่ของข้อมูล การหาตลาด หรือแม้แต่การทำตลาดร่วมกัน หรือแม้แต่การควบรวมธุรกิจระหว่างกันของธุรกิจที่ไปลงทุน
"ถ้าเขาทำสินค้าใหม่ขึ้นมา เราก็นึกว่าสินค้าตัวนี้จะวางขายในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่
เราสามารถไปค้นหาจากเครือข่ายร่วมลงทุน มีรายไหนบ้างที่เห็นโอกาส บางรายเรามองเห็นถึงขนาดที่ว่าขายให้ได้
หรือเอามาเพิ่มรวมกับสินค้าที่มีอยู่และร่วมกันทำตลาดออกไปให้เป็นสินค้าที่ดีขึ้น
หรือจับสองธุรกิจมารวมกันตั้งเป็นบริษัท ใหม่ขึ้นมาเลย" ธารินเล่า
หรือในบางกรณี venture capital จะช่วยหาทีมงานผู้บริหาร ทั้ง CEO หรือแม้แต่ฝ่ายการตลาด
Marketing มาให้ด้วย เพราะธุรกิจประเภทไอทีนั้นมักจะเป็นกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่อาจมีไอเดียดีๆ
แต่ขาดประสบการณ์ในเรื่องของ ธุรกิจ และจัดการ venture capital ก็อาจต้องยื่นมือมาช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้ด้วย
เช่นในกรณีของ jimmy.com
เมื่อการลงทุนไปถึงจุดที่บริษัทเริ่มประสบความสำเร็จ หรือมีราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นจนถึงช่วงที่
venture capital จะออกตัว (Exit) ซึ่งจะทำได้ทั้งการขายหุ้นหลังจากบริษัทเข้าตลาดหลัก
ทรัพย์ หรือขายหุ้นให้กับนักลงทุนอื่นๆ เมื่อเห็นว่าเงินทุนที่ลงทุนไปได้กำไรกลับคืนมา
การลงทุนของ venture capital จะอยู่ในระดับตั้งแต่ 1-3 ปี จะต้องขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่ลงทุน
และ นโยบายการลงทุนของ venture capital แต่ละรายซึ่งระยะเวลาการลงทุนของ
เขาเหล่านั้นสั้นลงทุกทีในสหรัฐอเมริกาใช้เวลาเพียงแค่ 8 เดือน
ยิ่งธุรกิจไหนที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมากเท่าใด ย่อมเป็นผลดีกับ
venture capital มากเท่านั้นแต่นั่น หมายความว่า venture capital พร้อม ที่จะทุ่มเงินทุนกับคุณเต็มที่
หากเห็นว่าธุรกิจนั้นไปได้ดี และพร้อมที่จะถอนตัวออกทันทีเมื่อธุรกิจนั้นเข้าตลาดหลัก
ทรัพย์ได้ หรือเห็นแล้วว่าย่ำแย่
การลงทุนของ venture capital ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย บริษัทธนสถาปนา
ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารไทย 7 แห่งก็มีอายุนับสิบปีแล้วไม่รวม venture
capital จากข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย
"อินเตอร์เน็ตทำให้ช่องว่างของเทคโนโลยีมีระยะความห่างน้อยลง ผู้ประกอบธุรกิจของไทย
จะมีโอกาสแข่งขันได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีของเว็บ" ธารินมองเห็นประโยชน์ที่ได้จากเว็บเทคโนโลยี
เป็นช่องทางในการลำเลียงสินค้า
และธุรกิจที่เกิดจากอินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจให้บริการอินเตอร์
เน็ต (ไอเอสพี) หรือเป็นเจ้าของเว็บไซต์ เท่านั้น แต่การใช้ประโยชน์จากอิน
เตอร์เน็ตเพื่อใช้เป็นอาวุธหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ก็ล้วนแต่เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น
"ในขณะที่ฮาร์ดแวร์ มีคนไม่กี่คนที่คุมอยู่ในโลกอย่างอินเทล หรือ
คอ มแพค ถ้าเป็นฮาร์ดแวร์ด้านเครือข่าย ซิสโก้คุมอยู่ แต่การเกิดของอินเตอร์
เน็ตทำให้ความแตกต่างระหว่างเขียนซอฟต์แวร์ในไทยกับคนอเมริกันมันแตกต่างกันน้อยมาก
เราอาจจะตามเขาทันหรือทำได้ดีกว่า ถ้าเราศึกษาและเข้าใจตลาดได้ดีพอ นี่คือโอกาสของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของเมืองไทย"
ธารินเป็นหนึ่งใน 4 ของผู้บริหาร IFCT Nomura/JAFCO Capital จำกัด หรือ
NJI ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการลงทุนในไทย และธุรกิจไอทีก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเป้าหมายในการลงทุนของโน
มูระที่เพิ่งปรับโครงสร้างโฟกัสการลงทุนเฉพาะบางธุรกิจได้ไม่นาน และไทยก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายการลงทุนของ
NJI
ก่อนหน้านี้ NJI ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท business tone เจ้าของเว็บไซต์
BizTONE.com มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทำธุรกิจให้เช่าแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาบนโปรแกรมจาวา
และจีนี่ ซึ่ง BizTONE.com จะเป็นผู้ outsource ทุกอย่างผ่านทางเครือข่ายอิน-เตอร์เน็ตลูกค้าไม่ต้องลงทุนซื้อ
เพียงแต่เสียค่าทรานแซกชั่นทุกครั้งที่ต้องการใช้เท่านั้น
การลงทุนใน BizTONE.com เป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จในการลงทุนธุรกิจทางด้านนี้
เพราะในปีหน้าบริษัทแห่งนี้จะเข้าไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เนสแดค
"BizTONE.com ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ เพราะแนวคิดที่ทำก็เป็นสิ่งที่ออราเคิลเคยพูดมาแล้ว
เพียงแต่ Biztone นำเอามาประยุกต์ใช้ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่ไม่ต้องการลงทุนมากๆ
เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด แต่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆได้ "ธารินยกตัวอย่างการลงทุนใน
Biztone.com ที่เป็นกรณีของการลงทุนที่ประสบผลสำเร็จ เพราะปีหน้าบริษัทแห่งนี้จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
และนั่นหมายถึงการที่ NJI จะได้กำไรจากการขายหุ้นในครั้งนี้
นั่นคือสิ่งที่ธารินต้องการบอกว่า ธุรกิจที่ดีในสายตาของ venture capital
ไม่ใช่เป็นไอเดียที่ดีเท่านั้น แต่สินค้าเหล่านั้นจะต้องสามารถตอบสนองความต้อง
การของตลาดได้
เงินลงทุนที่ NIJ เตรียมไว้สำหรับการลงทุนในธุรกิจแต่ละครั้งจะอยู่ที่
1-5 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่าธุรกิจเหล่านั้นจะต้องสามารถสนองตอบกับตลาดที่มีขนาดใหญ่พอสมควร
ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจควรจะต้องมองไม่ใช่แค่ตลาดในไทย หรือหากเป็นตลาดเมืองไทยจะต้องทดแทนการนำเข้าได้อย่างมากด้วย
"เราต้องการสินค้า หรือบริการที่ตอบสนองตลาด niche ได้ แต่จะต้องเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควรด้วย"
ธารินบอกว่าหลายคนเข้าใจว่า venture capital จะต้องเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์เท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลที่พบในหนังสือของ ฮาร์วาร์ด
บิสซิเนสสคูล พบว่าการลงทุนของ venture capital ในช่วงธุรกิจเริ่มต้นมีเพียงแค่
6% เท่านั้น และใช้เงินลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพียงแค่ 10% เท่านั้น
นั่นหมายความว่าในความเป็นจริงแล้ว venture capital ส่วนใหญ่จะลงทุนในธุรกิจที่เริ่มต้นไปพักใหญ่จนเริ่มมองเห็นโอกาสแล้ว
vinet capital เป็น venture capital สัญชาติไทย ที่ตั้งขึ้นมาจากกลุ่ม
นักลงทุนคนไทย ซึ่งมีณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเดอะแวลลูซิสเตมส์
เป็นหัวเรือใหญ่ของการลงทุนครั้งนี้
"ตลาดไทยพร้อมแล้วที่จะลงทุน" คำกล่าวสั้นๆ ของชนิตย์ ชาญชัยณรงค์
vice president investment บริษัทวีเน็ต แคปปิตอล ที่ถูกขยายความด้วยสาเหตุหนึ่งก็คือ
การมีซอฟต์แวร์ปาร์ค ที่จะเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมนี้ขึ้นในเมืองไทย เช่นเดียวกับในหลายๆ
ประเทศที่มีการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ขึ้น และก็ได้รับความสนใจจาก
venture capital
ตัวเลขขนาดของธุรกิจซอฟต์แวร์ในไทย ที่ชนิตย์ประเมินในเวลานี้มีอยู่
7,000 ล้านบาท จะโตเพิ่มเป็น 20,000-30,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 ปี
"เราเห็นแนวโน้มของธุรกิจ เพราะมีคนอยู่มากที่มีความรู้ ความสามารถแต่ขาดเงินทุน
และไม่มีความสามารถที่จะไปหาแหล่งเงินที่ถูกต้องได้" ชนิตย์บอกถึงช่องว่างของการเป็นแหล่งเงินทุนของ
venture capital ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ชนิตย์จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและโท มหาวิทยาลัยเปอร์ดู สหรัฐอเมริกา
สถาบันเดียวกับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผ่านประสบการณ์ในธุรกิจหลากหลาย จากธุรกิจคอมพิวเตอร์
บริษัทฮิวเลตต์แพคการ์ด เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จากกลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่น
และมีเดีย จากสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 รวมถึงความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุน
จากธุรกิจไฟแนนซ์ที่เขาคร่ำหวอดมาหลายปี
จากประสบการณ์เหล่านี้เองที่ชนิตย์ เชื่อว่าจะใช้ประโยชน์สำหรับการเป็น
venture capital ที่มีเป้าหมายอยู่ที่ลงทุนในธุรกิจไอที มีเดีย และเอ็นเตอร์เทน
เม้นท์
รูปแบบการลงทุนของ venture capital ไทยไม่ได้แตกต่างไปจากบริษัท ข้ามชาติ
นั่นก็คือการเป็นผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงในการลงทุน แต่ต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ
และการลงทุนจะถือหุ้นส่วนน้อยไม่ยุ่งในเรื่องการบริหาร แต่จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นบรรลุผลสำเร็จ
ด้วยการช่วยในเรื่องการบริหารตลาด
ความแตกต่างระหว่าง venture capital ของไทยและต่างชาติก็คือ ความยืดหยุ่นที่ผู้ประกอบการของไทยจะมีมากกว่า
ในเรื่องขนาดของธุรกิจ venture capital ข้ามชาติทั้งหลายจะไม่มองการลงทุนในธุรกิจที่มีขนาดเล็ก
จะมองหาแต่โครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถป้อนตลาดในเอเชียแปซิฟิก หรืออย่างน้อยก็ต้องทดแทนการนำเข้า
ซึ่งจะแตกต่างไปจาก venture capital ที่จะไม่ได้ให้ความสำคัญไม่จำกัดว่าธุรกิจเหล่านั้นจะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่
แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่มีแนวทางที่ดี
นอกจากนี้ระยะเวลาในการลงทุนก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน ความยืดหยุ่นของระยะเวลาในการลงทุนที่
venture capital จะมีระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวนานกว่า
สำหรับกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกธุรกิจที่จะลงทุนระหว่าง venture capital
ของไทยและข้ามชาติไม่ได้แตกต่างกันนักกรอบในการพิจารณาไอเดีย ความรู้ ความสามารถในการทำตลาด
การบริหารงาน ทีมงานจัดการความสามารถในการสร้างการเจริญเติบโต รูปแบบการดำเนิน
การความสามารถในการสร้างสินค้าและบริการให้เป็นที่รู้จัก และเติบโตได้หรือไม่
แต่ที่ต่างกันคือความยืดหยุ่นในเรื่องของกติกาบางอย่าง เพราะในขณะที่
venture capital ข้ามชาติอาจให้ความ สำคัญกับการที่ผู้ประกอบการจะต้องทำ
แผนธุรกิจ business plan แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับ venture capital ท้องถิ่น
"สิ่งที่เราอยากรู้จากเขาคือ ความ คิดของเขาว่ามีไอเดียอย่างไร มีเป้าหมายในการทำอะไรไว้บ้าง
การที่จะให้ผู้ประกอบการมาทำ business plan เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะยังมีวิธีอื่นที่เราจะรู้ได้ว่าเขาคิดอย่างไร"
การให้ความสำคัญของ venture capital ไทยจะอยู่ที่ตัวธุรกิจที่จะต้องมีแผนธุรกิจที่แน่ชัด
สำหรับเขาแล้วเมื่อมีไอเดียที่ดีแล้วจะต้องมีเป้าหมายที่ชัด และจะต้องมีวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายด้วย
"เราไม่สนใจว่าเขาจะไปอย่างไร จะอ้อมไป หรือเดินตรงไป แต่สิ่งที่สำคัญคือเขาต้องมีธงที่ปักไว้ในการที่จะ
ไปถึงเป้าหมาย ไม่ใช่มีแต่ไอเดียอย่าง เดียวที่สำคัญเลยคือต้องตีโจทย์ให้แตก"
สำหรับการเป็น venture capital ของเอดี เวนเจอร์ ในค่ายของชิน คอร์ปอเรชั่น
ก็มีแบบฉบับ หรือกฎเกณฑ์การลงทุนที่เป็นเฉพาะของตัวเอง และมีมุมมองที่แตกต่างไปจาก
venture capital ทั่วไป
หากเปรียบแล้วการลงทุนของเอดี เวนเจอร์ จะเหมือนกับการเป็น venture capital
อินเทล หรือไมโครซอฟท์ ที่จะต้องมองหาธุรกิจที่จะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเดิม
เพราะสิ่งที่เอดี เวนเจอร์ลงทุนอยู่ในเวลานี้ ก็คือการสร้างฐานข้อมูล
(content) ซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ ที่จะเป็นส่วนในสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
สื่อสารที่มีอยู่
โทรศัพท์มือถือในอนาคตก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเรื่องการใช้โทรศัพท์ (voice)
อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะส่งข้อมูล (data) ดาวน์โหลด (download) ข้อ มูลจากอินเตอร์เน็ต
เรียกดูข้อมูลราคาหุ้นสั่งซื้อหุ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไม่ช้าและนี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชินคอร์ป
ต้องลงมาเป็นผู้เล่นในตลาด content และอินเตอร์เน็ต
เอดี เวนเจอร์ มีแนวทางที่ต่างไปจาก venture capital ทั่วไปซึ่งมักจะให้น้ำหนักไปยังธุรกิจเริ่มต้นไปแล้วและมองเห็นโอกาสที่จะเติบโต
แต่เอดี เวนเจอร์จะลงทุนในธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือเป็นแค่หน่ออ่อน หรือ
seeds เท่านั้น
"การลงทุนในธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น ใช้เงินทุนไม่เยอะ" เหตุผลที่บุญคลี
ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร ชินคอร์ปอเรชั่น ที่บอกถึงการไม่รีบร้อนที่จะทำกำไรจากธุรกิจเหล่านี้
ระยะเวลาที่เขาให้สำหรับการลงทุนในเบื้องต้นคือ 2 ปี ซึ่งหากธุรกิจนั้นไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้
เอดี เวนเจอร์จะถอนการลงทุนทันที
ถึงแม้ว่าเอดี เวนเจอร์จะยึดหลักการเป็น venture capital ทั่วไปก็คือจะเข้าไปถือหุ้นส่วนน้อย
เพื่อให้เจ้า ของเดิมพัฒนาสินค้าและบริการต่อ แต่เอดี เวนเจอร์ก็มีโมเดลที่ต่างจากนักลงทุนอื่นนั่นก็คือจะไม่ได้ลงเงินอย่างเดียว
จะเป็นพาร์ตเนอร์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงาน และสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการในธุรกิจที่เข้าไปลงทุนด้วย
โดยจะอาศัยเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ทั้งในการสร้างตลาดให้กับสินค้าและบริการเหล่านั้น
จุไรรัตน์ยกตัวอย่างถึงการนำซอฟต์แวร์ไปขายให้กับพันธมิตรที่อยู่ในต่างประเทศ
มาเป็นส่วนเสริมในเรื่องการตลาดให้กับเจ้าของกิจการเหล่านั้น
สิ่งที่เอดี เวนเจอร์ทำตลอด คือการตามหาครีเอทีฟ (creative) และอิน
โนเวทีฟ (innovation) และนั่นคือที่มาของการไปถือหุ้นในเว็บไซต์มากกว่า 10
แห่ง ที่เจ้าของเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียน หรือคนเริ่มต้นทำงาน
เจ้าของไอเดียผลิตหุ่นยนต์ หรือซอฟต์แวร์
และจากประสบการณ์ 3-4 เดือน ที่แล้วมาทำให้มุมมองการลงทุนของเอดี เวนเจอร์
ชัดเจนมากขึ้น
"บางคนมีโครงการดีมี vision ในขณะที่บางคนมีแต่ vision แต่ไม่มี action
เลยหลายคนคิดว่าพอได้เงินแล้วเป็นจุดสิ้นสุดของการทำงาน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของธุรกิจ"
จุไรรัตน์ อุณหกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
เอดี เวนเจอร์เล่า
บททดสอบเบื้องต้นในการคัดเลือกธุรกิจที่จุไรรัตน์ให้ความสำคัญมากก็คือ
ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะต้องมีความเป็นเจ้าของมากกว่าที่จะเป็นลูกจ้างเพราะ
นั่นคือสิ่งที่จะสะท้อนว่าธุรกิจนั้นเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่
จนถึงวันนี้การเข้าไปลงทุนซื้อเว็บไซต์มากกว่า 10 เว็บที่ผ่านมา กลับเป็นแค่กลยุทธ์ในการสร้างชื่อให้กับเอดี
เวนเจอร์ให้ติดตลาดเท่านั้น แต่ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังยุทธศาสตร์นี้
ก็คือธุรกิจซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์
"หลายคนเข้าใจว่า เราสนใจแต่ web หรือ content เป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้นที่จะมาช่วยในการสร้างชื่อให้เราเพราะ
เรื่อง web คนจะเข้าใจมากกว่าการลงทุน ในหุ่นยนต์ 5 ตัว เรายังมีส่วนของซอฟต์
แวร์ และฮาร์ดแวร์ แต่ไม่อยากเปิดตัวเพราะเป็นเรื่องของสิทธิบัตรที่เรายังไม่ได้จด"
"ที่เราทำกับเว็บไซต์ในเวลานี้ก็คือ ไม่ต่างไปจากแกรมมี่ที่สร้างชื่ออยู่ในธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์"
บุญคลีสะท้อนแนวคิด
เงินทุน 200 ล้านบาทที่ชินคอร์ป เตรียมไว้สำหรับการลงทุนของเอดี เวน
เจอร์เวลานี้ ครึ่งหนึ่งถูกใช้ไปสำหรับการ สร้างเครือข่ายอินทราเน็ต ที่ให้คนมาใช้เรียกดูเว็บไซต์ในประเทศและอีกครึ่งหนึ่งจะใช้ไปสำหรับการลงทุนในกิจการต่างๆ
ที่อาจต้องมี
ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของ venture capital ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจไอทีของเมืองไทย
และนี่คือปรากฏการณ์ของคลื่นลูกใหม่ที่มาพร้อมกับคลื่นของอินเตอร์เน็ต