|
อินสตาแกรม: ภาพถ่ายอนาคตของเฟซบุ๊ก
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
มีดีลยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอีกแล้วครับ
คราวนี้เป็นการสยายปีกเข้าสร้างอาณาจักรโซเชียลมีเดียให้มั่นคงแข็งแรงของเฟซบุ๊ก โดยการเข้าซื้อกิจการของอินสตาแกรม (Instagram) ซึ่งเป็นแอพด้านการแชร์ภาพถ่ายแนววินเทจโพลารอยด์
ย้อนหลังไปเมื่อเดือนตุลาคม 2010 Kevin Systrom และ Mike Krieger นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเปิดตัวแอพบนไอโฟนตัวใหม่ที่พวกเขาตั้งชื่อว่า อินสตา แกรม ซึ่งก็เหมือนหน้าใหม่ในวงการคอมพิวเตอร์ที่มีความหวังจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในวงการบ้าง
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าของอินสตาแกรมในวัยเพียงยี่สิบเศษๆ ก็ประกาศว่า พวกเขาได้ขายบริษัทที่ให้บริการแชร์ภาพถ่ายของพวกเขาที่มีพนักงานเพียงสิบกว่าคนและยังไม่มีรายได้ใดๆ เข้าบริษัทเลยให้กับเฟซบุ๊กในราคาหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฟซบุ๊กจ่ายให้ในรูปเงินสดและหุ้นเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเดินทาง 18 เดือนที่แสนคลาสสิกและโรแมนติก ในเกมการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่บริษัทเว็บเล็กๆ แห่งหนึ่งสามารถสร้างกลุ่มผู้ติดตามใช้งานทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ และสามารถขายให้กับยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก
ซึ่งก่อนหน้าที่จะลงเอยกับเฟซบุ๊กเพียงหนึ่งสัปดาห์นั้น อินสตาแกรมเพิ่งบรรลุดีลการร่วมลงทุนมูลค่า 50 ล้านเหรียญกับบริษัทเวนเจอร์แคปปิตัลแห่งหนึ่ง วันนั้นบริษัทอินสตาแกรมมีมูลค่ามากถึง 500 ล้านเหรียญแล้ว
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่กี่วันต่อมามูลค่า 500 ล้านเหรียญกลับกลายเป็นตัวเลขเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าที่ขายได้ หลังจากอินสตาแกรมบรรลุดีลกับเวนเจอร์แคปปิตัลไม่นานนัก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กได้ติดต่อ Systrom ซึ่งเป็น CEO ของอินสตาแกรมเพื่อขอซื้อบริษัทอีกครั้งหนึ่ง Systrom เป็นทั้งมันสมองของอินสตาแกรมและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 45 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองคนเคยคุยกันเกี่ยวกับความพยายามเข้ามาเทกโอเวอร์ของเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้แล้ว
การซื้ออินสตาแกรมของเฟซบุ๊ก ถือเป็นการซื้อทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยทำให้ศักยภาพในการให้บริการ ผ่านโทรศัพท์มือถือของเฟซบุ๊กเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการกำจัดคู่แข่งไปในตัวด้วย จะทำให้เฟซบุ๊กสามารถเรียกความสนใจในการใช้งานได้มากขึ้น ขณะที่อินสตาแกรมซึ่งมีสมาชิกที่ลงทะเบียนไว้มากถึง 30 ล้านคนได้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยให้บริการการแชร์ภาพถ่าย ซึ่งถือเป็นฟังก์ชันพื้นฐานในเฟซบุ๊ก และเป็นเหตุผลหลักที่คนใช้งานเฟซบุ๊ก
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมเฟซบุ๊กต้องซื้ออินสตาแกรมด้วย ทั้งๆ ที่ถ้าให้พนักงานเก่งๆ มากมายของเฟซบุ๊กช่วยเขียนแอพ หรือบริการแบบเดียวกันนี้ขึ้นมาก็สามารถทำได้ แต่ทำไมต้องจ่ายหนึ่งพันล้านเหรียญด้วย คำตอบน่าจะเป็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องการพัฒนาบริการแชร์ภาพถ่ายเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเป็นผู้นำในตลาดแชร์รูปภาพ เพราะเฟซบุ๊กไม่ต้องการแค่มีบริการแชร์รูปภาพท่ามกลางบริการแชร์อื่นๆ ในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง แต่พวกเขาต้องการให้เป็นเพียงทางเลือกเดียว คล้ายๆ กับที่กูเกิลสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการครอบครองธุรกิจเสิร์จเอ็นจิ้น
ในขณะที่เฟซบุ๊กมีโมเดลธุรกิจ คือการผูกขาดการแชร์สิ่งต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่แค่การแชร์อัพเดตสถานะ, กด Like, เก็บบันทึกหรือเก็บภาพ แต่ต้องทำให้การแชร์เป็นกิจกรรมหนึ่งเลย ซึ่งอินสตาแกรมตอบโจทย์นี้ของเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้ออินสตาแกรมเป็นการลดคู่แข่งที่เฟซบุ๊กมองว่ามีความสำคัญออกไปได้
ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้ากูเกิลหรือทวิตเตอร์ตัดหน้าซื้ออินสตาแกรมไปล่ะ เฟซบุ๊กจะทำอย่างไร
นอกจากนี้การซื้ออินสตาแกรมเป็นการเปิดโลกของการถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ นอกเหนือจากการเข้าถึงข้อมูลในเครื่องพีซีที่เฟซบุ๊กทำมาก่อน โลกของโทรศัพท์มือถือดูจะกว้างไกลและหอมหวานกว่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนโลกของโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นสมาร์ทโฟนมากขึ้นๆ
ดีลนี้ถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดที่เฟซบุ๊กเคยทำมา โดยก่อนหน้านี้พวกเขาจะทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ซื้อบริษัทขนาดเล็กๆ มากมาย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อดึงเอาเหล่าอัจฉริยะตามบริษัทเหล่านี้ไว้
ซัคเคอร์เบิร์คบอกว่า ดีลนี้ถือเป็นหลักไมล์อันหนึ่งในการเดินทางที่สำคัญของเฟซบุ๊ก แต่เขาก็ไม่ได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในอินสตาแกรม อินสตาแกรมถือเป็นหนึ่งในบริษัท ของเหล่าผู้ประกอบการวัยรุ่นที่สร้างสินค้าของพวกเขาขึ้นมาบนไอโฟน และได้รับการบันทึกว่าเป็นบริษัทที่มีการเติบโตที่รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อในชั่วระยะ เวลาเพียงไม่นานนัก โดยพวกเขานำเสนอแอพของพวกเขาว่าเป็นแอพที่สนุกสนานและเป็นความแตกต่างในการแบ่งปันภาพถ่ายกับเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง คนใช้งานสามารถถ่ายภาพจากไอโฟน ได้โดยตรงจากนั้นเลือกฟิลเตอร์ที่ต้องการเพื่อเปลี่ยนมุมมองของภาพนั้นๆ โดยเฉพาะให้เหมือนเป็นการถ่ายด้วยกล้องโพลารอยด์รุ่นโบราณอันหนึ่ง
คนใช้งานสามารถแชร์ภาพถ่ายนี้กับคนที่มาติดตาม (follower) ซึ่งเหล่าผู้ติดตามก็สามารถโพสต์ข้อความ และกด Like ได้ บางคนเรียกอินสตาแกรมว่าเป็นทวิตเตอร์เวอร์ชั่นรูปภาพที่ใช้ในการแชร์ภาพ
วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา Systrom เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับจำนวนคนที่ลงทะเบียนเข้าใช้งาน ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่านับจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคนจาก 15 ล้านคน และก่อนที่จะถูกซื้อโดยเฟซบุ๊กเพียงสัปดาห์เดียว อินสตาแกรมก็เพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดแอพของพวกเขาในเวอร์ชั่นที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ซึ่งเพียงเวลาไม่นานก็สามารถดึงดูดผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอน ดรอยด์มาได้หลายล้านคน
อย่างไรก็ตาม อินสตาแกรมก็เดินตามรอยทวิตเตอร์ที่ว่า แม้จะมีอัตราการเติบโตของจำนวนคนใช้งานแบบก้าวกระโดดแต่ก็ยังไม่สามารถแปลงเป็นรายได้ใดๆ เข้าบริษัทได้ แต่สำหรับวงการโซเชียลมีเดียแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่อง แปลกใดๆ ตราบใดที่ยังมีคนเข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้มากขึ้นนั่นเอง
เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานประมาณ 845 ล้านคน ซึ่งคนส่วนมากก็เข้ามาใช้เฟซบุ๊กเพื่อแชร์ภาพระหว่างกัน อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กดูจะวิ่งตามหลังบริการบนโทรศัพท์มือถือและเปิดช่องว่างให้อินสตาแกรมสามารถช่วงชิงตลาดการแชร์รูปภาพไปได้หลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมาเฟซบุ๊กก็ดูจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในฟังก์ชันด้านการแชร์รูปภาพของพวกเขา แม้ว่าจะมีบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นมาและสร้างแอพที่ซับซ้อนและสนับสนุนการทำงานด้านการแชร์รูปภาพได้น่าใช้มากขึ้นก็ตาม
ซึ่งว่ากันจริงๆ แล้ว รูปภาพถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการมีปฏิสัมพันธ์กัน รวมถึงระยะเวลาที่ผู้ใช้งานจะเปิดเฟซบุ๊กเล่นยาวนานขึ้น ปัจจุบันจากข้อมูลของ ComScore ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัยรายงานว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กใช้เวลาเฉลี่ย 7.5 ชั่วโมงต่อเดือนบนเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่สูงที่สุดในบรรดาโซเชียล มีเดียด้วยกัน
ตัวเลขนี้ถือว่ามีความสำคัญมากต่อฝ่ายการตลาดของเฟซบุ๊กที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเปิดดูโฆษณาและมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหน้าเฟซบุ๊กให้มากที่สุด โดยโฆษณาบนเฟซบุ๊กคิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของเฟซบุ๊กหรือ 3,100 ล้านเหรียญในปี 2011 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1,800 ล้านเหรียญ
จากการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีและการบูมของสมาร์ทโฟนทำให้เฟซบุ๊กต้องลงทุนกับการสร้างบริการบนโทรศัพท์มือถือให้มากขึ้น และทำให้เฟซบุ๊กเพิ่มความพยายามในการเข้าเทกโอเวอร์อินสตาแกรมให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กก็ได้ออกโฆษณาเวอร์ชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะสำหรับใช้บนเว็บเฟซบุ๊กสำหรับโทรศัพท์มือถือ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วคนใช้งานเฟซบุ๊กประมาณครึ่งหนึ่งใช้ผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว
จึงกล่าวได้ว่า การซื้ออินสตาแกรมเป็นการกำจัดจุดอ่อนที่สำคัญของเฟซบุ๊ก เพราะฟังก์ชันการแชร์รูปของเฟซบุ๊กไม่เข้าตาคนใช้งานโซเชียลมีเดียหลายๆ คน
สำหรับอินสตาแกรมแล้ว พวกเขาก็ต้อง พยายามสร้างโมเดลที่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น ได้ ซึ่งก็ยังมีอุปสรรคมากมายอยู่ ง่ายๆ ก็คือ หน้าจอที่เล็กๆ ของสมาร์ทโฟนจะสามารถดึงดูดความสนใจคนใช้งานให้คลิกดูโฆษณาได้หรือไม่
ปัจจุบันอินสตาแกรมมีคนใช้ในการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านแฟชั่นอย่าง Ann Inc., Urban Outfitters และ Marc Jacobs ที่ใช้อินสตาแกรมเป็นตัวโปรโมตแบรนด์ของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีคนดังและนักการเมืองก็ใช้แอพนี้ด้วย เช่น จัสติน บีเบอร์, ประธานาธิบดีบารัก โอบามา, นักสเกตบอร์ด และนักร้องเพลงแร็พ เมื่อปีที่แล้วแอปเปิลก็ยกให้อินสตาแกรมเป็นแอพแห่งปีของไอโฟน
ซึ่งดีลการซื้ออินสตาแกรมนี้เทียบได้กับการเข้าซื้อ YouTube ที่เป็นเว็บแชร์วิดีโอของกูเกิลในปี 2006 ด้วยมูลค่า 1,600 ล้านเหรียญ ซึ่งในตอนนั้นนักวิเคราะห์หลายๆ คนก็ตั้งคำถามว่าราคาแพงไปหรือเปล่า ต่อมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าดีลนี้ทำให้กูเกิลกลายเป็นผู้นำด้านการแชร์วิดีโอบนอินเทอร์เน็ต และเป็นการเปิดโอกาสที่สำคัญให้กูเกิลสามารถขยายอาณาเขตโฆษณาของตัวเองไปในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับการซื้อ Flickr ของยาฮูในปี 2005
ต้นปี 2011 อินสตาแกรมได้รับเงินร่วมลงทุนจากเวนเจอร์แคปปิตัลหลายรายรวม 7 ล้านเหรียญ ทำให้มูลค่าของอินสตาแกรม ณ ขณะนั้นกลายเป็น 30 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างมูลค่าของบริษัทให้สูงขึ้นและพร้อมที่จะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน เช่นเดียวกับกรณีของทวิตเตอร์ที่สร้างมูลค่ามาเรื่อยๆ ก่อนที่จะพร้อมจะเสนอขายเมื่อปีกลาย
Systrom ค่อยๆ ปลุกปล้ำอินสตาแกรมจนสุกงอมพร้อมที่จะขาย โดย Systrom ได้ปฏิเสธข้อเสนอขอซื้ออินสตาแกรมของเฟซบุ๊กมาก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะยังไม่สุกงอมมากพอในความเห็นของ Systrom แต่เมื่อมีข้อเสนอใหม่อีกครั้งจากเฟซบุ๊ก พวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะใส่พานทองถวายให้ ซึ่งข้อเสนอหนึ่งจากเฟซบุ๊กก็คือ อินสตาแกรมจะแข็งแรงขึ้นมากภายใต้ร่มโพร่มไทรของเฟซบุ๊กมากกว่าที่จะอยู่เป็นบริษัทคนเดียวโดดๆ นอกจากนี้ ซัคเคอร์เบิร์กยังเสนอว่า อินสตาแกรมจะยังคงเป็นบริษัทอิสระภายในเฟซบุ๊กเหมือนเดิม ซึ่งเฟซบุ๊กจะไม่ยุ่งกับการบริหารงานภายในเลย
ซึ่งถือเป็นสัญญาที่ซัคเคอร์เบิร์กไม่เคยให้กับบริษัทที่เขาไปเทกโอเวอร์ก่อนหน้านี้เลย
อย่างไรก็ดี การซื้ออินสตาแกรมของเฟซบุ๊กก็ไม่ได้สร้างความยินดีให้เกิดขึ้นกับเหล่าแฟนๆ อินสตาแกรม หลายๆ คนหลีกหนีจากเฟซบุ๊กมาใช้อินสตาแกรม เพราะกลุ่มสังคมในนี้ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารแบบเฟซบุ๊กและพวกเขาสนใจแค่เรื่องการแชร์ภาพถ่ายเป็นสำคัญ แต่เมื่อเฟซบุ๊กมาซื้ออินสตาแกรม เท่ากับว่าวงสังคมในนี้จะขยายไปสุดลูกหูลูกตา รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาก็อาจจะโดนขุดคุ้ยจนทะลุทะลวง แม้ว่าซัคเคอร์เบิร์กจะบอกว่าคนใช้งานอินสตาแกรมมีทางเลือก ถ้าไม่ต้องการแชร์ภาพของพวกเขาบนเฟซบุ๊กก็สามารถทำได้ก็ตามที แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกอินสตาแกรมได้เต็มที่
สิ่งที่จะต้องจับตามองกันต่อไปก็คือ เฟซบุ๊กจะใช้อินสตาแกรมเป็นเหมือนทัพหน้าบุกยึดธุรกิจแชร์ภาพถ่ายได้มากขนาดไหน รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อได้อินสตาแกรมมาอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว
อ่านเพิ่มเติม
1. Oremus, W. (2012), ‘Hey, Instagram, Here’s $1 Billion for Your Cool Photos,’ http://www.slate.com/articles/technology/technology/2012/04/facebook_instagram_deal_mark_zuckerberg_s_plan_to_rule_mobile_sharing_.html
2. Bilton, N. (2012), ‘Disruptions: Innovation Isn’t Easy, Especially Midstream,’ http://bits.blogs.nytimes.com/2012/04/15/disruptions-innovation-isnt-easy-especially-midstream/
3. Raice, S and Ante, S. E. (2012), ‘Insta-Rich: $1 Billion for Instagram,’ http://online.wsj.com/article/SB10001424052702303815404577333840377381670.html
4. Ann Inc., http://anninc.com/
5. Urban Outfitters, http://www.urbanoutfitters.com/urban/index.jsp
6. Mark Jacobs, http://www.marcjacobs.com/
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|