เพชรบุรี เมืองหลากมิติ

โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

เพชรบุรีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีชื่อด้านอาหาร ศิลปวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นแหล่งเสบียงให้กับกองทัพสยามยามเผชิญกับศึกสงครามเมื่อครั้งอดีต

สมัยที่บิดารับราชการอยู่ที่ราชบุรี เมื่อถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือลองวีคเอนด์ ลูกๆ จะตั้งตาคอยว่าจะได้เปลี่ยนบรรยากาศไปเที่ยวทะเล เพราะจะมีเหล่าเจ้านาย เพื่อนฝูงแวะมาเยี่ยม และหอบหิ้วกันไปเฮฮาปาร์ตี้ที่หาดเจ้าสำราญ

บ้านพักตากอากาศจะหันหน้าสู่ทะเล ใต้ถุนยกสูง นั่งนอกชานบ้านรับลมทะเล เป็นที่นั่งดื่มนั่งกินสำหรับผู้ใหญ่ เหล่าบรรดาเด็กๆ ต่างวิ่งเล่นบนชายหาด ถือกระป๋อง มีไฟฉายไว้ส่องไล่จับปูลมยามค่ำคืน

ช่วงกลางวัน ไม่ลืมที่จะพาครอบครัวไปสักการบูชา เยี่ยมชมศิลปะ วัดวาอาราม ช่างฝีมือสกุลเพชรบุรี โดยเฉพาะพระนครคีรี สัญลักษณ์ของเมืองที่มีความโดดเด่น ซึ่งจะเห็นทันทีเมื่อย่างเท้าเข้าสู่เมืองคือ เขาวัง เป็นที่ตั้งของพระราชวังแห่งแรกในหัวเมือง สมัยรัตนโกสินทร์

ก่อนแดดร่มลมตกจะแวะจ่ายตลาดอาหารทะเลสดแห้งให้มีกิจกรรมร่วมกันช่วงอาหารเย็น วันกลับ ก่อนจากไม่ลืมแวะร้านปิ่นแก้ว ซื้อของฝากที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นอย่างยิ่ง อย่างข้าวเกรียบงา และขนมหวานอีกหลายชนิด แม้แต่น้ำตาลโตนดซึ่งปรุงอาหารได้รสหวานกลิ่นหอม ติดไม้ติดมือกลับไปด้วย

เมื่อพูดถึงพระนครคีรีแล้ว ทางเดินขึ้นสู่ยอดเขา ระหว่างทางจะอุดมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ปกคลุมร่มรื่นน่าชื่นชม โดยเฉพาะต้นลั่นทมออกดอกสีขาวสะพรั่ง ส่งกลิ่นโดยรอบบริเวณ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา จังหวัดเพชรบุรีเพิ่งจัดเทศกาลชื่นชมต้นลั่นทมดอกสีขาวอายุ 200 ปี

เมื่อก่อน ดอกลั่นทมไม่นิยมปลูกภายในบริเวณบ้าน ด้วยชื่อไปพ้องเสียงกับคำว่า “ระทม” ที่มีความหมายว่า ความเศร้าโศก ความทุกข์ทรมานใจ ซึ่งคนไทยถือกันว่าเป็นเรื่องอัปมงคล

“ลั่นทม” เป็นไม้ยืนต้น เล่ากันว่าถูกนำมาจากตอนใต้ของประเทศเขมร เมื่อครั้งสยามได้รับชัยชนะจากการไปตีนครธม และมีการเรียกชื่อเป็นที่ระลึกว่า “ลั่นธม” ความว่า “ลั่น” เป็นความหมายเท่ากับว่าตี เช่น การตีกลอง การตีฆ้อง

สำหรับ “ธม” คือนครธม ภายหลังเพี้ยนกลายเป็น “ลั่นทม” แต่ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในภาษาไทยบางท่านกล่าวไว้ว่า คำว่าลั่นทมที่เรียกกันแต่โบราณจะหมายถึง การละเว้นความโศกเศร้า แล้วมีสุข

ลั่นทมเป็นคำผสม
ลั่น เท่ากับ แตกหัก การละทิ้ง
ทม คือ ความทุกข์โศก
ลั่นทมเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาว

ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่า “ดอกลีลาวดี” ที่มีความหมายว่า ต้นไม้ที่มีท่วงท่าอ่อนช้อยสวยงาม

ทุกวันนี้จึงเป็นที่นิยมของตลาด เพราะมีมากสีสัน ไม่ว่าจะเป็นสีขาว เหลือง แดง ส้ม ชมพู สารพัดสี บางครั้งอาจจะเห็นมากกว่า 2 สีในดอกเดียวกัน ปลูกประดับสวนตามสถานที่ต่างๆ ให้ความสวยงาม สง่างาม แม้ในบ้านยังนิยมปลูกกันมากเช่นกัน

พระนครคีรี “เขาวัง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เดิมทีเดียวเขาวังมีชื่อว่า “เขาคีรี” มาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างวัดมหาสมณะขึ้นที่เชิงเขา จึงเรียกเขา ลูกนี้ว่าเขามหาสมณะ หรือ “เขาสมน”

เขาวังมี 3 ยอด ยอดกลางเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมเพชร ยอดด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งวัดพระแก้ว ส่วนด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังพระนครคีรี ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จได้พระราชทาน ชื่อเขาพระสมนใหม่ว่า “เขามหาสวรรค์” หรือเรียกจนติดปากกันว่า เขาวัง

พระราชวังพระนครคีรี สร้างเป็นที่ประทับเพื่อเสด็จแปรพระราชฐานเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม มีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่เรียก กันว่า นีโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมแบบจีน

หมู่พระมณเฑียร

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งต่างๆ เป็นที่รับรองแขกเมือง มีห้องเสวยพระกระยาหาร ห้องทรงพระสำราญ ห้องพระสุธารส ห้องสรง ห้องแต่งพระองค์ และห้องบรรทม

พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรค์ พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับ เป็นอาคารเก๋งจีน 2 ชั้นเชื่อมต่อกัน ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องทรงอักษร

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นปราสาทจัตุรมุข ยอดปรางค์ 5 ยอด เป็นราชนิยมในสมัยนั้น โดยมียอดปรางค์อยู่ตรงกลาง โดยมีองค์ปรางค์อยู่ทั้ง 4 มุข บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น ระเบียงแก้วโดยรอบ

ระเบียงชั้นบนสุดมีโคมโปร่งที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยทองสำริด ฉลองพระองค์ตามราชนิยม ทรงพระมาลาสกอต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดหนังสือ ทรงยืนใต้นพปฎลเศวตฉัตร

พระที่นั่งราชธรรมสภา ศิลปะผสมยุโรป จีน ไทย เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาเก๋งจีน ทรงใช้เป็นที่ประชุมส่วนพระองค์ เพื่อบรรยายธรรมะ ต่อมาดัดแปลงเป็นห้องเสวย สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นอาคารแสดงนิทรรศการ

หอชัชวาลเวียงชัย อาคารรูปโดม มีบันไดวนขึ้นสู่ชั้นบน ระเบียงโดยรอบ ลูกกรงระเบียงเป็นกระเบื้องเคลือบจากเมืองจีน หลังคารูปโค้งมุงด้วยกระจก หอนี้มีความสำคัญ เนื่องด้วยเป็นสถานที่ที่พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย รัชกาลที่ 4 ใช้ส่องกล้องทอดพระเนตรศึกษาดวงดาวต่างๆ ที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งเป็นการสั่งสมพระราชประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ จนพระเกียรติคุณของพระองค์ขจรขจายไปทั่วโลก และได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการดาราศาสตร์ของโลก

หาดเจ้าสำราญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าพักผ่อน เงียบสงบ อากาศดี ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประวัติที่เล่าต่อกันมาว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพมาที่นี่พร้อมสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน ชาวบ้านจึงเรียก หาดนี้ว่า “หาดเจ้าสำราญ”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างค่ายหลวง “ค่ายหลวงบางทะลุ” ตามชื่อของตำบล โดยมีพระตำหนักบริเวณริมหาดแห่งนี้ “พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ” ภายหลังทรงเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลหาดเจ้าสำราญตามชื่อของหาดเพื่อความเป็นมงคล

ภายหลังได้ย้ายพระตำหนักไปยังจุดที่เป็นพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

นอกจากนี้ยังมีหาดชะอำ ปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 40 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ก็จะถึงชายหาด

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระราม 6 ตำบลห้วยทรายเหนือ เลยหาดชะอำไป 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่พักริมทะเล โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกใหม่เมื่อ พ.ศ.2466 ได้รับการขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง”

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เป็นศูนย์เรียนรู้ การเผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรมระดับนานาชาติในด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร อยู่ในค่ายพระราม 6

ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา เพื่อเป็นการฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดังเดิม พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นคุณค่าการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตร โดยเน้นในเรื่องการปลูกป่าไม้ ให้กลับไปอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่กับการปลูกป่า และการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบราษฎรเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่และทำกิจอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยสอดคล้องกับธรรมชาติ อาศัยผลผลิตจากป่าโดยไม่มีการบุกรุกทำลายป่า

ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาใหญ่ เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยจัดทำเป็นศูนย์นิทรรศการ จัดแสดงเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ภาพถ่ายในอดีต การจำลองแบบบ้านหลังแรกของเกษตรกรที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในหุบกะพง เครื่องจักรกลการเกษตร กังหันน้ำชัยพัฒนา แปลงสาธิตของชาวบ้าน

หมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่าง มีการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง การเลี้ยงโคนม ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์

แม่น้ำเพชรบุรี ต้นน้ำจากเทือกเขาสูงชันทางด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน ท่ายาง บ้านลาด และอำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านเหลม ความยาวกว่า 200 กิโลเมตร

เมื่อไหลมาถึงอำเภอบ้านแหลมแล้ว แม่น้ำจะแยกออกเป็นสองสายลงสู่อ่าวไทยที่บ้านแหลม และแยกอีกสายไปทางทิศเหนือ ลงสู่อ่าวไทยเช่นกันที่ตำบลบางตะบูน ซึ่งพื้นที่ที่ทำการเกษตรของเมืองนี้ คือสองฟากฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี

แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลัก โดยมีแม่น้ำสาขาคือ ห้วยแม่ประจันทร์ ห้วยผาก ห้วยแม่ประโคน แม่น้ำทางลอยและแม่น้ำบางตะบูน

แม่น้ำเพชรบุรี เป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายในประเทศไทย อันได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ที่โบราณราชประเพณีในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ใช้น้ำจากแม่น้ำเหล่านี้ประกอบพิธี

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.2411 ในพิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏในตราสารว่า “ต้องการน้ำเข้าพระราชพิธี จึงให้พระยาเพชรบุรี ตักน้ำจากบริเวณท่าไชยจำนวนหนึ่งหม้อส่งยังพระนคร”

สมัยรัชกาลที่ 6 พระราชพิธีราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพิธีตามมณฑลต่างๆ สำหรับมณฑลราชบุรี ได้จัดที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้ใช้น้ำเพชรบุรีในการพระราชพิธีนี้

ในรัชกาลปัจจุบัน พระราชพิธีราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทำพิธีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดท่าไชย อำเภอบ้านลาด

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรบุรี ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน พระรามราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 โดยประชาชนชาวเมืองเพชรบุรี ได้ร่วมกันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ว่า จะร่วมกันดูแลรักษาแม่น้ำเพชรบุรี ไม่สร้างความสกปรกให้กับแม่น้ำ และช่วยกันฟื้นฟูให้กลับสู่ความใสสะอาดเหมือนเช่นอดีต ช่วงหลังจากนั้นมา ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และชาวเมืองเพชรบุรี ก็จะไปทำพิธี ณ วังบ้านปืนในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี

ในเรื่องอาหารการกินที่อร่อยล้ำเลิศ ไม่ว่าจะเป็นของคาวของหวาน

ขนมที่ใช้แป้ง ไข่ กะทิ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ นำมาผสมกันใส่ถาด นำไปปิ้ง ไปอบ จนหน้าขนมมีสีน้ำตาลทอง กลิ่นหอมหวนน่ารับประทาน แถมรสชาติยังกลมกล่อมอีกด้วย ขนมกุมรามาศ หรือที่รู้จักในภาษาชาวบ้านว่า ขนมหม้อแกง ปัจจุบันมีทั้งใส่เผือก เม็ดบัว ถั่ว มีหอมเจียวโรยหน้า

จากตำนานเล่าขานว่ากันว่า จุดเปลี่ยนของขนมไทยที่สำคัญ มีมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีขุนนางคือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้แต่งงานกับนางมารี กีมาร์ หรือที่เรารู้จักในนามท้าวทองกีบม้า ที่มีชื่อเสียงในการทำขนมคาวหวาน มีส่วนผสมที่ใช้ไข่ น้ำตาล เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ อาทิ ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด ขนมผิง ทองม้วน สัมปันนี และขนมหม้อแกง ถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้ทำกันต่อมา

เมื่อพูดถึงขนมหวานเมืองเพชร จะไม่พูดถึงน้ำตาลโตนดของที่นี่ก็กระไรอยู่ เพราะไม่มีใครที่ไม่รู้จักน้ำตาลโตนดเมืองเพชร ต้นตาลโตนด ท่านเจ้าเมืองเพชรได้เก็บภาษีน้ำตาลโตนดส่งเข้าหลวงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด ในครั้งที่มีการสร้างวังพระนครคีรีผ่านเจ้าเมือง ยังได้นำภาษีน้ำตาลโตนดนี้ขึ้นทูลเกล้าถวายฯ เพื่อ สร้างพระราชวังแห่งนี้ด้วย

ในสมัยโบราณจะบรรจุน้ำตาลโตนดใน “ทะนน” ซึ่งเป็นภาชนะดินเผา เป็นสินค้าส่งออกขายเพื่อนบ้าน

น้ำตาลโตนด เป็นผลผลิตจากต้นตาล มีความสำคัญต่อวิถีในชนบทของชาวบ้าน เพราะเมืองเพชรมีต้นตาลอยู่มาก น้ำตาลที่ได้จากตาลโตนด ส่วนใหญ่ได้จากต้นตาลที่ขึ้นอยู่ตามท้องนา

ชาวนาจะใช้เวลาว่างจากการทำนามาทำน้ำตาล เพื่อไว้ใช้ในครัวเรือน ทำไว้รับประทานเอง แจกจ่ายเพื่อนบ้าน ซึ่งผลิตกันแบบดั้งเดิม

น้ำตาลโตนดอยู่คู่กับเมืองเพชรมากว่า 200 ปี

ของทานเล่นของคนเมืองเพชรอีกอย่าง เห็นจะเป็นข้าวเกรียบงา เป็นแผ่นกลมขนาด 4-5 นิ้ว ซึ่งมีส่วนผสมงาดำ มะพร้าว ข้าว เกลือไอโอดีน และน้ำตาลโตนด เนื้อข้าวเกรียบที่สุกแล้วจะมีสีน้ำตาลอ่อน มองเห็นเนื้อมะพร้าวและงาดำอย่างเด่นชัด มีความหอมของงา มะพร้าว ข้าว รสมัน อร่อย เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นอาหารที่มีคุณค่าของสารอาหาร มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและยังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยเฉพาะ

วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี มีการแบ่งเขตพุทธาวาสจากสังฆาวาสภายใน

รัศมีพระปรางค์ห้ายอด ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะเป็นพระเจดีย์ห้ายอด เช่นเดียวกับที่นครศรีธรรมราช ดัดแปลงเป็นพระปรางค์ในสมัยหลัง มีภาพปูนปั้นที่หาดูได้ยาก

วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่มีศาลาการเปรียญเป็นศาลาหลังยาว เสาแปดเหลี่ยม ประตูสลักลายก้านขดปิดทอง

ในพระอุโบสถมีรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราชแตงโม ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ ประดิษฐานไว้ที่หน้าพระประธาน

วัดท่าไชยศิริ เป็นวัดตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกวัดใต้ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี น้ำตรงบริเวณท่าน้ำของวัดนี้ เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเป็นน้ำที่ใช้ประกอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณี

วัดเขาตะเครา เป็นวัดอยู่ที่อำเภอบ้านแหลม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว “หลวงพ่อเขาตะเครา”

วัดเขาบันไดอิฐ เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาแต่สมัยอยุธยา

ข้าวแช่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มาจากชนชาติมอญ ในช่วงปลายสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี จนกลายเป็นต้นตำรับข้าวแช่ ต้องเมืองเพชร

ข้าวแช่โด่งดังอีกครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระนครคีรี พนักงาน เครื่องต้นได้นำข้าวแช่ขึ้นถวาย ซึ่งพอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก พระองค์จึงได้ฟื้นฟูและปรับปรุงสูตรข้าวแช่ขึ้น

ข้าวแช่ฝีมือเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ตำหนักของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาถ มีความอร่อย และสวยงามมาก จนกลายเป็นต้นแบบของข้าวแช่ในทุกวันนี้

ปัจจุบันข้าวแช่หาทานได้ยากขึ้นและราคาค่อนข้างสูง และ ยังมีปัจจัยอื่น เช่น มีขนมทั้งไทย ฝรั่งให้เลือกหาซื้อง่าย

ส่วนประกอบของตำรับข้าวแช่ นอกจากจะมีข้าวหุงสุก และน้ำข้าวแช่ที่หอมกลิ่นดอกมะลิแล้ว ยังประกอบด้วยเครื่องเคียงอีกหลายชนิด คือ กะปิทอด พริกหยวกสอดไส้ เนื้อเค็มและผักกาดเค็มผัดหวาน หอมแดง และเนื้อปลาผัดหวาน

การรับประทานต้องทานเครื่องเคียงแล้วตามด้วยข้าวและน้ำข้าวแช่ จึงจะได้ความอร่อยที่แท้จริงของตำรับข้าวแช่

พระราชวังบ้านปืน “พระรามราชนิเวศน์” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อไว้เป็นที่ประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่จากราษฎร สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป เริ่มก่อสร้างในปี 2452 แล้วเสร็จในปี 2459 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ในปี พ.ศ.2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง

กลุ่มชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งในท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี อาศัยอยู่บริเวณอำเภอเขาย้อย คือไทยทรงดำ ไทยโซ่ง หรือลาวโซ่ง อาชีพหลักทำนา ทำไร่ หาของป่า และจับสัตว์ป่า มีความสามารถในการจับปลาตามห้วยหนองคลองบึง และยังมีอาชีพในการจักสาน ภาษาที่ใช้คล้ายภาษาไทยอื่นๆ ทั่วไป แต่ลักษณะเฉพาะคือการออกเสียงหรือศัพท์เฉพาะบางคำ มีอักษรเขียนเอง แต่ปัจจุบันมีผู้อ่านได้น้อย

เอกลักษณ์ของกลุ่มโดยเฉพาะทรงผมสตรี มีถึง 8 แบบ ซึ่งบ่งบอกถึงสถานภาพสตรี

จังหวัดเพชรบุรีถือได้ว่าเป็นต้นตำรับละครชาตรี ที่เป็นละครรำที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับวัฒนธรรมจากละครอินเดีย เข้าสู่เมืองเพชรบุรีเมื่อไรไม่มีหลักฐานปรากฏ เพียงมีประวัติไว้ว่า หม่อมเมืองที่เป็นหม่อมในรัชกาลที่ 5 เป็นคนเพชรบุรี ด้วยเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเล่นละครชาตรี จึงมักเล่นถวายหน้าพระที่นั่งทุกครั้งที่เสด็จมา จนได้รับพระราชทานที่บริเวณหน้าพระลานเพื่อเป็นที่แสดงละครเป็นประจำ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีผู้นำละครนอกผสมกับละครชาตรี เรียก “ละครชาตรีเครื่องใหญ่” เป็นละครที่รวมศิลปะการร้องและการรำเข้าด้วยกัน

ประเพณีวัวลานเป็นการละเล่นของชาวนา หลังฤดูการเก็บเกี่ยว มีวิวัฒนาการมาจากการนวดข้าว ซึ่งจะต้องต้อนข้าว โดยการผูกติดเป็นพรวนให้ย่ำไปบนข้าว โดยให้เดินเป็นวงกลม

วิธีการดังกล่าวปรับมาเป็นการแข่งขัน โดยการปักหลักเกียด หลักไม้ที่อยู่ตรงกลางลาน แล้วนำวัวมาผูกติดกันยาวประมาณ 19 ตัว แบ่งวัวออกเป็น 2 พวก วัวรอง และวัวนอก วัวฝ่ายใดวิ่งแซงอีกฝ่ายหนึ่ง จะชนะ

จะเห็นได้ว่าเพชรบุรีนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนาน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเคยเสด็จไปคล้องช้างได้ที่เมืองนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงโปรดเมืองนี้ เสด็จมาประทับอยู่หลายปี ก่อนที่จะไปตีพม่า แต่ประชวรและสิ้นพระชนม์เสียก่อนที่เมืองหาง เป็นแหล่งทำนาปลูกข้าวในยามศึกสงคราม เพื่อเป็นเสบียงให้กับกองทัพ มีชื่อด้านศิลปวัฒนธรรม มีชื่อของสกุลช่างปั้น มีชื่อเรื่องอาหารมากมาย

จังหวัดเพชรบุรีมีชื่อในประวัติศาสตร์ว่า “เมืองพริบพรี” เมืองที่มี 2 คำขวัญ “เพชรบุรีเมืองพระ ธรรมะครองใจ” และ “เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.