|

เศรษฐกิจท้องทะเลเวียดนามต้องการสันติ
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
เวียดนามวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลเอาไว้ โดยมีเป้าหมายให้มีสัดส่วนถึง 55% ของ GDP ในอีก 8 ปีข้างหน้า แต่ตัวแปรที่จะทำให้เป็นไปตามเป้าหมายได้คือ “สันติ”
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาประเทศเวียดนามมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจทะเลเวียดนาม” ครั้งที่ 3 ประจำปี 2555 ขึ้นที่จังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า ในกรอบงานสัปดาห์ทะเลและเกาะเวียดนาม สะท้อนวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน และวันมหาสมุทรโลก 8 มิถุนายน 2555
บรรดาผู้แทนที่เข้าร่วมงานเสวนา ได้นำเสนอภาพกว้างๆ เกี่ยวกับลักษณะพิเศษ กิจกรรมเศรษฐกิจทะเลของเวียดนาม และศักยภาพ รวมถึงจุดแข็งการพัฒนาเศรษฐกิจทะเล ตามยุทธศาสตร์ทะเลเวียดนามถึงปี 2563
บนเวทีเสวนามีการให้ความเห็นว่าเวียดนามต้องพัฒนาฐานเทคโนโลยีทางทะเลที่ทันสมัยและสามารถสัมฤทธิผล มีความสามารถบูรณาการสากล มีวิธีการจัดการทะเลโดยรวมตามช่วงเวลา และเครื่องมือวางผังทางทะเล
ผู้แทนบางคนเสนอว่า เวียดนามต้องกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจทะเลตามลักษณะเฉพาะของแต่ละเขต
ผู้แทนกระทรวงแผนและการลงทุนได้กล่าวว่า ปีต่อๆ ไปเวียดนามยังคงต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะต้องการเงินทุนมากที่สุด คาดว่าประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่แหล่งเงินลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจดทะเบียนประกอบการในท้องถิ่นที่ติดกับทะเล ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเพียงประมาณเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อให้แหล่งเงินลงทุนสำคัญเหล่านี้ประกอบการอย่างสัมฤทธิผล ต้องให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือบรรยากาศในทะเล ฝั่งทะเล และการบริการด้านพลาธิการ
ตอนค่ำภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนาที่ห้องประชุมธุรกิจร่วมเวียดนาม-รัสเซีย Vietsovpetro กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเวียดนามประสานงานกับ คณะกรรมการประชาชนจังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า จัดรายการแลกเปลี่ยนเทคนิคทาง ด้านทะเลและเกาะ โดยหว่าง ตรุง หาย รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุม โดยเน้นย้ำความสำคัญของทะเลและเกาะ
เวียดนามมีฝั่งทะเลยาวนับ 1,000 กิโลเมตร มีทรัพยากรล้นเหลือและหลากหลายด้วยปริมาณสำรองค่อนข้างมาก ดังนั้น การพัฒนาแหล่งรายได้จากเศรษฐกิจ ทะเลจึงสำคัญ เช่น การประมง การเพาะ เลี้ยง การแปรรูปสินทะเล การท่าเรือเดินทะเล การต่อเรือ การท่องเที่ยว การติดต่อ สื่อสาร เป็นต้น
หลายปีที่ผ่านมาบรรดาแหล่งรายได้จากทะเลได้นำมาและมีส่วนมากที่สุด ให้แก่กระบวนการพัฒนาประเทศ ปัจจุบัน บรรดาแขนงงานเศรษฐกิจทางทะเลที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมใน GDP ของเวียดนาม ประมาณ 47-48%
ในนั้นการบุกเบิกก๊าซ-น้ำมัน การประมง การขนส่งทางทะเล การบริการท่าเรือเดินทะเลมีสัดส่วนใน GDP ของเวียดนามประมาณ 22%
ยุทธศาสตร์ทางทะเลของเวียดนาม ที่วางไว้จนถึงปี 2563 ได้ตั้งเป้าหมายนำ พาประเทศเวียดนามให้แข็งแรงด้านทะเล และทำความมั่งคั่งจากทะเลให้มีสัดส่วนใน GDP เพิ่มขึ้นเป็น 53-55% และมีส่วนในดัชนีการส่งออกของทั้งประเทศ 55-60% ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่เขตชายฝั่งทะเล
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นรองนายกรัฐมนตรี หว่าง ตรุง หาย ได้หยิบยก 6 วิธีการแก้ไขปัญหาขั้นต้นของรัฐบาลในเวลาข้างหน้า
1 ใน 6 วิธีการดังกล่าว ได้แก่ การยืนยันอธิปไตย อำนาจอธิปไตย เขตอำนาจศาลของเวียดนามในเขตทะเลและเกาะของปิตุภูมิต่อไป ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 2525 รวมถึงยืนยันอธิปไตย อำนาจอธิปไตย และเขตอำนาจศาลของเวียดนาม ในบรรดาเขตทะเลเขตเศรษฐกิจจำเพาะไหล่ทวีป ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล
“พวกเรายึดถือนโยบายแก้ไขปัญหา พิพาทในทะเลตะวันออกด้วยมาตรการสันติบนพื้นฐานกฎหมายสากล อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 2525 ร้องขอการสนับสนุนจากนานาชาติ ขณะเดียวกันก็ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวต่อการกระทำที่ละเมิดอธิปไตย อำนาจอธิปไตย และเขตอำนาจศาลของเวียดนาม ในบรรดาเขตทะเลและเกาะ เน้นการปรับปรุงระบบกลไก และนโยบายกฎหมายเกี่ยวกับขอบเขตทะเลและเกาะ การจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมทางทะเล สร้างพื้นฐานทางนิตินัย อย่างครบวงจร และจัดการอย่างรัดกุม รักษาและบุกเบิกแหล่งรายได้จากทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ประสานการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกับการป้องกันประเทศและความมั่นคง ร่วมมือในระดับสากล เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระดมภาคส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อบุกเบิกทรัพยากรจากทะเลและเกาะให้มีสัดส่วนมากขึ้นในงบประมาณของรัฐ เพิ่มความหนาแน่นทางเศรษฐกิจทะเล และปฏิบัติให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อนำพาประเทศเวียดนามให้กลายเป็นชาติที่แข็งแรงขึ้นมาจากทะเลและมั่งคั่งจากทะเล” หว่าง ตรุง หาย กล่าว
ในโอกาสนี้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประกาศมติมอบรางวัล “ทะเลเขียวบ้านเกิด 2555” และมอบหนังสือชื่นชมให้ 9 หน่วย 8 บุคคลที่มีความสำเร็จหลายอย่างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทะเลและเกาะ, ป้องกันอธิปไตย, จัดการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านการสืบค้นหลักฐานทะเลและเกาะเวียดนาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|