E-commerce เรื่องของ new comer


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

บริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตสำหรับธุรกิจที่ซื้อขายสินค้าทางอิน-

เตอร์เน็ต หรือบริการ SCB Internet Payment Systems หรือ SIPS เป็นบริการที่สามารถสะท้อนถึงการเติบโต และความเป็นไปของธุรกิจ

e-commerce ได้ในอีกแง่มุมหนึ่ง

อินเตอร์เน็ตก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีร้านค้าเป็นตัวตน มีเพียงร้านค้าออนไลน์บนเว็บ เจ้าของสินค้าอาจเป็นแค่คนคนเดียว นั่งทำงานอยู่กับบ้านไม่มีออฟฟิศสวยหรู และนี่คือโอกาสของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจเกิดใหม่ แต่การปฏิวัติเหล่านี้ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวให้ทันกับโลกของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

วันเพ็ญ เหงี่ยมวิจาวัฒน์ ผู้จัดการส่วน อี-คอมเมิร์ซ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการแก่ร้านค้าที่ทำธุรกิจบนอี-คอมเมิร์ซ และต้องการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตของธนาคาร ธนาคารมีบริการให้ลูกค้าเลือกในการชำระเงินได้ 2 ลักษณะ คือถ้าเป็นระบบแบบเก่า ลูกค้าจะต้องโทรศัพท์มาที่ธนาคาร เพื่อขออนุมัติวงเงินก่อนอีกระบบคือ บริการ SIPS คือ ลูกค้าจะสามารถขออนุมัติวงเงิน จากธนาคารโดยอัตโนมัติจากเครื่องพีซีได้เลย ซึ่งลูกค้าจะต้องซื้อซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้งานกับระบบ SIPS ของธนาคารประมาณ 5,000 บาท

"ต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการแบบไหน ถ้าเป็นลูกค้าที่เพิ่งทำธุรกิจธนาคารก็จะให้เขาใช้แบบเก่าไปก่อน จนเมื่อยอดสั่งซื้อมากขึ้นค่อยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติ" วันเพ็ญเล่า

ทั้งนี้อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตจัดเก็บจากร้านค้าจะอยู่ในอัตรา 5% ของยอดขายสินค้าในแต่ละครั้ง ซึ่งร้านค้าไหนมีวอลุ่มในการสั่งซื้อมากๆ และสม่ำเสมอ อัตรานี้จะลดลงไปเรื่อยๆ

ลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารจะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ ลูกค้าทั่วไปที่เปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บและต้องการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ส่วนที่สองคือ ให้บริการแก่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ที่เปิด shopping mall บนอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ลูกค้ามาใช้ ในส่วนของไอเอสพีที่เปิดชอปปิ้งมอลล์ และให้ธนาคารเข้าไปเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตนั้น ไอเอสพีจะต้องรับผิดชอบร้านค้าเหล่านี้เองทั้งหมด ทั้งการพิจารณาคัดเลือก รวมถึงในกรณีที่เกิดหนี้สูญเกิดขึ้น

สำหรับร้านค้าทั่วไปที่ขอใช้บริการจากธนาคารโดยตรง จะต้องผ่านกฎเกณฑ์การอนุมัติของธนาคาร วันเพ็ญบอกว่ากติกาในการอนุมัติใช้บริการให้กับร้านค้าออนไลน์ จะไม่แตกต่างไปจากการอนุมัติการใช้บริการบัตรเครดิตให้ร้านค้าทั่วไปเพียงแต่ความเข้มงวดมากกว่า

"แบงก์ต้องไปดูว่าบริษัทตั้งมานานหรือยัง ดูผลประกอบการ สต็อกสินค้า ความน่าเชื่อถือ ทำเลที่ตั้งเพราะไปตั้งในอพาร์ตเมนต์มี

พีซีเครื่องเดียว ก็อาจเคลื่อนย้ายได้ง่าย เราต้องดูความเป็นหลักเป็นแหล่ง"

แต่ในความเป็นจริงธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตไม่เหมือนกับธุรกิจในอดีต ที่มีร้านค้าเป็นตัวเป็นตน แต่สำหรับ e-commerce ผู้ขายอาจจะเป็นแค่คนทั่วไปไม่ได้อยู่ในรูปของบริษัท มีแต่ร้านค้าที่อยู่บนเว็บ สินค้าไม่สามารถจับต้องได้

"เราจะพิจารณาว่าคนนั้นจะต้องเป็นที่รู้จักพอสมควร เช่น หมอไพศาล หมอดูในหนังสือดิฉัน ที่ให้บริการดูหมอผ่านออนไลน์ หรืออย่างน้อยลูกค้าจะต้องมีเงินฝากกับเรา" วันเพ็ญบอกถึงการนำเอากติกา เก่ามาปรับใช้กับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในโลกออนไลน์ ซึ่งหากลูกค้ารายใดไม่มีออฟฟิศ ก็ต้องไปดูบ้าน ดูความมั่นคงหรือไม่ก็ต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน เพื่อแลกกับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

แหล่งที่มาที่ไปของสินค้าเป็นอีกส่วนที่ธนาคารจะต้องนำมาใช้ในการพิจารณา เพราะเป้าหมายของธนาคารคือ ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นเจ้าของสินค้าโดยตรง ไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง ดังนั้นธนาคารจะดูความเป็นเจ้าของสินค้า ยกเว้นเป็นพ่อค้าคนกลางที่เคยทำกับธนาคารและสามารถหาแหล่งผลิตสินค้าที่แน่นอนได้

"ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า เช่น หากเป็นซีดีก็อาจจะไม่มีในสต็อก แน่นอน แต่เรารู้ว่าเขาสามารถไปหาซื้อได้จากแหล่งไหน หรือถ้าเป็นสินค้าประเภทหัตถกรรม เราก็ต้องดูว่าเขาจะมีสต็อกสินค้ามากเพียงพอที่จะส่งให้ลูกค้าหรือเปล่า เพราะสินค้าพวกนี้ ต้องสั่งทำจำนวนมาก ถ้าไม่มีในสต็อกเลยเวลาจะหาสินค้าก็อาจไม่มี" วันเพ็ญบอกถึงสาเหตุที่ธนาคารต้องการลูกค้า ที่เป็นผู้ผลิตมากกว่าพ่อค้าคนกลางที่ต้องผ่านการกลั่นกรองมากกว่า

ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีลูกค้าที่ใช้บริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ที่มาจากร้านค้าออนไลน์ประมาณกว่า 100 ราย ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีลูกค้ามาขออนุมัติ เฉลี่ยเดือนละ 10 ราย ในจำนวนนี้จะได้รับการอนุมัติเพียง แค่ครึ่งเดียว สาเหตุส่วนใหญ่จะเป็นเพราะเว็บไซต์หรือเอกสารไม่เรียบร้อย

ธนาคารไทยพาณิชย์จัดแบ่งประเภทลูกค้าที่จะใช้บริการ ซึ่งถูกแยกย่อยลงไปอีก คือ b to c (business to consumer) ลูกค้าที่ใช้บริการจะเป็นบริษัทหรือ ผู้ขายรายย่อย และ c to c ( consumer to consumer) ผู้ขายที่มาใช้บริการเป็น กิจการเจ้าของคนเดียว ที่ขายสินค้าไปยังลูกค้ารายเล็กๆ ที่ไม่ได้มีการซื้อขายของมากๆ

สำหรับยอดการซื้อขายผ่านบัตรเครดิต ที่มาจากร้านค้าบนอินเตอร์ เน็ต มียอดขายเกือบ 20 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดขายที่ผ่านมาประมาณ 4-5 ล้านบาท

จากประสบการณ์ของวันเพ็ญ เธอพบว่าการขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตจะต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่ขายด้วย ซึ่งยอดขายของร้านค้าแต่ละรายจะแตกต่างกันไป บางรายยอดขายจะเข้ามาตลอด ในขณะที่บางรายอาจต้อง ใช้เวลานานถึง 6 เดือนหรือเป็นปีกว่าจะมียอดขายเข้ามา ซึ่งในจำนวนนี้จะมีอยู่ประมาณ 30% ของลูกค้ารวม แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงให้บริการอยู่ การโฆษณาเว็บไซต์มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ร้านค้าออนไลน์เหล่านั้นประสบความสำเร็จ

สำหรับยอดหนี้สูญเวลานี้มีไม่ถึง 1% จากปีที่แล้วที่มีอยู่ 1-2% ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากการถูกขโมยบัตร และมาจากการส่งสินค้าล่าช้า เนื่องจากยังไม่รู้ถึงกลไกการค้าขายของร้านค้าออนไลน์

"มีบางร้านเขาไม่รู้ว่าเมื่อลูกค้ากดสั่งซื้อของแล้ว จะต้องส่งของเลย แต่กลับรอดูว่าจะเก็บเงินได้หรือเปล่าลูกค้าก็ไม่จ่ายเงิน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ร้านค้าเองต้องเรียนรู้มากขึ้นด้วย

วันเพ็ญเล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายย่อย ที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ และมีบางรายที่ทำธุรกิจอื่นมาก่อน เมื่ออินเตอร์เน็ตบูม ก็หันมาทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสินค้าใหม่เลย หรือบางรายก็เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เช่น ร้านขายยา ที่มีร้านค้าอยู่แล้วแต่หันมาเปิดช่องทางใหม่ขึ้น

เธอยอมรับว่าองค์กรใหญ่ๆ ยังไม่ค่อยมี เพราะยังห่วงเรื่องการชำระเงิน กลัวว่าขายสินค้าแล้วจะเก็บเงินไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะทำให้ในอนาคตบริษัทเล็กๆ อาจจะรวยกว่าบริษัทใหญ่ๆ ก็ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.