“1.74 MWh” พลังงานเริ่มต้นของรถยนต์ 1 คัน

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

รถยนต์หนึ่งคันที่ผลิตออกจากโรงงานจะเผาผลาญพลังงานเท่าไรในอนาคต ไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่สิ่งที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่างเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จีเอ็ม) ทำได้คือ การกำหนดมาตรฐานไว้ว่า จะทำให้การผลิตรถยนต์ 1 คัน มีผลรวมการใช้พลังงานเท่ากับ 1.74 เมกะวัตต์ฮาว (MWh)

นี่คือสถิติล่าสุดที่จีเอ็มโกลบอลกำหนดให้กับโรงงานจีเอ็มที่จังหวัดระยอง จากที่เคยผ่อนปรนให้ที่ 1.84 MWh ในปีที่แล้ว เพราะเหตุติดขัดหลายอย่างจากสถานการณ์น้ำท่วมและจำนวนการผลิตรถยนต์ที่ลดลงในช่วงดังกล่าว

“ถ้าเป็นนโยบายประหยัดพลังงาน ทุกปีเราจะมีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะต้องลดการใช้พลังงานลง 5% ปีที่แล้วมีเหตุการณ์หลายอย่างทำให้ทางโกลบอลผ่อนปรนพอ ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มดี การจัดการเริ่มกลับมาคงที่ ก็เริ่มกำหนดเป้าหมายไว้ว่า พลังงานที่ใช้ในการผลิตไม่ว่าจะมาจากไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติ รวมกันแล้วจะต้องอยู่ที่ 1.74 MWh” เชาวฤทธิ์ บุญผ่องศรี วิศวกรอาวุโส พลังงานและส่วนสาธารณูปโภค จีเอ็ม ผู้รับผิดชอบดูแลด้านพลังงานโดยตรงให้ข้อมูล

เขาบอกด้วยว่า ค่าการใช้พลังงานที่กำหนดไว้นี้เป็นค่าเฉลี่ยระดับกลางเมื่อเทียบกับโรงงานของจีเอ็มที่มีอยู่ 69 แห่งทั่วโลก ซึ่งแต่ละแห่งจะมีกระบวนการผลิต ที่แตกต่างกัน เช่น บางโรงงานอาจจะผลิต เฉพาะเครื่องยนต์ แต่โดยหลักการแล้วยิ่งผลิตเยอะก็จะยิ่งใช้พลังงานน้อยลง

พลังงานที่ใช้ในโรงงานจีเอ็มทั่วโลก แตกต่างกันไปตามเชื้อเพลิงที่เหมาะสมในแง่ของซัปพลายและต้นทุนราคาของแต่ละแห่ง ในเมืองไทยพลังงานที่จีเอ็มใช้เป็นหลักในโรงงานมาจากเชื้อเพลิง 2 ประเภท ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติซึ่งจีเอ็มซื้อตรงจากบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในสัดส่วน 40/60

ด้วยความที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา โรงงานแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับการควบคุมเรื่องการใช้พลังงานตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้มีแผนงาน ขั้นตอน การตรวจวัด จัดเก็บและเป้าหมายการใช้และการประหยัดพลังงานอย่างชัดเจน

เชาวฤทธิ์เล่าว่า เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายพลังงานและส่วนสาธารณูปโภคของจีเอ็มมีบทบาทมากขึ้น จากเดิมที่ปฏิบัติการ ด้านพลังงานตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ล่าสุดเมื่อมีมาตรฐานสากลตัวใหม่ ISO 50001 ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานการจัดการพลังงาน ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา บริษัทจึงตัดสินใจจัดอบรมพนักงานเพื่อขอรับมาตรฐานดังกล่าวเพิ่ม และได้รับมาตรฐาน ภายระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศใช้ซึ่งถือว่าเร็วมาก เพราะมาตรฐาน ISO 50001 มีหลักการที่คล้ายคลึงกับกฎหมายที่ดำเนินงานอยู่เกือบ 60-70%

อีกทั้งเป็นจังหวะที่โรงงานเพลากำลังการผลิตรถยนต์ลงเพราะผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้จีเอ็มกลายเป็นโรงงานรับจ้างผลิตรถยนต์ (OEM-Ori-ginal Equipment Manufacturer) แห่งแรกที่ได้รับมาตรฐาน ISO50001 และมีผลให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการลดใช้พลังงานลงได้ 4,000 ตันต่อปีตั้งแต่ปี 2554

“กฎหมายบังคับให้โรงงานต้องจัดการเรื่องพลังงาน ซึ่งมีการตรวจวัด จัดเก็บข้อมูล จีเอ็มก็ทำมาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน พอมี ISO50001 ซึ่งใกล้เคียงกับกฎหมายแต่อาจจะมีขั้นตอนการจัดการเอกสารมากกว่า เราก็เก็บข้อมูลเพิ่มตามความต้องการที่ระบบกำหนด แล้วก็แอพพลายได้ทันที”

กฎหมายที่เชาวฤทธิ์อ้างถึง คือกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีชื่อเต็มว่า พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2535 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมาคือ วันที่ 3 เมษายน 2535 เป็นกฎหมายที่ทำให้การประหยัดการใช้พลังงานของประเทศไทยซึ่งเคยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนมาตั้งแต่ปี 2516 และมีมาตรการประหยัดพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง มีกฎหมายบังคับใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับจากนั้นมา

หลักการของกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. กำกับดูแลส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย (อาคารควบคุมและโรงงานควบคุม) มีการอนุรักษ์พลังงานด้วยการผลิต และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด

2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิ ภาพและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงานขึ้นภายในประเทศและมีการใช้อย่างแพร่หลาย และ

3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นรูปธรรมด้วยการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เพื่อใช้เป็นกลไกในการให้การอุดหนุนช่วยเหลือทางการเงินในการอนุรักษ์พลังงาน

“สิ่งที่เราทำเพิ่มเติมจากกฎหมายก็คือ การฝึกอบรมพนักงาน ทบทวนแผน การประหยัดพลังงานที่มีว่าชัดเจนไหม มีการแต่งตั้งคณะทำงาน มีการกำหนดนโยบาย ซึ่งโดยปกติก็จะต้องมีการส่งรายงานด้านพลังงานให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นประจำอยู่แล้วทุกวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งตัวรายงานนี้จะเป็นตัวบอกว่า สิ่งที่เราทำถูกต้องไหม” เชาวฤทธิ์เล่ารายละเอียดการทำงาน

ผลของการประหยัดพลังงานภายใต้มาตรฐานดังกล่าวที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมที่สุด คือการที่จีเอ็มใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท เพื่อยกระดับศูนย์การผลิตให้ประหยัด พลังงานมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงการใช้เทคนิคง่ายๆ ในการคำนวณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้จากอุปกรณ์ที่ต่างไปจากเดิม เมื่อทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ ทำให้บริษัทสามารถลดค่าพลังงานลงได้ปีละ 3-4 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าเงินงบประมาณที่ใช้ไปจะใช้เวลา เพียง 2-3 ปีก็คืนทุน

สิ่งที่จีเอ็มทำภายใต้งบ 14 ล้าน ได้แก่ การเปลี่ยนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ภายในสำนักงานมาเป็นหลอดประหยัดพลังงานแบบ T5 หรือหลอดผอมแบบใหม่ ช่วยประหยัดลงได้มากกว่า 1.1 ล้านบาทต่อปี ปรับเปลี่ยนระบบส่องสว่างตามถนนในศูนย์การผลิตให้เป็นแบบแอลอีดีซึ่งกินไฟน้อยกว่าหลอดไฟแบบเดิมที่ใช้อยู่ ติดตั้ง ระบบการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ช่วยลดการใช้พลังงานลงมากกว่า 2 ล้านบาทต่อปี ติดตั้งระบบควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ของระบบแอร์ และออกแบบหลังคาอาคารจัดเก็บสินค้าให้มีส่วนผสมของหลังคาโปร่งแสงเพื่อลดการใช้ไฟเพื่อให้ความสว่าง

ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือผลลัพธ์ ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเพียงมูลค่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจ ซึ่งจีเอ็มตั้งเป้าที่จะขายรถยนต์ในปี 2555 ให้ได้ถึง 80,000 คัน จากตลาดที่คาดว่าจะมียอดขายรวม 950,000 คัน

เชาวฤทธิ์เปิดเผยว่า เหตุจูงใจในการขอ ISO50001 ของจีเอ็ม เพื่อยกระดับ การยอมรับมาตรฐานพลังงานขององค์กรสู่ระดับสากล ทั้งที่ความจริงแล้วกฎหมายและ ISO50001 มีสิ่งที่ถือเป็นหัวใจเหมือนกันคือ การบังคับให้หน่วยงานมีการปรับปรุง ด้านการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยมุ่งหวังถึงการใช้พลังงานอย่างสมบูรณ์ แบบภายใต้ความมั่นคงและยั่งยืน เพราะทุกฝ่ายล้วนตระหนักถึงปัญหาพลังงานที่มีแต่จะลดน้อย และอาจจะหมดลงได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

“เหตุจูงใจที่ทำให้หน่วยงานส่วนใหญ่เข้าร่วมกับมาตรการและมาตรฐานต่างๆ มาจาก หนึ่ง เรื่องต้นทุน ซึ่งต้องมีการจัดการพลังงานให้ดีขึ้น และต้องการลด ค่าใช้จ่ายในโรงงาน มาตรการหนึ่งที่หากทำได้จะให้ผลดีที่สุดคือ ทำให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม”

บริษัทคาดหวังในการมีส่วนร่วมของพนักงานแค่เรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ปิดไฟเมื่อออกจากโต๊ะหรือห้องทำงาน แยกขยะ ลดปริมาณขยะ ฯลฯ ซึ่งฝ่ายจัดการจะเป็นคนกระตุ้นด้วยการอบรมให้พนักงานทุกคน จัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกเป็นระยะๆ อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ เช่น แจกสติ๊กเกอร์เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนใจพนักงานว่า เมื่อผ่านการอบรมแล้วก็ไม่ควรละเลยและหมั่นปฏิบัติตามสิ่งที่ได้อบรมมา

“การลงทุนสร้างจิตสำนึก ผมว่าลงทุนน้อยถ้าทำได้จะคุ้มค่ามาก แต่เรื่องแบบนี้ไม่ใช่พูดกันครั้งเดียวแล้วได้เลย ต้องค่อยๆ ทำ ก่อนทำ ISO50001 พนักงานทั้งหมดเกือบ 4,000 คน มีส่วนร่วมแค่ 5-6% ตอนนี้ขยับขึ้นมาเกือบ 20-30% จากการสร้างจิตสำนึกผ่านกิจกรรม เช่น วันพลังงาน วันสิ่งแวดล้อม และวันสำคัญๆ เพราะถ้าทำให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมได้ 100% ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานได้มากกว่านี้”

การลดการใช้พลังงานของพนักงาน ถือเป็นของแถมด้านการประหยัดพลังงานของจีเอ็ม เพราะผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกคำนวณไว้ในการดำเนินงาน

เชาวฤทธิ์เล่าว่า 2 ปีก่อนจีเอ็มเคยมีการศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนเพื่อหาแนวทางประหยัดพลังงานจากเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ศึกษาทั้งพลังงาน ลมและแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน แต่สุดท้ายก็ยังหารูปแบบที่เหมาะสมไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาว่าทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ต้องใช้เงินลงทุน สูงเกินไป

ตอนนี้พลังงานทดแทนส่วนที่จีเอ็มทำได้จึงมีเพียงการติดตั้งโซลาร์เทอร์มัล บนหลังคาโรงอาหาร เพื่อนำความร้อนมาใช้ในโรงอาหารเพียงเล็กน้อยสำหรับการต้มน้ำและใช้ล้างจานเท่านั้น

“ถ้าจะติดกังหันลมให้ได้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์หรือใช้เสียบเตารีดเครื่องหนึ่งต้องลงทุนประมาณ 8 แสน ต้นทุนสูงมาก ในเชิงธุรกิจไม่คุ้ม แต่ถ้าจะพูดในแง่อิมเมจก็ถือว่าคุ้มค่า”

ปลายปีนี้ เชาวฤทธิ์เลยมีแผนจะติดตั้งกันหันลมเล็กๆ หน้าโรงงานสำหรับส่องป้ายเล็กๆ เป็นแผนงานเบื้องต้นที่ทำเพื่อใช้ศึกษาไปในตัว

ส่วนแผนประหยัดพลังงานที่จะทำเพิ่มเติมอย่างจริงจังในปีนี้คือการขอเงินสนับสนุนประมาณ 9 ล้านบาท (3 แสนเหรียญ) สำหรับวางระบบเพื่อดึงความร้อน ระดับ 500-600 องศาเซลเซียสจากโรงพ่นสี กลับมาเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติอีกครั้ง

“ปีที่แล้วเรามีการตรวจวัดว่าได้ค่าอุณหภูมิไอเสียที่เท่าไร มีความเหมาะสม ในการติดตั้งไหม พอศึกษาเรียบร้อยก็เขียนเป็นแผนของบประมาณได้ ตอนนี้ก็รอว่าจะออกแบบเป็นแบบไหนติดตั้งตรงไหน หลักการที่จะทำเหมือนการใช้พลังงาน ความร้อนจากใต้ดิน แต่เป็นความร้อนจากไอเสียที่เกิดจากการทำงานที่ต้องเสียไปอยู่แล้ว การดึงความร้อนมาใช้จะสามารถลดอุณหภูมิไอเสียที่จะปล่อยออกไปในชั้นบรรยากาศลงด้วย”

ส่วนพลังงานทดแทน แม้จะยังไม่มีแนวโน้มในระยะใกล้ว่าจะเกิดขึ้นสำหรับโรงงานจีเอ็มในไทย แต่ปัจจุบันก็มีการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตรถยนต์ของจีเอ็มแล้วบางแห่ง เช่น ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งมีเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนจากกลุ่มประเทศยุโรปและได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

“กรณีประเทศไทย ผมคิดว่าถ้ามีเงินทุนสนับสนุนจากรัฐแบบนั้นบ้าง การใช้พลังงานทดแทนก็อาจจะมีความเป็นไปได้เร็ว เพราะทุกคนรู้ว่าแนวโน้มราคาพลังงานสูงขึ้นและนับวันจะยิ่งแพง แต่จะลงทุนให้คุ้มก็ต้องให้พลังงานที่เราใช้ ณ ปัจจุบันมีต้นทุนเท่ากับพลังงานที่เราจะหาได้จากลม แสงแดด และน้ำเสียก่อน ถ้ายังถูกกว่าก็ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน แต่เมื่อไรที่พลังงานเริ่มหายาก ผมมองว่าพลังงานทดแทนก็จะเริ่มมีบทบาทและมีความสำคัญ ที่จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อให้คุ้มค่ากับพลังงานที่แพงขึ้น แนวทางที่อาจจะเป็นไปได้เร็วที่สุดจึงต้องกลับไปอยู่ที่แผนกระชับให้ค่าการใช้พลังงานเริ่มต้นจากการผลิตรถยนต์ 1 คันของจีเอ็มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่ 5% ตามเป้าหมายเดิมไปพลางๆ ก่อน เพราะประหยัดได้เท่าไรก็เท่ากับลดต้นทุนได้แน่นอนที่สุดเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.