“ศูนย์กลางการค้าข้าว” เส้นทาง “ข้าวไทย” ในตลาดโลก


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

คำถามที่เกี่ยวเนื่องกับการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ.2558 ที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวของโลกจะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวและยกระดับสถานะการผลิต การค้า และการส่งออกของอุตสาหกรรมข้าวไทยได้อย่างไร

ทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมข้าวของไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะชาวนาไทยที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบข้าวเปลือก สามารถมีความมั่นคงและศักดิ์ศรีในอาชีพนี้ นอกเหนือจากการส่งออกข้าวคุณภาพดี ซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลก สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศทั้งในแง่จำนวนและมูลค่า

สุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (สายธุรกิจข้าวและอาหาร) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด ให้ทัศนะว่า AEC มีหลายมุมมองที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องให้ความสนใจ เพราะที่ผ่านมากลุ่มประเทศผู้นำเข้าอย่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐผูกขาดการนำเข้า

ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นประหนึ่งการปิดกั้นการทำการตลาดข้าวไทยคุณภาพดีระหว่างภาคเอกชนของไทยกับภาคเอกชนของประเทศเหล่านั้น เพราะหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จะนำเข้าข้าวคุณภาพปานกลาง คือ ข้าวขาว 10-25% แทนที่จะนำเข้าข้าวหอมมะลิที่เป็นสินค้าคุณภาพจากไทย

หากมีการเปิดเสรีทางการค้าจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของไทยร่วมมือกับภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างตลาดข้าวคุณภาพดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ ซึ่งอยากจะรับประทานข้าวหอมมะลิไทย

ขณะเดียวกันในกรณีข้าวเปลือกและข้าวสารของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา ซึ่งผลิตได้ล้นเหลือจากการบริโภคภายในประเทศก็ได้มีการขายข้ามผ่านชายแดนไทย-กัมพูชา เข้ามาฝั่งไทย ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย

หากเมื่อเข้าร่วมเป็น AEC แล้วประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้โดยการส่งเสริมและเปิดจุดรับซื้อ (นำเข้า) อย่างเป็นทางการ

“วัตถุดิบข้าวเปลือกและข้าวสารเหล่านี้สามารถหล่อเลี้ยงชาวนา การผลิต โรงสี และอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าวได้ ตรงนี้จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางการค้าข้าว” อย่างแท้จริง”

ทั้งนี้จากการเดินทางไปสำรวจตลาดต่างประเทศทั้งแอฟริกาและตะวันออกกลาง ต้องยอมรับว่าคุณภาพข้าวไทย และชื่อเสียงของข้าวไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก แม้ว่าข้าวไทยจะขายในราคาที่สูงกว่าข้าวจากเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน เฉลี่ยตันละ 150-250 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน โดยข้าวนึ่งไทยมีราคาตันละประมาณ 630-650 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียอยู่ที่ตันละ 421-450 เหรียญสหรัฐ ก็ตาม

ปัจจุบันประเทศในทวีปแอฟริกามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การเมืองในประเทศและระหว่างประเทศดีขึ้นส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางมากขึ้น ฐานะดีขึ้น และมีความต้องการบริโภคอาหาร ที่มีคุณภาพ เช่น ข้าวคุณภาพดีของไทย (ข้าวนึ่ง, ข้าวหอมมะลิ, ข้าวขาว 5%, ปลายข้าวหอมมะลิ)

โดยเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้ (2555) จะพบว่าประเทศไทยมีตัวเลขส่งออกข้าวทุกชนิดและทุกตลาด อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตัน สูงกว่าประเทศอินเดียหรือเวียดนาม ที่มียอดส่งออกข้าวประมาณ 2.4-2.6 ล้านตันในแต่ละประเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันว่าประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในการส่งออกอยู่ และขายได้ในราคาสูงขึ้น (ปี 2012 เฉลี่ยราคา 670 เหรียญสหรัฐต่อตัน เปรียบเทียบปีที่แล้วที่ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน)

ทั้งนี้เบื้องหลังความสำเร็จของข้าวไทยในตลาดโลกมาจาก “พันธุ์ข้าวคุณภาพดี” ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยพัฒนาของกระทรวงเกษตรฯ การประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายของกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการเอกชน เช่น โรงสี ผู้ส่งออก และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวนาไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดี

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะประมาทไม่ได้ ภาครัฐจะต้องส่งเสริม จัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น ปรับปรุงระบบชลประทาน พัฒนาการปลูกข้าวของไทย และการเก็บเกี่ยว สร้างกลยุทธ์ และใช้งบประมาณที่พอเพียงในการสร้างและยกระดับภาพลักษณ์ของข้าวไทยแก่ประเทศคู่ค้า และผู้บริโภคทั่วโลก สร้างช่องทางการขายใหม่ๆ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมข้าวไทยควบคู่กับอาหารไทยและการท่องเที่ยวไทย

“การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากหยุดการพัฒนาหรือประมาท เราก็จะสูญเสียสถานะการเป็นผู้นำในธุรกิจข้าวของตลาดโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย (Nokia) ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วได้รับการยอมรับว่าเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่วันนี้โทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone ของค่ายอื่นแซงหน้าไปแล้ว”

“ข้าวไทย” ก็เช่นกัน หากไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างต่อเนื่องและทันการณ์ โอกาสที่จะถูกแซงหน้าก็มีสูง

ทั้งนี้ บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด (ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและการส่งออก) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำธุรกิจข้าวของไทยในปัจจุบัน ได้ก่อสร้างโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยและมีกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งได้เปิดทำการตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจข้าวตราฉัตร ทั้งในประเทศและส่งออก

โดยในส่วนของตลาดในประเทศ บริษัทฯ ได้วางแผนเจาะกลุ่มธุรกิจ HORECA (Hotel Restaurant and catering/โรงแรม ร้านอาหาร ครัว) เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีการเติบโตสูงด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.