|

สัญญาณจากดอย “ไตแลง”
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศการตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพระดับสหภาพ ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม บก.ภาคสามเหลี่ยม เมืองเชียงตุง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ระหว่างสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Chan State: RCSS) และกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (Shan State ARMY: SSA) ซึ่งมี พล.ท.เจ้ายอดศึกในฐานะประธาน RCSS เป็นหัวหน้าคณะกับตัวแทนรัฐบาลพม่า มี พล.อ.โซวิน รอง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. และรองประธานคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลพม่าคนที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะ
ก่อนที่ผู้นำ RCSS/SSA จะเดินทางต่อจากเชียงตุงไปตามเส้นทาง R3b เข้าหารือร่วมกับเจ้าจายลืน หรือจายเริญ ผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 (เมืองลา) บริเวณพรมแดนพม่า-เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามาแล้ว 23 ปี ถึงแนวทางความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ในอนาคตต่อ
ความเคลื่อนไหวของ พล.ท.เจ้ายอดศึกครั้งนี้นำเสนอผ่านสื่อทั้งไทยเทศ รวมถึงสื่อไทใหญ่และพม่าอย่างครึกโครม เพราะการเจรจาสันติภาพรอบนี้เปิดโอกาสให้คณะสื่อมวลชนจากประเทศต่างๆ ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ตามไปด้วยมากถึงประมาณ 60 คน
(อ่าน “สรุปผลการเจรจารอบ 2” ประกอบ)
ในเวลาเดียวกัน วันที่ 21 พฤษภาคม บน “ดอยไตแลง” เทือกเขาแดนลาว พรมแดนพม่ากับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฐานที่มั่นใหญ่ของ RCSS/SSA ที่สูงจากน้ำทะเลร่วม 1,500 เมตร กลางหมอกฝนที่โปรยปรายเกือบตลอดทั้งวันได้มีการจัดงาน “วันกองทัพ” ขึ้น เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของไทใหญ่
วันกองทัพครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานวันกองทัพครั้งแรกหลังรัฐบาลพม่าทำสัญญาหยุดยิงกับ SSA และมีการเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพระหว่างกัน โดยการเจรจาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 ที่เมืองตองยี และครั้งที่ 2 ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ เมืองเชียงตุง
พิธีสวนสนามวันกองทัพฯ ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 54 ของการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เริ่มต้นขึ้นช่วงสายของวันที่ 24 พฤษภาคม ท่ามกลางเม็ดฝนโปรยปรายคละเคล้ากับสายหมอก มีธงแถบแดง เขียว เหลือง มีจันทร์เต็มดวงสีขาวลอยเด่นอยู่กลางผืนธง พลิ้วสะบัดนำหน้า ตามด้วยผืนธงสีแดงสดมีรูปดาบไขว้ปืนสีขาวประดับมุมล่างด้านขวากับดวงตะวันสีขาวเจิดจ้าอยู่มุมตรงกันข้ามกับริ้วขบวนธงสีฟ้า สัญลักษณ์ขององค์กรการเมือง การต่างประเทศ RCSS พร้อมด้วยขบวนทหารไทใหญ่ เดินแถวจากหน้าสภาฯ ผ่านไปตามถนนสายหลักของชุมชนดอยไตแลงที่เปียกลื่นด้วยหยาดฝน
โดยขบวนแถวมุ่งหน้าไปสู่ลานหน้าอนุสาวรีย์เจ้าเสือข่านฟ้า และเจ้ากอนเจิง 2 วีรบุรุษที่ทหารไทใหญ่ยกย่องสดุดี ที่มีลูกเด็กเล็กแดงตลอดจนญาติพี่น้องร่วมเชื้อชาติไทใหญ่ ซึ่งฝ่าสายฝนที่โปรยปรายเป็นระยะๆ ปุยเมฆที่ถูกลมพัดผ่านยอดภูตลอดเวลา และพื้นถนนเปียกลื่น ขึ้นดอยไตแลงมาร่วมชมแสนยานุภาพกองทัพ พร้อมกับให้กำลังใจญาติมิตรที่เข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพของพวกเขา
วันนั้น...ขณะที่ พล.ท.เจ้ายอดศึก (ไทใหญ่เรียกทหารชั้นยศตั้งแต่นายพันขึ้นไปเป็น “เจ้า”) ผู้นำของพวกเขาอยู่ระหว่างเดินทางไปเจรจาสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลพม่า และชนกลุ่มน้อยพันธมิตร
งานวันกองทัพยังคงจัดการแสดงแสนยานุภาพกองทัพ-ปลุกขวัญกำลังพล และคนไทใหญ่เช่นทุกปีที่ผ่านมา
มีการจำลองการปฏิบัติการรบของกองกำลังที่รบพุ่งกับทหารพม่า รวมถึงสมมุติเหตุการณ์ทหารไทใหญ่ถูกทหารพม่านุ่งโสร่งจับกุมตัว และทรมานด้วยสารพัดวิธี ก่อนที่จะให้หน่วยจู่โจมของ SSA ออกมาโชว์ศักยภาพในการบุกเข้าช่วยตัวประกันออกมาได้ในที่สุด
การแสดงทั้งหมดมีนายทหารซึ่งทำหน้าที่โฆษกประจำเวทีบรรยายเป็นบทละครภาษาไทใหญ่ บอกเล่าได้อย่างออกรส ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นภาพความทารุณที่เกิดขึ้นกับทหารไทใหญ่ในสนามรบ
ทุกบททุกตอนของการบรรยาย สามารถเรียกเสียงหัวเราะอย่างชอบอกชอบใจจากคนไทใหญ่ที่มาจากทั่วสารทิศเพื่อร่วมงานครั้งนี้
พร้อมกับปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งอุดมการณ์ “ไทใหญ่” ให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่พ่อแม่จูงมือฝ่าฝนมาร่วมงานไปในตัวด้วย
ขณะเดียวกันในยามค่ำคืนระหว่างที่มีการจัดงานวันกองทัพฯ ครั้งนี้ก็ไม่พลาด ที่จะมีการจัดเวทีการแสดงลิเกไทใหญ่หรือจ้าดไตที่ขนนักแสดงเบิกโรงเรียกแขกด้วยเนื้อหาที่กินใจ ทั้งประเด็นการรวมชาติ กู้ชาติ รวมไปถึงการสู้รบกับทหารพม่าในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา จนทำให้ผู้ชมหน้าม่านเป่าปาก โห่ร้อง ตบมือ เสียงลั่นยอดดอยไตแลงที่มีหมอกฝนคลอเคล้า
นี่คือบริบทหนึ่งที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า 1 ในประเทศอาเซียนที่กำลังหลอมรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ที่จะถึงนี้
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าไม่ได้มีแต่ไทใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ยังคงเต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์ที่ทางหนึ่งกำลังเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล แต่อีกทางหนึ่งก็มีกำลังรบอยู่ในมือ อีกทั้งแทบทุกกลุ่มล้วนแล้วแต่ครอบครองพื้นที่ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรและพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญแทบทั้งสิ้น
เช่น คะฉิ่นครอบครองพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อพม่าตอนเหนือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็น gateway สำคัญจากคุนหมิง-มัณฑะเลย์-เนปิดอ-ย่างกุ้ง เชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic corridor: EWEC)
ขณะที่ไทใหญ่ที่ครอบครองพื้นที่แถบรัฐฉานตอนใต้กับตะวันออกก็อยู่บนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic corridor: NSEC) เป็นต้น
พ.อ.เจ้าเคอเงิน รองประธาน RCSS คนที่ 3 บอก ผู้จัดการ 360 ํ ว่า 4-5 เดือนที่ RCSS เจรจากับรัฐบาลพม่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งมองว่า สู้กันมาหลายสิบปีทำให้ประชาชนอยู่อย่างยากลำบาก เจรจากันแล้วก็สบายใจขึ้น ไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น แต่อีกส่วนก็ยังไม่ไว้ใจพม่าว่าจะมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน
นับตั้งแต่การเจรจาเกิดขึ้นจนถึงวันนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่ปรากฏให้เห็นบ้างก็คือปัญหาการกดขี่ข่มเหงชาวบ้านไทใหญ่ในรัฐฉานที่เคยได้รับจากทหารพม่าลดลง ขณะที่การปะทะระหว่างทหารทั้ง 2 ฝ่ายแม้จะเกิดขึ้นบ้างแต่ก็ลดลงเช่นกัน
“ภาพรวมแล้ว ผลที่ออกมายังไม่เป็นบวกมากนัก ต้องคุยกันอีก” พ.อ.เจ้าเคอเงินย้ำ
ซึ่งในวงเจรจาครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 2) ก็มีความคืบหน้าชัดเจนเพียงเรื่องความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งไทใหญ่วางเป้าหมายให้ยาเสพติดหมดไปจากพื้นที่รัฐฉานภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้
ส่วนเรื่องแนวทางพัฒนาพื้นที่นี้ พ.อ.เจ้าเคอเงินบอกว่ายังคงต้องรอคุยกันในรายละเอียดในการเจรจาครั้งต่อไป
ครั้งนี้ดูเหมือนมีการตกลงกันในเบื้องต้นเท่านั้น ทางพม่าตกลงให้ประชาชนคนไทใหญ่ทำมาหากินในเขตรัฐฉานตอนใต้และตะวันออกได้อย่างเสรีทั้งในด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ฯลฯ โดยเฉพาะในเขตชนบท ขณะที่ในเขตเมืองพม่าก็ยังคงควบคุมดูแลอยู่ หากทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าพื้นที่ก็ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับรู้ก่อน และต้องไม่มีการพกอาวุธเข้าไปด้วย
รองประธาน RCSS คนที่ 3 บอกอีกว่าเฉพาะหน้านี้เราต้องพยายามให้ประชาชนและครอบครัวทหารมีโอกาสทำมาหากินเลี้ยงชีพตนเองได้อย่างอิสระ หลังจากถูกกดขี่มานาน รวมทั้งให้รัฐบาลพม่าเปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาถิ่นให้กับลูกหลานของเราด้วย ขณะนี้บนดอยไตแลงมีโรงเรียนที่เปิดสอนอยู่ มีเด็กมากกว่า 800 คน เป็นเด็กกำพร้าอยู่ประมาณ 200 กว่าคน เพราะที่ผ่านมาพม่าห้ามไม่ให้มีการสอนด้วยภาษาถิ่น
ส่วนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางนั้น พ.อ.เจ้าเคอเงินบอกว่ายังต้องรอการเจรจากันครั้งต่อไปอีก
“แต่ในหลักการแล้ว พื้นที่ที่เราดูแล เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย” สำหรับ “ที่ยืน” ของ RCSS ในอนาคตนั้น พ.อ.เจ้าเคอเงินบอกว่าในข้อตกลงครั้งล่าสุดข้อที่ 12 ซึ่งบอกไว้ว่าจะมีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่สมาชิกสภาฯ กองทัพรัฐฉาน ผู้อพยพลี้ภัยสงคราม และประชาชนพลเมืองทั่วไป เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการหารือกันที่จะเปิดทางให้สภาฯ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง
เพียงแต่ในประเด็นนี้คงต้องพิจารณากันลึกไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่าที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้ตัวแทนชนกลุ่มน้อยรวมถึงพรรค NLD ของอองซาน ซูจี มีโอกาสได้ที่นั่งในสภาฯ รวมกันเพียง 3-5% จนไม่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศได้เท่าที่ควร ก็อาจจะต้องรอจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เสียก่อน
ขณะที่เป้าหมายใหญ่ การประกาศเอกราชเป็นรัฐอิสระนั้น พ.อ.เจ้าเคอเงินระบุว่า ยังคงดำรงเป้าหมายอยู่ เพียงแต่เป็นเรื่องระยะยาว ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากมุ่งเป้าในประเด็นนี้ โต๊ะเจรจาคงจะล้มเหลว ทำให้สถานการณ์ระหว่างพม่ากับไทใหญ่หวนกลับไปสู่การเผชิญหน้ากันเหมือนระยะที่ผ่านมา
ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลสะเทือนกับเพื่อนบ้านอย่างไทย และ AEC อย่างเลี่ยงไม่พ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|