จาก "คอนติเนนตัล อิลลินอยส์" ในอดีต มาถึงยุคของ "ไทยเม็กซ์" ในปัจจุบัน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นความจริงแท้แน่นอนที่ชื่อ ไทยเม็กซ์ เพิ่งจะถูกจัดเข้าอยู่ในทำเนียบบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ของไทยเมื่อราวๆ ปลายปี 2525

แต่ก็เป็นความจริงอีกเหมือนกันที่รากฐานของ ไทยเม็กซ์ ได้ถูกวางไว้ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 10 ปี ภายใต้ชื่อ คอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ชื่อเดียวกับธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเฮดออฟฟิศอยู่ที่เมืองชิคาโก ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการตั้งชื่อพ้องกันโดยบังเอิญ หากแต่ธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ หรือ CINB เป็นเจ้าของเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์จริงๆ

CINB ในช่วงที่ย้อนหลังกลับไป 12-13 ปีที่แล้ว ต้องการอย่างมากที่จะเปิดสำนักงานสาขาของตนขึ้นในประเทศไทย

CINB เป็นแบงก์ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อบริษัทอเมริกันมาเปิดกิจการในประเทศไทยกันมาก เขาก็ต้องการจะเข้ามาดูแลลูกค้าของเขาเป็นธรรมดา”.. แบงเกอร์คนหนึ่งบอกถึงสาเหตุ

แต่ความตั้งใจก็คงต้องเป็นหมันไป เพราะช่วงนั้นประเทศไทยได้เริ่มดำเนินนโยบายปิดประตูไม่อนุญาตให้มีการเปิดสาขาธนาคารต่างประเทศกันแล้ว

CINB เมื่อเจอกับนโยบายของฝ่ายไทยเช่นนี้ เขาหนักใจเหมือนกันเพราะถ้าเปิดแค่สำนักงานตัวแทนก็จะทำได้แค่ค้าเงินตราต่างประเทศ ไม่มีสิทธิ์ลงมาเล่นกับเงินบาท ซึ่งเขามีลูกค้าที่ต้องเล่นกับเงินบาทอยู่ไม่น้อย...แบงเกอร์คนเดิมเล่าให้ฟัง

ดังนั้นในปี 2515 CINB จึงต้องตัดสินใจหาทางออกด้วยการตั้งไฟแนนซ์คัมปะนีขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินแบบไฟแนนซ์คัมปะนีภายใต้กฎหมายไทยทั่วๆ ไปแล้ว ก็ยังทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งเป็นสำนักงานตัวแทนของ CINB ด้วย

และไฟแนนซ์คัมปะนีแห่งนี้ก็คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คอนติเนนตัล อิลลินอยส์ นั่นเอง คอนติเนนตัล อิลลินอยส์เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ( 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มี CINB ถือหุ้นไว้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และต่อมาปี 2518 ก็ได้เพิ่มทุนเป็น 40 ล้านบาท จากนั้นก็ไม่มีการเพิ่มทุนอีก จนมาถึงยุคของ ไทยเม็กซ์ในปัจจุบัน

ปี 2521 สำนักงานตัวแทนของ CINB ถูกแยกออกมาเป็นเอกเทศจากบริษัทการเงิน แบงก์ชาติได้ท้วงติงมาว่า งานของสำนักงานตัวแทนจะต้องแยกออกมาอย่างเด่นชัดจากงานของไฟแนนซ์คัมปะนี เพราะฉะนั้นจึงได้มีการแยกสำนักงานตัวแทนออกไป...แหล่งข่าววงในชี้สาเหตุ ธุรกิจของคอนติเนนตัล อิลลินอยส์เติบโตและเป็นไปอย่างราบรื่นน่าพอใจ และก็คงจะเป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ หากพระราชบัญญัติสถาบันการเงินที่ออกมาในปี 2518 ไม่ได้มีสิ่งที่ทำให้ CINB เริ่มรู้สึกหนักใจในอนาคตข้างหน้าของตนเองขึ้นมา

ในหลายๆ มาตราของพระราชบัญญัติฉบับนี้บอกชัดเจนว่า สถาบันการเงินที่ถือหุ้นโดยต่างประเทศนั้น จะต้องดำเนินการกระจายหุ้นออกไปให้คนไทยเป็นระยะ จนในที่สุดจะถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้

CINB ก็คงศึกษาอย่างละเอียดแล้ว เห็นว่าเขาคงปฏิบัติเช่นนั้นไม่ได้ เพราะถ้าต้องกลายเป็นเสียงส่วนน้อย (Minority) ในกลุ่มเจ้าของกิจการ ขณะเดียวกันชื่อยังเป็นคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ซึ่งเขาจะต้องรักษาชื่อเสียง มาตรฐาน...อย่างนี้ก็คงลำบากมาก ครั้นจะใช้วิธีเลี่ยงกฎหมายตั้งคนไทยใครก็ได้ถือหุ้นลมแทน ก็รู้สึกว่าตัวเขาใหญ่เกินกว่าจะไปทำอะไรอย่างนั้น... ผู้ที่ทราบเรื่องบอกกับ “ผู้จัดการ

ในที่สุดคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ซึ่งขณะนั้นมีสินทรัพย์ประมาณ 900 ล้านบาท ปล่อยเงินกู้ออกไปแล้วไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท ก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะต้องขยายกิจการออกไป ก็เป็นการตัดสินใจเหมือนๆ กับบริษัทการเงินที่ธนาคารต่างประเทศตั้งขึ้นหลายๆ แห่งเช่น ซีมิค ของธนาคารเชสแมนฮัตตัน หรือชาเตอร์ไฟแนนซ์ของชาเตอร์ดแบงก์... แหล่งข่าวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

เพียงแต่เงื่อนไขการขายของคอนติเนนตัล อิลลินอยส์อาจจะต่างกันอยู่บ้างกับ "ซีมิค" (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตรในปัจจุบัน) ของเชสแมนฮัตตันหรือชาเตอร์ไฟแนนซ์ของชาร์เตอร์ดแบงก์

คอนติเนนตัล อิลลินอยส์ประกาศจุดยืนเด็ดขาดว่า ใครก็ตามที่จะเข้ามาซื้อหุ้นทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของ CINB จะต้องไม่ใช้ชื่อคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ อีกต่อไป และจะต้องรับต่อสัญญาจ้างงานให้กับพนักงานเดิมกว่า 30 คนทั้งหมด

การบอกขายกิจการเริ่มต้นอย่างปิดเงียบในช่วงต้นปี 2525 จะรู้กันก็แต่ในกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ปรากฏว่ามีหลายกลุ่มให้ความสนใจ ติดต่อคุยกันไม่น้อยกว่า 10 กลุ่ม แต่ที่มีแนวโน้มสนใจมากๆ ก็อย่างเช่นกลุ่มมาบุญครอง กลุ่มธนาคารซูมิโตโมของญี่ปุ่น เป็นต้น...แหล่งข่าววงในเปิดเผยให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม 2525 คอนติเนนตัล อิลลินอยส์ก็ตัดสินใจว่าจะขายกิจการให้กลุ่มไทยประกันชีวิตของวานิช ไชยวรรณ เพราะดูจะเสนอเงื่อนไขที่น่าพอใจมากที่สุด

กลุ่มไทยประกันชีวิต ว่าที่จริงแล้วก็ไม่ได้เข้ามาโดดๆ แต่เข้ามาโดยร่วมกับกลุ่มปาล์มโก้ของมาเลเซียแถมยังพ่วงกลุ่มธนาคารทหารไทยอีกด้วย

ในเดือนกันยายน 2525 คอนติเนนตัล อิลลินอยส์ก็จัดการโอนหุ้นของ CINB ไปให้กลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งกลุ่มไทยประกันชีวิตรับไป 45 เปอร์เซ็นต์ ปาล์มโก้ 45 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารไทยรับส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์

ราคาซื้อขายกันตอนนั้นก็ตกราวๆ 100 กว่าล้านบาท คอนติเนนตัล อิลลินอยส์ เป็นบริษัทการเงินที่มั่นคงและประสบความสำเร็จอยู่ในขั้นดีมาก ซึ่งก็อาจจะดูกันง่ายๆ แค่ตรงที่ก่อนหน้าจะมีการโอนหุ้นของ CINB ไปให้กลุ่มผู้ซื้อนั้น คอนติเนนตัล อิลลินอยส์สามารถจัดการเรียกเก็บหนี้สินที่ปล่อยกู้ออกไปจากจำนวนประมาณ 800 กว่าล้านบาทเหลือเพียง 100 กว่าล้านบาทในวันโอนกิจการ อย่างนี้แล้วถ้าไม่ใช่เพราะการมีลูกค้าชั้นดีก็คงไม่สามารถทำได้อย่างนั้นเป็นแน่

ที่จริงสามารถลดลงได้เหลือศูนย์ ถ้าเงินกู้อีกประมาณ 100 กว่าล้านบาท ที่เหลืออยู่นั้นไม่ใช่เงินกู้ระยะยาว...” คนของคอนติเนนตัล อิลลินอยส์บอกกับ “ผู้จัดการ

สำหรับไทยเม็กซ์ ชื่อใหม่ภายใต้เจ้าของกลุ่มใหม่ของคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ถ้าจะถือว่าการเข้ามาครั้งนี้เป็นโชค ก็คงเป็นโชคอันเนื่องมาจากการได้รากฐานเก่าที่มั่นคงมีมาตรฐานนี่เอง ก็เลยได้ของดีไป ซึ่งหาได้ยากในการซื้อขายกิจการกันทุกวันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.