Eco Town มีอยู่จริง...หรือเปล่า

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่รวมกันได้จริงหรือ ในที่นี้หมายถึงอุตสาหกรรมหนักประเภทโรงกลั่นปิโตรเคมี ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมรีไซเคิล ซึ่งจะสะท้อนโอกาสของการสร้างอีโคทาวน์ (Eco Town) ในไทยว่าจะเป็นไปได้จริงไหม

“จะเป็นอีโคทาวน์ควรจะคิดตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วที่เริ่มโครงการมาบตาพุด แต่ตอนนี้แม้แต่ที่รัฐบาลบอกว่าควรจะลดเขตอุตสาหกรรมเก่า แต่พื้นที่อุตสาหกรรมยังขยายเพิ่มขึ้น” พัชรี ชาวบ้านจากบ้านชากลูกหญ้า หนึ่งในชุมชนของมาบตาพุด สะท้อนปัญหามาบตาพุด

เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนมาบตาพุดที่รวมตัวกันแจ้งปัญหามลพิษจากนิคมต่อรัฐบาลเมื่อปี 2550 ร่วมยื่นฟ้องชะลอโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการ รวมถึงเรียกร้องให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง เพียงแค่มีการปรับเปลี่ยนเป็นแผนลดและขจัดมลพิษของคนมาบตาพุดแทน

ส่วนการควบคุมมลพิษและเฝ้าระวัง ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการติดตั้งสถานีตรวจคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้นในพื้นที่รอบนิคม เป็นการตรวจวัดกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOC โดยกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่กระนั้นสถานีตรวจวัดเหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างพัชรีเท่าไรนัก

“ตอนโรงงานบีเอสซีระเบิด สถานีตรวจวัดยังโชว์สัญลักษณ์หน้ายิ้ม (แสดงว่าอยู่ในภาวะปกติ) อยู่เลย” พัชรีบอก

สิ่งที่เธอกังขามาตลอดในการอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้นิคมก็คือเพราะเหตุใดหน่วย งานต่างๆ ยังทนเห็นความเจ็บป่วยของคนมาบตาพุดอยู่ได้ เธอบอกว่าทุกวันนี้พื้นที่ชุมชนมาบตาพุดยังมีค่าของสารเคมี 3 ตัวที่เกินมาตรฐานมาตลอด ได้แก่ ไวนีลคลอไรด์ ไดคลอโรอีเทน และเบนซีน

“3 ตัวนี้วัดกี่ครั้งก็ไม่เคยต่ำลง แต่ก็ยังคงมีโรงงานใหม่เกิดขึ้นในมาบตาพุด กรณีสารโทรูอีนรั่วไหลจากโรงงานบีเอสซีที่เกิดอุบัติเหตุล่าสุด ถึงไม่มีผลต่อมะเร็งแต่ก็ยืนยันว่ามีผลทำให้คลอดก่อนกำหนด ลูกสาวดิฉันอายุครรภ์ตอนนี้ 34 สัปดาห์ มีแนวโน้มคลอดก่อนกำหนด ถึงหมอบอกว่าพยายามประคองให้ถึง 37 สัปดาห์ก็ยังคลอดก่อนกำหนดอยู่ดี แล้วแบบนี้อีโคทาวน์ที่บอกไว้จะมีจริงได้หรือเปล่า” นี่คือคำถามตรงๆ จากคนในพื้นที่มาบตาพุด

ขณะที่อาจารย์กอบกุล รายะนคร นักวิจัยกฎหมายสิ่งแวดล้อมและนโยบายสาธารณะ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์ไปค้นหาอีโคทาวน์ถึงญี่ปุ่นว่า

“ดิฉันมีโอกาสไปดูเมืองคิตะคิวชู ที่เขาพูดกันว่าเป็นเมืองอีโคทาวน์ของญี่ปุ่น ก็ตั้งความหวังจะดูว่าเขาจัดการอุตสาหกรรมของเขาอย่างไรถึงเรียกว่าอีโคทาวน์ ไปถึงเจอแต่อุตสาหกรรมรีไซเคิล ข้อเท็จจริงคืออดีตเขาเคยมีอุตสาหกรรมหนัก แต่ย้ายฐานการผลิตออกไปหมดแล้ว ฉะนั้นจริงๆ ที่บอกว่าอีโคทาวน์เป็นเมืองสะอาด เมื่อดูวิธีการแก้ไขปัญหาจริงๆ ก็พบว่าการแก้ไขปัญหาของเขาคือย้ายอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมที่สกปรกออกไป”

ดร.โมโมโกะ ชิบะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคที่เกิดจากมลพิษของญี่ปุ่น เคยทำคดีสารซารินที่ลัทธิโอมชินริเคียวนำไปปล่อยในรถไฟใต้ดินจนมีผู้เสียชีวิต ก็เคยมาเยี่ยมชมมาบตาพุด เล่าวิธีการหนึ่งของการจัดการปัญหามลพิษที่เมืองมินามะตะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรคประหลาดชื่อเดียวกันให้ฟังว่า ที่มินามาตะใช้วิธีกำจัดสารปรอทตกค้างในดินเลนบริเวณอ่าวด้วยการขนไปทิ้งที่อื่นและต้องใช้เวลาในการกำจัดถึง 12 ปี (อ่านมาบตาพุดในมุมมองของคนตรวจโรค นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับมิถุนายน 2554)

อย่างไรก็ดีทีมงานนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เคยไปดูอีโคทาวน์ของญี่ปุ่นเห็นว่ามีระบบการจัดการที่สามารถควบคุมมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี แต่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ถ้าสามารถเข้าถึงหัวใจของการอยู่ร่วมกันอย่างจริงใจ นั่นคือโรงงานดำเนินงานด้วยความโปร่งใส จริงใจต่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ขณะที่ชุมชนต้องเข้มแข็งร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่นิ่งดูดาย อีโคทาวน์ก็มีโอกาสเกิดได้จริงเช่นกัน (อ่านบทเรียนคาวา ซากิและอิจิฮารากับโลกทัศน์ของมาบตาพุด นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับกรกฎาคม 2553)

การพาไปดูตัวอย่างอีโคทาวน์ในญี่ปุ่นของเอสซีจีครั้งนั้นก็เพื่อให้เห็นต้นแบบที่ทำสำเร็จมาแล้ว เป็นแนวทางที่บริษัทจะนำมาใช้สร้างอีโคทาวน์ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรม และชุมชนเป็นไปได้ตามวิสัยทัศน์ของเครือเอสซีจีที่ว่า อยู่ที่ไหนก็ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม และต้องอยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

“เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้และจะผลักดันเรื่องอีโคทาวน์ ที่เราทำก็คือการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากการเป็นอีโคแฟคตอรี่ เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานเราดูแลสิ่งแวดล้อมจากตัวเรา และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนให้น้อยที่สุด” สมชาย หวังวัฒนาพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว

โรงงานอุตสาหกรรมในเครือเอสซีจีเคมิคอลส์ในพื้นที่มาบตาพุดมีอยู่ประมาณ 14 บริษัท รวม 20 กว่าโรงงาน มีทั้งหมด 7 ไซต์ทุกไซต์จะมีโรงงาน แนวคิดอีโคแฟคตอรี่จะทำกับทุกโรงงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำได้เต็มรูปแบบเฉพาะกับโรงงานใหม่ เพราะสามารถควบคุมและเลือกใช้นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมมาออกแบบโรงงานให้เป็นไปตามหลักอีโคตั้งแต่ต้น

ผลงานโชว์ในครั้งนี้คือโรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของบริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด (MOC) ในเครือเอสซีจีเคมิคอลส์ ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จและเริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2533 ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลที่เอสซีจีซื้อต่อมาจากเอกชน แล้วขอผนวกเข้ากับนิคมมาบตาพุด ปัจจุบันเป็นโรงงานต้นแบบที่ต้องคอยต้อนรับชาวต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและชาติตะวันตกที่เข้ามาขอดูงานอยู่เรื่อยๆ

“เพราะเราเอามาตรฐานที่เข้มที่สุดจากหลายประเทศมาใช้ทั้งจากอเมริกา ญี่ปุ่น แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์”

ภายใต้หลักการอีโคแฟคตอรี่ของ MOC ประกอบด้วย หนึ่ง-5S ได้แก่ Sight/Sound/Smell/Sickness/Safety สอง-VOC ดีโปรแกรม สาม-3R reduce/reuse/recycle สี่-ปราศจากขยะฝังกลบ ห้า-มีการแลกเปลี่ยน และซินเนอยี่การใช้ของเสีย หก-ทำแนวป้องกันสีเขียวรอบพื้นที่นิคม (Protection Stripe) และเจ็ด-ทำซีเอสอาร์และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน

สมชายอธิบายความสำคัญของอีแฟคตอรี่ว่า จำเป็นที่โรงงานยุคใหม่ต้องเริ่มป้องกันตั้งแต่ออกแบบไม่ต้องรอมีปัญหาแล้วค่อยทำถ้าเดินโรงงานแล้วยังไม่สมบูรณ์ก็ต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

เพราะฉะนั้นอีโคแฟคตอรี่ของ MOC ต้องมีหลักการดำเนินงานอยู่หลายประการ

5S เป็นเรื่องของมลภาวะที่สัมผัสง่าย ที่สุด MOC ออกแบบหัวเผาที่ช่วยลดไนโตร เจนออกไซด์ (NOx) ทำให้สามารถนำอากาศหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ลดอุณหภูมิในการเผาไหม้ต่ำกว่าปกติ ทำให้ค่า NOx ต่ำลง และออกแบบถังเก็บผลิตภัณฑ์ลักษณะเหมือนฝาชีครอบเพื่อไม่ให้มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายหลุดออกมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้มาจากสิงคโปร์ที่โรงงานตั้งอยู่ติดกับชุมชนเช่นกัน

อุปกรณ์ในโรงงาน เช่น ตัวปั๊มและวาล์ว ถ้าสังเกตก๊อกน้ำที่บ้านใช้ไปนานๆ ก็มีน้ำรั่วซึมได้ แต่ในโรงงานเป็นสารไฮโดรคาร์บอนถ้ารั่วอาจจะติดไฟและกระทบสิ่งแวดล้อม MOC ออกแบบให้มีระบบห่อหุ้มสองชั้นเป็นการป้องกันสาร VOC ออกสู่บรรยากาศด้วย โดยวาล์วที่ใช้จะยาวกว่าและทนกว่าวาล์วทั่วไปสิบเท่า

“ตาม EPA ของอเมริกากำหนดค่า VOC ไว้ที่ 500ppm แต่เราตั้งเป้าภายใต้ VOC ดีโปรแกรมไว้ต้องไม่เกิน 250ppm โดยเอ็นเคอเรจให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม เอาเครื่องเช็กไปวัดแก๊ส ถ้าเกินก็จะต้องรีบทำกิจกรรมที่จะช่วยลดไม่ให้เกิน”

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับเวิลด์คลาสกำหนดค่า VOC ไว้ว่า จะต้องอยู่ที่ประมาณ 0.6-10.0 กิโลกรัมต่อตันเอทิลีน ปี 2553 ที่เริ่มเดินเครื่องโรงงาน MOC มีค่า VOC อยู่ที่ 2.92 และเมื่อทำกิจกรรมภายใต้ อีโคแฟคตอรี่อย่างต่อเนื่อง สามารถลดลงไปได้อีก 0.57

ระบบหมุนเวียนน้ำในโรงงาน ปกติหอผึ่งเย็นหรือ Cooling tower ของโรงงานในนิคมมาบตาพุดจะมีรอบการใช้น้ำประมาณ 5 รอบแล้วปล่อยทิ้ง ที่ MOC เพิ่มเป็น 8-9 รอบ เพื่อลดปริมาณน้ำทิ้งให้น้อยที่สุด หมุนเวียนน้ำใช้ในระบบให้นานขึ้น แล้วนำน้ำทิ้งไปผ่านระบบ RO (Reverse Osmosis) ให้เป็นน้ำดี ทำให้ไม่ต้องปล่อยน้ำทิ้ง

ขณะที่ของเสียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจะต้อง ไม่มีการฝังกลบ การกำจัดให้เหลือศูนย์มีทั้งส่วนที่ประสานงานกับอุตสาหกรรมอื่นของเอสซีจีนำของเสียที่เป็นของแข็งไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงปูน ส่วนถ่านกัมมันซึ่งต้องใช้ในกระบวนการผลิต ก็พัฒนาปรับปรุงจากเป็นกรดมาใช้แบบเป็นเม็ด เพื่อส่งกลับไปให้ ผู้ผลิตฟื้นฟูสภาพเมื่อใช้จนเต็ม แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องไปฝังหรือเผาทิ้ง ขณะที่หากเลือกใช้ถ่านกัมมันแบบเกล็ดจะได้ราคาถูกแต่เมื่อใช้จนอิ่มตัวก็ต้องไปเผาทิ้งหรือฝังกลบเท่านั้น

ขณะที่ของเสียบางอย่างสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับโรงงานใกล้เคียงนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีก เช่น กรณีที่ MOC ต่อท่อจากปล่อง Flare ระหว่างโรงงานกับโรงงานในเครือ PTTCG เพื่อนำสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งเดิมต้องเผาทิ้งทุกครั้งเมื่อเริ่มสตาร์อัพ หรือหยุดเดินเครื่อง หรือฉุกเฉินไฟฟ้าดับ ต่อท่อไปอีกโรงงานหนึ่งเพื่อนำสาร ไฮโดรคาร์บอนดังกล่าวไปเป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการผลิตถัดไป ซึ่งกรณีต้องหยุดเครื่อง อย่างน้อยเมื่อเดินเครื่องไปได้ 3-5 ปี เพื่อพักทำความสะอาดอย่างน้อย 30-45 วัน การดึงไฮโดรคาร์บอนไปใช้งานแทนการเผาทิ้งสามารถลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ครั้งละ 2,800 ตัน

“เราตัดสินใจเดินท่อระหว่าง MOC กับโรงงานในเครือ ปตท.ในนิคมเดียวกัน โชคดีที่สภาพภูมิศาสตร์ทำได้ ระบบนี้ต้องคิดตั้งแต่ออกแบบโรงงาน มูลค่าของเสียที่แลกเปลี่ยนเพิ่มเป็นผลผลิตได้เท่าไร กำไรหารสองเป็นซินเนอยี่โปรเจ็กต์ที่วิน-วิน เพราะปกติเปิดปิดโรงงานแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย ต้อง Flare ทิ้งเยอะมากอยู่แล้ว”

MOC ถือว่าการต่อท่อ Flare เพื่อนำของที่ต้องถูกเผาทิ้งไปใช้งานแค่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คุ้มทันทีที่จะทำ เพราะถ้าปล่อย Flare ก็ต้องมีมลพิษทั้งแสงและเสียง ซึ่งปัจจุบันปล่อง Flare ที่มาบตาพุดมีมากกว่า 100 ปล่อง บางปล่องปล่อย Flare ทุกวันซึ่งไม่รู้ว่ามีสารพิษอะไรปนออกมาบ้าง ในหลายประเทศจึงออกฎหมายให้ปล่อยได้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน หยุดเดินเครื่อง หรือเริ่มเดินเครื่องเท่านั้น

MOC ยังอยู่ระหว่างการวิจัยหาวิธีกำจัดของเสียประเภทอื่น เช่น ของเสียทางด้านชีวภาพที่เกิดจากกระบวนการหมักในระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะมีตะกอนซึ่งปกติต้องเอาไปเผาทิ้ง แต่นำมาพิจารณาแล้วเมื่อเป็นตะกอนจากปฏิกิริยาชีวภาพจึงเอาไปเลี้ยงหนอนให้หนอนย่อยสลาย เมื่อหนอนถ่ายก็ได้ปุ๋ยไปทำกิจกรรมกับชุมชน

สำหรับกิจกรรมซีเอสอาร์ MOC มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แม้เอสซีจีเคมิคอลส์จะมีทีมซีเอสอาร์อยู่กว่า 30 ชีวิต แต่ซีเอสอาร์ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วมและเรียนรู้ว่ากิจกรรมใดที่ทำแล้วชุมชนไม่เห็นด้วยองค์กรก็จะไม่ยั่งยืนเช่นกัน

“เราต้องเริ่มต้นเป็นคนดีให้เขาเห็นก่อน แล้วค่อยให้เขามีส่วนร่วม มีชุมชนที่อยู่รอบๆ บริษัทในเครือ 30 กว่าชุมชน ชุมชนในมาบตาพุด 80-90 ชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่อาร์ไอแอล 13 ชุมชน ช่วงก่อสร้างก็ไปแต่ละชุมชน แจ้งว่าจะขึ้นโรงงาน จะเป็นอย่างไร เราทำอะไรบ้าง ที่อาจจะส่งผลกระทบชุมชนแล้วเราจะทำอย่างไร ชุมชนมีความต้องการอย่างไร เราพยายามไปสร้างความสัมพันธ์และทำให้ชุมชนเห็นว่าเรามีความตั้งใจดี ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำแล้วทำให้เกิดความยั่งยืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้เวลา เพราะการสร้างความเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย การเริ่มต้นจากความตั้งใจดีและเป็นคนดีก่อน อันนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบขั้นต้น”

ส่วนสำคัญที่ทำให้ MOC วางกรอบอีโคแฟคตอรี่ไว้อย่างละเอียด เพราะบริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากกว่า 30 ปี พร้อมๆ กับการเกิดมาบตาพุด จึงนำประสบการณ์ที่ได้มาออกแบบเพื่อสร้างอีโคแฟคตอรี่ เพื่อเป็นขั้นตอนแรกก่อนจะพัฒนาไปสู่การเป็นอีโคทาวน์ที่กินพื้นที่กว้างขึ้น

“ชุมชนรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลมีอยู่จำนวนมาก เราอยากจัดเป็นอีโคคอมมูนิตี้ทั้งหมด แต่ใหญ่เกินกว่าจะทำคนเดียวสำเร็จ อยากให้ทั้งผู้ประกอบการอื่นและชุมชนเป็นแนวร่วม โดยเราพยายามทำชุมชนต้นแบบขึ้นมาก่อน ตอนนี้เริ่มแล้วที่ชุมชนห้วยโป่ง”

นอกจากผลักดันให้คนนอกเข้ามาสร้างอีโคคอมมูนิตี้ร่วมกัน แต่สำหรับพนักงาน MOC จะต้องเจอกับภาคบังคับเมื่อผู้จัดการหนึ่งคนจะต้องมีชุมชนที่ดูแลประจำหนึ่งชุมชน

เรื่องสำคัญที่ต้องใกล้ชิดกับชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพราะอย่างน้อยโรงงานในเครือเอสซีจีเคมิคอลส์ที่เริ่มก่อสร้างในนิคมอาร์ไอแอลมาตั้งแต่ปี 2549 ก็ใช้เงินลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท จะทำให้เป็นเงินลงทุนที่จะเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อไปด้วยดี ก็ต้องเป็นที่เข้าใจและยอมรับของชุมชน

ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็มีหน้าที่ต้องทำ ราชการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานรับผิดชอบหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ประชาชนร่วมกันตรวจสอบดูแลเป็นหูเป็นตาภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจกัน เพียงเท่านี้โอกาสของการพัฒนาอีโคทาวน์ให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยสักแห่ง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.