|

Rio+20 Earth Summit for Sustainable Development คืออะไร
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
“Sustainable Development” (SD) มีความหมายอย่างไรกันแน่ แม้จะเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นหลักคิดแนวใหม่ในวงการบริหารปกครองและวิชาการ แต่ในสังคมของคนธรรมดาทั่วไปก็มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายอันแท้จริง
SD หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” คือ แนวทางการพัฒนาประเทศชาติที่สนองความต้องการทั้งของคนรุ่นปัจจุบัน คำนึงถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคต SD จะต้องรักษาคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมให้อยู่ในขีดจำกัดที่ให้ได้ของแหล่งทรัพยากร ขณะที่การพัฒนายังคงเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง
SD สามารถนำไปปฏิบัติได้ถ้ามีการวางแผนอย่างรอบคอบ บูรณาการกิจกรรมและการพัฒนาต่างๆ ให้สอดคล้องต้องกัน โดยหาวิถีทางดำเนินการให้เกิดสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ฟังดู! แม้จะเป็นอุดมการณ์ที่เข้าใจยาก เข้าถึงได้ยาก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการนำหลักการนี้มาปฏิบัติกันบ้างแล้วทั่วโลก ถึงจะไม่สัมฤทธิผลตามเป้าหมายแต่ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อน เช่น Rene-wable energy technologies ต่างๆ และกลไกทางการค้าทางเศรษฐกิจขึ้นมา เช่น eco-taxes และ carbon trading, carbon-footprint
การดำเนินงานของ Rio Earth Summit ที่ผ่านมา และที่จะเป็นไปในอนาคต
Earth Summit เริ่มจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติและกลุ่ม NGOs
ต่างๆ เมื่อปี 1992 ด้วยความพยายามที่จะให้เกิดความร่วมมือจากนานาประเทศ ช่วยกันขจัดปัดเป่าปัญหาความยากจน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ก่อตัวขึ้นจากการพัฒนาและการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว การประชุมครั้งแรก มีขึ้นที่กรุงริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล
จากปี 1992 จวบจนถึงปัจจุบัน คือ 20 ปีต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เพื่อตอบโจทย์นี้จึงได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าจากการดำเนินงาน สรุปผลเพื่อ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการจัดประชุม Rio+20 ใน ค.ศ.นี้
ครั้งกระโน้น การประชุม Rio Earth Summit 1992 ได้ตั้งธงไว้ให้ทุกประเทศรับ Agenda 21 เป็นแนวทางปฏิบัติที่จะเข้าถึง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเน้นการพัฒนาทางภาคเกษตรและชนบทเป็นสำคัญ การปฏิบัติจะต้องเป็นไปในลักษณะบูรณาการ (ประสานให้สอดคล้องกัน) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับประชาคมโลก มีการจัดตั้ง UN Commission on Sustainable Development ขึ้นมาตรวจสอบติดตามผล
อีก 20 ปีต่อมาหลังจากมีการศึกษาข้อมูลความก้าวหน้าที่ผ่านมา คณะกรรมการได้ตั้งธงไว้ว่าต่อนี้ไปจะต้องมุ่งเน้น “Green Economy” ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ความคาดหวังที่เป็นเป้าหมายก็คือ การใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ประชากรทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความยากจนลดลง มีความมั่นคงมากขึ้น
สภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
จากปี 1992 ถึง 2012
ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้าน เป็น 7 พันล้านคน หรือประมาณ 26% โดยเพิ่มขึ้นมากน้อยต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น แอฟริกามีประชากรเพิ่มมากขึ้นถึง 53% เอเชียแปซิฟิก 26% ในขณะที่ยุโรปเพิ่มขึ้นเพียง 4%
สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก (Global Climate Change) ทำให้เกิดผลตามมาคือ ภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ อันเป็นผลจากอากาศร้อนขึ้น แผ่นน้ำแข็งขั้วโลก และธารน้ำแข็งตามภูเขาสูงละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อุณหภูมิเหนือท้องทะเลมหาสมุทรสูงขึ้น กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปในทางสุดขั้ว ทั้งนี้มีต้นเหตุมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป จนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศสูง ความสมดุลของบรรยากาศที่ปกคลุมผิวโลกจึงเปลี่ยนไป ขณะนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 36% เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรและการพัฒนาอุตสาหกรรม
เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นรายหัวของประชากรในประเทศต่างๆ พบว่าในประเทศกำลังพัฒนามีอัตราปลดปล่อยคาร์บอนต่อหัวประชากรสูงขึ้นจากปี 1992 ถึง 29% ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีอัตราปลดปล่อยต่อหัวลดลง -18% ซึ่งสอดคล้องกับตัวชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจ (ชี้วัดเป็นรายได้มวลรวมต่อหัวประชากร หรือ GDP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน ไทย เวียดนาม กัมพูชา แม้ว่าจะทำให้ GDP ในประเทศเหล่านี้สูงขึ้น มองเผินๆ ทำให้เศรษฐกิจดี ประชากรร่ำรวยขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างยั่งยืนเพราะต้นทุนหลักคือทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและลดคุณภาพลงอย่างมาก
ด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและระบบนิเวศมีการประเมินชี้วัดของนักวิจัยโลกพบว่า โดยเฉลี่ยทั่วโลกระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ลดลง 12% ในจำนวนนี้เขต tropics หรือบริเวณร้อนชื้นแถบศูนย์สูตรของโลกเป็นเขตที่มีความสมบูรณ์ของป่าเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือลดลงประมาณ 30% ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณนี้มีการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติมากเพื่อใช้พื้นที่ในทางเกษตรกรรม เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และเพื่อเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออกเห็นได้ชัดจากป่าอะเมซอนที่ถูกแผ้วถางในอเมริกาใต้ และป่าในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กำหนดทิศทางเพื่อบรรเทาปัญหา
มีนักวิชาการระดับโลกหลายกลุ่มมองความพยายามในการดำเนินงานตามแนวทาง SD ของประเทศต่างๆ ที่ผ่านมานับแต่ปี 1992 มองปัญหาในปัจจุบัน คาดการณ์ถึงความต้องการในอนาคต ต่างลงความเห็นร่วมกันว่า ต้นตอของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศมาจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง
การประชุม Rio+20 ครั้งนี้ จึงร่วมกันกำหนดทิศทางให้ “Green Economy” เป็นแนวทางหลักที่จะเข้าถึง SD โดย Green Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่การผลิตมีการใช้เชื้อเพลิงและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันมีการควบคุมจำนวนประชากร เพื่อลดความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
Green Economy จะทำได้แค่ไหน ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาคมโลก ที่สำคัญจะต้องเอาชนะปัญหาความเอาเปรียบของนายทุน และการทุจริตกินสินบนของผู้บริหารผู้ปกครองประเทศ ประชาชนจะต้องรู้จักเลือกผู้นำที่จะนำพาประชากรส่วนใหญ่ไปในทิศทางที่พัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง Green Economy อาจจะมีการกระตุ้นให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยการออกกลไกขับเคลื่อน เช่น eco-taxes ซึ่งเป็นภาษีเพิ่มขึ้นที่เก็บจากผู้ประกอบการ หรือผู้ใช้ธรรมชาติที่เป็นของส่วนรวมมากกว่าระดับปกติ ภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้นนี้จะผลักดันให้ผู้ใช้ทรัพยากรประหยัดและใช้อย่างคุ้มค่า การเก็บภาษีแบบนี้ยังเป็นธรรมต่อคนส่วนรวมตามหลักประชาธิปไตยด้วย
มีการเสนอแนะล่วงหน้าการประชุม Rio+20 ให้ตั้งวาระไว้ที่การปฏิบัติเพื่อความอยู่รอด หรือ the survival agenda ให้เป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายต่ำที่สุด หวังให้เกิดผลปฏิบัติได้จริงที่จะบรรเทาเบาบางปัญหาวิกฤตที่คุกคามประชากรโลกอยู่ให้จงได้
สำหรับประเทศไทย แนวทาง Green Economy หรือ SD นั้นเป็นแนวทางเดียวกับ “แนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงของเรานั่นเอง เรามีของดีเลิศอยู่ในมือแล้ว และมีคนส่วนหนึ่งรับไปปฏิบัติแล้ว แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มหวังเอาประโยชน์ส่วนตน เอาเปรียบผู้อื่นด้วยลัทธินายทุน แต่อ้างหลักการเลือกตั้งของประชากรส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตยและมุ่งล้มล้างสถาบันที่คำนึงถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชน
ในช่วงนี้ประชาชนคนไทยจึงต้องใช้วิจารณญาณอย่างหนักในการเลือกข้างที่คำนึงถึงประชาชนและความอุดมสมบูรณ์ของประเทศอย่างแท้จริงหรือข้างที่จะหลอกให้ประชาชนหลงเชื่อในสิ่งที่เป็นมา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|