เมื่อแชมป์เก่ามุ่งมั่นขอทวงตำแหน่งคืน

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

พม่ากำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในการยกระดับ “อุตสาหกรรมข้าว” ของตนเอง โดยมีเป้าหมายในการกลับคืนสู่ตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก และดูเหมือนปัจจัยหลายด้านก็กำลังเอื้อต่อย่างก้าวของพม่าในเรื่องนี้

จอว์ จอว์ ทุน กำลังขะมักเขม้นศึกษาโครงสร้างรถเกี่ยวนวดข้าวล็อตใหม่ที่ญาติของเขา ดร.จอว์ จอว์ อ่อง (Kyaw Kyaw Aung) เพิ่งสั่งนำเข้ามาจากประเทศไทย

เขาต้องเร่งทำความเข้าใจกลไกการทำงานของรถคันนี้ทั้งหมด เพื่อจะควบคุมและสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับเจ้ารถคันนี้

จอว์ จอว์ ทุนจำเป็นต้องรู้จักรถเกี่ยวนวดข้าวคันนี้อย่างดี ก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวรอบใหม่ที่จะถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เมื่อตอนต้นปีระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 21 เมษายน ที่ผ่านมา จอว์ จอว์ ทุนพร้อมกับทีมงานอีก 3 คน ประกอบด้วย จอว์ ซัวร์ วิน หรือจอซัว มินทเว หรือโกเป๊าะ และโซ ลวย อู หรือโซ ลวย ได้เดินทางมาฝึกงานที่โรงงานของบริษัทเกษตรพัฒนาอุตสาหกรรมในเครือเกษตรพัฒนาที่จังหวัดพิษณุโลก

เกษตรพัฒนาคือกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรและเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

(อ่าน “พลิกวิถี หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ ดิน” ประกอบ)

เกือบ 2 ปีมาแล้วที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง ญาติของเขาได้ร่วมทุนกับพรรคพวกจัดตั้งบริษัทเพื่อนำรถเกี่ยวนวดข้าวจากเกษตรพัฒนาเข้ามาช่วยชาวนาของพม่าเกี่ยวข้าวเพื่อจะทำให้กระบวนการผลิตข้าวมีความรวดเร็วขึ้น

ดร.จอว์ จอว์ อ่อง เป็นหมอ แต่มีธุรกิจส่วนตัวด้านการเกษตรโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้าว เป็นเจ้าของโรงสีข้าวใหญ่แห่งหนึ่งของพม่า

บริษัทที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่องร่วมทุนจัดตั้งขึ้นได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลพม่าในการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งของพม่ามีแนวความคิดที่ต้องการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวของพม่าให้รวดเร็วและได้ปริมาณข้าวมากขึ้น

หนึ่งในหุ้นส่วนของ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง ในบริษัทแห่งนี้คือ ออง ถั่น อู (Aung Than Oo) รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าว พม่า (Myanmar Rice Industry Association: MRIA)

มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ พม่าใช้คำว่า “อุตสาหกรรม” เข้ามาเป็นชื่อขององค์กรเอกชนที่จะเป็นตัวกลางในการรับผิดชอบเรื่องข้าว แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งของพม่าที่มองว่า “ข้าว” คือผลผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมมิใช่เกษตรกรรมเหมือนในประเทศไทย

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า) ได้เริ่มนำเข้ารถเกี่ยวนวดข้าวจากเกษตรพัฒนาเพื่อไปทดสอบการใช้งานในท้องนาของพม่าตั้งแต่ปี 2552 โดยนำเข้าครั้งแรกเพียง 1 คัน ถัดจากนั้นในปี 2553 ได้นำเข้าเพิ่มอีก 1 คัน

จนเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นผู้นำเข้าขึ้นมาเป็นการเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว (2554) บริษัทแห่งนี้ส่งออร์เดอร์มายังเกษตรพัฒนาเพื่อสั่งซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวส่งเข้าไปยังพม่า จำนวนทั้งสิ้น 24 คัน แต่สามารถส่งเข้าไปได้จริงเพียง 9 คัน เนื่องจากบริษัทผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการด้านเอกสารในการขออนุญาตนำเข้าจากรัฐบาลได้ทัน

ออร์เดอร์ที่เหลือเกษตรพัฒนาได้เริ่มทยอยส่งออกไปยังพม่าตั้งแต่ต้นปีนี้

มีการตกลงด้วยวาจาระหว่างเกษตรพัฒนากับบริษัทร่วมทุนที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง และออง ถั่น อู จัดตั้งขึ้น โดยเกษตรพัฒนาจะมอบหมายให้บริษัทแห่งนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวในพม่าด้วย

นอกจากบริษัทแห่งนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ Green Asia Co. ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใหญ่แห่งหนึ่งของพม่าก็ได้สั่งซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวจากเกษตรพัฒนาไปด้วยจำนวน 2 คัน

รวมยอดแล้ว 2 ปีเศษๆ ที่ผ่านมาพม่าได้นำรถเกี่ยวนวดข้าวจากประเทศไทยเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตข้าวของพม่าแล้วไม่น้อยกว่า 12 คัน

คาดว่าจำนวนรถเกี่ยวนวดข้าวในพม่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันในวงจรการปลูกข้าวของพม่า ธุรกิจรับจ้างเกี่ยวข้าวเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น

รถเกี่ยวนวดข้าวของเกษตรพัฒนามีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 4 รุ่น โดยรุ่นเล็กสุดมีความสามารถในการเกี่ยวข้าวได้วันละประมาณ 20 ไร่ รุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยสามารถเกี่ยวข้าวได้วันละ 20-30 ไร่ ส่วนรุ่นขนาดกลางเกี่ยวได้วันละ 40-60 ไร่ และรุ่นใหญ่สามารถเกี่ยวข้าวได้วันละ 40-80 ไร่

การที่พม่านำรถเกี่ยวนวดข้าวเข้าไปใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทดแทนการเกี่ยวข้าวด้วยแรงคน ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมแต่อดีตนั้น แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวปกติที่เป็นไปตามพัฒนาการด้านการเกษตรของทุกๆ ประเทศที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร

แต่สำหรับพม่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและส่งออกข้าวของไทย

นอกจากพม่ากำลังเป็นประเทศที่เนื้อหอมเนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ มีหลากหลายประเทศโดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทุกวันนี้ ทุกประเทศกำลังต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเติบโตของพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้น

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งของพม่าได้ประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนออกมาเลยว่า พม่ามีเป้าหมายที่จะทวงแชมป์ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกคืนกลับไป

เป็นนโยบายที่ประเทศไทยมิควรอย่างยิ่งที่จะนิ่งดูดาย

เพราะตลอดเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ตำแหน่งแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกตกเป็นของประเทศไทย หลังจากที่พม่าถูกบอยคอตทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

เพิ่งจะมีเมื่อปีที่แล้ว (2554) ที่ไทยถูกอินเดียแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวไปทั่วโลกแทน

“ถ้าติดตามการวางนโยบายของรัฐบาลพม่าในช่วงที่ผ่านมา เขาค่อนข้างเจียมตัว สงบปากสงบคำ ไม่เคยประกาศตัวเองว่าจะฮับนั่น ฮับนี่ เป็นเมืองแฟชั่น เป็นดีทรอยต์ของเอเชียเหมือนไทย จะมีก็แต่เรื่องข้าวเรื่องเดียวนี่แหละ ที่เขาพูดออกมาชัดเจนที่สุด แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก” คนที่มีประสบการณ์ในการค้าระหว่างไทยกับพม่ามามากกว่า 20 ปี ท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ ผู้จัดการ 360 ํ

เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อกิจการของผู้ให้สัมภาษณ์ท่านนี้ ผู้จัดการ 360 ํ มีความจำเป็นที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อหรือรายละเอียดของแหล่งข่าวท่านนี้ได้

การนำรถเกี่ยวนวดข้าวเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตข้าวของพม่าเป็นเพียง 1 ในกระบวนการเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศเอาไว้ว่า พม่าต้องการทวงตำแหน่งแชมป์ประเทศผู้ส่งออกข้าวคืนประสบผลสำเร็จ

พม่ายังมีกระบวนการอื่นๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ในอีกหลายๆ ด้านด้วยกัน

ที่สำคัญ เป็นการวางแผนดำเนินการมาตั้งแต่ยุคที่พม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 เสียอีก

ก่อนที่รัฐบาลทหารพม่าจะตัดสินใจเปิดประเทศ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 นั้น สภาพเศรษฐกิจของพม่าแม้ไม่ได้เลวร้ายเหมือนประเทศที่เคยถูกบอยคอตอื่นๆ หรือประเทศที่ยังถูกบอยคอตอยู่ในปัจจุบัน

แต่เศรษฐกิจของพม่าหากไม่นับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ และกำลังเป็นที่หมายปองจากนักลงทุนต่างชาติอย่างตาเป็นมันแล้ว

ในภาคธุรกิจยังถือว่าพม่ายังขาดจุดแข็งที่เป็นรูปธรรมที่รัฐบาลสามารถนำเสนอให้สังคมโลกมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นที่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศหลังจากมีการเปิดประเทศแล้ว

มีเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องข้าวที่พม่ามีความพร้อมมากที่สุด

“ที่เขามาพัฒนาตัวนี้ เพราะใกล้มือมากที่สุด ข้อแรกคือ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ข้อสอง การเตรียมการในเรื่องนี้ รัฐบาลทหารเขามีแผนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้สังคมทราบว่ารัฐบาลนี้สามารถจะทำอะไรที่ดีๆ ดังนั้น ล่วงหน้าก่อนเลือกตั้ง มีการเตรียมการมาเป็นระยะ มีการพัฒนาในเรื่องพวกนี้เป็นลำดับ พอสิ่งที่เตรียมไว้เริ่มสุกงอม ก็จัดเลือกตั้ง เขาก็จะโชว์ให้ดูว่ามีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในพม่าแล้ว” แหล่งข่าวรายเดิมบอก

“ถ้าดูรายได้หลักที่มาจากการส่งออกของเขา 2 ปีก่อน การส่งออกของเขาประมาณ 8,800 ล้านดอลลาร์ ในนี้ 55% เป็นก๊าซที่ขายให้กับเรา ก็แปลว่ามีประมาณ 4,200 ล้านเท่านั้นที่เป็นสินค้าส่งออกจริง แล้ว 4,200 ล้านดอลลาร์ที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปมีตัวเดียวคือการ์เมนต์ นอกนั้นเป็นสินแร่ ถั่ว ปลา ซุง ข้าว รวมแล้วส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ด้านสาขาการเกษตร เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมนี่ไม่มีเลย การ์เมนต์ที่ส่งออก พอดูลึกๆ เข้าไปก็เป็นโรงงานจากฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ไปตั้งโรงงานเอาเครื่องจักรอุตสาหกรรมเข้าไป แล้วก็ใช้แรงงานตัดเย็บเท่านั้นเอง ไม่ได้พัฒนา เพราะฉะนั้นเขาต้องเน้นตัวข้าว ซึ่งวิธีคิดของเขาก็สมเหตุสมผล ทำอะไรที่ตัวเขามีความรู้ พอจะทำได้ ทำก่อน แล้วโลกจะเปลี่ยนแปลงยังไง ค่อยๆ ตามเอาทีหลัง” เขาย้ำ

การพัฒนาเป็นลำดับ เริ่มจากการคัดเลือกภาคเอกชนกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีเงินทุน แล้วผลักดันให้เอกชนกลุ่มนี้จัดตั้งบริษัทในลักษณะที่เป็น Special Company ขึ้นมา

Special Company เหล่านี้จะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลหลายประการ อาทิ สิทธิการถือครองที่ดินเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว กระบวนการผลิตข้าว ตลอดจนสิทธิในการนำเข้าสินค้าที่จะเป็นปัจจัยในการผลิตและพัฒนา ตลอดจนสิทธิในการส่งข้าวออกไปขายยังต่างประเทศ ฯลฯ

ในอดีต ก่อนปี 2551 (2008) การส่งออกข้าวของพม่าถือเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐบาล เพราะประเทศพม่าถูกทั่วโลกบอยคอต ลูกค้าข้าวของพม่าก็คือรัฐบาลของประเทศที่ไม่สนใจในมาตรการบอยคอต และกล้าเข้ามาค้าขายกับพม่า ดังนั้นการขายข้าวจึงเป็นในลักษณะรัฐต่อรัฐ

การผลักดันให้มีการจัดตั้ง Special Company รัฐบาลพม่าได้ผ่อนคลายการผูกขาดการส่งออกข้าว โดยการผลักภาระไปให้กับบริษัทเหล่านี้

มีภาคเอกชนที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัทประเภทนี้รวมแล้วประมาณ 39 บริษัท

บริษัทร่วมทุนระหว่าง ดร.จอว์ จอว์ อ่อง และออง ถั่น อู ที่นำเข้ารถเกี่ยวนวดข้าวจากกลุ่มเกษตรพัฒนา หรือ Green Asia Co. บริษัทพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็เป็น 2 ใน 39 Special Company ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามนโยบายนี้เช่นกัน

เมื่อจัดตั้ง Special Company ขึ้นมาแล้ว บริษัทเหล่านี้มีภารกิจที่ต้องออกไปสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ ตลอดจนการส่งคนออกไปแสวงหาความรู้และเทคโนโลยี โดยเข้าร่วมรับฟังการสัมมนา ดูนิทรรศการ ตลอดจนร่วมสังเกตการณ์ตามงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวซึ่งจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

ว่ากันว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา มีคนพม่าที่เดินทางไปตามงานต่างๆ เหล่านี้แบบเงียบๆ หลายร้อยคนทั่วโลก

เมื่อตัวแทนเหล่านี้ได้ไปพบกับนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเห็นสิ่งใดที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของพม่า ก็จะศึกษารายละเอียดและทำเป็นโครงการเสนอต่อรัฐบาล

เมื่อได้รับอนุมัติก็เดินหน้าโครงการ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งเรื่องการซื้อ เทคโนโลยี การนำเข้าสินค้าที่เป็นนวัตกรรม การร่วมมือและร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาช่วยกันพัฒนา ฯลฯ

การพัฒนาเรื่องข้าวของพม่า จึงมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน

ที่สำคัญ ความคืบหน้าเหล่านั้นได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศที่เป็นเพื่อนมิตรของพม่าในช่วงที่ถูกบอยคอต ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และเวียดนาม

จีนเป็นประเทศที่ช่วยพม่าหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพราะจีนมีการพัฒนาเรื่องนี้ด้วยตนเองมาหลายปีแล้ว

สายพันธุ์ข้าวพม่าหลายสายพันธุ์มีจุดเริ่มต้นจากการซื้อเทคโนโลยีจากจีน แล้วนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาต่อ

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศผู้ซื้อข้าวทั่วโลกว่ามีการพัฒนาด้านสายพันธุ์ที่มีความต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทยได้กลายเป็นสินค้าข้าวระดับพรีเมียมในตลาดข้าวโลก

พม่าก็ยอมรับในข้อเสียเปรียบ หากเทียบกับไทยในจุดนี้ จึงมีการทุ่มเททรัพยากร แสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ของตนเองให้โดดเด่นขึ้นมา

การที่ข้าวพันธุ์ Pearl Paw San ของพม่าได้รับรางวัลชนะเลิศในการจัดประกวดสุดยอดข้าว ซึ่งจัดขึ้นโดย Rice Traders ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม ปีที่แล้ว (2554) ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี ประเทศเวียดนาม ทั้งๆ ที่ตำแหน่งนี้เคยตกเป็นของข้าวหอมมะลิจากไทยถึง 2 ปีซ้อนในช่วงก่อนหน้านั้น ถือเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างหนึ่งที่แสดงรูปธรรมในความพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของพม่าในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ข้าวพันธุ์ Pearl Paw San เป็นข้าวที่มีลักษณะพิเศษ คือเมื่อยังเป็นข้าวสารจะมีลักษณะสั้น ป้อม แต่เมื่อผ่านการหุงแล้วเมล็ดข้าวจะยาวรีขึ้น

ไมเคิล ครอส พ่อครัวจากสถาบันด้านศิลปะการทำอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ จากเมืองซาเครเมนโต สหรัฐอเมริกา และอดัม แทนเนอร์ หัวหน้าพ่อครัวจากโรงแรม เชอราตัน ไซง่อน ซึ่งเป็น 2 ในคณะกรรมการตัดสินให้ความเห็นว่าการที่ข้าวสามารถขยายขนาดได้เมื่อผ่านการหุง ความแน่นของตัวข้าว เมื่อเคี้ยวและผิวสัมผัสที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ข้าว Pearl Paw San ของพม่าเฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวสีดำสายพันธุ์ Venere ของอิตาลี

แต่พม่าไม่ได้มีเพียงข้าวพันธุ์ Pearl Paw San ชนิดเดียว

ข้าวที่พม่าสามารถส่งออกได้มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาเป็นข้าวพันธุ์ Immata

แต่สิ่งที่พม่ากำลังเร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้ก็คือสายพันธุ์ข้าวลูกผสม (hybrid rice) โดยเฉพาะพันธุ์ Palethwe ที่เมื่อสำเร็จจะเป็นข้าวที่สามารถสร้างผลผลิตได้ถึง 2 ตัน ต่อ 1 ไร่

ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกข้าวของพม่ามีอยู่ประมาณ 51.2 ล้านไร่ น้อยกว่าของไทยที่มีอยู่ 62.6 ล้านไร่

ก่อนหน้านี้เคยมีหลายคนออกมาพูดเชิงสบประมาทการปลูกข้าวของพม่าว่า คงต้องใช้เวลาหากจะขึ้นมาแข่งกับไทยในด้านปริมาณการส่งออก เพราะพม่ายังไม่สามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณมาก และยังใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีผลผลิตต่อไร่สูง ตลอดจนการนำเครื่องจักรกลเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ล้วนเป็นความพยายามของพม่าเอง ที่ต้องการลบล้างคำสบประมาทดังกล่าว

ในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์และการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นนั้น นอกจากการที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง และออง ถั่น อูได้นำรถเกี่ยวนวดข้าวจากกลุ่มเกษตรพัฒนาของไทยเข้าไปแล้ว

พม่ายังได้รับข้อเสนอทั้งจากภาครัฐและเอกชนของจีน อินเดีย และเวียดนาม ในการให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในทั้ง 2 ด้านนี้อีกด้วย

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ นิวไลท์ ออฟ เมียนมา ได้นำเสนอความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาข้าวของพม่าเอาไว้

เนื้อความในข่าวดังกล่าวระบุว่า

“ชิด คาย (Chit Khaing) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่า (Myanmar Rice Industry Association: MRIA) ออง ถั่น อู (Aung Than Oo) รองประธาน MRIA และเย มิน ออง (Ye Min Aung) เลขาธิการ MRIA ได้นำคณะผู้บริหารสมาคมเข้าพบหารือกับหลี จุ่นหัว (Li Junhua) เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงย่างกุ้ง ที่สำนักงานของ MRIA ในกรุงย่างกุ้งวันที่ 4 มีนาคม

ระหว่างการพบเยี่ยมเยือนครั้งนี้ทั้งหมดได้พูดคุยเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องมือทางการเกษตร การปลูกข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลผลิตสูงและการขยายการส่งออก

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นขณะที่ผู้กำกับดูแลการปลูกและส่งออกข้าวหลายฝ่ายกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มผลผลิต และคาดว่าอาจจะส่งออกได้ถึง 1.5 ล้านตันในปี 2555 นี้เทียบกับประมาณ 7 แสนตันเมื่อปีที่แล้ว

ตามตัวเลขของ MRIA ปีงบประมาณ 2552-2553 พม่าส่งออกข้าวทั้งหมด 800,000 ตัน ส่วนปี 2553-2554 ส่งออกได้เพียง 400,000 ตัน เพิ่มเป็น 700,000 ตัน ในปีงบประมาณ ปัจจุบัน (2554-2555) กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมศกนี้

หลายปีมานี้ พม่าซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ได้ขยายระบบชลประทาน และขยายเนื้อที่นาอย่างกว้างขวาง ขณะที่รัฐบาลอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้มากขึ้นในจุดที่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตพะโค เขตย่างกุ้ง และเขตอิรวดี

ตามรายงานของสื่อทางการปีนี้ กระทรวงเกษตรพม่าได้ขยายแปลงทดลองปลูกข้าวหอมพันธุ์ดีออกไปในหลายจุดในเขตอู่ข้าวใหญ่ของประเทศ เมื่อปีที่แล้วข้าวหอมพม่าได้รับการยกย่องเป็นข้าวหอมคุณภาพดีที่สุดของโลก

การเก็บเกี่ยวข้าวหอมสินธุกา-3 (ข้าวหอมพันธุ์ดีแต่ปลูกยาก) วันที่ 16 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมา จากแปลงทดลองเนื้อที่ 3.78 เอเคอร์ (9.56 ไร่) ในเขตเมืองพะสิม (Pathein) ที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีได้ข้าวเปลือก 95.65 ตะกร้า (2,008 กิโลกรัม) ต่อเอเคอร์ (2.529 ไร่) หรือประมาณ 771 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่การเพาะทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตยังดำเนินต่อไป

พม่าทะยานขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีกครั้งหนึ่ง การจัดตั้งระบบเช็กสต๊อกข้าวเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้สามารถควบคุมตัวเลขการผลิตและการส่งออกได้แม่นย่ำยิ่งขึ้น ช่วยคลายความห่วงใยของทางการเกี่ยวกับปริมาณข้าวที่จะต้องสำรองไว้เพื่อบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ

เหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้นก็คือการขยายท่าเรือใหญ่ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปีที่แล้ว ทำให้สามารถส่งออกข้าวจากอู่ข้าวใหญ่ได้โดยตรง ไม่ต้องขนส่งเข้าย่างกุ้งเพื่อส่งออกผ่านท่าเรือในกรุงเก่า

การส่งออกโดยตรงจากเขตที่ราบใหญ่อิรวดี ช่วยให้ประหยัดค่าขนส่งที่คิดเป็นประมาณ 30-40% ของราคาข้าว ช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ค้าและชาวนาได้กำไรมากขึ้น ข้าวพม่าสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกอีกด้วย

อินเดียในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่า ก็ได้มีการเสนอขายเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าวให้กับพม่า

ส่วนเวียดนามมีรายงานข่าวว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามได้เข้าไปลงทุนเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของพม่า ทั้งด้านการพัฒนาสายพันธุ์และปรับปรุงกระบวนการผลิต คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตอนนี้พม่ามีความพร้อมเต็มที่ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมข้าวของตนเองขึ้นมาเป็นจุดเด่นในสายตาสังคมโลก

แต่ปัจจัยเดียวที่พม่ายังต้องเร่งพัฒนา คือในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงต่อระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ

แม้ว่าราคาข้าวของพม่าในตลาดโลกสามารถขายได้ต่ำกว่าราคาข้าวของไทย ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ข้าวของพม่าได้รับความสนใจ

ต้นทุนการขนส่งข้าวภายในประเทศของพม่า ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการส่งออกข้าวของพม่า ซึ่งยังมีการพัฒนาน้อยมาก ได้กลายเป็นสัดส่วนสูงมากที่อยู่ในต้นทุนราคาขายข้าวของพม่า

หากรัฐบาลพม่าสามารถพัฒนาในจุดนี้ หรือได้รับความช่วยเหลือ ความร่วมมือจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมเก็บเกี่ยวความเติบโตของพม่าภายหลังการเปิดประเทศ ในการร่วมสร้างระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้แล้ว

เชื่อว่าการกลับมาทวงแชมป์ประเทศผู้ส่งออกข้าวของพม่าจะสามารถทำได้ไม่ยากและใช้เวลาไม่นาน

ถึงวันนั้น ขึ้นอยู่กับประเทศไทยแล้ว ว่าจะวางท่าทีหรือมียุทธศาสตร์ต่อเรื่องนี้อย่างไร?
-


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.