ภาพการเมืองพม่าที่สะท้อนจากอีกมิติ

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกสารชิ้นนี้เป็นการนำเสนอจากฝ่ายกิจการต่างประเทศของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Chan State: RCSS) ซึ่งมีเนื้อหาที่สะท้อนภาพการแก้ปัญหาการเมืองภายในของพม่าที่ยังไม่มีฝ่ายใดเคยกล่าวถึงมาก่อน ในช่วงตั้งแต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในพม่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะจากสื่อทางฝั่งตะวันตก

กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้จัดการ 360 ํ เห็นว่าการนำเสนอเอกสารชุดนี้ น่าจะทำให้มองเป็นภาพใหญ่ และสามารถเข้าใจปัญหาภายในพม่าได้ในระดับหนึ่ง

รายละเอียดเนื้อหาของเอกสาร มีดังนี้...

การเลือกตั้งซ่อมในเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นอันว่าพรรคเอ็นแอลดีก็ได้ชัยชนะไปตามความคาดหมาย เหมือนอย่างที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์เอาไว้ อีกด้านหนึ่งก็ตรงกันกับที่ชาวพม่าทั้งในและนอกประเทศได้ตั้งความหวังเอาไว้ ก็เรียกได้ว่ามีความพึงพอใจกันไปในระดับหนึ่งในเรื่องการเลือกตั้งกันทางการเมือง ถึงแม้ว่านางซูจีและพรรคของเธอจะชนะ แต่ก็ยังเป็นแค่ชัยชนะในขั้นแรกเท่านั้น เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปการแข่งขันกันทางการเมืองจะยิ่งน่าดูขึ้น อองซาน ซูจีและพรรคของเธอจะได้พบกับปัญหาใหญ่ถึง 3 ขั้นดังนี้

1. จะต้องต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มทหารที่กุมอำนาจมาเนิ่นนาน กลุ่มทหารนี้ได้เห็นกันชัดเจนแล้วว่าจะไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจไปโดยง่าย จะต้องต่อสู้กันทางการเมืองทั้งในและนอกสภา จะต้องเฝ้าดูว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ อองซาน ซูจีและพรรคของเธอจะแก้ไขปัญหาการเมืองภายในอย่างไรนั้น เรื่องนี้จะต้องใช้เวลาอีกนานทีเดียว

2. สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่นักการเมืองฝ่ายทหารเขียนขึ้นเองฝ่ายเดียว และบังคับให้ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์รับรองนั้นเรียกได้ว่าเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อกองทัพเท่านั้น ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพเลย ในเรื่องนี้ทั้งกองทัพและอองซาน ซูจี เอ็นแอลดี ต้องทำใจให้กว้างๆ และยอมรับในข้อวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าหากว่าอองซาน ซูจี เต็งเส่ง และกลุ่มกองทัพมินอ่องแหล่ง ปฏิเสธข้อตกลงที่มีอยู่ในสัญญาปางหลวงปี 1947 และในรัฐธรรมนูญปี 1948 แล้วไซร้ ก็หมายความว่า เส้นทางที่คิดว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยนั้นยังคงมืดมนอยู่

สิ่งที่ประชาชนทุกชาติพันธุ์ในสหภาพตั้งความหวังไว้นั้น ระยะทางก็ยังอีกยาวไกล ถ้าเหลียวมาดูประเทศใกล้เคียงอาเซียน และโลกตะวันตก สิ่งที่เขาเหล่านั้นอยากเห็นคือการที่สหภาพพม่ามีสันติภาพ แต่นั่นคงเป็นไปไม่ได้โดยง่าย ตามคำหาเสียงของอองซาน ซูจีที่กล่าวกับประชาชน เมื่อคราวหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่รัฐไทใหญ่และรัฐกะฉิ่นนั้น เธอได้หาเสียงไว้ว่า จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองในสหภาพ โดยอ้างอิงจากข้อตกลงในสัญญาปางหลวงปี 1947 ตัวเต่งเส่งเองก็เคยได้กล่าวในการประชุมสภาว่า จะจัดการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองในสหภาพ

ถึงแม้จะมีการเปิดประเด็นอย่างนี้แล้วก็ตาม พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพที่ไม่ใช่พม่า 7 ชาติ 7 รัฐ จะต้องเฝ้าดูว่า อองซาน ซูจีและเต่งเส่งจะทำตามคำพูดหรือไม่ ถ้าทำจะทำโดยวิธีใด ซึ่งจริงๆ มีอยู่ 2 วิธี จะเป็นวิธีใหม่หรือเก่า ถ้าเป็นวิธีเก่าเหมือนข้อตกลงเมื่อปี 1947 นั้นแล้วไซร้ เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างถูกต้อง ถ้าหากจะทำโดยวิธีใหม่แล้ว ไม่เพียงแต่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ แต่ยิ่งทำให้ปัญหามีความยุ่งยากมากไปกว่าเดิมไม่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี เราเชื่อมั่นว่าอองซาน ซูจี ผู้จะขึ้นมามีอำนาจในภายหน้า รวมทั้งเต่งเส่ง จะอิงเอาสัญญาปางหลวงปี 1947 เป็นกุญแจสำหรับแก้ไขปัญหาการเมืองสืบต่อจากแผนการที่พ่อเธอทำไว้แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาบ้านเมืองที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ รวมทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อยเอง ที่จะใช้โอกาสนี้ขอสิทธิการปกครองตนเองต่อรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งปี 2015 เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วชนกลุ่มน้อยดังกล่าวเป็นเพียงกลุ่มคนที่ไร้ดินแดน อพยพย้ายที่อยู่ปะปนในรัฐต่างๆ อย่างกรณีรัฐไทใหญ่ เคยมีชนกลุ่มน้อยหลายๆ กลุ่มที่ปะปนอยู่ เช่น ว้า ปะโอ ปะหล่อง เป็นต้น ซึ่งในที่สุดแต่ละกลุ่มก็จะขอสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นไปได้ยากบนความยินยอมของแต่ละฝ่ายแล้วยังจะเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาอีกมากมาย

ผู้เขียนจึงอยากฝากถึงอองซาน ซูจี และพรรคการเมืองหลายๆ พรรค อย่างเช่นเต็งเส็ง และมินอ่องแหล่ง ผบ.สส.ว่า ถ้าอยากเห็นสหภาพสงบสุขจริงๆ พวกเราทุกฝ่าย ทุกชนชาติในสหภาพทั้งหมด สมควรลดอัตตาโทสะ คือความเห็นแก่ตัวแล้วหันหน้าเข้าร่วมมือกัน สร้างความสามัคคีให้เกิดความมั่นคง สร้างเสรีภาพให้กับปวงชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ในด้านการปกครองทุกระดับต้องมีความเสมอภาค ไม่มีใครมากกว่าใคร น้อยกว่าใคร กำหนดให้มีแปดรัฐแปดชนชาติ พม่าก็เป็นชนชาติหนึ่ง รัฐหนึ่ง ร่วมกันกับอีกเจ็ดชนชาติ เจ็ดรัฐ กลายเป็นแปดรัฐ ร่วมกันตั้งสหภาพให้มั่นคงยืนยาว

ชื่อประเทศนั้นเป็นสหภาพ แต่จะใช้ชื่อสหภาพว่าอะไรนั้น เราทุกชนชาติต้องมาร่วมประชุมกัน และยึดเอาเสียงของประชาชนในการตัดสิน จึงค่อยกำหนดกันต่อไป เหมือนกับชื่อประเทศตอนนี้ ที่ชื่อว่าอาณาจักรพม่า ที่เพิ่งเปลี่ยนเมื่อปี 1996 ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ก่อนจะเปลี่ยนนั้นไม่ได้นำเอาความคิดของทุกชนชาติในสหภาพมาตัดสิน ดังนั้นจึงสมควรเปลี่ยน

เพราะในความเป็นสหภาพนั้น ไม่ใช่มีแต่เพียงประเทศพม่าเท่านั้น ประชาชนทุกชนชาติในสหภาพเป็นเจ้าของแผ่นดิน ดังนั้นพม่าไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของตนแต่คนเดียว เมืองเดียว ที่เรียกว่าเมืองสหภาพพม่าตามรัฐธรรมนูญปี 1958 นั้น ถ้ากลุ่มชาติพันธุ์มีเจ็ดรัฐ ชาวพม่าก็จะต้องมีเจ็ดรัฐเหมือนกัน ข้อความที่ว่านี้ไม่ถูกต้อง เพราะชนชาติพม่ามีชนชาติเดียว ไม่ใช่หลายชนชาติ คนละกรณีกับเจ็ดรัฐเจ็ดชนชาติ

เรื่องที่กล่าวมานี้สมควรที่จะปรับปรุงแก้ไข เพราะทำให้สิทธิในการปกครองไม่เท่าเทียมกัน ล่วงละเมิดดูถูกกัน ทั้งในหมู่ชนชาติต่อชนชาติ เมืองต่อเมือง เกิดการล่วงละเมิดต่อกัน เพราะผู้ปกครองเองก็ไม่มีเมตตาธรรม ไม่ยุติธรรม งมงายแต่ความมั่นคงในอำนาจแห่งชนชาติของตัวเอง ซึ่งถ้ายังจะใช้วิธีเก่าต่อไปแล้วละก็ ความปรารถนาที่อยากให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นนั้น ก็เป็นเพียงแค่ความฝัน

แต่เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น ก็เป็นการบ้านของผู้มีอำนาจที่จะต้องสืบทอดตามหน้าที่ของตน

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ถ้าผู้เขียนมีโอกาสพบกับอองซาน ซูจี เต็งเส็ง มินอ่องแหล่ง ข้อความเหล่านี้ ผู้เขียนอยากถามแทนผู้ที่รักสันติภาพ ซึ่งอยากให้บ้านเมืองรุ่งเรือง อยากทราบว่าพวกเขาจะตอบปัญหาเหล่านี้อย่างไร

3. ปัญหาในพรรคเอ็นแอลดี และนโยบายการเมือง เนื่องจากบ้านเมืองวุ่นวายมายาวนานไม่สงบเสียที ปัญหาบ้านเมืองทุกวันนี้ ต้องการคนเก่งมีความรู้เข้ามาแก้ไขโดยเร็ว ที่ยังแก้ไขไม่ได้และขนาดปัญหาก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะว่าที่ผ่านมาใช้วิธีการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองยังไม่ถูกต้อง และก็ไม่ได้ตรงตามความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนและบ้านเมืองตกระกำลำบาก ยากจน และปัญหาการเมืองนี้เองที่ลุกลามไปในทุกๆ ด้านของสังคม

อย่างปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ไม่เคยแก้ไขได้สักที และยังมากมายกว่าเก่า เป็นปัญหาที่กระทบสังคมมายาวนาน รวมถึงต่างประเทศก็เข้าใจผิดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพ ซึ่งลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ปกป้องชนชาติของตนเอง เพราะกองทัพพม่าใช้ปัญหายาเสพติดเป็นเครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยยัดเยียดความผิดดังกล่าวให้กลุ่มผู้รักชาติติดอาวุธที่สู้เพื่อสิทธิในการปกครอง และปกป้องชนชาติของตนเองมาทุกยุคทุกสมัย

ต่อมาคือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพที่ไม่ใช่ชนชาติของตนเอง เรื่องการยึดเอาสมบัติไร่นาของประชาชน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มีอำนาจ ไม่เพียงแต่ใช้อำนาจเกินไปเท่านั้น ยังมีการคอร์รัปชั่น ตั้งแต่ชั้นผู้น้อยจนถึงชั้นผู้ใหญ่ ปัญหาเหล่านี้สร้างความกระทบต่อประเทศและประชาชนอย่างหนักจริงๆ ประชาชนทุกชนชาติไม่เคยพบกับความเป็นธรรมจากเผด็จการที่ปกครองประเทศเลย ดังนั้นความหวังที่อยากให้ประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมทางอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ก็ยังคงเป็นความหวังที่ริบหรี่ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง จะต้องมาพร้อมกับบุคคลผู้มีความรู้ มีใจเมตตาธรรม มีความกล้าหาญ ซึ่งเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ค้างคามานานอย่างจริงจัง โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตัว

สำหรับอองซาน ซูจี และพรรคของเธอที่ประชาชนฝากความหวังไว้นั้นจะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่นั้น ยังคงเป็นคำถามสำหรับผู้ที่ตกลงใจเลือกพรรคของเธอ ตัวเธอและพรรคจะต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ถ้าได้จะทำอย่างไร เมื่อไหร่ เพราะนั่นคือความหวังของผู้ที่เชื่อมั่นในพรรคของเธอ ถ้าปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไป ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนแล้วละก็ ความเชื่อมั่นที่มีต่อเธอและพรรคก็อาจจะหมดลงไป และยังจะเป็นโอกาสสำหรับพรรครัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลัง เบียดแย่งเอาคะแนนเสียงคืนกลับมารับตำแหน่งมีโอกาสได้ใช้อำนาจดังเดิมแล้วบ้านเมืองจะเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนี้ข่าวการเมืองโด่งดังที่สร้างความฮือฮา ก็เป็นแค่การเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน อันจะนำเอาอนาคตที่ดีมาสู่สหภาพได้ แท้จริงแล้วก็คือการเมืองเป็นเรื่องที่ฝ่ายใดก็ไม่อาจประมาทได้ เพราะในหมู่การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.