|
การเข้าถึงตลาดพม่าของสินค้าเวียดนาม
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ เวียดนามกำลังวิเคราะห์อย่างจริงจังถึงการส่งสินค้าเพื่อเข้าไปตีตลาดอันกว้างใหญ่ในพม่า
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์อุตสาหกรรมการค้า (เวียดนาม) รายงานว่าตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงทุกวันนี้ ข่าวการปฏิรูปในพม่า ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจากทุกประเทศทั่วโลกมากที่สุด บวกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา จึงเหมือนการเพิ่มพลังดึงดูดให้แก่ตลาดนี้ นักลงทุนหลายรายกำลังรอคอยคว้าโอกาส “กระโดด” เข้าพม่า นักธุรกิจเวียดนามไม่ยอมหลุดจากแนวโน้มนี้
สินค้าเวียดนามได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น
ตามสถิติของสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำพม่า 2-3 ปีมานี้ แต่ละปีมีคณะธุรกิจเวียดนามไปพม่ากว่า 200 คณะ ซึ่งเป็นบรรดาคณะทางการอาศัยการสนับสนุนช่วยเหลือของสถานเอกอัครราชทูตได้แนะนำคู่ค้า แต่ยังไม่รวมถึงคณะปลีกย่อยที่เดินทางไปด้วยตนเอง ดังนั้นเฉลี่ย 2-3 วัน จึงมีหนึ่งคณะที่เดินทางไปเพื่อพบปะติดต่อการค้า
ฝ่าม ถิ โห่ง ทาญ รองอธิบดีกรมเอเชีย-แปซิฟิก กระทรวงอุตสาหกรรมการค้าเวียดนามเปิดเผยว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระเบิดที่งานนิทรรศการนานาชาติแห่งหนึ่งเมื่อปี 2548 ประเทศนี้ก็ไม่อนุญาตให้องค์กรต่างประเทศจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในพม่า
ตั้งแต่ปี 2553-2555 ทุกปี เวียดนามจะได้รับอนุญาตให้เปิดงานแนะนำสินค้าในพม่า ยิ่งกว่านั้น สินค้าเวียดนามได้รับการต้อนรับจากคนพม่าอย่างอบอุ่น
“งานแสดงสินค้ามีขึ้นในรอบ 7 วัน แต่ถึงวันที่ 4 ที่ 5 ธุรกิจเวียดนามต้องจำกัดการขายเพราะกลัวไม่มีสินค้าให้ดู แม้กระนั้นผู้บริโภคชาวพม่ายังรอคอยสินค้าเวียดนาม” ทาญบอก
อย่างไรก็ดี ตลาดยังไม่เปิดทั่วไปและยังใหม่ ดังนั้นระดับการเข้าของสินค้าเวียดนามจึงยังไม่ลึก ดัชนีการแลกเปลี่ยนการค้าสองฝ่ายยังอยู่ที่ระดับไม่มากนัก
ปี 2554 ดัชนีการแลกเปลี่ยนการค้าของ 2 ประเทศเพิ่งจะมีเพียง 167.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เป็นดัชนีการส่งออกของเวียดนามมูลค่า 82.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้ามูลค่า 84.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี เมื่อก้าวสู่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ดัชนีการส่งออก-นำเข้าระหว่าง เวียดนาม-พม่าเติบโตขึ้นมาก เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ดูจากข้อมูลการส่งออก-นำเข้าแสดง ให้เห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาเวียดนามขาดดุลการค้าจากพม่าเสมอ แต่นี่เป็นการขาดดุลทางบวก เนื่องจากบรรดาผลิตภัณฑ์นำเข้าจากพม่าของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นแร่ธาตุ วัตถุดิบ และบรรดาวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สาม
พื้นที่เหลือเฟือสำหรับสินค้าเวียดนาม
ปัจจุบันความสามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในพม่าเพิ่งจะตอบสนองได้ประมาณ 10% ของความต้องการภายในประเทศ ส่วนที่เหลือต้องนำเข้า ถึงแม้เวียดนามได้มีการส่งออกสินค้าจำนวนหนึ่งไปยังพม่า ปริมาณและคุณภาพยังต่ำครองตลาดเพียงประมาณ 1% ของสินค้าที่พม่านำเข้าจากประเทศอื่นๆ (ข้อมูลปี 2553)
นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งมีความต้องการมากที่สุด แต่ธุรกิจเวียดนามยังไม่ได้เข้าไป เช่น ยารักษาโรคและอุปกรณ์สาธารณสุข ยางรถยนต์ชนิดต่างๆ มิเตอร์ไฟฟ้า อะไหล่ประเภทต่างๆ วัสดุก่อสร้าง ยาฆ่าแมลง เครื่องสำอาง ปุ๋ยชนิดต่างๆ เครื่องมือเกษตร-ป่าไม้ เป็นต้น
พม่าก็เป็นประเทศมีวัตถุดิบหลายอย่างด้วยปริมาณมากที่เวียดนามจะนำเข้า ประกอบด้วยวัตถุดิบแปรรูปสินค้า เกษตร ส่งออก หรือแปรรูปอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ปลาป่น กระดูกป่น น้ำมันพืช เป็นต้น) วัตถุดิบสำหรับแปรรูปสินค้าใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรม (ประกอบด้วยทรัพยากรแร่ธาตุชนิดต่างๆ) วัตถุดิบแปรรูปสินค้าส่งออก (ข้าว ยางพารา สัตว์น้ำ) เวียดนามอาจจะวิจัยและส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ที่มีอยู่ในพม่า เพราะราคาถูกกว่าจากประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ตามข่าวจากกรมเอเชีย-แปซิฟิก ปัญหาการนำเข้าไม้ต้องมีมาตรการเข้าถึงแหล่งที่เหมาะสม ปัจจุบันตลาดนี้เกือบทั้งหมดต่างควบคุมโดย “ผู้รับเหมา” อินเดียราคาจึงค่อนข้างสูง
เข้าตลาดยาก
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือบรรดาสินค้าเกือบทุกอย่างในพม่าต้องผ่านการขอ ใบอนุญาตส่งออก-นำเข้า และธุรกิจภายในประเทศถูกผูกขาดทางการค้า บรรดาธุรกิจเวียดนามไม่ได้เข้าร่วมระบบจัดสรร แลกเปลี่ยนสินค้าในพม่า ดังนั้นการดำเนินการค้าจึงเสียเวลามาก ขาดลักษณะเชิงรุกและสิ้นเปลือง
ยิ่งกว่านั้นระบบการเมืองและการจัดการเศรษฐกิจของพม่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับการปิดล้อมและมาตรการคว่ำบาตรจากภายนอก การรักษาความมั่นคงการเมืองภายใน การคงอยู่ค่อนข้างมากของฝ่ายอนุรักษนิยม ระบบเจ้านาย นโยบายปิดประตูยังไม่ปรับตัวให้เหมาะสมกับความต้องการพัฒนาและการบูรณาการ กฎหมายลงทุน การค้า จึงยังล้าหลังและไม่ยืดหยุ่น
การขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกจากเวียดนามไปพม่ายังไม่ความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศนี้ยังไม่พัฒนา วิธีการขนส่งที่สำคัญคือการใช้เรือบรรทุก ดังนั้นจึงเสียเวลาขนส่งก่อผลกระทบต่อพลังการแข่งขันของสินค้าเวียดนาม
การชำระบัญชีก็ประสบความยุ่งยาก เนื่องจากระบบธนาคารและการชำระบัญชีของพม่าอ่อนด้อยอย่างยิ่ง เหตุการณ์ล่าสุด BIDV เวียดนามพยายามเพื่อให้สามารถเปิดธนาคารในพม่า เพื่อช่วยเหลือการชำระบัญชี ให้แก่ธุรกิจต่างๆ ไม่เพียงแค่นั้นข่าวเกี่ยวกับตลาดพม่าก็มีไม่มาก ระบบสื่อสารระหว่างประเทศในพม่ายังคงล้าหลัง การเข้าถึงโทรศัพท์ระหว่างประเทศและอินเทอร์เน็ตยังไม่สะดวก
ด้านคู่ค้าพม่าจากข้อมูลของตัวแทนของสมาคมนักลงทุนเวียดนามประจำพม่า ระบุว่านักธุรกิจเวียดนามต้องวิจัยหาความเข้าใจคู่ค้าอย่างละเอียด ถึงแม้เศรษฐกิจยังล้าหลัง แต่นักธุรกิจพม่ากลับสืบทอดวิธีการทำงานของคนอังกฤษตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณานิคม คนพม่าทำงานเป็นระเบียบอย่างยิ่ง ไม่มักง่าย
พวกเขาพิจารณาแผนการลงทุนประกอบธุรกิจละเอียดที่สุด เพราะฉะนั้นนักธุรกิจเวียดนามต้องเตรียมการอย่างรอบคอบ ระมัดระวังในการวางแผนประกอบการลงทุนของตนก่อนเข้าร่วมตลาดแห่งนี้
ถึงแม้ยังมีสิ่งกีดขวางหลายอย่างแต่สำหรับตลาดที่เริ่มเปิดและเต็มไปด้วยศักยภาพอย่างพม่า ถ้านักธุรกิจเวียดนาม “เร่งเท้า” ขึ้นอีกและกล้ามากขึ้นอีก เมื่อประเทศนี้เปิดกว้าง ประตูบูรณาการ สถานภาพของธุรกิจ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของเวียดนามก็จะมั่นคงอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|