ปูนซิเมนต์ไทยยังไม่มีอะไรตื่นเต้น

โดย ชาย ซีโฮ่
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

" ชุมพล ณ ลำเลียง" ถูกประกาศให้เขาขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง ของปูนใหญ่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการคาดหวังว่า จากนี้ไป คงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ขึ้น ในเครือซิเมนต์ไทย ตามบุคลิกของเขา แต่จากการวิเคราะห์และเปิดใจ ของเขา ชื่อว่าได้สร้างความตื่นเต้นให้หลายคน ที่จะเห็นการ เปลี่ยนแปลง คงจะไม่มี แต่ในวันหน้า ไม่แน่นัก เพราะอะไร?

"ผมเพิ่งได้รับการโปรเป็นครั้งแรก" พนักงานบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หมายเลข ประจำตัว 4877 ชื่อ ชุมพล ณ ลำเลียง บอกกับ " ผู้จัดการ

ภายหลังการได้รับประกาศจากคณะกรรมการให้ขึ้นรับตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการ ใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย เมื่อพนักงานคนดังกล่าว ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของบริษัทอุตสาหกรรม ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่ เกิดจากแนวคิดของเขา ก็ย่อมมีมาก เพราะที่ผ่านมา ชุมพล นักบริหารทีมีประสบการณ์ที่หวือหวามากที่สุด คนหนึ่ง

อย่างเช่น ที่เขาได้ชื่อว่า เป็นนัก Take over คนแรก ๆ ของประเทศ!!

ตัวอย่างการ Take over บริษัทกระดาษ ที่ชื่อสยาม คราฟท์ ของปูนซิเมนต์ไทย ก็ผ่านการวิเคราะห์ ตัวเลขว่าคุ้มค่าที่จะเข้าควบกิจการหรือไม่ ก็เป็นหนึ่งในงานแรก ๆ ของเขาที่มารับตำแหน่ง ที่ปูนซิเมนต์ไทย ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการเงิน( เทียบเท่า ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่)

ความคาดหวัง ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกดกับเครือซิเมนต์ไทย เริ่มมีเค้า ที่จะมองเห็นบ้าง เมื่อชุมพล ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการพร้อมกับการประกาศปรับโครงสร้างการบริหารของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย

โครงสร้างใหม่ที่เปลี่ยน จาก 3 สาย 4 กลุ่มธุรกิจ คือ สายซิเมนต์ และวัสดุทนไฟ สายการตลาด และการค้า สายการบริหารกลาง กลุ่มเครื่องจักรกล และไฟฟ้า กลุ่มยื่อกระดาษ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ มันเป็นการแบ่งสายงานเหลือเพียง 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มซิเมนต์ กลุ่มวัสดุ ก่อสร้าง กลุ่มเครื่องกลและไฟฟ้า กลุ่มกระดาษและปิโตรเคมี อย่างน้อย น่าจะทำให้การมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่ปูนใหญ่ จะต้องมีอย่างแน่นอน

บวกกับคำบอกเล่า ของชุมพล ในวันเปิดตัวต่อสาธารณชน เป็นครั้งแรก ผ่านสื่อมวลชน เมื่อปลายเดือนมกราคม พร้อมกับประกาศว่า จากนี้ไป นโยบายของเขาก็คือ การกระจายอำนาจ ดูจะยิ่งทำให้ภาพของการบริหาร ของคณะจัดการปูนซิเมนต์ไทยยุคใหม่ที่ชุมพล เป็นนายใหญ่ ดูจะเปลี่ยนจากยุค ของพารณ อิศราเสนา ณ อยุธยา ที่เกษียณ เมื่อปลายปีก่อน คนต่างก็จับตามากนัก

ชุมพล กล่าวว่า การกระจายอำนาจ ในความหมายที่เขากล่าวถึงนั้น หมายถึงการให้ผู้บริหาร บริษัทในเครือ ต่างก็สามารถ ที่จะทำงานของตนได้ตามที่เห็นสมควรมากขึ้นโดยไม่ต้องรอการขออนุมัติจากคณะจัด การอย่างที่ผ่านๆ มา

" คือเมื่อปีก่อน เวลาจะทำอะไร เขาต้องขออนุมัติแต่ตอนนี้ เปลี่ยนมาเป็นรายงานให้ทราบ หรือขอปรึกษา" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย คนใหม่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่ในส่วนของคณะจัดการและคณะกรรมการ ชุมพล ยอมรับว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานัก เพราะทุกอย่างยังคงรูปแบบการบริหารเดิม ๆ ไว้ แม้กระทั่งการลงทุนใหม่ๆ ในวงเงิน 20 ล้าน บาท แม้กระทั่งการลงทุนใหม่ ๆ ในวงเงิน 20 ล้าน ยังต้องผ่านการพิจารณาจากคณะจัดการ ซึ่งมี จำนวน 7 คน คือชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทวี บุตรสุนทร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มซิเมนต์ สบสันต์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มเครื่องจักรกลและไฟฟ้า ฉายศักดิ์ แสง-ชูโต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มกระดาษและปิโตรเคมี บันลือ กัมปนาทแสนยากร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และเปรม โชติวานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่

นั่นเป็นเพราะธรรมเนียม ปฏิบัติของเครือซิเมนต์ไทย ต้องการที่จะให้การลงทุนหรือทำอะไร ของเครือ จะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ

" เครือซิเมนต์ไทย ไม่เคยให้ใครตัดสินใจโครงการใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณพารณ คุณชุมพล เพราะบริษัทนี้ไม่ใช่ของคุณพารณ คือ คุณชุมพล แต่บริษัทนี้ มีผู้ถือหุ้นกว่าหมื่นคน การตัดสินใจ จึงพลาดไม่ได้ การตัดสินใจจึงต้องเป็น group decision ทวี บุตรสุนทร รองผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต็ไทย อธิบายถึงเหตุผลที่หลายเรื่องต้องเข้าที่ประชุมคณะจัดการให้ " ผู้จัดการ" ฟัง พร้อมกับย้ำว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุน บุคลากร จนถึงชื่อเสียงของเครือ ก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

ทั้งนี้เพราะ เครือซิเมนต์ไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องของพนักงานมาก อาจจะเพราะกล่าวได้ว่า ปูนซิเมนต์ไทย เป็นบริษัทเดียว ที่เจ้าหน้าที่ระดับกรรมการบริษัท ต้องลงมาเป็นผู้สัมภาษณ์ พนักงานใหม่ ด้วยตนเอง

และไม่เป็นเรื่องแปลกนัก หากจะกล่าวกันว่า การปรับโครงสร้างใหม่ของปูนซิเมนต์ไทยในครั้งนี้ ก็เพื่อลดปัญหาเรื่องคนด้วย

" คือเดิมมันมีหลายชิ้น แต่การปรับโครงสร้าง ครั้งนี้ ทำให้กลาย เป็นว่าลดจำนวน ชั้นลงมา แต่เพิ่มพื้นที่แต่ละชั้น " ชุมพล กล่าว ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ เขาเรียกว่า การกระจาย อำนาจ ให้กับผู้บริหาร ระดับกลาง หรือกรรมการผู้จัดการบริษัท ในเครือนั่นเอง

ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างของเครือซิเมนต์ไทย ในครั้งนี้ ก็เป็นสัญญานของการเปลี่ยนโยบาย การทำธุรกิจของเครือซิเมนต์ไทย อันเนื่องมาจาก สถานการณ์ปัจจุบัน เครือซิเมนต์ไทย เริ่มมีคู่แข่งในหลาย ๆ สินค้า ที่เครือมีการผลิตเข้ามาแข่งขัน

ตัวอย่างง่าย ๆ อุตสาหกรรม ผลิตปูนซิเมนต์ ที่ปูนซิเมนต์ไทย ในฐานะ บริษัท ผู้ผลิตรายการรายแรก และรายใหญ่ที่สุดของประเทศ กำลังถูกท้าทาย จากคู่แข่ง ในวงการธุรกิจ หลายราย ที่หันมาลงทุน ในการผลิต ปูนซิเมนต์ นับตั้แต่ ภาวะการขาดแคลนปูนซิเมนต์ เกิดขึ้นในประเทศเมื่ อ 3-4 ปีที่ผ่านมา

อันตลาดปูนซิเมนต์ เดิมมีผู้ลิตเพียง 3 บริษัท คือปูนซิเมนต์ไทย หรือปูนใหญ่ ต่อมาก็เป็น ปูนซิเมนต์นครหลวง หรือปูนกลาง และอันดับสุดท้าย คือชลประทาน ซีเมนต์ หรือปูนเล็ก มีส่วนแบ่งตลาดในระดับที่ใกล้เคียงกับกำลังการผลิตของแต่ละราย คือ 60/30/10 .ในรูปแบบที่ตลาดเป็น oilgopoly ที่ผู้ผลิตทั้ง 3 รายเป็น price maker

แต่เมื่อบริษัทที่ 4 คือ ทีพีไอโพลีน เปิดดำเนินการเป็นรายใหม่ รายแรกเมื่อปีที่ผ่านมา รูปแบบตลาดก็เปลี่ยนไป

ผู้ผลิต เดิมทั้ง 3 ราย ไม่สามารถ ที่จะอยู่นิ่งได้ ยิ่งเมื่อบวก กับสถานการณ์ภาวะตลาดปูนซิเมนต์ในปัจจุบัน เริ่มมีการตลาดมากว่า ความต้องการ ( over supply) ด้วยแล้ว ปูนซิเมนต์ไทย ก็ถูกท้าทายดี ๆ นี่เอง

การแยกกลุ่มซิเมนต์ของปูนซิเมนต์ไทยออกมาจากกลุ่ม วัสดุก่อสร้าง ก็เป็นเสมือนสัญญานว่า เครือซิเมนต์ไ ทย จะไม่ตั้งรับอีกต่อไปแล้ว สำหรับตลาดดั้งเดิมของเขา

" เราจะทำตลาดแบบ aggressive มากขึ้น" ทวี บุตรสุนทร รอง ผู้จัดการใหญ่ ผู้ดูแลกลุ่มซีเมนต์โดยตรง กล่าวย้ำถึงการทำตลาดในวันนี้

รองผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวถึงกลุ่มซิเมนต์ ที่ตนเป็นผู้รับผิดชอบว่า เป็นเสมือนหนึ่งการแยกบริษัทปูนซิเมนต์ไทยออกมาดำเนินการค่อนข้างอิสระจากเครือซิเมนต์ไทย เพื่อลดความอุ้ยอ้ายในการทำตลาด พ่วงด้วยการให้บริษัท ค้าสากลซิเมนต์ หรือ SCT ( Siam Cement Trading) ออกมารวมกลุ่มด้วย

การให้ค้าสากลซิเมนต์ออกมาเป็นงานค่อนข้างอิสระ ย่อมมีนัยยะที่สำคัญอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้เพราะ สำหรับเครือซิเมนต์ไทยแล้ว ค้าสากล ซิเมนต์ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความสำคัญมาก บริษัทหนึ่ง

" ก้าวที่สำคัญและถือได้ว่าเป็นการมองการณ์ไกล ของเครือซิเมนต์ไทย ก็คือ การก่อตั้งบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ขึ้นในปี 2521 โดยมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทดังกล่าว เป็นกลไกของเครือซิเมนต์ไทย ในด้านการค้าระหว่างประเทศตลอดจนการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ... "ตอนหนึ่งของรายงาน ประจำปี เครือซิเมนต์ไทย ประจำปี 2530 กล่าวไว้ และยังมีการให้ความเห็นด้วยว่า เครือซิเมนต์ไทย เชื่อว่าในยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก การขยายบทบาท ด้าน การค้าระหว่างประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กันกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี่

ซึ่งเชื่อกันว่า การที่ครั้งหนึ่ง ในระหว่างปี 2523-24 ซึ่งชุมพล ณ ลำเลียง รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการค้าสากลซิเมนต์ เขาคงเห็นว่า ศักยภาพของเครือซิเมนต์ไทย ในอนาคตเหมาะสมที่จะไปต่างประเทศ

อันสอดคล้องยิ่งกับคำประกาศของเขา ในวันเปิดตัวต่อสื่อมวลชนว่าจากนี้ไป มาตรฐานของเครือซิเมนต์ไทย จะต้องเป็นระดับ internation compettitive

นอกจาก " นามธรรม" ที่กล่าวถึงแล้ว ดูเหมือนว่า " รูปธรรม" ของการออกไปต่างประเทศ ของเครือ ซิเมนต์ไทย ก็เริ่มมองเห็น บ้างแล้วในวันนี้

อย่างเช่น การให้รองผู้จัดการใหญ่ และผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ อาวุโส ทำหน้าที่เป็น countries specialist ในการดูเรื่องการค้า การลงทุน ในต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศในกลุ่มอาเซียน และอินโดจีน คือ ทวี ดุการค้าการลงทุน ในประเทศพม่า และจีน ตอนใต้ ประมนต์ ดูแลประเทศฟิลิปินส์ ฉายศักดิ์ ดูเกี่ยวกับประเทศอินโดนีเซีย และสบสันต์ ดูกลุ่มประเทศอินโดจีน น่าจะเป็นการเริ่มต้นในเรื่องการรุกตลาดต่างประเทศ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์

" การปรับตัวครั้งนี้ มาจากเหตุผล 2 ประการ ชุมพล กล่าว พร้อมทั้ง อธิบาย รายละเอียดว่า ประการแรก มาจาการที่เกดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศอาเซียน นับตั้งแต่ ปี 2535 ที่เตรียมจะมีเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) อันจะทำให้ภูมิภาคอาเซียน เข้าสู่การเป็นเขตปลอดภาษีในสินค้า 5 หมวด

ประการต่อมา คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกดขึ้น ในกลุ่มประเทศอินโดจีน ในช่วงที่ผ่านมา ที่เป็นแนวโน้มว่า กลุ่มประเทศดังกล่าว เริ่มที่จะมีการบูรณะประเทศและเพิ่มการค้าการลงทุนในประเทศมาก ซึ่งในเรื่องนี้ โอกาสของเครือซิเมนต์ไทย มีมากทั้งในด้าน การเข้าไป ค้าขายสินค้า พวกวัสดุก่อสร้าง จนถึงการเตรียมเข้าไปลงทุนหรือร่วมทุนในอินโดจีน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า อนาคตของเครือซิเมนต์ไทย มีแต่การขยายพื้นที่การค้า และการลงทุน ไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้ลงทุนอย่างอดีตที่ผ่าน ๆมา

ผู้บริหาร ของเครือซิเมนต์ไทย ทุกคน ต่างก็ยืนยันว่า ไม่ว่าการลงทุน ของส่วนใหญ่ จะเป็นการลงทุน ในหรือต่างประเทศ ก็ตาม จะยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมหลัก 5 อย่าง ที่เครือซิเมนต์ไทย ได้เปรียบในเรื่องการผลิต คือ ปูนซิเมนต์ เซรามิค ซีเมนต์ใยหิน เยื่อกระดาษ non-wood และบรรจุภัณฑ์

นั่นหมายความว่า เครือซิเมนต์ไทย เริ่มมองแนวการทำธุรกิจที่ค่อนข้างจะ " อนุรักษ์นิยม" ในสายงานเดิม ๆ ที่ดูจะต่างไปจากบุคลิกของชุมพล ที่ดูจะเป็นคนที่แนวคิดในการทำธุรกิจค่อนข้างที่จะแข็งกร้าวอย่างยิ่ง

" อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจน้อยลง เพราะเมืองไทยก็ไม่ค่อยจะขาดอะไรแล้ว และอุตสาหกรรมที่เราทำก็มากพอที่จะหันไปให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาคน พัฒนาสินค้า ให้มีคุณภาพทีเราต้องการ" ชุมพล กล่าว

คำกล่าวของชุมพล ดูจะสอดคล้อง กับการพัฒนาอุตสาหกรรมของเครือซิเมนต์ไทย ในระยะ 15-20 ปีที่ผ่านมา จนดูเหมือนว่า ปูนซิเมนต์ไทย ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม แทบจะครบทุกสายอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง

ชุมพล กล่าวว่า เครือซิมเมนต์ไทย มีการพัฒนาการลงทุน ที่สอดคล้อง กับการพัฒนาประเทศ เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเหล็กด้วยการตั้งบริษัทเหล็กสยามเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน อันเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปีก่อนประเทศไทย เริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกประเภท นั่นคืออุตสาหกรรม เยื่อและกระดาษ เครือซิเมนต์ไทย ก็นำเข้าสู่ธุรกิจนั้น ด้วยการตั้งบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับเยื่อและกระดาษหลาย ๆ บริษัท จนกระทั่ง ในวันนี้ เครือซิมนต์ไทย ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มแทน ที่มีธุรกิจด้านอุตสาหกรรมกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ จนถึงขั้น ที่เยื่อและกระดาษในเครือซิเมนต์ไทย ถึงกับมีระดับเป็นกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งในเครือ

ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก้าวกระโดดของประเทศในช่วงนั้น ก็คือการดำเนินโครงการพัฒนาที่ดิน ชายฝั่งทะเล ตะวันออก หรือโครงการ eastern seaboard เครือซิเมนต์ไทย ก็ได้รับการชักชวนจาก ภาครัฐในการเข้าไปบุกเบิกธุรกิจใหม่อีกประเภท นั่นคือ ธุรกิจสายปิโตรเคมี ที่ถึงวันนี้ ชุมพลกล่าวว่า เครือซิเมนต์ไทย มีการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แทบจะทุกตัวที่มีการผลิตในประเทศ

แต่กล่าวกันว่า การขยายเครือข่าย สายป่าน มากที่สุด ของปูนใหญ่ มีเมื่อไม่กี่ปี ที่ผ่านมานี่เอง อันเป็นยุคที่หลายคน เรียกว่ายุค " สยายปีก" ของปูนใหญ่!!

ในปี 2527 เครือซิมเมนต์ไทย เข้าขยายงานในสายการผลิตวัสดุก่อสร้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมทุน ในบริษัทกระเบื้องทิพย์ บริษัทไทยวนภัณฑ์ และบริษัท อาร์มิเทจเชงส์ กรุงเทพ ซึ่งปัจจุบัน คือบริษัท สยามซานิทารนีแวร์

" จะช่วยเสริมสร้างให้กลุ่มวัสดุก่อสร้างมีฐาน ธุรกิจที่กว้างขวางและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต ได้ดียิ่งขึ้น " รายงาน ตอนหนึ่ง ของเครือซิเมนต์ไทย กล่าวถึง การขยายงานในครั้งนั้น

นอกเหนือจากการร่วมทุนเพื่อการขยายงาน ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างแล้ว ในปี ดังกล่าว เครือซิเมนต์ไทย ยังมีการขยายเครือข่ายอื่นๆ ด้วย นั่นคือ การตั้งบริษัท สยามคราฟท์ อุตสาหกรรม ขึ้นมา และก้าวสู่อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ปีแรก

ปี 2528 เป็นปีที่เครือซิเมนต์ไทย มีการขยายงานไม่มากนัก อันเนื่องมาจาก การขยายงานในปี ก่อนมาก โครงการต่าง ๆ จึงเริ่มดำเนินการในปีนี้ แต่มีการตั้งบริษัท ไทยซีอาร์ ที่ขึ้นมา เพื่อทำการผลิตหลอดภาพโทรทัศน์สีขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด

ปีถัดมา คือ 2519 เป็นปีที่เครือซิเมนต์ไทย มีการขยายงานมากพอสมควร ในอุตสาหกรรม กำลังจะเป็นอนาคตในเครือ อีกอุตสาหกรรม นั่นคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อโครงการผลิตเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล สำหรับรถยนต์ ซึ่งเครือซิเมนต์ไทยร่วมทุน 3 ใน 4 โครงการ ที่มีการขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ) ได้รับการส่งเสริมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการโตโยต้า นิสสัน หรืออีซูซุ

จุดหักเหของการเข้าสู่อุตสาหกรรม ยานยนต์ ในปีนั้นของเครือซิเมนต์ไทย ก็คือ การตั้งบริษัทสยามโตโยต้า อุตสาหกรรม เพื่อผลิตเครื่องยนต์ดัง กล่าว โดยการร่วมทุน กับโตโยต้า มอเตอร์ส ( ประเทศไทย) บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) และบริษัทนิปปอนเดนโซ ด้วยการลงทุนถึง 1,100 ล้านบาท

ต่อมา ปูนซิเมนต์ไทย มีการเข้าไปร่วมทุนในบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส ( ประเทศไทย) ด้วยการแลกเปลี่ยนหุ้นกันด้วย และกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย ( พารณ อิศรเสนา) ก็เข้าไปเป็นกรรมการของโตโยต้า มอเตอร์ส ด้วย อันนับเป็นการเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ ของเครือซิมนต์ไทย อีกขั้น

ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ที่เริ่มขยายงานในปีดังกล่าวคือ การร่วมทุนระหว่างปูนซิเมนต์ไทย และบริษัท โตโต้ แห่งประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัท สยามซานิทารีฟิตติ้ง เพื่อผลิตสุขภัณฑ์โตโต้

ปี 2530 ที่ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และอดีศัย นายกรัมนตรี ขึ้นรับตำแหน่งประธานกรรมการแทนพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ซึ่งป่วย และดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เข้มาร่วมเป็นกรรมการใหม่ ปูนซิเมนต์ ไทย ยังคงมีการขยายงานในด้านเกี่ยวกับยานยนต์มากพอสมควร

การขยายงานในปีดังกล่าว คือการซื้อหุ้น ของบริษัทไฟร์สโตน และบริษัทยางสยาม เริ่มทำการผลิตยางรถยนต์ ของตนเองพรอ้มกับมีการร่วมทุน กับบริษัทมิชลีน แห่งประเทศฝรั่งเศส ตั้งบริษัท สยามมิชลินขึ้นมาอีกบริษัท ในเดือนธันวาคม ในปีนั้น

การขยายงาน อื่น ๆ ในปีนั้น ก็มีบ้าง คือการ ขยายโรงาน ปูนซิเมนต์ที่แก่งคอย คือ โครงการแก่งคอย 47 ด้วยกำลังการผลิต ปีละ 1.6 ล้าน ตัน และตั้งบริษัท สยามเอ็นอีซี เพื่อผลิตโทรทัศน์สี NEC

สำหรับสายงานปิโตรเคมี ปี 2530 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นการดำเนินการ เมื่อมีการสั่งซื้อเครื่องจักรและคัดเลือกโนว์ฮาว์ บริษัท ไทยโพลีเอทธิลีน และไทยซีอาร์ที

ปี 2531 การขยายของเครือซิเมนต์ไทย ยังคงอยู่ในสายงานเดิม ที่ขยายในชวง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายเกี่ยวกับ อุตสาหกรรม ปูนซิเมนต์ ที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน ด้วยการเปิดโครงการทุ่งสง 4 และ แก่งคอย 5 พร้อมกัน ในวงเงินการลงทุนสูง ถึง 2,580 และ 4,190 ล้านบาท ตามลำดับ

ในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ โครงการผลิตยางรถยนต์ ของ ยางสยาม และสยามมิชลีนก็ขยับอีกขั้น ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทมิชลีน แห่งประเทศฝรั่งเศส ตั้งบริษัท แม่พิมพ์ยางไทย พร้อม ๆ กับการตั้งบริษัท สยามคอมเพรสเซอ์ร์ ขึ้นมาด้วยการร่วมทุนกับมิตซูบิชิคอร์ป เพื่อผลิตคอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ

โครงการขยายงาน ของปี 2531 เพื่อรองรับ นโยบาย รัฐบาล เกี่ยวกับโครงการ แปรสนามรบเป็นสนามการค้า ในกลุ่มประเทศอินโดจีน ด้วยการตั้งบริษัท ไทยเซรามิคเอ๊กซ์ปอร์ต เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ เซรามิค ไปยังต่างประเทศ

ในส่วนของโครงการ ที่ Eartern Seaboard นั้น เครือซิเมนต์ไทย ร่วมทุน กับบริษัท ฮาซาอีกลาส ตั้งบริษัท สยามอาซาอีเทคโนกลาส ขึ้นมา เพื่อผลิตหลอดภาพ โทรทัศน์สี ในวงเงิน ลงทุนสูงถึง 8,000 ล้าน บาทเพื่อขยายงานในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับสายงาน ปีโตเคมี ปี 2531 นับเป็นขยายงานของเครือซิเมนต์ไทย มากอีกปี เมื่อมีการลงทุนในวงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ตั้งบริษัท ไทยโพลีโพไพลิน เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก โพลีโพไพลีน ทีได้รับบัตรบีโอไอ ในเดือน มิถุนายน และยังมีโครงการ ร่วมทุน ระหว่าง สยามเทสไตลีน โมโมเมอร์ กับบริษัท ดาวเคมีคัล แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิต สไตล์ลีนโมโนเมอร์ ในมูลค่าลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการส่งเสริมของภาค รัฐที่ต้อการให้มีผู้ประกอบการที่เหมาะสม ด้วยการให้การส่งเสริมการลงทุน

ปี 3532 ปัญหาจาการขาดแคลนปูนซิเมนต์ ในประเทศ ยังคงมีอยู่ดังนั้น ปูนซิเมนต์ไทย จึงลงทุนอีกในวงเงิน ประมาณ 5,900 ล้านบาท ดำเนินโครงการ เขาวง 1 เพื่อผลิตปูนซิเมนต์ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในประมาณ กลางปีนี้

ปี 2532 นี้ นับเป็นปี ที่เครือซิเมนต์ไทย ขยายงานด้านการผลิต เยื่อกระดาษ และกระดาษมาก โดยการตั้งบริษัท สยามเซลลูโลส เพื่อผลิตเยื่อกระดาษจากยูคาลิปตัส ตั้งบริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ราชบุรี ( 1989) ขยายงานของบริษัท กระดาษสหไทยอุตสาหกรรมเพื่อผลิตกระดาษแข็งและกระดาษแผ่นยิบซั่ม ต้องบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ไทย และขยายงานของบริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย ซึ่งมูลค่าการลงทุน ของกลุ่มเยื่อและกระดาษในปีนี้ ของเครือซิเมนต์ไทย สูงถึง 7,346 ล้านบาท

ในปีเดียวกัน เครือซิเมนต์ไทย ยังมีการลงทุน ในกลุ่มวัสดุก่อสร้างโดยการตั้งบริษัทเหล็ก ก่อสร้างสยาม เพื่อรองรับการขาดแคลนวัสดุประเภทเหล็ก โดยได้รับการส่งเสริม การลงทุนจาก บีโอไอ ในวงเงินลงทุน สูงถึง 3,680 ล้านบาท เพื่อผลิตเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย ปีละ 300,000 ตัน ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปี 2533 เครือซิเมนต์ไทย เริ่มขยับตัวอีกครั้ง นั่นคือ การลงทุน ด้วยวงเงินประมาณ 1, 000 พันล้านบาท ตั้งบริษัท ไทล์เซอรอิงค์ ขึ้นที่ มลรัฐ เทรแนสซี่ สหรัฐอเมริกา อันเป็นการขยาย การลงทุน ไปยังต่างประเทศครั้งแรก ของเครือปูนใหญ่ ( อ่านรายละเอียด ผู้จัดการรายเดือนฉบับ มกราคม 2536)

โครงการขยายงานอีกโครงการหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทย ในปีดังกล่าว คือการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ของเครือขึ้นมาโดยการจัดตั้งบริษัท ที่ดินอุตสาหกรรม เครือซิเมนต์ไทย เพื่อลงทุน พัฒนา ที่ดินประมาณ 1,500 ไร่ด้วยวงเงิน ประมาณ2,000 ล้านบาท สำหรับ การพัฒนาที่ดิน ให้เป็นที่สำหรับตั้งโรงาน ของเครือซิเมนต์ไทย ปี 2534 เป็นปี ที่เครือซิเมนต์ไทย ลงทุนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็งานขยายการลงทุน ของบริษัทอื่น เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา เช่นการตั้งบริษัทยางสยามอุตสาหกรรม เพื่อขยายงานการผลิตยาง รถยนต์ ไปสู่สายการผลิตยางรถบรรทุกด้วยเงินลงทุนประมาณ 960 ล้านบาทหรือการดำเนินโครงการผลิตชิ้นส่วนฝาสูบ และเพลา ข้อเหวี่ยง ของสยามโตโยต้า อุตสาหกรรม ในวงเงินประมาณ 700 ล้านบาท ตั้งบริษัทสยามอัลลอยอุตสาหกรรม เพื่อผลิตอลูมิเนียมรถยนต์มูลค่า 660 ล้านบาท อันเป็นการขยายงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ของเครือซิเมนต์ไทย

ส่วนโครงการอื่น ๆ ก็มีการตั้งบริษัท สยามเทเท็กซ์สังเคราะห์ เพื่อผลิตเลเท็กซ์ สังเคราะห์มูลค่า 1,010ล้านบาท หรือการขยายผลิตปูนซิเมนต์ ของปูนซิเมนต์ไทยที่สระบุรี ในมูลค่า ลงทุน ประมาณ 440 ล้านบาท แม้กระทั่งปีที่ผ่านมา เครือซิเมนต์ไทย ก็ลงเงินทุนไม่น้อย อย่างเช่น การร่วมทุนกับยามาโตะ โตเกียว มิตซุย แอนด์คอมปานี และสุมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ร่วมทุนในสัดส่วน 51/33/12 และ 4% เพื่อตั้งบริษัท สยามยาโต๊ะ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ทำโครงการผลิตเหล็กรูปพรรณที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

จะเห็นว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครือซิเมนต์ไทย ขยายการลง ทุนมากเหลือเกิน จนแทบจะครบ วงจรของโครงสร้าง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ปัญหาก็คือ เครือซิเมนต์ไทย เอาเงินมาจากไหน เพื่อลงทุนในโครงการต่าง ๆ

" การลงทุน เราดูว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม " กรรมการผู้จัดการ เครือซิเมนต์ไทย กล่าว ถึงการมองหาแนวทางการลงทุนเพื่อเสริมการอธิบาย ถึงที่มาของเงินลงทุน มาทั้งจากการกู้เงินที่ติดมากับเครื่องจักร จากต่างประเทศ หรือการนำเงินกำไร สะสม มาใช้ขยายงาน กระทั่งการเพิ่มทุนของบริษัท ในเครือที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นยางสยาม กระดาษสหไทย หรือเยื่อกระดาษสยาม อีกปัญหาที่น่าสนใจ ก็คือเครือซิเมนต์ไทย มีอุตสาหกรรม ครบแล้วจริงหรือ จากการพิจารณา จะเห็นว่า โครงสร้างอุตสาหกรรม ของปูนซิเมนต์ ไทย ทั้ง 4กลุ่ม ดูจะครอบคลุมทุก ธุรกิจ ที่คนของปูนซิเมนต์ ไทยมีความถนัด นั่นคือ... เราทำเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตและขาย เราไม่ทำธุรกิจบริการ

แน่นอน มองตรงนั้น เครือซิเมนต์ ไทย ก้าวเท้าเข้าไปเกือบครบทุกธุรกิจ ในกลุ่มซิเมนต์ไทย ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังการผลิตถึงประมาณ ปีละ 18.2 ล้านตัน จึงไม่เป็น เรื่องแปลก ที่เครือซิเมนต์ไทย ยังคงเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจนี้อยู่ แม้ว่าจะมีกลุ่มทุนใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนรองรับภาวะขาดแคลนปูนซิเมนต์ ์ในประเทศไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้รับเหมา หรือกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม อื่น ๆ ก็ตาม

ทวี บุตรสุนทร รองผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย กล่าว " ผู้จัดการ" ว่า การเข้ามาทำธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตปูนซิเมนต์ ของผู้ผลิตอื่น ๆ ไมได้สร้างปัญหาให้กับปูนซิเมนต์ไทยมากนัก เพราะ ตลาดปูนซิเมนต์ไทย ยังคงมีอยู่แล้ว โดยผ่านเครือข่ายเอเย่นต์ประมาณ 560 รายทั่วประเทศ ทีมีการ on lineด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ทวี กล่าวด้วยว่า ความมั่นใจว่า เอเย่นต์ที่มีระบบ online คือจุดแข็ง ของปูนใหญ่ ที่ยากต่อการแย่งชิงตลาดโดยคู่แข่งรายอื่นเพราะสามารถที่จะเสริมกันในเรื่องของการ ให้บริการระหว่างเอเยนต์ต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน เมื่อบวกกับวัสดุ ตัวอื่น ๆ ที่เครือซิเมนต์ไทยมี ดูเหมือนว่า โอกาสจะเจาะตลาดปูนซิเมนต์ขงคู่แข่งรายอื่นดูจะยิ่งยากไปอีก แต่แนวโน้ม ความสำคัญของกลุ่มซิเมนต์ ไทย ก็ดูจะลดลง

" ปูนซิเมนต์ไทย นี่ผมว่า อีกไม่กี่ปีก็ถึงจุดอิ่มตัว แล้ว หากอัตราการขยาย ตัวปีละ 10% อีก 6-7 ปีก็จะถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งหมายความว่า การขยายงาน ของกลุ่มนี้ คงลดลง และเราก็มีการลงทุน ไว้มาพอแล้ว" ชุมพล กล่าวกับ " ผู้จัดการ" ถึงอนาคตของกลุ่มซิเมนต์โดยยกเหตุผลถึงการกล่าวอ้างว่า มาจาการศึกษาต่างประเทศ พบว่า การบริโภคปูนซิเมนต์ ในหลาย ๆ ประเทศ จะอยู่ที่ อัตราการบริโภค ของประชากร ต่อหัวปี ละ 700 กิโลกรัม ในขณะที่ ในวันนี้ ประชากรไทย บริโภค ประมาณ ปีละ 300 กิโลกรัม ต่อหัว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน ว่าเครือซิเมนต์ไทย เตรียมหาทางออก เอาไว้แล้ว สำหรับการวางแผนตลาดซิเมนต์ ไทยที่อาจจะเป็นต่างประเทศ ที่พวกเขาไปเปิดสาขา ของค้าสากลซิเมนต์ เอาไว้แล้ว โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ กลุ่มซิเมนต์ มีปัญหากลุ่มวัสดุก่อสร้างของเครือปูนใหญ่ ดูจะยังมีอนาคต สบสันต์ เกตุสวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ อาวุโส กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ให้ความเห็น "ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มวัสดุก่อสร้างของปูนใหญ่จะยังคงมีแนวโน้มขของการขยายตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นเหล็กหรือวัสดุก่อสร้าง ตัวอื่น ๆ ที่ยังมีแนวโน้ม ที่จะขยายได้ประมาณ 3-4 เท่าตัว

การวิเคราะห์ ของคนในปูนใหญ่ ดูจะยังให้ความสำคัญของการขยายงานของกลุ่มพวกนี้ไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะที่ผ่านมา การขยายงาน และโปรดักส์ ของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีมาโดยตลอด อย่างการลงทุนนับ 6,000 ล้านบาท ตั้งโครงการผลิดเหล็กรูปพรรรณของบริษัทสยามยามาโต๊ะร่วมกับ
กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น ในปีที่ผ่านมา หรือการขยายบริษัทเหล็กขยาย ตั้งเป็นบริษัทเหล็กก่อสร้างเพื่อผลิตเล็กทั้งสองโครงการ กระทั่งการเข้าสู่สายการผลิตกระจกในโครงการบริษัท กระจกสยามการ์เดียน ดูจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนของการขยายตัวของกลุ่ม วัสดุก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน โอกาสของ กลุ่มที่สาม ของปูนใหญ่ คือกลุ่มเยื่อและกระดาษดูจะยังเป็นกลุ่มที่มีอนาคต มากพอสมควร เพราะผู้บริหาร ของเครือซิเมนต์ไทยมองว่า ยังคงมีโอกาส ที่จะโตถึง 5-7 เท่าตัว ในระยะเวลา นับจากนี้ไป

ชำนาญ สุนทรวัฒน์ อดีต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งดูแลสายเยื่อและกระดาษของปูนใหญ่ มาเกือบตลอดและเพิ่งเกษียณเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เคยย้ำ กับ " ผู้จัดการ" ว่าโอกาส การขยายตัว ของกลุ่มเยื่อและกระดาษ ของไทย นั้นมีสูงมาก

" เราใช้กันแค่ ประมาณ คนละ 20 กิโลกรัม ต่อปี ขณะที่ ประเทศพัฒนา แล้วอย่างญี่ปุ่น ใช้คนละ 220-230 กิโลกรัมต่อปี หรือสหรัฐอเมริกา ใช้คนละ 300 กิโลกรัมต่อปี " ชำนาญ กล่าว

คำกล่าวนี้ สอดคล้องกับข้อมูล ที่กลุ่มเยื่อและกระดาษ ของเครือซิเมนต์ไทย มีการศึกษาเอาไว้ ว่า เมื่อเปรียบเทียบ อัตราการบริโภค โดยเฉลี่ย ต่อประชากร ของประเทศไทย กับประเทศ อุตสาหกรรม ใหม่ใน ASEAN จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรม เยื่อและกระดาษ ของประเทศไทย มีศักยภาพในการขยายตัวสูง เนื่องจากอัตราการบริโภค กระดาษอยู่อยู่ในระดับต่ำประมาณ 25 กิโลกรัม/ คน/ปี ในปี 2535 ซึ่งคาดว่า ภายในระยะเวลา 10 ปี ข้าหน้า อัตราการบริโภค กระดาษต่อประชากร ของประเทศ ไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 70 กิโลกรัม/คน/ปี เนื่องจาก อุตสาหกรรม เยื่อและกระดาษ ของประเทศไทย ใน ช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า อัตราการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัว ของภาคอุตสาหกรรม และการ ส่งออกในช่วงปี 2535-2539 ตาม แผนพัฒนา เศรษฐกิจ แห่งชาติ ฉบับที่ 7 คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งแม้ว่า จะต่ำกว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ดังนั้น จึงคาดว่าอุตสาหกรรม เยื่อและกระดาษ ของประเทศไทย จะขยายตัว ประมาณรอยละ 12-13 ต่อปี

การคาดการณ์ ดังกล่าว จึงไม่เป็นรื่องแปลก ที่เครือซิเมนต์ไทย มีเป็นการขยายงานของกลุ่มเยื่อและกระดาษไว้สูงพอสมควร และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เครือซิเมนต์ไทย ต้องมีความหวังมากกับการขยายตัวในอนาคต ถึงขั้นที่เตรียมโครงการปลูกป่า ไว้รองรับงานการผลิตเยื่อและกระดาษป้อนตลาดในระหว่างประเทศ

ในอีกอุตสาหกรรมของเครือซิเมนต์ไทย ภายใต้ความรับผิดชอบของฉายศักด์ แสง-ชูโต ผู้ช่วยผู้จัดการ อาวุโส คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีดูจะเป็นอีกอุตสาหกรรม เครือซิเมนต์ ไ ทย ฝากความหวัง และอนาคตไว้ มาก พอสมควร

ทั้ง ๆ ที่กล่าว ว่า การเข้าไปในอุตสาหกรรม นี้ของปูนใหญ่ มาจากการขอของรัฐบาล ที่ต้องการให้เอกชนที่มีศักยภาพ เพียงพอมาลงทุนในโครงการปิโตรเคมี ในแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เมื่อบวกกับการศึกษาของเครือซิเมนต์ไทย เองที่มองเห็นว่าปิโตรเคมี คืออนาคต ของอุตสาหกรรมของการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้เครือซิเมนต์ไทย ขยายงานในสายปิโตรเคมี ออกไปมากในวันนี้ นับจากการเริ่มต้น ด้วยการตั้งบริษัท ไทยโพลีเอทีลีน ในปี 2517

จนถึงวันนี้ ปูนใหญ่ นับว่าการลงทุน ในปิโตรเคมี มากที่สุดก็เป็นไปได้ อย่างในโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะ1 ( NPC) ปูนซิ เมนต์ เข้าไปลงทุนในบริษัทปิโตรเคมี แห่งชาติ 15.9% หรือ เป็นผู้ถือหุ้น ใหญ่อันดับ 2 รองจากปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย ( ปตท.) และมีบริษัท ไทยโพลีเอททีลีน เป็นบริษัทรองรับผลิตภัณฑ์เป็นโครงการ downstream

ส่วนของปิโตรเคมี ระยะที่ 2 ( NPC2) ปูนซิเมนต์ไทยก็มีส่วนร่วม ในโครงการโดยการเข้าไปลงทุน ผลิต SB LATEX. ISOBUTHYLENE เป็นต้น

ในอุตสาหกรรม upstream ของ NPC 2 ปูนใหญ่เข้าไปเริ่มต้นด้วยการเริ่มทุน ในบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด จำนวน 8.59% ของทุนจดทะเบียน ขณะที่อุตสาหกรรม Downstrm นั้น ปูนใหญ่ ก็มีส่วนร่วมโครงการ คือบริษัท สยามสไตลีนโมโนเมอร์

นอกจากนั้น สัญญานที่แสดงให้เห็นว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ของปูนซิเมนต์ไทย ให้ความสนใจโครงการปิโตรเคมี ไม่น้อย กล่าวคืองานแรกของเขา เมื่อขึ้นรับตำแหน่ง ก็คือเข้าร่วมทุน 10% ในบริษัท ไทยพาสติกและเคมีภัณฑ์( TPC) ซึ่งเป็นผู้ผลิต PVC รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ในต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา หรือจำนวน 4 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 150 บาท เป็นจำนวนเงิน 600 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้น 9 ราย

นักวิเคราะห์ บางคน มองว่า การเข้าไปร่วมทุน การใช้เงินถึง 600 ล้าน บาท แล้วไม่เข้าร่วมบริหาร นั้น เป็นครั้งแรก ของเครือซิเมนต์ไทย จึงน่าจะชี้ว่า ปูนใหญ่ เอาจริงแค่ไหน กับการเข้าถือหุ้นครั้งนี้ แม้บางคน จะมองกว่า การร่วมทุน มาจาการสนิทสนมเป็นการส่วนตัว ระหว่างชุมพล ณ ลำเลียง กับ ยศ เอื้อชูเกียรติ ประธานกรรมการ IPC

อภิพร ภาษวัธน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยโพลีนเอททีลีน ( TPE) ซึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่บริหารคนแรกของปูนที่เข้าไปดูงานสายปิโตรเคมี ย้ำถึงการ่วมทุนครั้งนี้ เป็นแนวคิดของกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ดูจะทำให้ น้ำหนักของการมองทิศทางปิโตรเคมี ของปูนใหญ่ ว่าจะมีการเอาจริง เป็นจริง แค่ไหน

" เราเข้าร่วมทุนกับ TPC เพราะเราเป็นผู้ใช้ PVC รายใหญ่ การเข้าร่วมทุน จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และความใกล้ชิดที่จะช่วยเราในเรื่องการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ของเราได้ และอีกประการหนึ่งก็คือ PVC เป็นพลาสติกที่สามารถใช้ทดแทนพลาสติก อย่างเช่น PE ได้ การร่วมทุน ในครั้งนี้ จึงเป็นการช่วยเราในเรื่องการพัฒนาความรู้ ตลอดจนนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ PE ของเราได้" ชุมพล กล่าวเรื่องนี้

จึงเชื่อว่า อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ของปูนใหญ่คงจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน

ส่วนสายธุรกิจที่เครือซิเมนต์ไทย เข้าไปมี บทบาทมากในวันนี้ และวันหน้าก็คือ ยานยนต์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเครื่องจักรและไฟฟ้า ที่ถึงวันนี้เครือซิเมนต์ไทย มีบริษัท ที่ทำอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับยานยนต์ จำนวนไม่ น้อยทีเดียว

แม้หลายคน จะอ้างว่า แรงดลใจที่ชุมพลเข้ามาทำงานที่ปูนใหญ่ มาจากที่ครั้งหนึ่ง เขาประทับใจหนังสือ My years with general motors แล้วเชื่อมั่นว่า ศักยภาพของปูนใหญ่มีพอที่จะเป็นผู้ลงทุน ในการทำรถยนต์ในประเทศ ชุมพลกล่าวกับ " ผู้จัดการ" ว่าเขาไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่จำได้ ว่าใครเขียน และย้ำว่าหนังสือหนามากจนไม่อยากอ่าน) ในความคดของเขา เขายืนยัน ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ยังมีอนาคตมาก

ชุมพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ของเครือในอนาคต เพราะเป็นอุตสาหกรรม ที่มีตลาดใหญ่มาก " เรายัง สามารถที่จะขยายตัวได้เป็นสิบเท่า ก่อนที่จะถึงจุด อิ่มตัว" แต่สำหรับการที่จะก้าวไปถึงขั้น ที่จะ ผลิตทั้งคัน นั้น ชุมพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะความสามารถของคนไทยไปไม่ถึงขั้นนั้น หากเป็นแค่ การผลิตชิ้นส่วน เรื่องคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับได้ เพราะบริษัท เจ้าของโนว์ฮาว เป็นผู้บังคับและตรวจสอบคุณภาพ " เป็นไปได้กรณีเดียว คือนโยบาย( รัฐบาล) ซึ่งก็อยู่เหนือเหตุผล" ชุมพล กล่าว

สบสันต์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเคยดุแลสายเครื่องกล กล่าวกับ ผู้จัดการ ว่า อุปสรรค ที่ส่งผลให้ไทยไม่สามารถที่จะผลิตรถยนต์ได้ทั้งคันนั้นมีอยู่ 2-3 ประการ คือ 1) เรื่องของการออกแบบที่ไทยยังไม่มีความสามารถ หากจะเริ่มตรงนี้ จะต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท 2) ต้นทุนการผลิต เพราะการผลิต ประเทศผู้ผลิตรายอื่น ผลิตครั้งละ เป็นล้านคัน แต่หากเราผลิตแค่ครั้ง ละแสนคัน ต้นทุนต่อหน่วยก็จะสูง 3) เพราะเป็น infrastructure ในกานดำเนินโครงการ

แต่เมื่อตลาดกว้างมาก อย่างที่ชุมพล กล่าวว่า ญี่ปุ่นพลเมืองมากกว่า ไทย 2 เท่า มีการเพิ่ม ของรถยนต์ปีละ 4 ล้านคัน อเมริกามีคนมากว่า ไทย 4 เท่า มีอัตราการเพิ่มของรถยนต์ ปีละ 8 ล้านคัน โอกาส การขยาย ตัวสูงสุด ของตลาดรถยนต์ ไทยที่คาดว่าจะ สูงปีละ 2 ล้านคัน จึงเป็นตลาดที่ยั่วน้ำลายไม่น้อย สำหรับการขยายไปลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากว่า วันนี้

อย่างไรก็ตาม จากนี้ ไปการขยายงานของเครือซิเมนต์ไทย คงจะไม่ตื่นเต้น อย่างที่ผ่าน ๆ มา และอย่างที่หลายคน คาดหวัง จากชุมพล ณ ลำเลียง

" เราจะยังคงขยายตัวอยู่ใน 4-5 อุตสาหกรรม ที่เราถนัด และคงจะเน้นการออกไปต่างประเทศบ้าง" ชุมมพล ย้ำสิ่งที่เขามักจะไม่ยอมรับว่าเป็น" นโยบาย"

ทั้งนี้ แม้การรับตำแหน่ง ของเขา เกดขึ้น พร้อม ๆ กับที่เขาประกาศว่า จากนี้ไป เครือซิเมนต์ไทย จะมีการกระจายอำนาจมากขึ้น แต่เมื่อสอบถามถึงบทบาท ของคณะกรรมการ คณะจัดการ ดูเหมือนว่าบทบาทของพวกเขา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไปจากยุคของจรัส ชูโต หรือพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

กล่าวกันว่า การตัดสินใจ ของ 7 ขุนพล ยังคงต้องอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการกำหนดให้และทุกอย่างยังคงต้องเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะต้องดูเรื่องการรับพนักงาน เรื่องการลงทุน ที่จะต้องมีการผูกมัด กับชื่อเสียง ของบริษัท หรือกระทั่งโครงการลงทุนใหม่ ๆ

แม้กระทั่งการขยายงานนับจากวันนี้ไป การเข้าครองงำกิจการ ( Take Over) ซึ่งชุมพล นับเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ดำเนินการ ก็คงจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะการยอมรับว่า ถึงวันนี้ เครือซิเมนต์ไทย มีธุรกิจที่แทบจะครบทุกวงจร ที่พวกเขามีศักยภาพที่จะทำ คำนำาที่ว่า จากนี้ไป การทำงาน จะยังคงเป็นระบบ teamwork ที่เป็นจุดแข็งมานานของเครือซิเมนต์ไทยจะยังคงอยู่ตอ่ไป

แต่... "เขาเพิ่งตั้งผม อย่าเพิ่งพูดเรื่องอยู่ครบ 15 ปี หรือไม่เลย?" เขายังมีเวลาที่จะทำอะไรอีกมาก ถึงวันนั้น ปูนซิเมนต์ไทย อาจจะมีอะไรตื่นเต้นก็ได้!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.