|
บทเรียนที่ลืมไม่ลง
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงที่วิวรรธ์ และสาธิต เหมมณฑารพ บริหารงานอย่างเต็มตัว โดยตัดสินใจกู้เงิน 2.6 ล้านเหรียญดอลลาร์ในช่วงต้มยำกุ้ง เกือบทำให้บริษัทไปไม่รอด
หากมองธุรกิจของบริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจะเติบโตไปได้ดีหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ
เมื่อย้อนเวลากลับไปในอดีต ก็จะพบว่าบริษัทผ่านช่วงเวลายากลำบากมาไม่น้อย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากทายาทรุ่น 2 วิวรรธ์พี่คนโต และสาธิต คนที่สอง ที่ได้บทเรียนในครั้งนั้น และจดจำได้เป็นอย่างดี
เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากคงศักดิ์ บิดาของวิวรรธ์ และสาธิต เปิดทางให้ทายาททั้ง 2 คนเข้ามาบริหารงานอย่างจริงจัง เมื่ออายุได้ราวๆ 27-28 ปี เพราะต้องการให้ลูกมาช่วยงาน ในตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีมากนัก ประกอบกับสร้างโรงงานใหม่ จึงต้องการคนดูแลใกล้ชิด
“ผมเข้ามา พ่อคิดไม่เหมือนกัน ท่านเก่ง คิดดี วันที่ผมเข้ามา ท่านเกษียณอายุ 50 กว่าปี ท่านใจเด็ด ตัดใจ ไม่อยู่ในบริษัท ท่านยอมถอย หากท่านเห็นคงอยากจะพูด ท่านไม่เข้าโรงงาน ไม่เข้าดู” สาธิตเล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังถึงบุคลิกสุดขั้วของบิดา
ทายาทรุ่น 2 สานต่อธุรกิจครอบครัวมาอย่างราบรื่น พร้อมหาช่องทางการขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่ม ประกอบกับเศรษฐกิจก่อนปี 2540 ภาพรวมของประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนธุรกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
บรรยากาศการปล่อยสินเชื่อก็ดูมีเงื่อนไขง่ายดาย และเอื้อให้กู้ได้อย่างสบายๆ พี่น้อง 2 คนจึงเห็นว่าธุรกิจกำลังไปได้ดี และต้องการซื้อเครื่องจักรมาขยายธุรกิจ จึงตัดสินใจกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลประกาศค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540
ความฝันของสองพี่น้องแทบดับวูบ เมื่อหนี้สินเพิ่มขึ้น 50-60 ล้านบาท ซึ่งในตอนนั้นอยู่ในวัย 30 ต้นๆ เท่านั้น เขาทั้งสองเริ่มแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างด้านการเงิน ขายเครื่องจักร โรงงานเก่า ที่ดิน เพื่อใช้หนี้ และมีเงินสดเข้ามาบางส่วน ในตอนนั้นบิดาไม่ได้ทักท้วงการกู้เงินแม้แต่น้อย แม้จะรู้ว่ากู้เงินต่างประเทศมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
“คำถามเดียวของพ่อ ถามว่า มั่นใจแล้วใช่มั้ย คิดดีแล้ว เกิดปัญหาไม่ว่ากัน มันเป็นความเชื่อมั่นของคนรุ่นต่อรุ่นมีให้กัน พ่อส่งให้ต่อคนรุ่นใหม่ ทำได้ก็ทำไป ทำไม่ได้ก็เจ๊งไป สุดท้ายถ้าหากท่านให้เรา ถ้าเราทำไม่ได้ก็เจ๊งอยู่ดี” สาธิตกล่าวด้วยรอยยิ้ม หลังจากผ่านช่วงเวลายากลำบาก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้นถือว่าเป็นการเรียนรู้ ลองผิด ลองถูก ทำให้เขานำบทเรียนนี้มาสอนการทำงานให้กับลูกน้องเช่นเดียวกัน เพราะโรงงานจะมีโอกาสได้ทดลองผลิตสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตและคุ้มก็จะเปิดให้ได้ลองผิดลองถูก เช่นเดียวกัน และการเรียนรู้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นการลองถูก มากกว่าลองผิด จนทำให้บริษัทเข้มแข็ง
แนวทางการบริหารจัดการในปัจจุบัน นอกจากจะมีวิวรรธ์และสาธิตแล้ว ปัจจุบันมีน้องชายคนเล็ก คือ พิรุฬห์ เข้ามาร่วมบริหารและดูแลโรงงาน เพราะจบด้านนี้มาโดยตรง
ส่วนสาธิตจะทำหน้าที่บริหารจัดการภายในองค์กรเอื้อธุรกิจให้มีสภาพคล่อง ส่วนวิวรรธ์ทำหน้าที่บริหารด้านการตลาด และธุรกิจต่างประเทศ และมีมารดาช่วยบริหารสต็อกสินค้า เนื่องจากมีประสบการณ์สูง
แม้ครอบครัวเหมมณฑารพจะมีพี่น้องรวมทั้งหมด 5 คนก็ตาม แต่อีก 2 คน ก็ไม่ได้เข้ามาร่วมงาน โดยหันไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งคนในครอบครัวก็ไม่ได้ทักท้วง ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
ในขณะที่สาธิตรู้และเตรียมตัวมาตั้งแต่เรียนหนังสือที่จะเข้ามาช่วยงานของบิดาร่วมกับพี่ชาย และยอมรับว่าชอบงานโรงงาน
แม้ภาพการบริหารจัดการในปัจจุบันจะเป็นธุรกิจครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ในอนาคตบริษัทก็ไม่ได้วางว่าจะต้องมีทายาทรุ่น 3 มาสานต่อ ทว่า จะเปิดโอกาสให้มืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหาร ส่วนทายาท หากไม่ต้องการทำธุรกิจก็สามารถอยู่ในฐานะของผู้ถือหุ้นต่อไปได้
ประสบการณ์ทำงานของสาธิตที่ผ่านมา รวมทั้งบทเรียนในช่วงต้มยำกุ้ง ประกอบกับวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้นทำให้ระบบการบริหารจัดการของเขารอบคอบมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|