รวมกลุ่มเคเบิลทีวีสร้างอำนาจต่อรอง

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรยากาศการรวมตัวของนักธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่น ค่ายแกรมมี่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และนักธุรกิจจากหลายแขนงเกือบ 100 ชีวิต แถลงข่าวร่วมทุนสร้างโมเดลธุรกิจเคเบิลทีวี ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน

เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ชั้น 14 โรงแรม St. Regis ถนนราชดำริ ได้มีการแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย วิชัย ทองแตง ในฐานะนักลงทุน วัชร วัชรพล ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสุรพล ซีประเสริฐ ประธานกรรมการบริษัท เคเบิ้ลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH เพื่อพัฒนาเคเบิลท้องถิ่นให้มาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของประเทศไทย

ที่มาของการร่วมทุนในครั้งนี้เกิดจาก บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสมาชิกผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 200 ราย ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ในการซื้อเนื้อหาในต่างประเทศ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มูลค่า 3-4 พันล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมารายการดังกล่าวจะถูกผู้เล่นรายใหญ่ซื้อไป โดยเฉพาะธุรกิจของกลุ่มบริษัททรู ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีซีพีเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ดังนั้น การอยู่รอดของบริษัทในอนาคตจะต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนหน้าใหม่ โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ เข้ามา เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองธุรกิจ รวมไปถึงสร้างฐานการผลิตคอนเทนต์ขนาดใหญ่ได้

วิชิต เอื้ออารีวรกุล เลขาอุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า อุปสรรคดังกล่าวทำให้สุรพล ประธานกรรมการบริษัทซีทีเอช ชักชวนวิชัย ทองแตง ในฐานะหลานเขย (วิชัย ทองแตง แต่งงานกับหลานสาวของสุรพล) เข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้

วิชัย ทองแตง เป็นนักลงทุนที่ในวงการธุรกิจรู้จักเขาเป็นอย่างดี เขามีอาชีพเป็นทั้งทนาย นักลงทุน และผู้บริหาร ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล เมมโมเรียล นอกจากนั้นยังเคยเป็นทนายความให้กับทักษิณ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544

ความเชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและลงทุน ทำให้วิชัยส่งทีมงานเข้ามาศึกษาธุรกิจเคเบิลอย่างจริงจัง มองเห็นว่ามีอนาคตแต่ต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี

เงินลงทุนจำนวนมหาศาลทำให้วิชัย ทองแตงและหุ้นส่วนอีก 2 ราย ออกมาประกาศความร่วมมืออย่างเอิกเกริกเพื่อหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้ หลังจากที่วิชัยลงทุน 250 ล้านบาท เท่ากับกลุ่มไทยรัฐ ส่วนบริษัทซีทีเอช ลงทุน 300 ล้านบาท

เงินทุนจำนวน 800 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้นยังถือว่าห่างไกลจากแผนธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้เงินทุนก้อนใหญ่กว่า 2 หมื่นล้านบาท การเปิดตัวอย่างเอิกเกริก และชักชวนไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการค่ายแกรมมี่ และนักธุรกิจอื่นๆ มาร่วมงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจไม่น้อย

โดยเฉพาะไพบูลย์ ค่ายแกรมมี่ แสดงความสนใจอย่างมากในธุรกิจดังกล่าว และคาดว่าจะส่งให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ธนาคารธนชาต ศึกษาโครงการโดยละเอียด คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 เดือน

“หลังจากเปิดตัวความร่วมมือการให้บริการเคเบิลทีวี ผมคิดว่าช่วงนี้คุณวิชัย ทองแตงเนื้อหอมมาก เพราะมีคนมาติดต่ออยู่เรื่อย” วิชิต เลขาอุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยกล่าว

อย่างไรก็ดี เงินทุน และแผนธุรกิจที่เปิดเผยกันในวันแถลงข่าว ยังเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ ที่รอพันธมิตรรายใหม่เข้ามา

สำหรับแผนธุรกิจในครั้งนี้มีการมองว่าธุรกิจเคเบิลทีวีมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเคเบิลทีวี 4 ล้านครัวเรือน ส่วนบริการดาวเทียม 8 ล้านครัวเรือน

จากการศึกษาภาพรวมธุรกิจทำให้เชื่อว่าบริการผ่านดาวเทียมจะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการจานดาวเทียมใหญ่สีดำ เพราะสัญญาณไม่ชัดเจน เกิดจอดำบ่อย ทำให้มีการประเมินว่าธุรกิจจานดาวเทียมจะอยู่ไม่เกิน 30 ปี นับจากนี้ไป

ในทางตรงกันข้ามธุรกิจเคเบิลทีวีจะเติบโตตามเทคโนโลยี โดยเฉพาะสามารถรองรับการสื่อสาร 2 ทาง ระหว่างผู้ประกอบการและผู้ชมรายการ

เป้าหมายการรวมกลุ่มนอกเหนือจากเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 7 ล้านครัวเรือนภายใน 2 ปี จะมีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างโครงข่ายใหม่ เรียกว่า Triple Play คือ Single Network Single Platform และ Single Brand

Single Network หมายถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายของผู้ให้บริการทุกรายที่เป็นสมาชิกของบริษัทให้อยู่ภายใต้เครือข่ายเดียวกัน จากปัจจุบันผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่นจะมีสถานีห้องส่งเป็นของตัวเองในรูปแบบแยกกันให้บริการ

Single Platform คือการกำหนดมาตรฐานช่องให้บริการอยู่ในรูปแบบเดียวกัน ที่ผ่านมาการรับชมรายการเดียวกัน แต่ลูกค้าอยู่คนละจังหวัดจะรับชมช่องแตกต่างกัน เช่น ช่องกีฬา บางจังหวัดอยู่ในช่อง 12 หรือบางจังหวัดอยู่ในช่อง 30 แต่เมื่อปรับปรุงระบบ ช่องรายการจะเหมือนกันไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใด

Single Brand หมายถึงสร้างแบรนด์เดียวทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีแบรนด์หลากหลาย ผลดีทำให้สามารถกำหนดค่าโฆษณาให้มีมาตรฐาน

การเชื่อมโยงโครงข่ายเคเบิลทีวีเป็นบริการตามสาย จึงทำให้บริษัทมีแผนนำเทคโนโลยี internet protocol (IP) ที่จะทำให้เครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกันได้ เพื่อรองรับการบริโภคสื่อในยุคดิจิทัล

แนวคิดดังกล่าวเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กลุ่มไทยรัฐมองเห็นโอกาสที่จะนำเนื้อหาข่าวสารผ่านบริการเคเบิลทีวี และในอนาคตไปปรากฏอยู่ในอุปกรณ์ปลายทางหลายรูปแบบโดยไม่จำกัด นอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

โมเดลธุรกิจใหม่ดังกล่าวทำให้บริษัทซีทีเอช มีแผนใช้เงินลงทุนในปีนี้จำนวน 5 พันล้านบาท และจะเห็นภาพในภาคปฏิบัติใน 4-5 เดือนข้างหน้า

“ผมเห็นอนาคตธุรกิจเคเบิลทีวี ผมเป็นนักลงทุนมองเห็น แต่ต้องมีความมุ่งมั่นแท้จริง” วิชัย ทองแตงกล่าว

ปรากฏการณ์การรวมตัวกันของเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาร่วมทุน เป้าประสงค์เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และเป็นการปรับตัวรองรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ทุนก้อนใหญ่กว่า 2 หมื่นล้านบาท และโมเดลธุรกิจใหม่ ยังถือว่าเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.