Thomas Heatherwick นักออกแบบกระถางคบเพลิงโอลิมปิก'12


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้ง สิ่งที่เป็นความลับสุดยอดและทุกคนเฝ้ารอ เห็นจะเป็นพิธีจุดกระถางคบเพลิง ซึ่งผู้ชมทั่วโลกตื่นเต้นอยากเห็นแนวคิดและงานออกแบบที่จะปรากฏต่อสายตา ณ วินาทีนั้น

สำหรับกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-9 สิงหาคมนี้ นักออกแบบกระถางคบเพลิงจึงต้องเป็นชาวอังกฤษอย่างแน่นอน

Thomas Heatherwick นั่นเอง

หนุ่มใหญ่วัย 42 ปีผู้นี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในโลกออกแบบมานานแล้วว่าเป็น “นักนวัตกรรม” ที่ทำให้ผู้มีโอกาสสัมผัสงานของเขาต้องทึ่งและชื่นชมในความคิดล้ำสมัยอย่างหาตัวจับยาก

ผลงานล่าสุดที่ทำให้ชาวโลกตะลึงน่าจะเป็นศาลา Seed Cathedral ในงานเซี่ยงไฮ้ เอ็กซ์โป 2010 ที่เขาออกแบบโดยติดตั้งแท่งใยแก้วทั้งหมด 60,000 แท่งบริเวณหลังคาอาคาร เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นเหมือนอาคารยักษ์กำลังไหวเอนล้อลมอยู่ไปมาอย่างช้าๆ น่าอัศจรรย์มาก

เคล็ดลับที่ทำให้แท่งใยแก้วโน้มตัวลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกคือ การนำเมล็ดพืช 60,000 ชนิดติดไว้ที่ปลายของแท่งใยแก้ว ซึ่ง Heatherwick กล้าประกาศว่า ศาลาของเขา “มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในงานเอ็กซ์โป สิ่งที่ผมสนใจคือ วิธีใช้แรงโน้มถ่วงของโลกพยุงน้ำหนักสิ่งของเอาไว้ ถ้าคุณสามารถคำนวณได้ถูกต้องย่อมทำให้งานออกแบบของคุณแลดูมีน้ำหนักเบาเท่าไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ”

ผลงานนอกบ้านเกิดที่ทำให้วงการยกนิ้วยอมรับในความคิดสร้างสรรค์คือ บันไดโค้งพร้อมราวบันไดกระจกน้ำหนัก 55 ตันที่ Heatherwick ออกแบบให้ห้าง Longchamp ในมหานครนิวยอร์ก

ที่สำคัญ เขายังเป็นเจ้าของงานปรับปรุงโฉมหน้ารถโดยสารประจำทาง 2 ชั้นที่วิ่งให้บริการอยู่ในกรุงลอนดอนขณะนี้

ส่วนม้านั่งยาวทำด้วยอะลูมิเนียมที่ถูกบีบอัดจนโค้งงอขึ้นและนำออกแสดงที่ห้องแสดงผลงานศิลปะ Haunch of Vension ที่นิวยอร์กซิตีเมื่อไม่นานมานี้ เป็นสิ่งยืนยันนวัตกรรมที่เขาคิดค้นได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ โรงงานที่สามารถผลิตชิ้นงานให้ได้ในเวลานี้มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำหรับโครงการอวกาศของจีนเสียด้วย

“พวกเขาใจดีและยินดีช่วยเหลือมากครับ เราสามารถกำหนดให้ตัวม้านั่งมีความยาวแตกต่างกันตามความต้องการของลูกค้าได้ โดยใช้แรงอัดถึง 10,000 ตันเพื่อทำให้อะลูมิเนียมโค้งงอขึ้น ตอนนี้อยู่ในระหว่างทดลองเชิงอุตสาหกรรม เราอยากผลิตเป็นม้านั่งสำหรับใช้ในสนามบินมากเลยครับ แต่ติดปัญหาที่มีเครื่องจักรเพียงเครื่องเดียวที่ผลิตให้ได้ จึงไม่สามารถประหยัดจากกำลังการผลิตได้”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.