ผู้นำเอเปกเห็นพ้องร่วมกันส่งสัญญาณ ผลักดันเจรจาการค้าโลกให้เดินหน้าต่อไป ปลัดพาณิชย์คาดผลลัพธ์ที่ได้จะกดดันให้สมาชิกที่ยังไม่เห็นด้วยอย่างอียู
อินเดีย และบราซิลยอมในที่สุด เผยวันนี้ที่เจนีวาผู้แทนแต่ละประเทศจะหารือกันเรื่องนี้
"มหาเธร์" จวกชาติร่ำรวยบนเวทีซีอีโอซัมมิต ต้นเหตุที่แท้จริงทำ WTO ล้มเหลว ยุชาติกำลังพัฒนาปกป้อง
สิทธิ์ของตนเอง ระบุค้าเสรีต้องเป็นธรรม เอ็นจีโอสำทับซ้ำเอเปกหยิบยื่นผลประโยชน์เข้าทางสหรัฐฯ-อียู
หยัน "ทักษิณ" แค่หมากตัวหนึ่ง เผยวาระผู้นำวันนี้เน้นถกเรื่องก่อการร้าย
การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก อย่างไม่เป็นทางการครั้งที่
1 (Retreat 1) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (20 ต.ค.) เริ่มขึ้น ตั้งแต่เวลา
13.30 น. โดยสุดยอดผู้นำทั้ง 20 เขตเศรษฐกิจ ทยอยเดินทางมาถึงทำเนียบฯ เรียงตามลำดับตัวอักษร
เริ่มจากผู้นำออสเตรเลีย เรื่อยไปจนถึงผู้นำเวียดนาม เป็นประเทศสุดท้าย โดยแต่ละประเทศจะเดินทางมาถึงทำเนียบฯห่างกันประมาณ
2-3 นาที โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนคอยต้อนรับบริเวณตึกไทยคู่ฟ้า
จากนั้นผู้นำแต่ละประเทศจะไปพักที่ห้องรับรอง สีงาช้าง เมื่อครบทุกประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรี
ได้พาผู้นำทั้งหมด เดินผ่านห้องรับรองสีม่วง ไปยังตึก สันติไมตรี หลังนอก เพื่อเข้าร่วมหารือแบบไม่เป็นทางการ
หรือการนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย ไม่มีโต๊ะประชุม (Retreat ) ในเวลา 14.00
น.
เห็นพ้องดันเจรจา WTO เดินหน้า
ภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลาราวชั่วโมงเศษ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อธิบดีกรมสารนิเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ แถลงผล การประชุมผู้นำเอเปกอย่างไม่เป็นทางการว่า ที่ประชุมผู้นำเอเปกได้หยิบยกเรื่องการเจรจาการค้าขององค์การการค้าโลกหรือ
WTO เป็น เรื่องหลักซึ่งผู้นำทุกคนได้แสดงทัศนะในเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
และในที่สุดมีความเห็นร่วมกันว่า สมาชิกเอเปกทุกเขตเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญส่งเสริมการค้าที่เสรี
และเป็นธรรมภายใต้ระบบการค้าพหุภาคี ขององค์การการค้าโลก แม้ว่าสมาชิกเอเปกจะผิดหวังจากการประชุมรัฐมนตรี
WTO ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน มาซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้
แต่ก็เห็นว่า ยังมีความจำเป็น ที่สมาชิกเอเปกทุกเขตเศรษฐกิจ จะต้องมีบทบาทอย่างเข้มแข็ง
และ มีการส่งสัญญาณออกไปอย่างชัดเจน ในการประชุมครั้งนี้เพื่อแสดงท่าทีของเอเปก
ที่ต้องการให้การเจรจาการค้า ในรอบโดฮา ประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้า
"อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า การดำเนินการต่าง ๆ ที่ผ่านมาแม้ว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีที่
เมืองแคนคูนจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความคืบหน้าหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น การเจรจาควรจะใช้ความคืบหน้าที่ผ่านมา
ในประเด็นต่างๆ เป็นพื้นฐานของการเจรจาที่จะมีขึ้นครั้งต่อไป" นายสีหศักดิ์
การเห็นพ้องร่วมกันของที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้
นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สมาชิก WTO ให้ความสนใจรอคอย เพราะท่าทีของเอเปกจะมีผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนของ
WTO
แม้กระทั่งตัวนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการใหญ่ WTO เองก็ออกเรียกร้องให้สมาชิกเอเปกเห็นความสำคัญของการ
เจรจา WTO โดยให้เหตุผลว่า หากสมาชิกไม่สามารถผลักดันให้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา
ดำเนินต่อไปได้ จะทำให้กระแสภูมิภาคนิยมก้าว เข้ามาแทนที่ระบบการค้าพหุภาคี ขณะเดียวกันจะทำให้การค้าโลกขยายตัวได้อย่างเชื่องช้า
และ ความขัดแย้งทางการค้าจะเกิดมากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้ประเทศทั่วโลกสูญเสียโอกาสที่จะทำการ
ค้าภายใต้กฎเกณฑ์ที่ดีขึ้น
พร้อมกันนี้ นายศุภชัยยังได้เรียกร้องให้สมาชิกเอเปกประกาศพันธกรณีทางการเมืองร่วมกัน
เพื่อเป็นแรงผลักดันให้การเจรจา WTO เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจ
มีมูลค่าการค้าในตลาดโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการค้ารวม ซึ่งหากเอเปกมีท่าทีที่แข็งแกร่งออกมา
ประเทศสมาชิก WTO ที่เหลือก็ต้องเห็นด้วยอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้
คาดพลังเอเปกสยบกระแสสับสน
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเจรจา WTO หลังจากที่การประชุมที่เมืองแคนคูนล้มเหลว
มีปัญหาเกิดขึ้น คือ ประเทศสมาชิกมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นของการเจรจาว่าจะเริ่มต้นอย่างไรต่อไป
ซึ่งมีทั้งเห็นว่าควรจะเริ่มต้นเจรจากันใหม่ และ เห็นว่าควรจะใช้เอกสารของประธาน
เดอร์เบซ (Derbez) ซึ่งเป็นประธานในการประชุมเป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจา
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของ WTO ก่อนหน้าที่ผู้นำเอเปกจะประชุมกัน คือ สมาชิกไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเจรจากันจากจุดไหน
เพราะสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียและบราซิล อยากจะให้เริ่มต้นเจรจากันใหม่
ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยาก ให้ใช้ร่างของประธาน เดอร์เบซ (Derbez) เพราะหลายๆ เรื่องมีความคืบหน้า
ทั้งเรื่องเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าถึงยา ส่วนเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้
ก็ให้เจรจากันต่อ
"หลังจากที่ผู้นำเอเปกได้มีมติร่วมกันผลักดันให้การเจรจา WTO เดินหน้าและให้ใช้เอกสารของประธาน
เดอเบซ เป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจา ก็เท่ากับว่าสมาชิกที่มีมูลค่าการค้ารวมกันกว่าครึ่งโลกเห็นด้วยกับวิธีนี้
และเชื่อว่า การเจรจา WTO จะเดินไปตามที่ผู้นำเอเปกให้หลักเอาไว้ ส่วนประเทศที่ยังไม่เห็นด้วยอย่างอียู
อินเดีย และบราซิล สมาชิกก็คงต้องไปชี้แจง เพราะเป็นหน้าที่ของทุกๆ ประเทศที่จะทำให้
WTO มีความก้าวหน้า" นายการุณกล่าว
สำหรับเอกสารของประธาน เดอร์เบซ นั้น เป็นเอกสารที่รัฐมนตรีการค้าของเม็กซิโก
ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม WTO เมื่อเดือนก.ย. สรุปเอาไว้ว่าในแต่ละเรื่องมีความคืบหน้าอะไรบ้าง
ทั้งเรื่องสินค้าเกษตร การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงยาที่จำเป็น
โดยเอกสารฉบับนี้ ยังได้รวบประเด็นปัญหาที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะสิงคโปร์
อิชชู่ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า นโยบายการลงทุน นโยบายการแข่งขัน และความ
โปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ เป็นต้น
นายการุณกล่าวอีกว่า เมื่อผู้นำเอเปกได้มีมติออกมาเช่นนี้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของทุกๆ
ประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องร่วมมือกันผลักดันการเจรจา WTO โดยคาดว่าทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ
จะแจ้งผลการประชุมผู้นำเอเปกไปยังตัวแทนของตนเองที่จะประชุมกันในเรื่อง WTO ที่เจนีวา
ในวันนี้ (21 ต.ค.) ว่ามติผู้นำเอเปกเป็นอย่างไร
"ตอนนี้ ทุกประเทศรู้แล้วว่าผู้นำของตนเอง ต้องการให้ WTO เป็นไปในทิศทางไหน
และวันนี้ที่เจนีวาคงจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ว่าเจ้านายบอกมาอย่างนี้ และให้ทำอย่างนี้
และเชื่อ ว่า WTO จะไม่กลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะถ้าใช้เอกสารประธาน เดอร์เบซ
ก็เท่ากับมันเลยตรงจุดนั้นมาแล้ว และคาดว่าการเจรจารอบโดฮา น่าจะจบได้ตามที่กำหนดไว้"
นายการุณกล่าว
"มหาเธร์" จวกชาติมหาอำนาจต้นตอ WTO ล้ม
นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย ซึ่งกำลังจะลงจากตำแหน่งนายก-รัฐมนตรี
ในสิ้นเดือนนี้ กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอด ผู้นำธุรกิจ หรือเอเปก ซีอีโอ ซัมมิต 2003
ในหัวข้อเรื่อง "โลกาภิวัตน์และปัญหาท้าทาย จะจัดการกับความแตกต่างทางเศรษฐกิจ
และวัฒนธรรมอย่างไร" วานนี้ว่า สาเหตุที่การเจรจาการค้ากรอบพหุภาคีขององค์การการค้าโลก
หรือ ดับเบิลยูทีโอที่เมืองแคนคูนประเทศเม็กซิโก ล้มเหลว เพราะกลุ่มประเทศพัฒนากำหนดระเบียบวาระให้ประเทศกำลังพัฒนาทำตาม
โดย ไม่คำนึงถึงความแตกต่างและขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน
"ประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่ยอมรับการบังคับให้เปิดตลาดและยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า
ในภาวะที่ตนเองเสียเปรียบและไม่อยู่ในฐานะที่จะแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วที่ได้เปรียบในทุกด้าน"
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว และเน้นว่า การค้าเสรีจะต้องเป็นธรรม เพราะหากไม่มีความ
เป็นธรรมก็ไม่ใช่การค้าเสรี และเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาควรจะมีสิทธิที่จะปกป้องธุรกิจในประเทศของตนเองจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม
เพื่อให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่หรือธนาคารต่างชาติที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือธุรกิจ
ในกลุ่มชาติกำลังพัฒนาอย่างเทียบกันไม่ได้
ทั้งนี้นายมหาเธร์ซึ่งมีทีท่าแข็งกร้าวและไม่ยอมรับอิทธิพลของชาติตะวันตกมาโดยตลอด
ได้กล่าวเตือนระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววันก่อนหน้านี้ ว่า ที่ประชุมเอเปกกำลังจะถูกครอบงำด้วยประเด็นการก่อการร้าย
อันเนื่องมาจากการที่ผู้นำสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้ตนเองมีบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น
เอ็นจีโอสำทับซ้ำเอเปกเอื้อสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันวานนี้ (20 ต.ค.) เครือข่ายโลกาภิวัตน์ภาคประชาชน เพื่อสันติภาพ ได้ทำการเปิดศูนย์ข่าวภาคประชาชนเพื่อสันติภาพ
ต่อผลการประชุมเอเปก โดยมีนักวิชาการและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ประกอบด้วย นาย
พิทยา ว่องกุล นักวิชาการอิสระ, นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
(ครป.), นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายจักรชัย
โฉมทองดี คณะทำงาน โลกาภิวัตน์ และนายเจริญ คัมภีรภาพ ศูนย์ศึกษา นโยบายและกฎหมาย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการแถลงข่าว
นายจักรชัย โฉมทองดี คณะทำงานโลกา-ภิวัตน์ แถลงวิเคราะห์ผลการประชุมเอเปก ระดับรัฐมนตรีตามความเห็นชอบกับร่างวันที่
13 ก.ย. 46 ในการประชุม WTO ที่เมืองแคนคูน เม็กซิโก ว่า การเจรจาขององค์การการค้าโลกต่อไปควรยืนบนหลักการของร่างนี้
ทั้งที่จริงแล้ว การประชุมครั้งนั้นต้องชะงักไป เนื่องด้วย ร่างดังกล่าวโน้มเอียงและเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกา
และสหภาพยุโรปอย่างเห็นได้ชัด การย้อนกลับไปรับรองร่างดังกล่าวเท่ากับเป็นการ ทอดทิ้งประเทศ
กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบจากการเปิดเสรีภาพใต้กรอบ WTO โดยเห็นได้ชัดว่า
ประเด็นใหม่ทางการค้า หรือที่เรียกว่า "ประเด็นสิงคโปร์" ที่เกี่ยวกับการลงทุน
นโยบายการแข่งขันและการอำนวยความสะดวก ทางการค้าที่ไม่ได้รับการรับรองจากการประชุมองค์การการค้าโลก
กลับถูกผลักดัน พร้อมทั้งได้รับความเห็นชอบในเวทีเอเปก
นายพิทยา ว่องกุล กล่าวว่า ตามกำหนดเดิมประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะต้องเปิดการค้าเสรีทุกประเภทภายในปี
ค.ศ.2020 โดยมีกระบวน การที่ให้ประเทศในเขตการค้าต่างๆ ค่อยๆ ลดภาษีสินค้าลงเท่ากับศูนย์
หรือเหลือน้อยที่สุด อาฟตา และเอเปก ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีการค้าระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก
ที่ดำเนิน ไปเป้าตามเป้าหมายการค้าเสรี เพื่อหลอมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ว่า
จะทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นหมู่บ้านโลก และเศรษฐกิจหมู่บ้านหนึ่ง ที่อยู่ภายในอุ้งมือทุนผูกขาดข้ามชาติไม่กี่บริษัท
การประชุมเอเปกครั้งนี้ สหรัฐฯได้พยายาม ใช้รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือประเทศไทย
เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และผลักดันการค้าเสรีที่ไร้ภาษีอุตสาหกรรมแบบทวิภาคี
ซึ่งเป็นกลวิธีการหนึ่งที่ใช้บุกเบิก และปูพื้นฐานการค้าเปิดการค้าเสรีในอนาคตแทนการเจรจาพหุพาคี
หรืออาจจะใช้ทั้ง 2 วิธี ไปด้วยกัน เพราะการโต้แย้งแบบพหุภาคี เป็นอุปสรรคขัดแย้งมิให้สหรัฐฯ
ซึ่งมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสะสมอยู่ เปิดการค้าเสรีทุ่มสินค้าไปทุกมุมโลกได้ โดยวางเป้าหมายยุทธศาสตร์ขั้นแรก
และนายกฯทักษิณ ถือว่าเป็นหมากตัวหนึ่งที่เหมาะสมที่สุดในเกมครั้งนี้ กอปรกับนายกฯทักษิณ
ถือว่าเป็นผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง คิดเร็วตัดสินเร็ว มีความทะเยอทะยานเป็นผู้นำอาเซียน
ทั้งอยากระบายสินค้าเกษตรกรรมที่ผลิตล้นเกิน โดยใช้ฐานข้อมูลทางธุรกิจเพียงด้านเดียว
การตัดสินใจต่างๆ ขาดข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และผลกระทบอย่างรอบด้าน
ไม่เคยมีการจัดตั้ง คณะกรรมการศึกษากลั่นกรองจากหลายฝ่าย หรือมีงานวิจัยรองรับอย่างแท้จริง
"การใช้ประเทศไทยเปิดเสรีอย่างปราศจาก สติยั้งคิด กระทำกับประเทศต่างๆ อย่างรีบร้อน
ไม่ยอมผ่านการกลั่นกรองของระบบรัฐสภา ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น มาเลย์
อินโดนีเซีย มีท่าทีไม่รีบเร่ง หรือเสนอให้ใช้เวลา นานอีกหลายปี รัฐบาลไทยไม่ให้ความเคารพ
และรับฟังทัศนะประเทศเพื่อนบ้านเลย นอก จากแสดงความจำนงรับใช้สหรัฐฯ อย่างเอาจริงเอาจัง
ไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีแบบทวิภาคีของตนต่อประเทศเพื่อนบ้าน หรือคำนึงถึงความขัดแย้ง
และแตกแยกในประเทศอาเซียนในอนาคต อีกมุมมองหนึ่ง แม้แต่ ทางฝ่ายสหรัฐฯ ประธานาธิบดีบุช
ย้ำนักย้ำหนา ว่า การเปิดเสรีการค้าแบบทวิภาคีกับไทย ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา
ขณะเดียวกันสหรัฐฯหาได้บริสุทธิ์ใจในการเปิดการค้าเสรีที่ไร้ภาษีศุลกากรกับไทยและประเทศอาเซียนไม่
หากแต่มุ่งจะใช้วิธีการเปิดการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับไทยนั้นจะต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา
ขอให้ชาวไทยทั้งประเทศจับตาว่า หากประเทศเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจล่มสลายอีกครั้ง
ถือว่าเป็นผลงานของนายกฯที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ที่จะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"
"ทักษิณ" หวังภาคเอกชนหนุนหุ้นส่วน
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ เสร็จในเวลา 15.15 น.
มีการ จัดงานปฏิสังสรรค์ระหว่างผู้นำเอเปก และนักธุรกิจจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก
ที่ตึกสันติไมตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับว่า
ในการต้อนรับนักธุรกิจที่เข้าร่วมการพูดคุยกันในครั้งนี้ และในปีนี้ มีการกำหนดรูปแบบใหม่
ของการจัดการประชุม APEC-ABAC ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็น การเปิดโอกาส ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ระหว่างกันที่เป็นประโยชน์ และนำมาซึ่งความพอใจซึ่งกันและกัน
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การปฏิสังสรรค์ระหว่าง ABAC และ APEC จะช่วยผลักดันให้
ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เกิดขึ้นจริง เพราะนักธุรกิจเหล่านี้
เปรียบเสมือน หุ้นส่วนหลักของเอเปก เป้าหมายและการทำงาน ของเอเปกมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของภาคธุรกิจในทุกขนาด
ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นภาครัฐก็คาดหมายว่า ชุมชนธุรกิจจะสามารถสนับสนุนเป้าหมายของเอเปก
ในการส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนและการเติบโตอย่าง ยั่งยืนได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอเปกมีความยินดีและตระหนักในคุณค่าของรายงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจแห่งเอเปก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อข้อเสนอแนะทั้ง 5 ประการที่เป็นประโยชน์ต่อการหารือ ซึ่งจะมอบหมายให้
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารการดำเนินงาน
ที่จะใช้สำหรับปี ค.ศ.2004 ต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดง ความหวังว่า การปฏิสังสรรค์ระหว่างกันในวันนี้จะช่วยตอกยํ้าบทบาทของเอเปกที่มีต่อการนำเสนอข้อมูลและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ
ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะลำดับที่ 5 ของสภาที่ปรึกษาฯ พร้อมทั้งยังขอให้สภาที่ปรึกษาฯให้การ
สนับสนุนที่เป็นประโยชน์และได้ผลเป็นจริง เป็นจังต่อกระบวนการของเอเปกต่อไป
จากนั้นในเวลา 17.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ นำผู้นำเอเปกทั้ง 20 เขตเศรษฐกิจ เข้าเฝ้าฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระ-นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระบรมมหาราชวัง จากนั้นในเวลา 18.50 น. ผู้นำเอเปกเดินทางไปยังหอประชุมกองทัพเรือ
เพื่อร่วมงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ เป็นเกียรติแก่ผู้นำเอเปก และคู่สมรส และในเวลา
20.40 น. ผู้นำเอเปก และคู่สมรส เดินทางด้วยตุ๊กตุ๊กไชโย ไปยังราชนาวิกสภา ภายในกองทัพเรือ
เพื่อชมการแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
เผยวาระผู้นำวันนี้มุ่งประเด็นก่อการร้าย
สำหรับในวันนี้ (21 ต.ค.) ผู้นำเอเปกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ จะเดินทางไปยังพระที่นั่งอนันต-สมาคม
เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอย่างเป็นทาง การ จากนั้นจะมีการออกแถลงการณ์ปฏิญญาผู้นำเอเปกซึ่งผลการหารือนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงในการประชุมผู้นำเศรษฐกิจวันนี้
(21 ต.ค.) โดยคาดว่า ประเด็นการหารือของผู้นำเอเปกในวันสองประเด็นหลัก คือ เรื่องการต่อต้าน
การก่อการร้าย ความมั่นคงของมนุษย์ ความร่วมมือต่อต้านโรคซาร์ส และโรคระบาดอื่น
ๆ นอกจากนี้ อาจจะมีหัวข้อย่อยที่ทางประเทศไทย เสนอ เช่น โครงสร้างพื้นฐานเรื่องการเงิน
สังคมแห่งการเรียนรู้ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม