AT&T ยุทธการเปิดแนวรบทุกด้าน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

การรุกเข้ามายึดหัวหาดในองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ของกลุ่มเอทีแอนด์ที หรือ American Telephone and Telegraph Corp. คงจะพอพูดได้ว่าเป็นยุทธการเปิดแนวรบทุกด้านโดยไม่พรั่นว่า ใครหน้าไหนจะยืนประจันอยู่ตรงแนวรบแต่ละด้านนั้นๆ

เอทีแอนด์ที ส่งบริษัทในเครือคือ เอทีแอนด์ที อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (AT&T International Inc.) เข้าประมูลขอรับเป็นผู้จัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ซึ่งตลอด 17 ปีที่ผ่านมาบริษัทเยนเนราลเทเลโฟน ไดเรคทอรี่เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

แนวรบด้านนี้นอกจากเอทีแอนด์ทีจะต้องปะทะกับเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่-เจ้าเก่าผู้คร่ำหวอดแล้วก็ยังจะต้องวัดดวงกับ กลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ ซึ่งมีกลุ่มเจ้าของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ หนุนอยู่ข้างหลัง

ว่ากันว่าถ้าเอทีแอนด์ทีผ่านแนวรบด้านนี้ไปได้ก็คงต้องลุ้นกันตัวโก่ง แม้ ว่าผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยของกลุ่มเอทีแอนด์ทีจะได้แก่ กลุ่มศรีกรุงของสว่าง เลาหทัย ซึ่งตามคำบอกเล่าบอกว่ามีคอนเน็กชั่นตรงถึงตัวพลเอกอาทิตย์กำลังเอก ประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์ก็เถอะน่า...

เพียงเท่านั้นคงจะยังไม่หนำใจ...แนวรบอีกด้านหนึ่งที่กลุ่มเอทีแอนด์ที พยายามจะคืบคลานเข้าไปก็คือการประกาศลงทุน 480 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตและประกอบอุปกรณ์โทรศัพท์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก โดยวาดภาพว่าโรงงานนี้จะสามารถสร้างงานได้ถึง 595 คน กำลังผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์นานาชนิดตกปีละ 250,000 ชุด และเอทีแอนด์ทีก็ได้เสนอโครงการไปขอรับการส่งเสริมจากสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรียบร้อยแล้ว

แต่ผลก็คงจะออกมาไม่ค่อยสมใจนัก เนื่องจากแนวโน้มล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคงต้องบอกปัดการให้สิทธิบัตรโครงการ ของเอทีแอนด์ทีเช่นเดียวกับอีก 5 โครงการของกลุ่มไอทีที, อีริคสัน, เอ็นอีซี, เอเอส.อีเล็คทริคส์ ของนอร์เวย์และกลุ่มซาเทลโก อิเลคโทรนิคส์ ซึ่งล้วนเป็นโครงการคล้ายคลึงกับโครงการของกลุ่มเอทีแอนด์ที ด้วยเหตุผลว่าได้ให้การส่งเสริมโรงงานของกลุ่มไอทีทีไปแล้ว และความต้องการใช้อุปกรณ์โทรศัพท์ในประเทศและลู่ทางการส่งออกก็ยังไม่สูงมากถึงขั้นต้องตั้งโรงงานผลิตเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงบอกว่า โครงการนี้กลุ่มเอทีแอนด์ที เตรียมสู้ต่อในยกสอง หาได้รามือเพียงนั้นไม่

พร้อมๆ กับการเปิดแนวรบใน 2 ด้านดังกล่าว เอทีแอนด์ทีก็ค่อนข้างหมายมั่นปั้นมือมาก ที่จะได้เข้าร่วมประมูลติดตั้งคู่สายโทรศัพท์อีก 9 แสนเลขหมาย งบประมาณเฉียด 4 หมื่นล้านบาทขององค์การโทรศัพท์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2527 ถึงปี 2531

โครงการขยายการติดตั้งคู่สายโทรศัพท์เพิ่มจากปัจจุบัน 3 แสนเลขหมายเป็น 9 แสนเลขหมายนี้องค์การโทรศัพท์วางแผนว่าจะใช้เงินกู้ในประเทศ 18,380 ล้านบาท และใช้เงินกู้จากต่างประเทศ 19,080 ล้านบาท รวมแล้วก็ 37,460 ล้านบาท

สำหรับแนวรบด้านนี้เอทีแอนด์ทีได้ส่งบริษัทในเครือคือ บริษัทเบลล์ แคนาดา เข้าประกบและก็คงเป็นอีกแนวรบหนึ่งที่เอทีแอนด์ทีจะต้องทุ่มสุดตัว เพราะเท่าที่เห็นก็จะต้องเจอกับกลุ่มอีริคสันแห่งสวีเดนกับกลุ่มเอ็นอีซีแห่งญี่ปุ่น โดยที่ทั้ง 2 กลุ่มทำมาหากินกับองค์การโทรศัพท์มาแล้วรายละไม่ต่ำกว่า 30 ปี เรียกว่ารู้ตื้นลึกหนาบางในวงการนี้ทะลุปรุโปร่ง แถมยังตกลงเป็นนัยๆ แบ่งตลาดกันเสร็จว่า ในเขตนครหลวงเป็นของเอ็นอีซี ส่วนในต่างจังหวัดเป็นของอีริคสัน

เอทีแอนด์ทีเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ทด้าน Telecommunication มีตัวบริษัทแม่อยู่ในสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอทีแอนด์ทีถูกระบุว่าเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์สูงที่สุดในโลก ร้อนถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องงัดกฎหมายป้องกันการผูกขาดเข้าบังคับให้เอทีแอนด์ทีแตกตัวเองออกเป็นบริษัทย่อยๆ อย่างน้อย 7 บริษัทเพื่อกระจายสินทรัพย์ออกไป

แต่การก้าวเข้ามาในประเทศไทยของเอทีแอนด์ทีก็คงภาพของผู้ยิ่งใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.