สงครามชิงสมุด "หน้าเหลือง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เอทีแอนด์ที (AT&T-American Telephone and Telegraph Corp.) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อย่างมากกลุ่มหนึ่ง

จีทีดีซี (GTDC-General Telephone Directory Company) ก็เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่าไม่เล็ก

ส่วนสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ แม้ชื่ออาจจะยังฟังไม่คุ้นหูเท่าไร

แต่เมื่อมีกลุ่มเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหนุนอยู่เต็มตัว ก็คงเป็นกลุ่มที่ใครยากจะดูแคลนหรือก้าวข้ามไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อผู้ยิ่งใหญ่ที่ดูจะไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันทั้ง 3 กลุ่มนี้กำลังทุ่มตัวเข้าทำสงครามห้ำหั่นกันเต็มเหยียด เพื่อช่วงชิงลิขสิทธิ์การเป็นผู้จัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)

โดยมีศักดิ์ศรีและผลตอบแทนเป็นพันล้านบาทเป็นเดิมพัน

“มันเป็นการเปิดประมูลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า ทศท. หนักใจมาก ทศท. เปิดประมูลเรื่องอื่นๆ มาแล้วเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง จะมีก็เรื่องสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์นี่แหละที่ตึงมือจริงๆ ดูสิ...มีแต่ระดับพี่เบิ้มที่เสนอตัวเข้ามา ต่างฝ่ายต่างก็ถือหน้าไพ่หน้าใหญ่ๆ ด้วยกันทั้งนั้น” เจ้าหน้าที่ระดับบริหารขององค์การโทรศัพท์ซึ่งขอให้ช่วยปกปิดชื่อกล่าวเปิดใจกับ “ผู้จัดการ”

สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เริ่มมีการจัดพิมพ์เป็นฉบับแรกเมื่อต้นปี 2511 หรือประมาณ 17 ปีที่แล้ว โดยบริษัทอเมริกันจดทะเบียนในมลรัฐเดลาแวร์ ชื่อ “เยนเนราล เทเลโฟน ไดเร็คตอรี่” หรือ จีทีดีซี (GTDC) เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

จีทีดีซีเซ็นสัญญากับองค์การโทรศัพท์ฯ ทั้งหมด 2 ฉบับ ฉบับแรกทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2510 ไปสิ้นสุดเอาวันที่ 31 มีนาคม 2519 ผู้ลงนามฝ่ายองค์การโทรศัพท์ชื่อ จรูญ วัชราภัย ผู้อำนวยการในขณะนั้น ส่วนผู้ลงนามฝ่ายจีทีดีซี คือ Donald Francis Briggs กรรมการผู้จัดการ

พื้นฐานแห่งการตกลงตามสัญญาฉบับแรก จีทีดีซีจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ อันสืบเนื่องจากการรวบรวม การจัดพิมพ์ ไปจนถึงการส่งมอบสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ให้แก่ผู้เช่าทั้งหลาย และจีทีดีซีมีสิทธิหารายได้จากการโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นค่าตอบแทน โดยรายได้ส่วนที่เกิดขึ้นจีทีดีซีสัญญาว่าจะแบ่งให้องค์การโทรศัพท์ 20 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ ปี

“ในสัญญาใช้คำว่า...อัตราเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เรียกเก็บได้และจะต้องจ่ายให้องค์การโทรศัพท์ทุกครั้งที่พิมพ์ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์...ก็หมายความว่าถ้ามีรายได้เข้ามาก็แบ่งให้ แต่ถ้ายังไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องแบ่ง ระยะแรกๆ องค์การโทรศัพท์ก็ยังไม่ได้ผลประโยชน์อะไร เพราะการโฆษณายังไม่เข้ามา เพิ่งมาเริ่มมีรายได้บ้างก็ตอนหลังๆ อันนี้ก็น่าเห็นใจจีทีดีซีเขาเหมือนกัน กว่าที่ตลาดโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองจะบูมขึ้นมาได้ เขาก็ต้องลงทุนไปไม่น้อย...” คนวงในคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

ต่อมาเมื่อต้นปี 2517 ก่อนหน้าที่สัญญาระหว่าง จีทีดีซีกับองค์การโทรศัพท์ จะสิ้นสุดลง 2 ปีก็มีเหตุการณ์บางอย่าง (อ่านจากล้อมกรอบ) มีผลทำให้ต้องมีการเซ็นสัญญากันอีกเป็นครั้งที่ 2

สัญญาฉบับที่ 2 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2517 ไปสิ้นสุดจนถึงการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ประจำปี 2528 หรือที่กำลังจะได้เห็นกันอีกไม่นานวันนี่แหละ

“พูดกันง่ายๆ มันก็เป็นการต่อสัญญาล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้จีทีดีซี สามารถทำธุรกิจไปได้อีก 10 ปี นั่นเอง” คนในวงการคนเดิมสรุป

สัญญาที่เซ็นกันครั้งที่ 2 นี้มีเนื้อหาคล้ายๆ กับสัญญาฉบับแรก จะมีต่างออกไปบ้างก็คือ เรื่องการแบ่งรายได้สุทธิที่เก็บได้จากการโฆษณาให้แก่องค์การโทรศัพท์โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันอย่างแน่ชัดว่า

ปี 2517 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์

ปี 2518ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์

ปี 2519 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์

ปี 2520ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 22 เปอร์เซ็นต์

ปี 2521 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 22 เปอร์เซ็นต์

ปี 2522ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 23 เปอร์เซ็นต์

ปี 2523ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 23 เปอร์เซ็นต์

ปี 2524 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 24 เปอร์เซ็นต์

ปี 2525ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 24 เปอร์เซ็นต์

ปี 2526 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์

ปี 2527ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์

ปี 2528 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้คำว่า “รายได้สุทธิจากการโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์” หมายถึงจำนวนเงินที่เก็บได้จริงทั้งหมดจากรายการโฆษณาที่ปรากฏในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ โดยหักค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย ค่าธรรมเนียมที่จำเป็นในการเรียกเก็บรายได้จากการโฆษณาและหักค่านายหน้า (คอมมิชชั่น) ในการขายโฆษณาเรียบร้อยแล้วซึ่งสำหรับค่านายหน้าขายโฆษณานั้นจะหักได้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของราคาค่าลงโฆษณา

“ก็ออกจะเป็นการให้ส่วนแบ่งรายได้กับองค์การโทรศัพท์ที่ต่ำเกินไป ยิ่งในช่วงเซ็นสัญญาครั้งที่สองนี้ รายได้จากหน้าเหลืองเริ่มเข้ามามากแล้ว

เพราะฉะนั้นใครจะมาเดินเรื่องให้มีการต่อสัญญาก็คงยาก โดยเฉพาะเมื่อประธานองค์การโทรศัพท์คือ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก พูดออกมาแล้วว่า จะต้องเปิดประมูลหาผู้ที่สามารถให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่องค์การโทรศัพท์...” แหล่งข่าวรายหนึ่งบอก

เมื่อไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะต่อสัญญาให้จีทีดีซี


การประมูลชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ก็เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2527 โดยก่อนหน้านั้น 1 เดือนเต็มๆ องค์การโทรศัพท์ก็ได้เปิดขายเอกสารการประมูลไปให้แก่เอกชนผู้สนใจจำนวนทั้งสิ้น 16 ราย

ปรากฏว่าจากจำนวน 16 รายนี้ก็มีผู้กล้าหลุดเหลือเข้าถึงวันยื่นซองเพียง 4 ราย

1. กลุ่มบริษัท เยนเนราลเทเลโฟน ไดเรคทอรี่ (ร่วมกับโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช)

2. กลุ่มบริษัท สยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ (กลุ่มไทยรัฐร่วมกับศูนย์การพิมพ์พลชัย)

3. กลุ่มบริษัท เอทีแอนด์ที อินเตอร์เนชั่นแนล อิ๊งค์

4. บริษัท เอทีทีไอ ไทยมีเดีย

ทั้งนี้องค์การโทรศัพท์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัดสินไว้ 5 คน ประกอบด้วย เสนาะ ธีวรากร, วิฑู รักษ์วนิชพงศ์, สืบสาย ทรงสุรเวช, มานิตย์ ทวีลาภ และ วิสูตร ศิริวาร โดย เสนาะ ธีวรากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการเป็นประธานฯ

คณะกรรมการทั้ง 5 เมื่อประชุมนัดแรกก็ได้มีมติไม่รับพิจารณาซองประมูลของบริษัท เอทีทีไอ ไทยมีเดีย ด้วยเหตุผลว่า เอทีทีไอ ไทยมีเดีย เข้าประมูลโดยไม่ได้ซื้อซองและเอกสารการประมูลให้ถูกต้องตามขั้นตอนเสียก่อน

จึงมีเพียง 3 กลุ่มที่จะต้องพิจารณาหาผู้เหมาะสมกันต่อไป

“สำหรับรายที่ตกไปก็คือ เอทีทีไอ ไทยมีเดีย เขาก็คงไม่ได้วิตกอะไรมาก เพราะจริงๆ แล้วเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเอทีแอนด์ทีอยู่แล้ว ตัวข้อเสนอที่ยื่นเข้าไปก็เหมือนกับของเอทีแอนด์ทีทั้งกระบิ” ผู้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์เล่าให้ฟัง

เอทีทีไอ ไทยมีเดีย เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอทีแอนด์ทีกับบริษัทศรีกรุงวัฒนาของสว่าง เลาหทัย-นักธุรกิจใหญ่ผู้กำลังมาแรง ไม่ว่าจะหันไปจับงานด้านไหน เพราะฉะนั้นกลุ่มบริษัทเอทีแอนด์ที ซึ่งมีเอทีทีไอ ไทยมีเดีย รวมอยู่ด้วยก็คงพอจะพูดได้ว่าเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยตัวเอทีแอนด์ที และกลุ่มของสว่าง เลาหทัย ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบจับมือกันระหว่าง 2 กลุ่มนี้


ก็คงเปรียบได้กับการติดปีกเสือที่ทั้งดุร้ายและแข็งแกร่งอยู่แล้วให้มีฤทธิ์เดชมากขึ้น เอทีแอนด์ที เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความชำนิชำนาญด้านการจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เรียกได้ว่า ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้ (แม้จะเป็นเพียงกิจการแขนงหนึ่งของกลุ่มเอทีแอนด์ที) และด้วยการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการรวบรวมและนำเสนอรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ผ่านสื่อชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มอย่างที่รู้จักกัน ก็ได้ทำให้เอทีแอนด์ที เข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

“ไม่ต้องดูมากหรอก เอาแค่ในเมืองไทย ร้อยวันพันปี เยนเนราล เทเลโฟน ไดเรคทอรี่ ไม่เคยออกซัพพลีเมนท์บอกเล่าถึงตัวเองและบุญคุณที่ทำไว้กับสังคมไทยเลย แต่พอรู้ว่าจะต้องมีการเปิดประมูลและต้องเจอกับ เอทีแอนด์ที เท่านั้นแหละ รีบจัดซัพพลีเมนท์ออกมาทวงบุญคุณกันทันที...” แหล่งข่าวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

เอทีแอนด์ที เข้าประมูลอย่างค่อนข้างจะสุขุมเอามากๆ คือ ได้มีการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เข้ามาสำรวจข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจการจัดพิมพ์และหาโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ก่อนล่วงหน้าจำนวนกว่า 10 คน ดังนั้นข้อเสนอการให้ผลตอบแทนแม้จะห่างไกลคนละเรื่องกับข้อเสนอของ เยนเนราล เทเลโฟน ไดเรคทอรี่ และสยามเทเลโฟนไดเร็คทอรี่ (รายละเอียดของข้อเสนอโปรดอ่านในล้อมกรอบ) ซึ่งสำหรับบางคนก็มองว่า “มันสูงเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ” นั้น ฝ่ายผู้เสนออย่างเอทีแอนด์ทีก็คงต้องเถียงหัวชนฝา

“เขาสำรวจอย่างมืออาชีพแล้วว่า เขาทำได้และสามารถให้ผลตอบแทนเป็นพันล้านบาทในขณะที่อีก 2 กลุ่ม ให้ได้เพียง 400-500 ล้านบาท ใน 5 ปี แทนที่จะมองกันว่า เขาจะเสนอตัวเลขที่สูงเกินความจริง ทำไมไม่มองกันบ้างว่า อีก 2 กลุ่มนั้นเสนอผลประโยชน์ที่ต่ำเกินไป...” คนในองค์การโทรศัพท์พูดกัน

คงจะเป็นความจริงอย่างที่สว่าง เลาหทัยซึ่งมีส่วนร่วมในกลุ่มเอทีแอนด์ที เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีคอนเน็กชั่นถึงตัวพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ประธานองค์การโทรศัพท์ และด้วยเงื่อนไขประการนี้ก็คงจะมีส่วนให้เอทีแอนด์ทีตัดสินใจเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยเป็นกลุ่มของ สว่าง เลาหทัยอยู่บ้าง

แต่ถ้าผลตอบแทนที่เอทีแอนด์ทีเสนอให้องค์การโทรศัพท์ก็ไม่ได้สูงสุดกว่าทุกๆ กลุ่มแล้ว คอนเน็กชั่นที่ใครจะมีอยู่กับใครก็คงช่วยให้เอทีแอนด์ทีเข้าป้ายเป็นกลุ่มที่ 1 ของการพิจารณาตัดสินไม่ได้เป็นแน่

เช่นเดียวกัน..การที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกจะประกาศเป็นแนวทางสำหรับการตัดสินว่า “ใครให้ผลประโยชน์สูงสุด จะต้องตัดสินให้ผู้นั้นชนะ...” แล้วสรุปว่า เป็นการวางแนวเพื่อเข้าข้างเอทีแอนด์ที ก็คงจะสรุปเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากสิ่งที่พลเอกอาทิตย์ประกาศนั้น ได้กระทำขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการเปิดซองประมูล

ว่าไปแล้วศึกครั้งนี้ก็คงจะมีอะไรคล้ายๆ กับการประมูลเหล้าแม่โขง ซึ่งกลุ่มเตชะไพบูลย์ เสนอให้ผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนแก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมสูงกว่ากลุ่มเถลิง เหล่าจินดา และมีการโจมตีกันอย่างกว้างขวางว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเอนเอียงเข้าข้างกลุ่มเตชะไพบูลย์

“ตอนนั้นก็พูดกันว่า ผลตอบแทนของกลุ่มเตชะไพบูลย์สูงเกินกว่าที่จะทำได้ แต่จริงๆ เป็นอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไปแล้ว...” แหล่งข่าวรายหนึ่งเปรียบเทียบให้ฟัง

เมื่อข้อเสนอในเรื่องผลตอบแทนปรากฏออกมาว่า เอทีแอนด์ทีเสนอสูงเป็นอันดับ 1 กลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่มาเป็นอันดับที่ 2 และเจ้าเก่าตลอด 17 ปีที่ผ่านมาอย่างเยนเนราล เทเลโฟนไดเรคทอรี่ มาเป็นอันดับ 3 การประมูลครั้งนี้ก็น่าจะปิดฉากลงด้วยการตัดสินใจให้ เอทีแอนด์ทีเป็นผู้ชนะสามารถเข้าไปเซ็นสัญญากับองค์การโทรศัพท์ต่อไป

แต่คณะกรรมการก็สรุปกันว่า เอทีแอนด์ทียังมีปัญหาไม่เหมาะสมอยู่อย่างน้อยก็ 3 ประการคือ

1. ข้อเสนอที่จะให้บริษัท เอทีทีไอ มีเดีย เป็นผู้เซ็นสัญญาแทน เอทีแอนด์ที

2. เอทีแอนด์ทียังไม่มีสำนักงานในประเทศไทยและยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงพาณิชย์

3. การยื่นข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้โดยองค์การโทรศัพท์ต้องรับภาระภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องที่ (รวม 3.3 เปอร์เซ็นต์) ผิดวิสัยที่เคยทำกันมา

จากช่วงโหว่ของเอทีแอนด์ทีเช่นนี้เองคณะกรรมการทั้ง 5 คน ก็มีความเห็นต่างๆ กันออกไป

เสนาะ ธีวรากร กับวิสูตร ศิริวาร มีความเห็นว่า ไม่ควรพิจารณาข้อเสนอของเอทีแอนด์ที เพราะผิดเงื่อนไขหลายข้อ และเสนอว่าควรพิจารณาข้อเสนอของเยนเนราลเทเลโฟน ไดเรคทอรี่ ซึ่งแม้ว่าจะเสนอผลตอบแทนต่ำสุดแต่ก็เสนอเงื่อนไขอื่นๆ พร้อมกว่าทุกกลุ่ม

“ฝ่ายนี้เมื่อไม่เอาเอทีแอนด์ที แทนที่จะพิจารณาสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ เขากลับบอกว่า กลุ่มสยามเทเลโฟนฯ เป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ ผลงานที่นำมาแสดงคือ สมุดไดเรคตอรี่รวมกิจการค้าขายของคนไทยในสหรัฐฯ ก็งั้นๆ ไม่ได้บ่งบอกถึงความชำนาญงานด้านนี้ นอกจากนั้นก็ยังไม่ได้ระบุชัดเจนในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะบอกก็เพียงว่า จะใช้ระบบวิดีโอเท็กซ์เหมือนกับกลุ่มเอทีแอนด์ที แต่จะเป็นระบบวิดีโอเท็กซ์ของใคร กลุ่มนี้จะระบุชัดเจนอีกทีหลังเซ็นสัญญา คือก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2528...” ผู้ที่ทราบเรื่องเล่าเบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม มีกรรมการ 2 คนที่ค้านว่า ถ้าไม่เอาเอทีแอนด์ทีก็ควรเอากลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ กรรมการ 2 คนนี้คือ มานิตย์ ทวีลาภ กับ วิฑู รักษ์วนิชพงศ์

ส่วนกรรมการอีกคนคือ สืบสาย ทรงสุรเวช นั้นไม่ได้แสดงความเห็นระบุลงไปชัดเจน

เมื่อเสียงหนุนสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่และเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ก้ำกึ่งกัน ก็ได้มีการแสดงความเห็นว่า น่าจะมีหนังสือไปถึงกลุ่มเอทีแอนด์ทีเพื่อให้ทบทวนข้อเสนอบางข้อเสียใหม่ เพราะมิฉะนั้นการเลือกกลุ่มที่ไม่ได้เสนอผลตอบแทนสูงสุด โดยไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นมาหักล้าง เรื่องก็อาจจะถูกโยนกลับมาจากผู้ใหญ่ระดับสูงก็เป็นได้

ในการประชุมของคณะกรรมการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการจึงได้มีหนังสือขอให้กลุ่มเอทีแอนด์ที ไขข้อข้องใจจำนวน 8 ข้อให้หายสงสัย คือ...

1. เอทีแอนด์ที จะต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญาด้วยตนเอง จะให้เอทีทีไอ ไทยมีเดีย ไม่ได้

2. ยืนยันว่าจะให้รายได้ตามที่เสนอมา ไม่ว่าองค์การโทรศัพท์จะขยายการติดตั้งคู่สายเพิ่มหรือไม่ในอนาคต

3.ให้รับภาระภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องที่แทนองค์การโทรศัพท์

4. ยืนยันส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่เสนอชุดที่ 2 (ระยะเวลา 10 ปี) แม้ว่ารายได้จริงๆ
จะต่ำกว่าที่เอทีแอนด์ทีประมาณการไว้ในอนาคต

5. ยืนยันการส่งเงินส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรวม 5 ปี จำนวน 1,672 ล้านบาท

6. ชี้แจงรายละเอียดการจัดการโรงพิมพ์ พร้อมทั้งแผนงานในด้านการพิมพ์ให้ ทศท.

7. ให้ยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคาทุกๆ ประการ

8. ให้ส่งหลักฐานของการขออนุญาตการประกอบธุรกิจการพิมพ์และการโฆษณาจากกระทรวงพาณิชย์มาให้ ทศท.

เมื่อแรกที่มีการยื่นข้อข้องใจทั้ง 8 ข้อ ไปให้เอทีแอนด์ที นั้นก็ดูเหมือนจะเชื่อๆ กันว่า เอทีแอนด์ทีไม่มีทางที่จะตอบรับกลับมาได้ทั้งหมด

โอกาสของกลุ่มเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ และกลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ จึงพูดกันว่าน่าจะมีมากขึ้น

“กลุ่มสยามเทเลโฟนฯ นั้นน่ะเขาไม่สู้กระตือรือร้นมาก เพราะเขาคิดว่า ถ้าได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ในส่วนลึกๆ เขาเชื่อว่าเขาจะไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่สำหรับเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ เขาฮึดสู้มาโดยตลอด เมื่อเอทีแอนด์ทีเจอปัญหาแบบนี้เขาจึงพยายามออกแรงลุ้นมากขึ้น...” แหล่งข่าวที่อยู่วงในบอกกับ “ผู้จัดการ”

แต่ในที่สุดเรื่องที่ใครบางคนไม่อยากให้เป็นไปก็เป็นไปขึ้นจนได้!

วันที่ 1 ตุลาคม 2527 ภายหลังจากที่เอทีแอนด์ทีนำปัญหาทั้ง 8 ข้อไปขบคิดเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตอบยืนยันยินดีปฏิบัติตามข้อข้องใจของคณะกรรมการทุกข้ออย่างปราศจากเงื่อนไข

นักสังเกตการณ์หลายคนซึ่งติดตามเรื่องการเปิดประมูลครั้งนี้มาตลอดตั้งแต่ต้น เชื่อกันว่าอย่างไรเสียคณะกรรมการฯ ก็คงจะต้องโยนเรื่องทั้งหมดไปให้พลตรีประทีป ชัยปานี ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์เป็นผู้ชี้ขาดอีกชั้น

และก็เป็นไปได้อย่างมากที่ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์อาจจะต้องขอให้คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์เป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้าย

เอทีแอนด์ทีอาจจะยังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทุกๆ กลุ่ม เพราะผลตอบแทนที่จะให้องค์การโทรศัพท์นั้นสูงกว่ากันลิบลับ ส่วนข้อจำกัดอื่นๆ ก็สามารถจัดการแก้ไขได้ครบถ้วน การจะยกกลุ่มอื่นมาแทนเอทีแอนด์ที จึงออกจะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อคำครหาเป็นที่สุด

แต่ให้ตายเถอะ...แม้แต่ เอทีแอนด์ทีเองก็คงไม่กล้าเชื่อมั่นในฐานะเต็งหนึ่งของตนได้อย่างเต็มเปี่ยมเป็นแน่...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.