มองทะลุมิติ AEC Financial

โดย สุภัทธา สุขชู นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

การเดินทางของผู้บริหารเมย์แบงก์ สถาบันการเงินอันดับหนึ่งของมาเลเซีย เข้ามาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย หลังจากซื้อบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนของสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศอาเซียนทวีความเข้มข้นมากขึ้น

เมย์แบงก์ไม่ใช่สถาบันการเงินแห่งแรกที่เห็นโอกาสในการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่เปิดให้มีการเปิดเสรีการค้าและบริการในภูมิภาคนี้

หากแต่เชื่อว่ากลุ่มสถาบันการเงินใน 10 ประเทศที่รวมตัวกัน ต่างก็เริ่มเห็นโอกาสของการเปิดเสรีในครั้งนี้ ทว่าโอกาสที่มองเห็นต้องขึ้นอยู่กับการผลักดันนโยบายระดับประเทศ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะต้องมองผ่านทะลุปัญหาหรืออุปสรรค และกำหนดแผนออกมาเป็นเชิงยุทธศาสตร์

เหมือนดั่งเช่นในปัจจุบัน การเจรจาการเปิดการค้าเสรีในอาเซียนจะทยอยเปิด โดยเฉพาะด้านภาคการค้าที่กำหนดกรอบเวลาชัดเจน 2015 (ปี 2558) แต่ในส่วนภาคบริการ โดยเฉพาะการเปิดเสรีด้านการเงินยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร และข้อตกลงให้มีการยืดหยุ่นไปถึงปี 2020 (2563)

หากมองตามระเบียบกฎการเจรจาค้าเสรีภาคบริการ การเงินอย่างตรงไปตรงมา จะเห็นว่าธนาคารแห่งชาติของ 10 ประเทศยังต้องการปกป้องสิทธิในส่วนนี้ เพราะถือว่าสถาบันการเงินเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะที่การเปิดเสรีการเงินถูกปิดบังไว้ แต่ในทางตรงกันข้ามกลุ่มประเทศในอาเซียน และสถาบันการเงินระดับโลก ไม่ได้ละเลยที่จะมองหาโอกาสด้านอื่นๆ ให้เข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันการเงินระดับโลก หรือแม้แต่ในระดับภูมิภาคอาเซียน ต่างก็มีการขยับอยู่ตลอดเวลา อาทิ ธนาคาร HSBC และ Citi Bank ค่อนข้างเห็นชัดสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และครอบคลุมอาเซียน ส่วนธนาคารในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนเป็นรายแรกๆ เช่น ธนาคารยูโอบี ธนาคารดีบีเอส และ ธนาคารโอซีบีซี ซึ่งธนาคารทั้ง 3 แห่ง ล้วนมาจากสิงคโปร์

และธนาคารจากประเทศมาเลเซีย กำลังเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารเมย์ แบงก์

การเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินในสิงคโปร์และมาเลเซียในประเทศไทย น่าจะเป็นกรณีศึกษาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของสถาบันการเงินเหล่านี้ โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีเข้าซื้อกิจการ

ดีบีเอส แบงก์เข้าซื้อกิจการธนาคารไทยทนุ ในปี 2541 ส่วนธนาคารยูโอบีซื้อกิจการธนาคารรัตนสิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ซื้อกิจการธนาคารไทยธนาคาร และเมื่อต้นปี 2555 เมย์แบงก์ ซื้อกิจการ บล.กิมเอ็ง และเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด

ยุทธศาสตร์เข้าซื้อกิจการทำให้แบงก์สิงคโปร์และมาเลเซีย ล้วนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กุมอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ ท้ายที่สุดกลายเป็นเครือข่ายหนึ่งของสิงคโปร์และมาเลเซียไปโดยปริยาย

การเข้าซื้อกิจการธนาคารไทยของทั้ง 2 ประเทศ เปิดโอกาสให้สามารถบริการทางด้านการเงินแทบจะเรียกได้ว่าเทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์ไทย

การเข้าไปเปิดให้บริการทางด้านการเงินของสิงคโปร์ และมาเลเซีย ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ใช้โอกาสและจังหวะที่เหมาะสมอยู่เสมอ แม้แต่กลุ่มประเทศอาเซียนอีก 4 แห่งที่เรียกว่า CLMV เข้ามาร่วมล่าสุด เช่น เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม ทั้งสองประเทศก็มิได้ละเลยแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน เมื่อหันมามองยุทธศาสตร์ของสถาบันการเงินไทยในอาเซียน จะพบว่ามีโมเดลธุรกิจแตกต่างจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

ธนาคารที่ประกาศชัดเจนจะรุกไปอาเซียนมี 2 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย มีทั้งสาขาและพันธมิตร ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ แม้จะเปิดบริการด้านการเงินใน 3 ประเทศ มีสาขาในลาว หรือก่อตั้ง ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 100% (ธนาคารในเครือ) รวมทั้งร่วมทุนก่อตั้งธนาคารวีนาสยาม มีสัดส่วนการถือหุ้น Vietnam Bank for Agricultural and Rural Development ถือร้อยละ 34 กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ป และธนาคารไทยพาณิชย์ถือรายละร้อยละ 33 แต่นโยบายของแบงก์ก็ยังไม่ชัดเจนในการทำธุรกิจในอาเซียนมากนัก

ส่วนแผนธุรกิจของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย มีความเหมือนกันคือ การเข้าไปรุกตลาดอาเซียนก็เพื่อติดตามลูกค้า ส่วนความแตกต่างกันคือ ธนาคารกรุงเทพจะเข้าไปตั้งสาขาและตั้งสำนักงานตัวแทน ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีโมเดลธุรกิจหลักคือร่วมมือกับสถาบันการเงินท้องถิ่น เพื่อดูแลลูกค้าของแต่ละประเทศที่ข้ามไปลงทุน

ในขณะที่แผนธุรกิจของสถาบันการเงินของมาเลเซียมีนโยบายให้ธนาคารรายเล็กๆ รวมตัวกันให้เป็นธนาคารขนาดใหญ่ และเปิดให้กองทุนต่างๆ เข้ามาถือหุ้นและร่วมผลักดันให้สถาบันการเงินให้ออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ

มีแนวโน้มว่า แม้จะไม่มีการเปิดเสรีในเร็วๆ นี้ แต่สถาบันการเงินของฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย จะเริ่มเก่งมากขึ้น ถ้าหากสถาบันการเงินประเทศไทยไม่ปรับตัวและอ่อนแอจะสร้างความได้เปรียบให้กับสถาบันการเงินที่เข้ามาแข่งภายในประเทศ รวมถึงการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด กล่าวกับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ว่า การบุกตลาดอาเซียนของสถาบันการเงินไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ค่อนข้างล้าหลัง เนื่องจากมุ่งเน้นทำตลาดในประเทศและพึงพอใจกับผลประกอบการ และกำไรในปัจจุบัน

ในมุมมองของ ดร.เศรษฐพุฒิมองว่า การเปิดเสรีการเงินจะเปิดในส่วนของตลาดทุนมากกว่า เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ส่วนสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคาร จะยังไม่เปิดเนื่องจากธนาคารชาติแต่ละประเทศยังกีดกันเพราะมองว่าบริการด้านการเงินเป็นเรื่องของการแข่งขันของคู่แข่งมากกว่าเป็นการเปิดเสรี

อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีด้านหลักทรัพย์ เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของตลาด หลักทรัพย์อาเซียนครั้งที่ 16 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปลายเดือนเมษายน มีข้อตกลงร่วมกันของตลาดหลักทรัพย์ 7 แห่ง 6 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งของเวียดนาม ได้แก่ ฮานอย และโฮจิมินห์

โดยให้มีการดำเนินการจัดทำ โครงการเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์อาเซียน (ASEAN Trading Link) มีมาเลเซีย และสิงคโปร์นำร่องเป็นคู่แรก เริ่มเปิดซื้อขายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเชื่อมโยงการซื้อขายในเดือนสิงหาคมนี้

แมกนัส บอคเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ กล่าวในนามผู้แทนของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนว่า ความร่วมมือของสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่จะเปิดโครงการ ASEAN Trading Link นี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่การขจัดอุปสรรคของการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน การเชื่อมโยงการซื้อขายนี้ จะทำให้นักลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงทางเลือกการลงทุนที่กว้างขึ้น และสามารถได้ประโยชน์จากการเติบโตของภูมิภาคนี้ ตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่งที่เข้าร่วม ASEAN Trading Link ในระยะแรกนี้ มีมูลค่าหลักทรัพย์ราคาตลาดรวมคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่ารวม 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่ง

การร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง แต่สถานการณ์โดยรวมการเจรจาการเปิดเสรีด้านการเงินใน AEC มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย มีคณะทำงาน 3 กลุ่ม คือ 1. คณะทำงานเปิดเสรีตลาดทุน (Capital Liberalization) 2. คณะทำงานภาคบริการ การเงิน (Financial Service Liberalization) และ 3. คณะทำงานนโยบายชำระเงิน (Capital Market Development) อยู่ในส่วนของตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์

ในส่วนของภาคการเงินจะยังไม่เปิดเสรีในปี 2015 แต่จะยืดระยะเวลาออกไปเปิดในปี 2020 ส่วนในปี 2015 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าเป็นหลักที่เจรจาสืบเนื่องมาหลายปี

เหตุผลในการยืดการเปิดเสรีการเงินออกไปอีก 5 ปีนั้น เพราะการเจรจายังไม่มีรายละเอียดลงแนวลึก โดยเฉพาะข้อกำหนดที่เรียกว่า Qualified ASEAN Bank: QAB คือการกำหนดคุณสมบัติของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว เนื่องจากต้องการปกป้องผลประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินใน 10 ประเทศ โดยไม่ต้องการให้สถาบันการเงินนอกประเทศมาสวมสิทธิของ AEC

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เปิดเสรีทางด้านการเงิน และกำหนดกรอบของ QAB ได้แล้ว ภาพของสถาบันการเงินใน 10 ประเทศ สามารถเข้าไปตั้งธนาคารพาณิชย์ได้เฉกเช่นเดียวกับแบงก์ท้องถิ่น

แม้ว่ากฎระเบียบต่างๆ ของสถาบันการเงินอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่ดูเหมือนว่าสถาบันการเงินจากสิงคโปร์ และมาเลเซียจะช่วงชิงโอกาสด้วยการวางรากฐานไม่ว่าจะเข้าไปซื้อกิจการ ตั้งสาขา หรือตั้งสำนักงานตัวแทน รวมทั้งร่วมทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมานานพอสมควร

หากเปรียบเทียบขนาดสินทรัพย์ ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดเล็กกว่าสิงคโปร์ 3.6 เท่า และเล็กกว่ามาเลเซีย 1.7 เท่า ดังนั้น AEC จะสร้างโอกาสให้ธนาคารไทยได้มากน้อยเพียงใด

นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ จึงเลือกวาระดังกล่าว เพื่อนำเสนอให้เห็นยุทธศาสตร์ของ 4 ธนาคารใน 2 ประเทศ คือ เมย์แบงก์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ประเทศมาเลเซีย และธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ประเทศไทย มีมิติในการมองตลาด AEC อย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.