Dine in the Dark ลองตาบอดกันสักมื้อ

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับคนตาดี ความมืดนั้นมักจะมืดกว่าที่เคยคาด
แต่สำหรับคนตาบอด ความมืดนั้นหาได้มืดอย่างที่ใครคิด
สำหรับคนตาดี ความมืดอาจทำให้รู้สึกกลัว
แต่สำหรับคนตาบอด ความมืดนั้นมีความงาม
ถ้าจะให้คนตาดีเข้าใจคนตาบอด
อาจมีเพียงทางเดียว
คือต้องลองให้พวกเขาตาบอดดูสักครั้ง

“อยากบอกคนทั่วไปว่า คนตาบอด ก็คือคนคนหนึ่ง เรายังปกติดีอยู่ เราแค่มองไม่เห็น เราไม่ต้องการให้ปฏิบัติกับเราจนพิเศษมากเกินไป แค่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราขาดหาย แค่ช่วยเป็นตาแทนเราในบางเวลา ไม่ต้องมาทำเหมือนเราทำอะไรเองไม่ได้” ไกด์น้องกล่าว

“น้อง” อายุ 32 ปี เธอเคยเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแห่งหนึ่ง ก่อนจะมารับหน้าที่เป็นบริกรประจำร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า Dine in the Dark ซึ่งเป็นร้านอาหารภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ “ดินเนอร์ในความมืดมิด” ที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

Dine in the Dark หรือ DID เป็นร้านอาหารที่ขายคอนเซ็ปต์การทานอาหารภายใต้ “โลกมืด” ราวคนตาบอด และมีบริกรเป็นคนตาบอดคอยให้บริการ โดย มร.เบนจามิน บาสกิ้นส์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการประจำร้านนี้ อธิบายว่าคอนเซ็ปต์นี้ได้รับความนิยมมานานกว่า 10 ปีในแถบยุโรป โดยร้านอาหารแรกที่ขายคอนเซ็ปต์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ณ กรุงปารีส คือ “Dans le Noir” จากนั้นคอนเซ็ปต์ร้านแนวนี้ก็แพร่หลายไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงเมืองไทย

บนชั้น 2 ของตึก Ascott Sathorn เป็นที่ตั้งร้านอาหารที่มีชื่อ Dine in the Dark (DID) ณ โซนรับรองลูกค้าตกแต่งด้วยแสงสีและดีไซน์ที่ดูทันสมัย แต่ถัดเข้าไปจากพื้นที่นั้นจนถึงบริเวณห้องทานอาหารล้วนปกคลุมไปด้วยความมืดสนิท

โดยทั่วไปลูกค้าที่เข้ามาทานอาหารที่ร้านต้องทำการจองโต๊ะไว้ล่วงหน้า เนื่องจากต้องทำการเซตโต๊ะไว้ล่วงหน้า ซึ่งลูกค้าที่จองโต๊ะไว้แล้วต้องมาเช็กอินภายในช่วงเวลา 19.30-20.30 น. เมื่อลูกค้าเข้ามาภายในโซนรับรอง แหม่มน้อยชาวกรีซหน้าตาจิ้มลิ้มในฐานะ Guest Relation จะเข้ามาทักทายพร้อมนำเมนูอาหารและเครื่องดื่มมาให้ลูกค้าได้เลือก

เมนูอาหารที่ลูกค้าจะได้เลือกเป็นเพียงเซตเมนูอาหารระหว่างเซตอาหารไทยราคา 850 บาท เซตอาหารสากลราคา 850 บาท และเซตอาหารมังสวิรัติราคา 750 บาท พร้อมด้วยคำถามกำกับว่า แพ้อาหารหรือไม่ ทานอาหารอะไรบ้าง จากนั้นเป็นเมนูเครื่องดื่มที่ลูกค้าจะได้รู้เพียงรสชาติเบื้องต้น แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าเครื่องดื่มนั้นผสมอะไรลงไปบ้าง

จากนั้นสาวน้อยคนเดิมจะนำกล่องนิรภัยมาให้ลูกค้าเอาไว้เก็บโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา และอุปกรณ์เรืองแสงต่างๆ ไว้ภายในกล่องนิรภัยนี้ โดยลูกค้าจะเป็นผู้เก็บกุญแจกล่องไว้กับตัว จากนั้นลูกค้าจะถูกจัดแถวเรียงเดี่ยวเกาะกันเป็นรถไฟไว้รอ “ไกด์” หรือบริกรมาพาเข้าไปสู่โลกอันแสนมืดสนิทที่อยู่ด้านหลังม่าน

โดยธรรมชาติเมื่อดวงตาที่เคยมองเห็นกลับมองไม่เห็นอะไรเลย มนุษย์จะเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เดินช้าลง และเริ่มปลุกประสาทสัมผัสทุกส่วน ยกเว้นดวงตา ขณะที่ไกด์ตาบอดกลับกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญท่ามกลางโลกอันมืดมิดตลอดมื้อค่ำของลูกค้าที่ถูกทำให้เป็น “บอดน้องใหม่” ชั่วคราว

“ผมชื่อไกด์หมี จะมาดูแลแขกทุกท่านให้รู้สึกปลอดภัยและมีความสุขตลอดอาหารมื้อค่ำนี้ ผมยืนยันได้ว่าความมืดไม่น่ากลัวนะครับ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือผมนี่แหละครับ” ก่อนจะก้าวเข้าสู่ความมืดมิดเบื้องหน้า คำทักทายของไกด์หมีช่วยเรียกเสียงหัวเราะและปลุกความกล้าให้ลูกค้าสาวๆ ได้ไม่น้อย

“ไกด์หมี” อายุเพียง 22 ปี ศึกษาอยู่คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ เขาเป็นหนึ่งในบริกรคุณภาพของที่นี่ เนื่องจากมีอารมณ์ขันและมีคติประจำใจที่ว่า “ยิ้มเข้าไว้ดีที่สุด”

“ผมชอบงานบริการ ชอบคุยกับแขก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชอบแชร์ความรู้ รู้สึกว่าการที่ทำให้คนอื่นมีอารมณ์ดี เราจะมีความสุข” ไกด์หมีเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาชอบงานนี้

สำหรับผู้ที่ต้องการมาเป็นบริกรที่ DID นอกจากจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีใจรักบริการ และมีทักษะที่จำเป็นเฉกเช่นบริกรในร้านอาหารอื่น ยังต้องมีคุณสมบัติสำคัญข้อแรกคือตาบอดสนิท

หลังจากไกด์หมีพาลูกค้าเข้าไปนั่งที่โต๊ะอาหารเรียบร้อย หากเป็นร้านอาหารทั่วไปบริกรจะนำเมนูอาหารมาให้แขกเลือกโดยแทบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดจาอย่างอื่น แต่สำหรับที่นี่ไกด์จะทักทายและทำหน้าที่แนะนำตำแหน่งของผ้ากันเปื้อน จาน ช้อน ส้อม มีด แก้วน้ำ และขวดน้ำให้กับลูกค้าทุกท่าน ก่อนจะนำอาหารไปเสิร์ฟให้กับลูกค้าโดยไม่ผิดตำแหน่งและไม่ผิดคน พร้อมทั้งคอยช่วยเหลือและชวนคุยให้ลูกค้าไม่รู้สึกเกร็งกับการทานอาหารในที่มืด

ท่ามกลางความมืดมิดที่มองไม่เห็นแม้แต่มือตัวเอง การรับประทานอาหารที่วางอยู่เบื้องหน้า ซึ่งไม่รู้มาก่อนว่าคือเมนูอะไร และทำจากวัตถุดิบอะไรบ้าง ทุกคำที่ตักเข้าปากจึงกลายเป็นความตื่นเต้นและความสนุกสนานไปพร้อมกัน

แรกๆ ลูกค้าเกือบทุกคนยังไม่กล้าที่จะตักอาหารทานเต็มคำ หลายคนเริ่มต้นจากการดมกลิ่นอาหารเพื่อพิจารณาว่าเป็นเมนูอะไร บ้างก็เลือกใช้ช้อนส้อมจิ้มอาหารแล้วนำมาแตะที่ปลายลิ้นก่อน เพื่อใช้รสสัมผัสเป็นตัวตัดสินว่าอาหารนั้นเขาควรจะทานหรือไม่ บางคนเลือกใช้ปลายนิ้วสัมผัสอาหารเพราะอยากรู้ว่าเป็นเมนูอะไรผ่านวัตถุดิบ

หลังจากตื่นเต้นกับความไม่รู้เมนูอาหารและไม่เห็นหน้าตาของอาหาร ความสุนกสนานก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อลูกค้าที่มาด้วยกันเริ่มเดาว่าเมนูจานนั้นคืออะไร และสิ่งที่ทานเข้าไปรสชาติแปลกๆ หรือสัมผัสประหลาดๆ นั้นคืออะไร

เสียงหัวเราะของลูกค้าหลายคนดังขึ้นเมื่อตัวเองตักช้อนเข้าปากโดยไม่มีอาหาร บางคนถูกผักที่มีลักษณะโค้งงอทิ่มจมูก บ้างก็เทน้ำดื่มล้นจนรดมือ ขณะที่บางคนแกว่งแก้วไวน์หกเกือบหมดแก้ว ฯลฯ ภาพเหล่านี้ ถ้าคนอื่นมองเห็นคงกลายเป็นเรื่องน่าอาย แต่ภายในห้องที่ไร้การมองเห็น สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นภาพขำที่มีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้

ครั้งแรกความมืดอาจทำให้ทุกคนรู้สึกลำบากในการทานอาหาร แต่หลังจากคุ้นเคยกับความมืด หลายคนปรับตัวทานอาหารได้เกือบเป็นปกติ ขณะที่บางคนที่สัมผัสถึงความเป็นอิสระจากสายตาชาวโลก ณ ชั่วโมงนั้น จึงทำหลายสิ่งที่ไม่เคยทำในร้านอาหารทั่วไปได้อย่างสบายใจ เช่น ใช้มือทานอาหาร หรือใช้นิ้วกวาดจานอาหารขึ้นมาเลีย ฯลฯ

“หลายคนจะเข้าใจว่าเวลาที่คุณมองไม่เห็น คุณคงไม่สามารถทำอะไรได้เลย หรือคิดไม่ออกว่าจะทำได้ยังไง การได้มาลองสัมผัสประสบการณ์ตรงนี้ คือคำตอบสำหรับคนปกติที่ชอบถามว่าเป็นคนตาบอดรู้สึกยังไง กินข้าวยังไง ทำโน่นนี่ยังไง ตรงนี้ก็น่าจะพอเป็นคำตอบได้เหมือนกัน มันเป็นการให้ข้อมูลโดยที่เราไม่ต้องพูด” ไกด์หมีสรุป

เช่นเดียวกับไกด์น้องที่หวังว่าผู้คนที่เคยตั้งคำถามว่า ใครคอยแต่งตัวให้คนตาบอด หากมาทดลอง “ตาบอด” ดูสักครั้ง พวกเขาอาจเข้าใจใหม่ว่า คนตาบอดก็คือคนที่ถูกฝึกให้ใช้สัมผัสเหมือนทุกคน เพียงแต่ว่าพวกเขาถูกฝึกให้ใช้ส่วนอื่นแทนสายตา เมื่อคนเหล่านี้เข้าใจเช่นนี้แล้ว

สิ่งที่ไกด์ทั้งสองคิดเหมือนกันคือ การมาเป็นบริกรที่นี่ถือเป็นความสุขและความภูมิใจที่ทำให้พวกเขามีโอกาส เปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เคยต้องขอความช่วยเหลือจากคนตาปกติในโลกภายนอก กลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่คนปกติภายในโลกแห่งความมืด ณ ร้านอาหารแห่งนี้

เมื่อเสร็จสิ้นมื้ออาหาร ไกด์จะพาลูกค้าออกมาสู่โลก แห่งแสงสว่าง อันเป็นการกลับสู่โลกแห่งความจริงอีกครั้ง ณ โซนรับรอง โดยคราวนี้ความสนุกจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อลูกค้าจะได้เห็นว่าสิ่งที่ได้รับประทานเข้าไปมีอะไรบ้าง และ สิ่งที่คาดคิดไว้นั้นถูกหรือไม่ โดยเมนูอาหารเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนทุกเดือน

“พอได้เห็นว่าตัวเองทานอะไรเข้าไป มีลูกค้าคนหนึ่งตกใจและดีใจมาก เพราะตลอดชีวิต ไม่เคยทานแครอทได้เลย แต่เขามาทานแครอทจนหมดจานได้ที่นี่” มร.เบนจามินกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ไม่เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าในการใช้รูปลักษณ์ของอาหารเป็นตัวตัดสินคุณค่า อาหาร แม้จะแค่มื้อเดียว แต่ประสบการณ์ “ตาบอด” ครั้งนี้อาจทำให้หลายคน “ตาสว่าง” ในเรื่องการมองคนว่า ไม่ควรมองแค่เปลือกนอกด้วยตาเปล่า เพราะนั่นอาจทำให้มองพลาดจนไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของคนนั้น

อีกสิ่งที่ มร.เบนจามินหวังว่าร้าน DID จะช่วยให้สังคมค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับคนตาบอด นั่นคือ การมองภาพคนตาบอดแบบเดิมๆ และแบบเหมารวม

ผู้บริหารหนุ่มตาน้ำข้าวยืนยันว่า บริกรตาบอดของที่นี่หลายคน “over qualified” บางคนจบดอกเตอร์ บางคนจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกือบทุกคนพูดได้ 2 ภาษา บางคนเคยมีอาชีพเป็นล่าม ทุกคนสามารถรับจองโต๊ะ ตอบอีเมล และทำงานที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้เกือบทุกอย่าง ฯลฯ

“ก่อนหน้านี้ผมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนตาบอด แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าเขามีความสามารถมากกว่าที่เราคิด และพวกเขาดูมีความสุขมากกว่าพวกเราเสียอีก ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่พวกเขามาทำงานที่นี่ เพราะเขาต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาทำทุกอย่างได้ ไม่ใช่แค่นวดไทย ขายสลาก กินแบ่งฯ หรือรับโทรศัพท์ สิ่งที่พวกเขาต้องการก็แค่โอกาส” มร.เบนจามินหวังว่า ภาพคนตาบอดที่คนไทยเคยรู้จักจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ภายในชั่วเวลามื้อค่ำเพียง 1-2 ชั่วโมงที่ร้าน DID นี้ ลูกค้าหลายคนอาจได้รับความรู้สึก ต่างๆ ขึ้นมากมาย ทั้งความกลัว ความตื่นเต้น ความสนุก ความอร่อย ฯลฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เชื่อว่าสิ่งที่ทั้ง มร.เบนจามินและบริกรแห่งร้าน DID ทุกคนน่าจะต้องการมากที่สุดก็คือ การที่สังคมได้รู้จักและเข้าใจโลกของคนตาบอดเพิ่มขึ้น

“ขอแค่ความเข้าใจว่าเราก็สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างเหมือนคนปกติ แล้วเมื่อนั้น เขาจะเข้าใจได้เองว่าเราอยู่ได้บนโลกใบนี้ แล้วเขาจะรู้ว่าเราอยู่ได้อย่างไร” ไกด์น้องทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากรู้ว่าคนตาบอดอยู่ได้อย่างไร เธอก็ขอชวนให้ลองมา “ตาบอด” ดูสักมื้อที่ Dine in the Dark!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.