|
ทัศนะของคนค้าขายกับพม่า
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
“ในเรื่องการเกษตร หลายปีมานี้ผมนั่งถามตัวเอง แล้วก็ถามเพื่อนๆ ว่า พม่าเขาพัฒนาไปอย่างนี้ แม้ว่ายังต้องใช้เวลาแต่เขาก็พัฒนาไปเรื่อยๆ มีผลกับเรา เพราะว่าในตลาดข้าวมีซัปพลายเออร์อยู่แค่นี้
เราเป็นผู้หนึ่งที่ขายข้าวเข้ามาในตลาดแล้วตลาดก็อยู่แค่นี้ ค่อยๆ โต ไม่ได้โตมากหรอก วันนี้ในโลกนี้มีคนประมาณ 6 พันกว่าล้าน เกือบ 7 พันล้านคนที่ต้องกินข้าว
ตอนนี้กลายเป็นว่าแต่ละประเทศที่เคยปลูกได้น้อยก็ปลูกได้มากขึ้น พอปลูกได้มากแล้วก็ขายเข้ามา ผมถามว่าเราจะเป็นที่ 1 ต่อไปนานที่สุดได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้มีเราเล่นอยู่เพียงคนเดียว คนอื่นเขาเข้ามาเล่นด้วย
ในอุตสาหกรรมข้าวนี่นะ ในส่วนของโรงสีข้าวโดยหลักๆ แล้วเราใช้เครื่องจักรของญี่ปุ่น ใช้ของซาตาเก้ แต่ตอนนี้หลายอย่างของเวียดนามดีกว่า หลายอย่างจีนดีกว่า เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว พัฒนาเร็ว วันนี้พอคุณคุยกันเสร็จเขาก็บินไปถึงต้นทางแล้ว ฉันใดฉันนั้น พม่าก็เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นในกรณีของเกษตรพัฒนาการส่งรถเกี่ยวนวดข้าวเข้าไปขายให้พม่าเท่ากับเป็นการช่วยคู่แข่งไหม ผมว่าไม่ เพราะถ้าเขาไม่ขาย คนอื่นก็ขาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น วันนี้ต้องยอมรับว่าจีนเขามาแรงกว่าเรา
ผมเลยดูว่า เมื่อทุกประเทศเขายกระดับพัฒนาขึ้นมาเรื่อย แต่ของเรานี่ มีการพัฒนาจริง แต่ว่าเป็นบางส่วน ในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ เป็นจุดแข็งของเรา ความรู้ทางวิชาการของเราแน่น
แต่เราไม่มีเอกภาพ สู้เขาไม่ได้ ในเมื่อคนอื่นเขาพัฒนา ดีวัน ดีคืน ต้นทุนเขาลดลง เขาขายถูกกว่าเราร้อยเหรียญ เขายังมีกำไรเยอะแยะ แล้วเราจะทำอย่างไร เราไปห้ามเวียดนามได้ไหม ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นโลกเสรี คุณจะไปห้ามพม่าได้ไหม ห้ามไม่ได้ กัมพูชาก็บอกจะเอาด้วย ก็ห้ามไม่ได้ ในเมื่อห้ามไม่ได้แล้วเราก็ไม่มีสิทธิ์ไปห้ามเขา
ในทัศนะของผม เราควรจะเปลี่ยนความคิดใหม่ ทำอย่างไร เราควรจะชื่นชมกับพัฒนาการของเพื่อนบ้าน แล้วเราได้ประโยชน์ด้วย อย่างเช่นเราขายเครื่องจักรไปให้เขา เพื่อให้เขาลดต้นทุน เราแนะนำเขาในเรื่องการบรรจุหีบห่อ แนะนำเขาในเรื่องการคัดคุณภาพ เพื่อให้คุณภาพของเขาดีขึ้น แล้วเราก็ซื้อของเขามาขาย แทนที่จะให้เขาไปจับมือกับคนอื่น ก็มาจับมือกับเราให้เราขาย
จริงๆ แล้วพม่านั้นเขาอยากค้าขายกับเรามากกว่า
และผู้ซื้อเขาอยากซื้อข้าวจากเรามากกว่า เขารู้ว่าพม่ามีสินค้าแต่ไม่แน่ใจว่าสั่งซื้อแล้วจะได้ของไหม ส่งมอบตามกำหนดไหม ดังนั้นซื้อจากเราดีกว่า ให้เราได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ
แต่ในระยะยาวแล้ว เราไม่ควรจะทำเพียงแค่ค้าขาย เราควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่างกรณีของเกษตรพัฒนา มีวิทยาการ มีเทคโนโลยี มีการสั่งสมประสบการณ์ในการผลิตเครื่องจักรการเกษตรมานานแล้ว
พม่ามีสภาพทางภูมิศาสตร์คล้ายเรา ดิน น้ำ ใกล้เคียงกันมาก แทบจะไม่ต้องปรับอะไรเลย เพราะฉะนั้นเครื่องจักรทางการเกษตรของเราเข้าไปแล้วใช้ได้เลย
ดังนั้น แทนที่จะผลิตในประเทศไทยทุกชิ้น แล้วส่งเข้าไปขาย ในระยะยาวแล้วเราก็ไปผลิตที่นั่น ใช้สิทธิ์ของการเป็นเพื่อนร่วมประชาคมอาเซียน เข้าไปผลิตที่นั่น ผลิตแล้วขายที่นั่นเลย แต่ไม่ใช่ในวันนี้นะ
ถ้าถามว่า นานไปเทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวเราจะหายหมด ไม่ใช่ วิทยาการนี่มันพัฒนาไปเรื่อยๆ หัวใจของเทคโนโลยียังอยู่กับประเทศไทย เพราะที่นั่นไม่ใช่ว่าจะผลิตได้ทุกชิ้น ผลิตได้บางชิ้น แล้วเราก็อาจจะค่อยๆ ถ่ายโอนไป เหมือนกับญี่ปุ่นถ่ายโอนเทคโนโลยีมาในเมืองไทยในสมัยก่อน
ในแง่ของภาครัฐ พม่าเขาก็จะมีความภูมิใจว่า พม่าสามารถค่อยๆ เรียนรู้ แล้วก็พึ่งพาตัวเองได้
ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ คนอื่นทำหมด เมื่อคนอื่นทำก็ไม่มีพื้นที่ให้เรายืน วันหนึ่งข้างหน้า เราก็ได้แต่ไปยืนดูเขาทำ แล้วเราก็กลายเป็นคนนอก ไม่สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาในประเทศพม่าได้
-
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|