|
ขุมทรัพย์ใต้แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าขั้วโลกเหนือ หรือ North Pole หรือ Arctic Circle จะเป็นผืนแผ่นดินที่อ้างว้าง หนาวเย็น มีพืชปกคลุมอยู่เฉพาะฤดูร้อนเพียงไม่กี่สัปดาห์ มีผู้คนอาศัยอยู่ประปรายกระจายตัวอยู่นับได้เป็นจำนวนแสนเท่านั้น แต่ขั้วโลกเหนือก็มีขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลซ่อนตัวอยู่ภายใต้แผ่นน้ำแข็ง หลายๆ ประเทศตระหนักดีและพยายามที่จะยื่นไม้ยื่นมือเข้ามาอ้างสิทธิ์จับจองผลประโยชน์กันเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่มหาอำนาจของโลก เช่น สหรัฐฯ และรัสเซีย
ผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน มีผลครอบคลุมไปทั่วโลก ส่วนของโลกที่อ่อนไหวและเห็นผลก่อนเพื่อนคือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ขั้วโลกเหนือหรือ Arctic Circle ครอบคลุมพื้นผิวโลกตั้งแต่จุดบนสุดของขั้วโลกไปจนถึงเส้นละติจูดที่ 66 องศาเหนือ พื้นที่ตรงกลาง Arctic เป็นทะเลที่มีแผ่นดินเว้าๆ แหว่งๆ ล้อมรอบ แผ่นดินรอบๆ และทะเลชายฝั่งที่มีหลายประเทศถือครองสิทธิ์อยู่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (อะแลสกา), แคนาดา (ควิเบก), รัสเซีย (ไซบีเรีย), เดนมาร์ก (กรีนแลนด์), ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์ (เกาะ Svalbard)
ในอดีตที่มีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ทั่วไปก็ไม่มีความขัดแย้งอะไรมากนัก ครั้นเมื่อแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งเริ่มละลายอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน จึงเผยให้เห็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนตัวอยู่ นั่นคือแหล่งเชื้อเพลิง ฟอสซิล อันประกอบด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมูลค่ามหาศาล ประมาณว่ามีอยู่ถึง 1 ใน 4 ของเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด ที่ซ่อนตัวอยู่ทั่วโลก และยังมีแร่มูลค่าสูง เช่น ทอง ฝังตัวอยู่ด้วย
ขณะที่อัตราการละลายของน้ำแข็งเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดคิดไว้มาก ข้อมูลสำรวจเมื่อปี 1982 พื้นที่น้ำแข็งมีอยู่ 7.5 ล้านตารางกิโลเมตร ในปี 2005 น้ำแข็งละลายตัวเหลือพื้นที่อยู่ 5.6 ล้านตารางกิโลเมตร ปี 2007 มีพื้นที่น้ำแข็งเหลืออยู่เพียง 4.3 ล้านตารางกิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่าแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกจะหายไปหมดภายในปี 2040 จะเหลืออยู่เพียงก้อนน้ำแข็งน้อยใหญ่ลอยระเกะระกะอยู่ในทะเลเท่านั้น
ผลดีและผลเสียหลังแผ่นน้ำแข็งละลาย
สิ่งที่ติดตามมาหลังแผ่นน้ำแข็งละลายมีทั้งผลได้และผลเสีย
ผลได้ นอกจากการได้แหล่งพลังงานใหม่มูลค่ามหาศาลขึ้นมาแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกในทางเศรษฐกิจและการค้าให้คึกคักมากขึ้น กระตุ้นให้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาอยู่เวลานี้กระเตื้องขึ้น เปิดเส้นทางเดินเรือและการค้าใหม่ๆ จากสหรัฐฯ ไปยุโรป และไปเอเชีย ให้เร็วขึ้น สั้นขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปผ่านเส้นทางคลองสุเอซของอียิปต์ มักจะมีปัญหาคุกรุ่นอยู่เสมอทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ผลดีทางอ้อมก็คือการท่องเที่ยว การพัฒนาขยายพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยและการเพาะปลูก การขุดแร่หายาก การประมง
ผลพวงจากน้ำแข็งละลายจะเปิดเส้นทางเดินเรือในทะเลอาร์กติกที่เคยปกคลุมด้วยน้ำแข็งให้สามารถเดินเรือใหญ่ ผ่านไปมาได้สะดวก เส้นทางเดินเรือใหม่นี้ จะเกิดขึ้นทั้งทางด้านตะวันออก (Northeast Passage) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างฝั่งของนอร์เวย์ไปสู่ฝั่งไซบีเรียของรัสเซียและด้านตะวันตก (Northwest Passage) ที่เชื่อมระหว่างอะแลสกาของสหรัฐฯ และทะเลในเขตชายฝั่งของแคนาดา เส้นทางที่เปิดใหม่นี้ นอกจากจะเปิดโอกาสสู่การค้าการท่องเที่ยวใหม่ๆ แล้ว ยังเพิ่มอำนาจ ทางการเมือง การทหาร ให้กับประเทศเหล่านี้ด้วย
ในผลได้ก็ต้องมีผลเสียตามมา ยิ่งเป็นการขุดค้นสิ่งที่ธรรมชาติเก็บรักษาไว้เป็นเวลานานหลายร้อยล้านปี ก็เหมือนกับปลุกยักษ์ใหญ่ให้ลุกขึ้นมา ไม่รู้ว่ายักษ์ตนนั้นจะพอใจหรือไม่ เพราะเมื่อลุกขึ้นแล้วจะให้ประโยชน์หรือทำลายล้างมนุษยชาติ ถ้าเป็นการทำลายล้างก็อาจจะเป็นหายนะภัยที่พินาศแหลกลาญไปเลย เท่าที่เห็นกันชัดๆ อยู่คือการแย่งชิงแหล่งน้ำมันกันระหว่างชาติต่างๆ ที่อ้างสิทธิ์เข้าไปครอบครอง ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นปัญหาด้านทหาร การเมือง การก่อการร้ายระหว่างประเทศที่ไม่มีใครยอมใครง่ายๆ ได้
นอกจากนั้นการพัฒนาขุดค้นแหล่งน้ำมันและก๊าซในทะเลอาร์กติก ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีความเป็นอยู่ที่แวดล้อมชาวพื้นเมืองอยู่หลายประการ ชาวท้องถิ่นเหล่านี้มีชีวิตอยู่แบบดั้งเดิม พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ กิจกรรมการหาเลี้ยงชีพที่สำคัญคือการประมง เมื่อบริษัท Royal Dutch Shell เข้ามาดำเนินการขุดหาน้ำมันอยู่นอกชายฝั่งอะแลสกา ก็ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากชาวเอสกิโม เจ้าของท้องถิ่นที่ร้องว่าไปทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา ทำให้ปลาวาฬหัวธนู (Bowhead) ซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตมีจำนวนลดลง ดังนั้นเพื่อปกป้องรักษาถิ่นอาศัยและวิถีความเป็นอยู่ของตน ชาวเอสกิโมที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ รอบชายฝั่งอาร์กติกได้รวมตัวยื่นเรื่องต่อองค์การสหประชาชาติ อ้างสิทธิ์การอยู่อาศัยในพื้นที่ หากประเทศมหาอำนาจใดจะแสวงหาผลประโยชน์ก็ต้องมีการเจรจากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป
ผลกระทบทางธรรมชาติอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อชีวภาพ กายภาพ ระบบนิเวศ และสัตว์ป่า ยังมีอยู่อีกนานัปการ และเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงหาทางบรรเทาเบาบางกันอยู่ในเวทีโลกหลายแห่งในปัจจุบัน ดังเช่น หมี polar bear ที่ลดจำนวนลง เนื่องจากถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารถูกเปลี่ยนแปลงสภาพ
ที่สำคัญ ผลเสีย ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากภาวะโลกร้อน และการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ใหม่ๆ เหล่านี้ มิได้มีผลต่อบริเวณขั้วโลกเท่านั้น แต่จะมีผลครอบคลุมไปทั้งโลก กิจกรรมใหม่ๆ ที่กำลังรุกคืบเข้า มาจะส่งผลให้ภัยจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ยังมีความวุ่นวายทางทหาร การเมือง การก่อการร้าย รวมทั้งประชากรที่อพยพเข้ามาพร้อมๆ กับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น
ความเคลื่อนไหวของประเทศมาอำนาจ
รัสเซียเป็นประเทศแรกที่ประกาศกร้าวอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ Arctic Circle เหนือดินแดนของตน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของชายฝั่งอาร์กติก ด้วยการปักธงชาติรัสเซียผงาดอยู่ตรงกลางขั้วโลกเหนือเมื่อไม่นานมานี้ เท่านั้นยังไม่พอ รัสเซียยังยื่นข้อเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติรับรองในสิทธิ์ของตน พร้อมกับจัดเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ เรือปฏิบัติการตัดน้ำแข็งขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์และอื่นๆ ที่ไม่เปิดเผยเข้ามายุ่มย่ามอยู่ในทะเลเขตนั้น
UN ชี้ขาดว่า อาร์กติกเป็นเขตที่จะต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศและทุกๆ ประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทางทะเล (UN Convention on the Law of the Sea) กันอย่างเคร่งครัดถึงประเทศ ต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้กฎหมายนี้เป็นพื้นฐานตัดสินปัญหาความขัดแย้งที่เคยมีมา แต่กฎหมายทางทะเลนี้ยังไม่มีผลสมบูรณ์นัก เพราะสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้สัตยาบันลงนามรับรอง
จากการกระทำดังกล่าว รัสเซียสร้างความตึงเครียดขึ้นแล้วในภูมิภาคยุโรปเหนือ นอร์เวย์ตอบโต้ความก้าวร้าวของรัสเซียด้วยการจัดตั้งกองกำลังอาร์กติก (Arctic Battalion) มีนัยอย่างเปิดเผยว่าเพื่อเฝ้าระวังการรุกกร้าวของรัสเซีย ทั้งสองประเทศเคยมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนหน้านี้จากกรณีเกาะ Svalbard ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของนอร์เวย์ และนานาประเทศได้เห็นพ้องว่าเป็นของนอร์เวย์ แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย
ส่วนสหรัฐฯ มหาอำนาจคู่แค้นของรัสเซีย ยังสงวนท่าทีอยู่ แม้จะมีปฏิกิริยาแข็งขันอยู่อย่างเงียบๆ เพราะติดพันปัญหา เศรษฐกิจและการเมืองด้านอื่นอยู่ และยังอยู่ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้นในระหว่างนี้ สหรัฐฯ ก็ยังมีประเด็นความขัดแย้งอยู่ ทั้งในตะวันออกกลางกับอิหร่าน ในเอเชียกับเกาหลีเหนือ และในจีนก็ต้องคอยเฝ้าระวัง รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในเขตอาร์กติก สหรัฐฯ ก็มีกรณีขัดแย้งอยู่กับแคนาดาในเรื่องทางออกทะเลจากอะแลสกา ไปยังทะเลในเขตของแคนาดา ซึ่งกำลังจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อน้ำแข็งละลาย เพราะจะกลายเป็นเส้นทางเดินเรือและน่านน้ำประมงที่สำคัญ
ไอซ์แลนด์แม้จะเป็นประเทศเล็กสุด และมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด ก็ยังต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงครั้งนี้ เพราะรัสเซียพยายามเข้าไปแทรกแซงในขณะที่ไอซ์แลนด์มีปัญหาทางการเงิน โดยรัสเซียเสนอขอใช้ฐานทัพและท่าเรือเดิมที่สหรัฐฯ เคยใช้และถอนออกไปเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการช่วยเหลือทางการเงิน แต่แล้วในที่สุด รัฐบาล (ที่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน) ก็เลือกเอาทางออกไปพึ่งพา IMF และสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่วายที่จีนจะถือโอกาสไปแสวงหาประโยชน์ มีข่าวว่านักธุรกิจชาวจีนเข้าไปกว้านซื้อที่ดินในชนบทของไอซ์แลนด์ โดยอ้างว่าเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และไม่มีเอี่ยวใดๆ กับรัฐบาลจีน ในที่สุดเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลก็สั่งห้ามการซื้อขายที่ดินดังกล่าว เพื่อความมั่นคงของชาติ
กรีนแลนด์ ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของประเทศเดนมาร์ก มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่มีประชากรเบาบางก็มีแนวโน้มว่าอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากเช่นเดียวกับไอซ์แลนด์
ความขัดแย้งจะขยายตัวไปแค่ไหน
ปฏิบัติการแย่งชิงทรัพยากรและการอ้างสิทธิ์ในดินแดนอาร์ติกของประเทศ มหาอำนาจที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น มีนักวิเคราะห์ นักการเมือง นักการทหาร นักเศรษฐศาสตร์ และนักอนุรักษนิยม ออกมาให้ความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และห่วงใย บ้างสนับสนุน บ้างประณาม บ้างคาดว่าไม่น่าจะทำได้ด้วยสภาพธรรมชาติยังไม่เอื้ออำนวย
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงานศึกษาของอังกฤษทีมหนึ่งได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพ ผลกระทบ ความเสี่ยงในการขุดค้นครอบครองทรัพยากรของ อาร์กติก ได้คาดคะเนแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สรุปว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้นจะคุ้มกับผลประโยชน์ที่ได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหา อยู่ และยังมีความเสี่ยงต่อสันติภาพของโลกและการก่อร้ายด้วย โดยเฉพาะ อะไรต่ออะไรที่เป็นนิวเคลียร์ทั้งหลายในทะเลนั่นแหละที่เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่รุนแรง และแปรปรวนอยู่ในเวลานี้ เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวทำได้ยากยิ่ง ตลอดจนแหล่งอาหารในท้องถิ่นก็มีอยู่ไม่มากพอจะนำกองทัพหรืออพยพประชากรเข้ามาได้มากนัก นับว่าธรรมชาติก็ยังปกปักรักษาโลกใบนี้อยู่บ้าง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|