|
หมู่เกาะในทะเลตะวันออก ประเด็นคุกรุ่นที่ยังไม่มีทางจบ
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ ASEAN กำลังจะก้าวขึ้นเป็น AEC ในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า แต่ประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลตะวันออกก็ยังเป็นเรื่องคุกรุ่นที่ค้ำคอหลายๆ ประเทศในกลุ่มนี้
ล่าสุด เวียดนามเตรียมจัดทริปให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลไปเยี่ยมเยือนหมู่เกาะสแปรตลี ที่เวียดนามเรียกว่า “เตรื่องซา” โดยทางการเวียดนามจัดให้เตรื่องซาเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในอำนาจบริหารของจังหวัด ค้าญหว่า
โดยกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเรียกแผนการจัดเที่ยวเยือนหมู่เกาะเตรื่องซาของชาวเวียดนามที่อยู่ในต่างประเทศครั้งนี้ว่าเป็นกิจกรรม “ปกติ”
เลือง ทาญ หงิ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามตอบคำถามในการประชุมสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555 เกี่ยวกับแผนการของคณะกรรมการแห่งรัฐ ที่จะให้ชาวเวียดนามในต่างประเทศตั้งคณะใหญ่คณะหนึ่งเพื่อไปตรวจตราเตรื่องซาว่า “เรื่องคนเวียดนามไปเยือนสถานที่มีชื่อเสียงของประเทศ ในนั้นมีเกาะต่างๆ ในอำเภอเกาะเตรื่องซา จังหวัด ค้าญหว่า เป็นการกระทำตามปกติ”
หมู่เกาะเตรื่องซาเป็นหน่วยบริหารระดับอำเภอในเวียดนาม
จุดซึ่งเป็นข้อพิเศษ คือการจัดให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลไปเยือนเตรื่องซา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ชาติอื่นๆ ก็ประกาศอธิปไตย จนถึงเมื่อกลางเดือนเมษายนนั้นยังคงเก็บเป็นความลับ
มีการระบุหัวข้อนี้ในการประชุมหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการ โดยมีการเข้าร่วมของบรรดาสำนักข่าวต่างประเทศ ดูเหมือนจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการทูต ในสภาพการณ์ที่เวียดนามและจีนกำลังมีการพูดโต้ตอบกันเกี่ยวกับอธิปไตยในทะเลตะวันออก (ทะเลจีนใต้ในมิติของจีน)
เมื่อเร็วๆ นี้ ดูเหมือนสถานการณ์ซึ่งเคยสงบลง หลังจากแกนนำระดับสูงสุดของสองพรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันในบรรดาหลักการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ลงรอยทางทะเลเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ได้กลับมาร้อนขึ้นอีกครั้ง ด้วยการที่จีนจับชาวประมงเวียดนาม และขยายการใช้ประโยชน์ หมู่เกาะหว่างซา หรือหมู่เกาะพาราเซล
(อ่าน “ดีกรีความร้อนแรงของปัญหาทะเลตะวันออก ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมิถุนายน 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
เวียดนามก็มีกลยุทธ์ตอบโต้บางอย่าง แม้ว่ายังคงห้ามประชาชนชุมนุมประท้วงอยู่ภายในประเทศ
มีการมองกันว่าการส่งคนไปเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะเตรื่องซา และมีการกระทำกิจทางพุทธศาสนา และล่าสุดคือการลงนามสัญญาก๊าซ-น้ำมันกับรัสเซีย เสมือนเป็นการยืนยันอธิปไตยของเวียดนาม ในหมู่เกาะแห่งนี้
เรื่องละเอียดอ่อน
เตรื่องซา, หว่างซา และการพิพาททะเลตะวันออก โดยเฉพาะกับจีน ถึงแม้ไม่มีการแก้ไขสาเหตุ และการพูดกันอย่างหนักแน่น แต่ก็ยังคงถูกมองว่าเป็นหัวข้อที่ “อ่อนไหว” อยู่ภายในประเทศ
แผนการให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลไปเยือนเตรื่องซาเมื่อปีที่แล้ว ได้ถูกยกเลิกด้วยเหตุผลไม่ชัดเจน
ด้านหลักการ นี่ไม่ใช่เขตหวงห้าม แต่เพราะความห่างไกล จะสามารถไปถึงเตรื่องซาได้เพียงทางเรือหรือเครื่องบินเท่านั้น ผู้ที่จะไปจึงต้องได้รับความช่วยเหลือ จากอำนาจรัฐ
เวียดนาม จีน ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ต่างก็ประกาศอธิปไตยที่เตรื่องซา
ด้วยจำนวนเกาะและสันดอน 23 แห่ง เวียดนามถือครองเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะนี้
ในจำนวนชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่จะเยือนเตรื่องซา มีทนายความ หวู ดึ๊ก คาญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่แคนาดา กล่าวว่า “ตามความเห็นส่วนตัวผม อธิปไตยของเวียดนามบนหมู่เกาะหว่างซาและหมู่เกาะเตรื่องซา เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้”
“อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงื่อนไขทั่วไป ของประวัติศาสตร์ พวกเราก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ที่นี่เป็นเขตที่ไม่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิปไตยแห่งชาติ”
“ทัศนะแน่วแน่ ไม่ว่ารัฐบาลตามกฎหมายใดของเวียดนาม คือต้องป้องกันอธิปไตยและบูรณภาพอาณาเขต-น่านน้ำทะเลอย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็ให้ความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาพิพาทผ่านการเจรจาอย่างสันติ สอดคล้องกับกฎหมาย และกติกาของสากล”
คาญให้ความเห็นว่า ขณะที่บรรดาการกระทำก่อกวน รุนแรง และเจตนาที่จะทำความตึงเครียดเพิ่มให้สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนนั้น เป็นสิ่งที่จำต้องหลีกเลี่ยง
“การที่คณะกรรมการชาวเวียดนาม ในต่างประเทศ มีความตั้งใจจะจัดให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลไปเยือนเตรื่องซา เป็นทัศนะที่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผล และสอดคล้องกับกติกาสากลในการแนะนำ การแสดงทัศนะและจุดยืนของ ฝ่ายตน ขณะเดียวกันก็หาทางแก้ไขปัญหา อย่างสันติ เสมอภาค และเสถียรภาพอย่างยั่งยืนสำหรับทั่วทั้งภูมิภาคและโลก”
เขาแสดงความตั้งใจพร้อมจะเข้าร่วมทำงานในเรื่องนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|