“ซานไจ้” จาก C&D ถึง R&D (ตอนแรก)

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

คำว่า “ซานไจ้” หากแปลตรงตัวแล้วจะมีความหมายว่าหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา (Small Mountain Village) โดยคำว่า “ซาน" นั้นแปลว่าภูเขา ส่วน “ไจ้” ก็แปลว่าหมู่บ้านเล็กๆ โดย “ไจ้หรือจ้าย” ตัวนี้เป็นตัวอักษรเดียวกับตัวอักษร “ไจ้” ในชื่อ “จิ่วไจ้โกว” สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงามในมณฑลเสฉวนนั่นเอง

กระนั้นความหมายของ “ซานไจ้” ที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยครั้งที่สุดในสังคมจีนยุคปัจจุบันกลับไม่ได้มีความหมายว่า “หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา” แต่หมายความถึง “สินค้าลอกเลียนแบบ”

หากจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ชาวจีนเปรียบเปรยว่าสินค้าจีนที่พยายามผลิตออกมาลอกเลียนแบบสินค้าชื่อดังของโลก โดยเป็นการเลียนแบบทั้งชื่อ เลียนแบบทั้งรูปร่างหน้าตา (ดีไซน์) เลียนแบบคุณสมบัติการใช้งาน และอีกสารพัดเลียนแบบ (ยกเว้นอยู่สองอย่างที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ก็คือ ไม่สามารถเลียนแบบคุณภาพ และไม่สามารถเลียนแบบราคาได้ แน่นอนว่าสินค้าซานไจ้ย่อมมีราคาถูกกว่าสินค้าต้นฉบับมาก) เหมือนกับเป็นสินค้าคุณภาพต่ำที่ผลิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาอันห่างไกล ชาวบ้านลงมือทำกันเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่และกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปบังคับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ

เว็บไซต์สารานุกรมไป่เคอไป่ตู้ระบุถึงที่มาของคำว่า “ซานไจ้” ที่ใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบันมีที่มาในช่วงทศวรรษ 1990 จากภาษากวางตุ้ง โดยเป็นคำที่ชาวกวางตุ้งและเกาะฮ่องกงเรียกสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเล็กๆ ที่ผลิตของเลียนแบบหรือของใช้ในชีวิตประจำวันราคาถูกว่า “ซานไจ้” ก่อนหน้านั้นชาวฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ก็เรียกโรงงานเล็กๆ ตามบ้าน-ห้องแถว ที่รับช่วงผลิตสินค้าอย่างดอกไม้พลาสติก เสื้อผ้า ฯลฯ มาจากโรงงานใหญ่ๆ อีกต่อว่า “ซานไจ้ฉ่าง (ฉ่าง แปลว่า โรงงาน)”[1]

ขณะที่ชาวจีนยุคใหม่ยังได้รับอิทธิพลคำว่า “ซานไจ้” มาจากคนในแวดวงสินค้าไฮเทคและไอทีของจีน ที่เข้าไปทำงานในเซินเจิ้น เมืองใหม่ เมืองเศรษฐกิจที่ติดกับมณฑลกวางตุ้งและตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง

แม้ว่าท่านผู้อ่านชาวไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า “ซานไจ้” มาก่อน แต่ผมเชื่อว่าในช่วงหลายปีมานี้ทุกท่านคงเคยได้พบเห็นหรือสัมผัสสินค้า “ซานไจ้” มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือจีนที่ผลิตโดยลอกเลียนแบบไอโฟน-ซัมซุง-โนเกีย เครื่องเล่นเพลงเอ็มพี 3 ผลิตจากจีน ไม่นับรวมเครื่องวิทยุ จอแอลซีดี เครื่องเล่นดีวีดี เตารีด เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส เตาอบ ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด กระทั่งรถยนต์จีน ที่ผลิตให้มีรูปลักษณ์เลียนแบบรถยนต์ต่างประเทศ

ดังที่ผมเคยกล่าวถึงเรื่อง “วัฒนธรรมซานไจ้” ไว้ในคอลัมน์เดียวกันนี้เมื่อต้นปี 2552 ว่า “หลายคนอาจคิดว่าซานไจ้ก็แค่ ‘วัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ’ ของจีนที่มีมานานแล้ว แต่ในความเป็นจริง ‘ซานไจ้’ กลับมีนัยสำคัญต่อโลกปัจจุบัน และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนมากกว่าที่ใครหลายคนคิด”

ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2555 ไชน่า เดลี หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษของจีนได้มีการหยิบยกเรื่อง “ซานไจ้” ขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยคราวนี้บอกถึงพัฒนาการของสินค้าซานไจ้ในจีนว่า บางส่วนของผู้ผลิตสินค้าซานไจ้เริ่มมีการพัฒนาตัวเองจาก “การผลิตสินค้าลอกเลียนแบบ” ขึ้นไปเป็น “การสร้างนวัตกรรมขนาดย่อม (Micro Innovation)” บ้างแล้ว[2]

ในรายงานชิ้นดังกล่าว ไชน่า เดลี หยิบยกสินค้า/บริการ 5 ประการของจีนขึ้นมาว่าเป็นตัวอย่างของการสร้าง นวัตกรรมโดยการเริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบหรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ กระบวนการ C&D หรือ Copy & Development ประกอบไปด้วย

หนึ่ง Sina Weibo เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมของจีน ซึ่งพัฒนามาจากการลอกเลียนแบบทวิตเตอร์

สอง BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่

สาม สถาบันจีโนมปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute)

สี่ Taobao เว็บไซต์ขายของยอดนิยมในจีน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสำเร็จของเว็บไซต์อีเบย์ในสหรัฐฯ

และห้า G’Five บริษัทผู้ผลิตมือถือจีนเล็กๆ จากเซินเจิ้น ที่ก้าวข้ามพรมแดนไปประสบความสำเร็จในประเทศ อินเดียและตะวันออกกลาง

จริงๆ เรื่องราวสินค้าและบริการทั้งห้าล้วนแล้วแต่น่าสนใจด้วยกันทั้งสิ้น แต่ด้วยเนื้อที่บทความอันจำกัด ผมจึงขอบอกเล่าเรื่องราวของ G’Five โทรศัพท์ซานไจ้ของจีนที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในสังคมจีนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันเสียก่อน

G’Five หรือจีอู่ เป็นโทรศัพท์ มือถือซานไจ้เจ้าแรกของจีนที่สามารถก้าวขึ้นมาติดอันดับโลกได้ ด้วยการเจาะตลาดต่างประเทศอย่างประเทศในแถบตะวันออกลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และที่สำคัญคือ อินเดีย

จากข้อมูลของเอบีไอรีเสิร์ช ระบุว่าในปี 2554 (ค.ศ. 2011) ยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในอินเดียนั้นสูงถึง 180 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.1 ส่วนคาดการณ์ในปี 2560 (ค.ศ.2017) ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 340 ล้านเครื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าศักยภาพในการเติบโตของตลาดโทรศัพท์มือถือในอินเดียนั้นมีมากมายขนาดไหน

ในปี 2553 (ค.ศ.2010) จากรายงานของไซเบอร์มีเดีย รีเสิร์ช โทรศัพท์ยี่ห้อ G’Five จากจีนแผ่นดินใหญ่สามารถทำยอดขายในอินเดียได้มากถึง 35 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงร้อยละ 21 โดยตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าวทิ้งห่างตัวเลขร้อยละ 13 ของโนเกีย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือระดับโลกจากฟินแลนด์ไปไกล ทั้งยังผลักดันให้ G’Five ติดอันดับเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลกในปี 2553 อีกด้วย

แม้ในปี 2554 จะมีรายงานว่าตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดในอินเดียของ G’Five จะลดลงอย่างมาก โดยเหลือเพียงราวร้อยละ 8 ขณะที่โนเกียยังยึดอันดับ 1 ด้วยการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ร้อยละ 13 จากสภาวะการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถืออินเดียที่ร้อนแรงขึ้นอย่างมาก แต่เรื่องราวของ G’Five ก็ยังคงเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในหมู่นักธุรกิจชาวจีน ณ พ.ศ. นี้อยู่

แน่นอนว่าทุกปรากฏการณ์ทางธุรกิจย่อมมีที่มาที่ไป ส่วนความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

การศึกษาเบื้องหลังความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้นของบริษัทโทรศัพท์มือถือซานไจ้ G’Five เอาเข้าจริงก็หนีไม่พ้นแนวคิดและยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอหนุ่ม ที่มีชื่อว่า จาง เหวินเสียว์ ซึ่งผมจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความฉบับหน้า

หมายเหตุ:
[1] http://baike.baidu.com/view/268947.htm
[2] Shanzhai special: From ‘Made-in-China’ to ‘Designed-in-China’, China Daily, 13 Jun 2012.

อ่านเพิ่มเติม
- “ซานไจ้” วัฒนธรรมค้ำเศรษฐกิจจีน โดยวริษฐ์ ลิ้มทองกุล นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับกุมภาพันธ์ 2552
- จีนกับการปฏิวัติเวยป๋อ โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเมษายน 2554
- อิทธิพลของ “เวยป๋อ” โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับมิถุนายน 2554


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.