ตั้งรับ AEC

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

การวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความได้เปรียบในช่วงที่กำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของกลุ่มประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN) 10 ประเทศ เพื่อก้าวเข้าไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในอีกไม่ถึง 3 ปีที่จะถึงนี้ ทั้งของภาครัฐและเอกชนในกลุ่มนี้ ดูมีความคึกคักเป็นพิเศษในระยะนี้

โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชนของไทย

ภาครัฐเริ่มมีการจัดทัพ นำนักธุรกิจออกไปแสวงหาลู่ทางทำธุรกิจในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะพม่า ที่เพิ่งกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง หลังจากปิดไปนานกว่า 20 ปี

ภาคเอกชนก็เริ่มที่จะออกไปสร้างเครือข่ายหาพันธมิตร เพื่อหวังว่าเมื่อ AEC เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริง จะสามารถพานพบกับโอกาสในตลาดที่กว้างใหญ่ ประชากรรวมถึงกว่า 600 ล้านคนแห่งนี้ ข่าวคราวประเภทนี้ ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะในรอบ 1 ปีเศษที่ผ่านมา

ข้อสังเกตที่เราอยากตั้งเอาไว้เป็นคำถามที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ณ วันนี้ ก็คือ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ กระทำช้าไปหรือไม่...?

การออกมาแสวงหาโอกาส สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เปิดตลาดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับองค์กรต่างๆ ใน 10 ประเทศของ ASEAN นั้น สำหรับภาครัฐและเอกชนของประเทศอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในกลุ่ม ASEAN หรือประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ พวกเขาได้ดำเนินการกันมาแล้วหลายปี เป็นการทำกันอย่างเงียบๆ ไม่เอิกเกริกให้เป็นข่าว เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับภาครัฐและเอกชนไทยในช่วงนี้

ณ วันนี้ คงยังไม่มีใครตอบได้ว่า เมื่อเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม 2015 (พ.ศ.2558) แล้ว ภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในประชาคมนี้จะเป็นอย่างไร

ยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ที่วางไว้สำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ใครจะประสบความสำเร็จ และใครบ้างที่อาจเรียกได้ว่าล้มเหลว เมื่อเข้าสู่ระยะนั้นจริงๆ แล้ว คำตอบคงทยอยปรากฏออกมาให้เห็น

โดยหน้าที่สื่อ เราคงทำหน้าที่รายงานปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในช่วงของการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน

เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผลสรุปของแต่ละองค์กรที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นั้นจะเป็นอย่างไร

เรื่องจากปกของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับนี้ ก็เป็นกรณีหนึ่งของการทำหน้าที่ของเราครับ

ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.