AEC Model ในแบบกสิกรไทย

โดย สุภัทธา สุขชู นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารกสิกรไทยประกาศทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งสู่ตลาดอาเซียน โดยมียุทธวิธีร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าการตั้งสาขา ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ธนาคารกสิกรไทย เป็นแบงก์ใหญ่ 1 ใน 4 ของประเทศไทย ที่มีทั้งสินทรัพย์และรายได้สูง เช่นเมื่อปี 2554 มีรายได้ 148,873 ล้านบาท กำไร 24,225 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 1,722,939 ล้านบาท ซึ่งรายได้และกำไรล้วนแต่ได้มาจากการทำธุรกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ต่างประเทศมีรายได้ร้อยละ 10

การยึดพื้นที่ให้บริการด้านการเงินในประเทศไทยของธนาคารกสิกรไทยจึงถือได้ว่ามั่นคงและแข็งแรง จนกระทั่งทำให้ธนาคารเริ่มขยายบริการไปประเทศจีน ตามนโยบายของบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมีเชื้อสายไทย-จีน

ธนาคารกสิกรไทยสามารถเข้าไปเปิดสาขา 1 แห่ง และสำนักงานผู้แทนอีก 3 แห่ง คือ สาขาในเซินเจิ้น และสำนักงาน ตัวแทนในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และคุณหมิง

แต่เมื่อ 2-3 ปีให้หลัง บัณฑูรเริ่มสนับสนุนผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาบริหารงาน จึงทำให้มีการปรับวิสัยทัศน์การลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่เริ่มกล่าวถึงโอกาสกันมาก

จึงทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาธนาคารกสิกรได้ประกาศยุทธศาสตร์ไปสู่ตลาดอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยมีเป้าหมายปักธงเป็นประเทศแรกๆ

วิธีการเข้าสู่ตลาดอาเซียนของแบงก์ กสิกรไทยคือการสร้างเครือข่ายพันธมิตร มากกว่าการเปิดสาขาเหมือนที่ผ่านมา โดยเลือกวิธีการร่วมกับสถาบันการเงินท้องถิ่น เหมือนเช่นล่าสุดได้เซ็นสัญญากับอกริแบงก์ (AGRI BANK) หรือ Vietnam Bank of Agriculture and Rural Development แบงก์อันดับหนึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาลเวียดนาม 100 เปอร์เซ็นต์ มีเครือข่าย 2,300 แห่ง ให้บริการด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารได้ร่วมมือกับเวียตตินแบงก์ (VietinBank) ซึ่งรัฐบาลของเวียดนามถือหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันธนาคารมีพันธมิตรในอาเซียนทั้งหมด 4 ประเทศ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม ธนาคารมีเป้าจะร่วมมือกับพันธมิตรให้ ครบ 9 ประเทศ ในปี 2555 นี้

การรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนของธนาคารกสิกร เลือกที่จะร่วมมือกับพันธมิตรมากกว่าจะเข้าไปตั้งสาขานั้น เกิดจากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาดอาเซียนที่จะหลอมรวมกันให้เป็นตลาดหนึ่งเดียว (one market) โดยมีประชากรร่วม 600 ล้านคน

โดยธนาคารมองว่าความร่วมมือของ 10 ประเทศ เพื่อเปิดเสรีด้านการเงินยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ กติกา แม้แต่บางประเทศบอกว่าได้เปิดให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปให้บริการการเงินแล้วก็ตาม แต่ข้อกฎหมายให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปอย่างแท้จริงยังไม่ได้เปิดกว้างหรือแก้ไขแต่อย่างใด

ยอมรับว่าการเจรจาในส่วนของภาคการค้ามีความคืบหน้ามากกว่า เพราะเกือบทุกประเทศเริ่มทยอยให้มีการค้าขายอย่างเสรี และยกเว้นภาษี รวมถึงยกเลิกกฎกติกาที่เป็นอุปสรรค ดังนั้นเรื่องของการค้าขาย (เทรดดิ้ง) ระหว่างประเทศค่อนข้างเปิดกว้าง

สิ่งที่กสิกรมองเห็นทำให้ธนาคารกำหนดโมเดลให้บริการด้านการเงินให้กับลูกค้า ธุรกิจเทรดดิ้งเป็นหลัก และร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันการเงินท้องถิ่น เพื่อดูแลลูกค้าของแต่ละประเทศที่ข้ามไปลงทุน

ดังเช่นข้อตกลงของธนาคารที่ร่วมมือกับอกริแบงก์และเวียตตินแบงก์ในเวียดนาม คือ ร่วมมือให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยในเวียดนาม เช่น การบริหารบัญชี การทำธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ การให้สินเชื่อ การให้คำแนะนำทางธุรกิจแก่ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย เช่น ข้อมูลเรื่องการค้าการแข่งขันในตลาด กฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างกัน เช่น การจัดสัมมนา จับคู่ธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนพนักงาน

การร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเป็นการอาศัยสาขาของแต่ละประเทศที่มีอยู่ ปัจจุบันใน 4 ประเทศ มีสาขารวมกันประมาณ 3,400 สาขา และภายในปีนี้จะขยายเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ใน 9 ประเทศ

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า แนวทางการขยายพันธมิตรใน 10 ประเทศ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีชายแดนติดกัน และกลุ่มที่เป็นเกาะ โดยเริ่มจากกลุ่มที่มีชายแดนติดกัน เพราะหากมองในเชิงค้าขาย กลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกันจะมีเรื่องระบบโลจิสติกส์ และมีความถี่ในการค้าขายมากกว่า

การเดินตามแผนธุรกิจของกสิกรไทยใน 3 ปีจากนี้ไป เป็นการเรียนรู้ตลาดอาเซียน และโมเดลจะเปลี่ยนไปตามกฎกติกา ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความก้าวหน้ามากกว่านี้

ทรงพลกล่าวในมุมมองของเขา โดยเชื่อว่า ตลาดอาเซียนยังไม่มีใครรู้จักเป็นอย่างดี และจากการประเมินรู้จักเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการกระจายไปเกือบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ในภูมิภาคนี้ก็ตาม เป็นการลองผิด ลองถูก เพราะการเปิดสาขาครบถ้วนในอาเซียน ไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จในการทำธุรกิจ

จุดยืนความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคารกสิกรไม่ได้แวดล้อมเฉพาะประเทศในอาเซียนเท่านั้น แต่เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวของธนาคารได้ขยายไปสู่ระดับอาเซียน +3 คือมีพันธมิตร จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

ส่วนสถาบันการเงินต่างประเทศที่สนใจเข้ามาเปิดให้บริการภายในประเทศไทย มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่า กรณีแบงก์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนไม่ประสบความสำเร็จเพียงเพราะมีเงินทุนจำนวนมาก แต่เหตุผลเป็นเพราะ ว่ามีฐานลูกค้าไม่มากพอ และไม่มีประสบการณ์ดูแลลูกค้าท้องถิ่น แต่ก็ไม่ควรไว้ใจกรณีสถาบันการเงินมาลงทุนในประเทศ

“รูปแบบธุรกิจการลงทุนในอาเซียนของแบงก์ในภูมิภาคนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า การเปิดสาขาจำนวนมาก หรือร่วมมือกับพันธมิตร แบบใดที่จะประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จต้องอาศัยบุคลากร และการบริหารจัดการ”

แต่หากมองในมุมของการลงทุนของธนาคารกสิกรไทย หรือแบงก์ไทยอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบเงินลงทุนและขนาดของธุรกิจแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และโอกาส การลงทุนในอาเซียนว่าใครสามารถมองเห็นทะลุปรุโปร่ง และเร็วกว่ากัน เพราะหากมองเห็น และบริหารจัดการช้ากว่า การสูญเสียโอกาสตลาดอาเซียนให้กับคู่แข่งประเทศในภูมิภาคนี้ก็ย่อมสูงเช่นเดียวกัน

ส่วน AEC โมเดลของกสิกรไทย ใช่คำตอบของตลาดอาเซียนหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.