|
แปลงเทรนด์ “5 ไลฟ์สไตล์” เป็นดีไซน์สไตล์คอตโต้
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ความพยายามของเครือเอสซีจีในการขยับตัวจากบริษัทสินค้าคอมมอดิตี้ ไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้ามีดีไซน์และนวัตกรรม (HVP) อาจเห็นได้ทุกปีในงานสถาปนิก แต่ความพยายามในการแสดงบทบาท “Trend Setter” อย่างจริงจังของเครือเอสซีจี ดูจะเห็นได้ชัดเจนมากจากบูธของคอตโต้ในงานสถาปนิกปีนี้
ภายในบูธของเครือเอสซีจีที่ผนึกเอาหลายแบรนด์สินค้าวัสดุก่อสร้างของเครือ ทั้ง 5 แบรนด์ ได้แก่ ตราช้าง, Cotto, SCG Heim, Windsor และ Home Solution เข้าไว้ด้วยกัน บนแนวคิด “SCG Living Showcase” ความโดดเด่นของบูธเอสซีจีสำหรับงานสถาปนิก’55 คงอยู่ที่ความพร้อมใจของทั้ง 5 แบรนด์ ในการนำเสนอเทรนด์ดีไซน์ที่อยู่อาศัยตามไลฟ์สไตล์คนไทยในยุคนี้ อันเป็นผลจากการศึกษาและทำเวิร์กชอปร่วมกันของทีมดีไซเนอร์ ทีมการตลาด ทีมนักวิจัยของเครือ รวมทั้ง “คอตโต้” และของตราช้าง
“เราใช้เวลาร่วม 2 ปี จึงสามารถสรุปพฤติกรรมคนไทยออกมาเป็นไลฟ์สไตล์ 5 ประเภท ที่เครือเอสซีจีและ “คอตโต้” จะใช้เป็นแนวทางในการออกแบบสินค้าสำหรับปีนี้และปีหน้า ในการดีไซน์สินค้าออกมาตอบสนองเทรนด์ไลฟ์สไตล์ทั้ง 5 เทรนด์” ธนนิตย์ รัตนเนนย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องคอตโต้ อธิบายพร้อมนำชมบูธ “คอตโต้”
เริ่มต้นเพื่อเป็นการโปรโมต “เทรนด์ไลฟ์สไตล์” ที่ “คอตโต้” มีส่วนกำหนด ก่อนเข้าชมภายในบูธ “คอตโต้” ผู้ชมจะได้เล่นเกมค้นหาไลฟ์สไตล์ของตัวเองผ่านโค้ดตัวอักษร เมื่อไปยืนตรงจุดที่กำหนด ภาพจำลองของห้องที่ถูกตกแต่งด้วยกระเบื้อง สุขภัณฑ์ และก๊อกน้ำ ที่มีดีไซน์ตอบสนองไลฟ์สไตล์ตามที่ผู้นั้นเลือกจะปรากฏบนหน้าจอ
ด้านในบูธ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับการจำลองบรรยากาศและอารมณ์ของห้องต่างๆ ที่ตกแต่งตามไลฟ์สไตล์แต่ละเทรนด์ เริ่มต้นจาก “Retreat” ซึ่งธนนิตย์อธิบายว่า เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ชอบความเป็นธรรมชาติ ชอบมีพื้นที่ส่วนตัว ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็มีความหรูหราประณีต
ห้องแรกจำลองบรรยากาศเป็นห้องน้ำสุดหรู มีซีรีส์ของกระเบื้องลายไม้เป็นพระเอก โดยไฮไลต์ในห้องนี้ และดูจะเป็นไฮไลต์ของคอตโต้ สำหรับงานสถาปนิกปีนี้คือ Foresto Series หรือ “กระเบื้อง 2 หน้า” ซึ่งเป็นกระเบื้องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลายไม้ สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งสองหน้า โดยด้านหนึ่งเป็นผิวสัมผัสเปลือกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ราวกับอยู่ในป่า ส่วนอีกด้านเป็นลายและผิวสัมผัสของเนื้อไม้
“กระเบื้องตัวนี้เราทำมาเป็นตัวโชว์ เพราะสินค้าตัวนี้อาจขายยาก ต้องใช้เวลาให้ตลาดได้เรียนรู้ โดยเริ่มแรกต้องขายผ่านกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ต แต่คอตโต้ก็ต้องทำขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการผลิตของเราระดับไหน เพราะในการผลิตกระเบื้องตัวนี้ นอกจากต้องใช้ Double Plate แล้ว เรายังมีเทคนิคในการพลิกโมลด์ ซึ่งควบคุมได้ยาก”
ความเหมือนจริงของลายเปลือกไม้และลายเนื้อไม้ของ Foresto ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนอดไม่ได้ที่จะเดินไปสัมผัสกระเบื้อง ผู้จัดการหนุ่มยอมรับว่า ความสามารถในการผลิตกระเบื้องที่มีลุคเหมือนไม้จริงนี้ เป็นผลมาจากการที่คอตโต้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Digital Printing จากประเทศอิตาลี สนนราคา 40 ล้านบาท
คอตโต้นับเป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกรายแรกของประเทศไทยที่ซื้อเครื่องพิมพ์สีดิจิตอลนี้เข้ามาใช้ ตั้งแต่ปี 2010 เนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้การส่งออกไปตลาดอเมริกาของคอตโต้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันค่าเงินที่แข็งขึ้นก็ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรถูกลง ซึ่งธนนิตย์มองว่า เทคโนโลยีนี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของดีไซน์กระเบื้องคอตโต้
จากกระเบื้องลายหินแบบ 2 มิติที่มีความเหมือนหินเพียงเรื่องของสีและลวดลาย เครื่องจักรใหม่นี้จะสามารถดีไซน์กระเบื้องลายหินให้มีนูนสูงนูนต่ำและผิวสัมผัสที่คล้ายหินจริงได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความสามารถของดีไซเนอร์ในการประยุกต์ ใช้เครื่องจักรและเพิ่มเติม “เอกลักษณ์” ลงไปในดีไซน์
“เราไม่ได้หยุดที่การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เราเรียนรู้และปรับมาเยอะจนเกิด know-how ในการใส่ “effect” ลงไปบนกระเบื้อง เช่น ความรู้สึกสากเวลาเหยียบหินหรือการใส่ glitter ลงไปบนกระเบื้องลายหินทรายเพื่อให้เกิดแสงแวววาวคล้ายแก้วเหมือนหินทรายจริง เหล่านี้คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องใช้ความสามารถในการประยุกต์ให้เหมาะกับเครื่องจักร”
ห้องที่สองเป็นห้องนั่งเล่นที่สะท้อนไลฟ์สไตล์แบบ Harmonious เป็นลักษณะของครอบครัวใหญ่ที่อยู่กันหลายรุ่น พื้นที่ส่วนกลางจึงไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ของใครคนหนึ่งแต่เน้นดีไซน์แบบกลางๆ ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้ โดยเน้นสีขาวสีเบจ ที่ให้ความอบอุ่น กระเบื้องที่ใช้เป็น Rug Series ที่ลุคและผิวสัมผัสคล้ายพรม
ถัดไปเป็นห้องครัวตกแต่งตามไลฟ์สไตล์ Dynamique ที่สะท้อนวิถีชีวิตของกลุ่ม Gen X ชอบดีไซน์ที่มีสีสันสดใส ชอบความสนุกสนาน ขณะเดียวกันชอบความหรูหรา กระเบื้องในห้องนี้เป็นกลุ่ม Graphic Series ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบกระเบื้องชิ้นเล็กหลากสีสัน และกระเบื้องปริ้นต์ลายกราฟิกหรือปริ้นต์ภาพเหมือนที่มีสีสดไม่แพ้รูปถ่าย
ต่อมาเป็นห้องแต่งตัวที่ตกแต่งอย่างกิ๊บเก๋แปลกตา แต่ก็ดูลึกลับซับซ้อน สะท้อนไลฟ์สไตล์ Paradox ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนสองบุคลิกที่มีโลกส่วนตัวสูง มีความซับซ้อน ชอบสีสันแรงๆ โดยกระเบื้องสำหรับคนกลุ่มนี้ ได้แก่ Agate และ Agatona Series ซึ่งเป็นกระเบื้องที่เลียนแบบหินที่มีสีสันฉูดฉาดและมีลายซ้อนเป็นชั้นๆ
ห้องสุดท้ายเป็นห้องครัวสะท้อนไลฟ์สไตล์แบบ SmartChic ซึ่งเป็นกลุ่มคนใน Gen Y และ Gen Z ที่นิยมความเรียบหรู มีเสน่ห์ ดูแปลกใหม่ล้ำเทรนด์ โดยกระเบื้องที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ได้แก่ Curva Series ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของไม้ดัดผสมกับลายหิน โดยเพิ่มความน่าสนใจด้วยเทคนิค Glow in the dark (เรืองแสง)
ภายในห้องนี้ยังมีกระเบื้องอีกชุดที่มีความน่าสนใจมาก ได้แก่ Cotto Marmo Granito หรือกระเบื้องลายหินอ่อน อันเกิดจากนวัตกรรมการผลิตในการฝังลวดลายของริ้วหิน แทรกลงไปในเนื้อกระเบื้องตลอดทั้งแผ่น เสมือนการจำลองภาพการทับถมของสินแร่ หินอ่อนที่ต้องใช้เวลานานเป็นพันปีกว่าจะได้ริ้วหินอ่อนที่สวยงาม แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ คอตโต้สามารถผลิตกระเบื้องหินอ่อนลวดลายลักษณะนี้ แต่มีคุณสมบัติแข็งแกร่งเท่าหินแกรนิตได้ภายในหนึ่งวัน
“Marmo Granito เป็นเทคโนโลยีที่คอตโต้พัฒนาขึ้นมาเอง ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก ซึ่งเราได้จดสิทธิบัตรแล้ว และที่น่าภูมิใจก็คือ กระเบื้องตัวนี้ได้รับเลือกให้ไปโชว์ในงาน Milan Design Week ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งมีบริษัทไทยน้อยมากที่เคยได้รับเลือกจาก เจ้าภาพให้ไปโชว์”
ธนนิตย์อธิบายถึงเส้นทางที่คอตโต้พัฒนาตัวเองเป็นเจ้าของเทคโนโลยีว่า เป็นแผนที่ที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันได้วางไว้ตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งครั้งนั้นธุรกิจกระเบื้องเซรามิกคอตโต้กำลังย่ำแย่ “กานต์” ระบุว่ามีเพียง 2 ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ธุรกิจนี้รอด คือการเปลี่ยนตัวเองเป็นสินค้าแฟชั่น และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีให้ได้
นอกจากกระเบื้องที่จำลองภายห้อง 5 สไตล์ ยังมีกระเบื้องกลุ่ม Kitty Series จับกลุ่ม แฟนคลับคิตตี้ที่มีตั้งแต่เด็กหญิงจนถึงสาวใหญ่ โดยคอตโต้ได้สิทธิ์จากซาริโอในการผลิตกระเบื้องลายการ์ตูนตัวนี้เพียงรายเดียวในประเทศไทย
แม้จะต้องรอเวลาอีกสักพักเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของธนนิตย์ที่ว่า การสร้างเทคโนโลยี ขึ้นเอง และการซื้อเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงความพยายามของเครือในการเป็นผู้กำหนดเทรนด์ (Trend Setter) น่าจะมีส่วนช่วยให้สัดส่วนรายได้จากสินค้า High Value Product (HVP) ของคอตโต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะทำให้สัดส่วนรายได้จาก HVP ของคอตโต้ถึงเป้า 50% ได้ภายในปี 2015 ตามกำหนดการของเครือ
ที่แน่ๆ ในงานสถาปนิกปีนี้ การรวมพลังในการจัดแสดงของสินค้า “คอตโต้” ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กระเบื้องเซรามิก, สุขภัณฑ์ และก๊อกน้ำ ตามการกำหนด “เทรนด์ไลฟ์สไตล์” ของเครือในวันนี้ สามารถดึงดูดความสนใจและเรียกเสียงรัวชัตเตอร์จากผู้ชมมากมายทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|