ไทยเม็กซ์ไฟแนนซ์ เลือกเดินไปอย่างระมัดระวัง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าคุณมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งที่มีผู้ถือหุ้นอยู่ 3 ราย แล้วแต่ละรายก็ล้วนแต่เป็นผู้มีฐานะมั่นคงและยิ่งใหญ่ทั้ง 3 เจ้า คุณจะเลือกเดินทางไหน?

คุณจะขยายฐานให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ชื่อคุณติดอันดับอยู่ในทำเนียบต้นๆ ในความใหญ่ของบริษัทเงินทุนทั้งหลาย?

หรือคุณจะค่อยๆ เจริญเติบโตไปอย่างระมัดระวังแบบดูตาม้าตาเรือให้ดีๆ?

สำหรับจุลประชา สุนทรศารทูล กรรมการผู้จัดการทั่วไปของไทยเม็กซ์ไฟแนนซ์และคณะกรรมการของบริษัท (พล.ร.อ.สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์-ประธานกรรมการ/ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน-รองประธาน /สตีเว่น ชาน-กรรมการ/คงศักดิ์ กฤษณะสมิต-กรรมการ/วิชาญ ชโนปจัย- กรรมการ/ไชย ไชยสุวรรณ-กรรมการ/จุลประชา สุนทรศารทูล-กรรมการ / สุรินทร์ พลยะศรีสวัสดิ์-กรรมการ/เอ นากานาธาน-กรรมการ) ทั้งหมดเลือกที่จะใช้ความระมัดระวังและค่อยๆ เจริญเติบโตจะดีกว่า

ความจริงด้วยการเป็นบริษัทในเครือของธนาคารทหารไทย และมีไทยประกันถือหุ้นใหญ่ รวมทั้งกลุ่มปาล์มโก้ของมาเลเซียอยู่ด้วยนั้น การจะกระโดดเพิ่มสินทรัพย์ขึ้นมาให้มากๆ ก็ย่อมทำได้อยู่แล้วไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ถึงจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินให้กู้ยืมเหมือนคนอื่นเขา แต่การจะเพิ่มสินทรัพย์โดยระดมปล่อยกู้ออกไปหนักๆ นั้น คงจะไม่ใช่นโยบายของเรา เพราะปล่อยกู้นั้นไม่ยาก แต่เลือกลูกค้าดีๆ และปล่อยกู้โดยเรียกคืนได้ไม่ยากเย็นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายดายที่ใครๆ จะทำกันได้ จุลประชาพูดกับ “ผู้จัดการ”

ถึงแม้ว่าโดยเนื้อหาของไทยเม็กซ์ไฟแนนซ์จะเป็นบริษัทที่ซื้อต่อมาจากเครื่องของคอนติเนนตัลแบงก์ก็ตาม แต่สภาพการ Take Over นั้นก็เป็นการรับโอนบริษัทที่ดีมากเข้ามา(รายละเอียด อ่านล้อมกรอบ “จากคอนติแนนตันอิลนินอยส์ในอดีตมาถึงยุคไทยเม็กซ์ในปัจจุบัน”)

ในช่วงแรกของการ Take Over นั้น ไทยเม็กซ์มีสินทรัพย์อยู่เพียง 173 ล้านบาท ในปี 2525 ลดลงจากที่เคยมีอยู่ 800 กว่าล้านบาท การลดลงของทรัพย์สินเช่นนี้สำหรับบางคนอาจจะตกใจ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วมันสะท้อนให้เห็นถึงความสะอาดและไม่มีลับลมคมในของบริษัทเดิมที่สามารถเรียกหนี้คืนได้ทันทีที่ต้องการ ความจริงเราสามารถลดลงได้เหลือศูนย์แต่เผอิญเงินกู้อีกประมาณ 100 กว่าล้านบาทที่เหลืออยู่นั้นเป็นเงินกู้ระยะยาว” เจริญจิต งามทิพย์พันธุ์ ตัวแทนของคอนติแนนตัล อิลลินอยส์ พูดกับ “ผู้จัดการ”

จากปี 2525 ที่กลุ่มใหม่ได้เข้ามา ยอดสินทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นจาก 173 ล้านบาท มาเป็น 422 ล้านบาทภายในหนึ่งปี และเมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคมของปี 2527 ยอดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 633 ล้านบาท

จากการวิเคราะห์ตัวเลขดูก็พอจะเห็นแนวนโยบายของไทยเม็กซ์ได้ชัดพอสมควร ว่านิยมปล่อยสั้นมากกว่าปล่อยยาว เพราะเมื่อดูจากยอดเงินกู้ยืมซึ่งมียอด 550 ล้านบาทนั้นเป็นเงินกู้เมื่อทวงถามเสีย 216 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นประมาณ 277 ล้านบาท ที่เหลือ 55 ล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะยาว

เทียบเป็นอัตราส่วนจะเห็นว่าเป็นการกู้ระยะสั้นมีสัดส่วนร่วม 90% ของ Port เงินกู้ทั้งหมด เรียกได้ว่าพยายามรักษาสภาพคล่องกันอย่างเต็มที่

ความจริงไม่ใช่เรื่องสภาพคล่องอย่างเดียวหรอก เพราะเราไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้แต่เป็นเรื่องของ Business Policy ที่เราต้องการทำธุรกิจอย่างมีระบบ โดยรักษาสัดส่วนของเงินฝากและเงินกู้ให้สมดุลกัน” จุลประชา สุนทรศารทูล พูดกับ “ผู้จัดการ”

การเจริญเติบโตในอนาคตของไทยเม็กซ์นั้น เป็นการโตที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะเราต้องการจะขยายตลาดของแบบระมัดระวัง และพยายามจะพัฒนาคนของเราให้มีความรู้ความสามารถให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของบริษัท

การเติบโตใน 5 ปีข้างหน้าของไทยเม็กซ์นั้น จุลประชาคิดว่าเป็นการเพิ่มสินทรัพย์อีกประมาณปีละ 30% ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามประมาณการที่วางแผนไว้แล้ว เมื่อสิ้นสุดปี พ.ศ. 2531 ไทยเม็กซ์ก็จะมียอดทรัพย์สินที่ประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งก็คงจะอยู่ในระดับกลางๆ

เดี๋ยวนี้ใหญ่ไม่มีความหมายหรอกที่แน่จริงคือคุณภาพมากกว่า คุณไปเอาบรรดาอันดับใหญ่ๆ มาลอกคราบดูซิว่า เวลาเรียกหนี้คืนนั้นได้มากน้อยแค่ไหน” คนในวงการไฟแนนซ์ออกความเห็น

การให้สินเชื่อก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ไทยเม็กซ์จะทำอย่างเดียว เราคงจะต้องพยายามออกไปในรูปวาณิชธนกิจ (Merchant Banking) บ้าง แต่เราต้องค่อยๆ โตไปและพัฒนาตัวเราไป” จุลประชาพูดอย่างสุขุม ก็น่าจะสุขุมหรอก เพราะถ้ามาพิจารณาผู้บริหารของไทยเม็กซ์แล้วจะเห็นว่ามีลักษณะที่ไม่ใช่แต่เป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มมืออาชีพจริงๆ เท่านั้น

เริ่มตั้งแต่กรรมการผู้จัดการทั่วไป จุลประชา สุนทรศารทูล ซึ่งเคยอยู่ในตำแหน่งบริหารของ BFIT และ Book Club Finalce ทั้งสองแห่งก็เป็นการร่วมลงทุนของคนไทยกับต่างชาติ ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จุลประชาสามารถจะประสานงานของกลุ่มผู้ถือหุ้นสามกลุ่มได้อย่างสบาย

ส่วนกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สุรินทร์ พลยะศรีสวัสดิ์ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากอดีตหัวหน้าหน่วยตรวจสอบของธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ และอดีตกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการของเงินทุนหลักทรัพย์บูรพาจำกัด

ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสินเชื่อ วินัย เลาหประสิทธิ์ ก็มีประสบการณ์สินเชื่อจากการเป็นหัวหน้าส่วนวิเคราะห์สินเชื่อสาขา ฝ่ายสินเชื่อสาขาของธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่และยังเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของบางกอกโนมูระ

นอกนั้นยังมีกาญจนา ชื่นศิริพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายจัดหาเงินทุน ซึ่งเคยอยู่ Book Club มาแล้ว และยังมีวัลลภา วัฒนะไพบูลย์ ซึ่งเป็นสมุห์เก่าของไทยเม็กซ์ไฟแนนซ์ สมัยที่ยังเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คอนติแนนตัลอิลลินอยส์อยู่

ส่วนอีกคนคือปตินันท์ ฤทธิ์ภักดีกุล หัวหน้าฝ่ายการเงิน ซึ่งเคยเป็นสมุห์บัญชีบริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด

นอกจากการเป็นผู้บริหารยังอยู่ในวัยที่ไม่มากแต่ก็เพียบด้วยประสบการณ์อย่างมากแล้ว ไทยเม็กซ์ไฟแนนซ์ยังสามารถใช้บริการของผู้ถือหุ้น คือไทยประกันฯ เข้ามาให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่จะเข้ามาถือตั๋วสัญญาใช้เงินของไทยเม็กซ์ที่ถือตั๋วไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท โดยมีประกันสุขภาพและอุบัติเหตุให้ฟรี นอกเหนือจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากไทยเม็กซ์ประจำอยู่แล้ว

การเข้ามาร่วมกันของทั้งสามกลุ่มนั้นเป็นลักษณะของการร่วมมือกันค้าขายซึ่งกันและกันมาก่อน และเมื่อมีโอกาสก็เข้ามาร่วมกันดำเนินกิจการที่จะเป็นประโยชน์ก็ได้เข้ามาร่วมกัน

กลุ่มแรก คือกลุ่มไทยประกัน ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารทหารไทยมานานแล้ว และจากรากฐานที่มั่นคงของไทยประกัน ทำให้ธนาคารทหารไทยและไทยประกันไม่รีรอที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในไทยเม็กซ์นี้

ส่วนปาล์มโก้นั้นเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในมาเลเซีย ตั้งขึ้นมาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว และเป็นบริษัทที่มีชื่อในการผลิตและกลั่นน้ำมันปาล์ม นอกจากนั้นกลุ่มปาล์มโก้ก็ยังมีผลประโยชน์ในธุรกิจการเงิน การค้า และอื่นๆ อีก ปาล์มโก้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย

การรวมกันของทั้งสามกลุ่มนี้อาจมีปัญหาเรื่องการใช้เงินของบริษัทในเครือ แต่จุลประชาชี้แจงว่า ไทยเม็กซ์วางนโยบายไว้ชัด ถ้าจะให้บริษัทในเครือใช้ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ เช่น บริษัทแม่จะให้บริษัทลูกใช้สัก 20 ล้าน บริษัทแม่ก็ต้องเอาเงินมาฝากกับเรา 20 ล้าน แล้วเราก็ผ่านไปให้บริษัทลูก 20 ล้าน โดยเรากินค่าบริการ ซึ่ง Spread มันอาจจะ 1.5 หรือ 2.0% ฉะนั้นเรื่องการใช้ไทยเม็กซ์เพื่อมาไฟแนนซ์บริษัทในเครือนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะทำได้แบบที่เดินมาแล้วก็มาเอาเงิน เพราะเราคำนึงถึง Position ของไทยเม็กซ์มากกว่าจะต้องแข็งและขาวสะอาด

การเริ่มของไทยเม็กซ์นั้นเป็นการเริ่มที่ดี เพราะเริ่มจาก Position of Strength ถึงจะเริ่มจากเล็กก็ตามแต่ก็เริ่มจากคุณภาพ ฉะนั้นแนวนโยบายการโตที่ต้องรักษาคุณภาพเอาไว้ ก็น่าจะเป็นแนวการโตที่ถูกต้องและก็เป็นที่น่ายินดีที่ผู้บริหารของไทยเม็กซ์ซึ่งสามารถจะโตได้รวดเร็วกลับไม่ต้องการจะโตเช่นนั้น แต่กลับเลือกทางเดินที่ระมัดระวัง

ถ้าไฟแนนซ์ทุกแห่งคิดได้อย่างนี้ ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2526-2527 ก็คงจะไม่เกิดขึ้นแน่ และประชาชนก็คงจะให้ความไว้วางใจในสถาบันเงินทุนมากกว่าเท่าที่เป็นไปอยู่ทุกวันนี้

แต่ก็ดีที่ยังมีบริษัทเช่นไทยเม็กซ์ ที่เข้าใจคำว่า คุณภาพอยู่!!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.