|
AEC No-Boundary Challenge
โดย
สุภัทธา สุขชู นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
จากตารางแสดงจำนวนสาขาในอาเซียนข้างต้น สะท้อนยุทธศาสตร์การเข้าสู่ตลาดอาเซียนของธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่งจาก 2 ประเทศ ได้แก่ เมย์แบงก์ และซีไอเอ็มบี ธนาคารอันดับ 1 และอันดับ 2 ของมาเลเซีย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอันดับ 1 และ 4 ของเมืองไทย
จะเห็นว่า เมย์แบงก์และซีไอเอ็มบีมีการยึดพื้นที่นอกประเทศอาเซียน มากกว่าธนาคาร 2 แห่งของไทย ทั้งนี้ เพราะแนวทางการขยายตัวของธนาคารมาเลเซียเป็นรูปแบบของการควบรวมกิจการ แม้ต้องใช้เงินทุนเยอะมาก แต่ก็แลกมาด้วยปริมาณสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศนั้นๆ ซึ่งทำให้เป้าหมายในการเป็นผู้นำตลาดอาเซียนของทั้งธนาคารมาเลเซีย ทั้ง 2 แห่งชัดเจนขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว
ทั้งนี้ แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้แบงก์ยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียต้องก้าวออกมาขยายอาณาจักรภายนอกประเทศ เป็นเพราะตลาดมาเลเซียมีขนาดเล็กเกินไป และการก้าวออกมาสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าจะเป็นแรงกดดันให้องค์กรต้องปรับตัวและปรับศักยภาพในการบริหารจัดการ เปรียบได้กับการแข่งฟุตบอล หากต้องการขยับจากลีกไทยไปสู่ลีกระดับภูมิภาค หรือลีกระดับโลก นักบอลต้องมีการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
ขณะเดียวกัน โครงสร้างธุรกิจของสถาบันการเงินของมาเลเซียก็มีความได้เปรียบ เนื่องจากมีองค์กรรัฐวิสาหกิจร่วมเป็นผู้ถือหุ้น นอกจากจะทำให้มีเงินทุนมาสนับสนุนในการขยายธุรกิจ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ยังใช้ธนาคารทั้ง 2 แห่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการผลักดันให้แบรนด์สินค้าและบริการของมาเลเซียครองตลาดอาเซียน
สำหรับธนาคารไทย กลับมียุทธศาสตร์ในการขยายสู่ตลาดอาเซียนที่ต่างกันออกไป ปัจจุบันทั้งธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยจะติดตามไปให้บริการกับลูกค้าในประเทศที่มีฐานลูกค้าเข้าไปลงทุนอยู่แล้วหรือกำลังจะเข้าไปลงทุนในไม่ช้า ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวังในการขยายออกไปสู่ต่างประเทศ นี่จึงทำให้จำนวนสาขาในอาเซียนที่อยู่นอกประเทศแม่ มีจำนวนน้อยกว่าธนาคารมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ในอีกมุมมองด้านหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ไทยยังเชื่อว่าตลาดเงินและตลาดทุนภายในประเทศยังไปได้ดี พิจารณาจากรายได้และกำไรภายในประเทศยังเติบโต จึงทำให้ไม่มีแรงกดดันเหมือนดังเช่นมาเลเซีย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธนาคารไทยไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร น่าจะมาจากขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐที่ไม่มีนโยบายชัดเจน และรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง จึงทำให้นโยบายของรัฐขาดความต่อเนื่อง
ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนตลาดอาเซียนของธนาคารไทยจึงเป็นในรูปแบบเชิงรับ ในขณะที่มาเลเซียมีนโยบายเชิงรุก กระนั้นก็ตาม คงไม่อาจบอกได้ว่ากลยุทธ์ใดประสบความสำเร็จได้มากกว่ากัน เพราะเส้นทางการเปิดเสรีทางด้านการเงินในตลาดอาเซียนในบริบทของกฎระเบียบยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และอาจต้องใช้เวลานานถึงปี 2563 ดังนั้นโอกาสยังเป็นของทุกคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|