|
เพราะว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง สิทธิสตรีอยู่ห่างกว่าที่เราคิด
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่านผู้อ่านที่อ่านหัวข้อนี้อาจคิดว่าเป็นคอลัมน์ Women in Wonderland ของคุณศศิภัทราหรือเปล่า ไม่ก็คอลัมน์ Pathways to 2015 เปลี่ยนแนว ที่จริงผมเป็นแฟนคอลัมน์คุณศศิภัทรามาตั้งแต่เริ่ม ทำให้ผมสนใจแนวคิดเรื่องสิทธิสตรีไปด้วย เมื่อมามองประเทศไทยใน พ.ศ.2555 อาจจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเราน่าจะเป็นผู้นำด้านสิทธิสตรีในเอเชียเพราะเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเพียงประเทศเดียวที่มีผู้นำทางการเมืองเป็นผู้หญิง ตรงนี้ไม่รวมอินเดียกับบังกลาเทศเพราะอยู่ในเอเชียใต้นะครับ บรรดานักบริหารในไทยไม่ว่าจะวงการใดต่างมีสุภาพสตรียืนอยู่หัวแถวจนแทบจะเรียกได้ว่า เรามาถูกทางแล้ว
นั่นเป็นเพียงภาพลวงตาที่แสนงดงาม ขณะที่ผมอ่านสื่อกระแสหลักในบ้านเราทำให้ผมเริ่มเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศ อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านสิทธิสตรีโลกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แม้ว่าเราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิง CEO หญิง ผู้บริหารหญิงแบบต่างประเทศ แต่สิ่งที่ออกมา ทั้งจากสื่อและคนที่สื่อให้น้ำหนักกลับเป็นไปอย่างน่าสมเพชภูมิปัญญาของคนที่ออกสื่อหรือ วิจารณ์อย่างช่วยไม่ได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจหรือสื่อมวลชนโดยเฉพาะกรณีโฟร์ซีซั่นที่พยายามโยงให้เป็นเรื่องใต้สะดือ รวมถึงการโกหกพกลมว่า ชั้น 7 ไม่มีห้องประชุมทั้งๆ ที่โรงแรมเขาประกาศหรา อยู่ในเว็บไซต์ว่ามีห้องประชุม ในทางกลับกันถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผู้ชายผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นข่าวหรือไม่ เพราะถ้าโรงแรมมีห้องอาหารก็ไม่น่าจะมีปัญหายกเว้นแต่มีห้องนอนอย่างเดียว แล้วนักการเมืองผู้ชายกับนักธุรกิจหนุ่มสองคน เข้าไปในห้องสักสองชั่วโมง ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นข่าวหรือไม่ เพราะกรณีตุ๋ยกันหรือสร้างข่าว ตุ๋ยกันไม่เคยเป็นประเด็นทางการเมืองสักที แต่ที่รายการสายล่อฟ้าพูดๆ กันผมคนหนึ่งล่ะที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นแฟนรัฐบาลแต่ก็รับไม่ได้กับคำพูดและการกระทำของพิธีกรสามท่าน จากพรรคฝ่ายค้าน
เวลาที่ผมมอง สื่อบันเทิงที่มีกระแสอย่างมากทั้งเรื่อง 30+ โสดออนเซลส์ รักสุดท้ายป้ายหน้า 30 กำลังแจ๋ว หรือ ATM เออรักเออเร่อ ที่มีเสียงตอบรับอย่างดีจากสื่อมวลชน แฟนละครตอบรับอย่างรุนแรง มุมมองต่อสตรีในสังคมไทยยังคงล้าหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่หลายสิบปี ผมขออนุญาตเอาหนังที่มีชื่อ 4 เรื่องนี้มาแตกเป็นประเด็น เพราะ review ภาพยนตร์ทั่วไปมีแต่มุมมองด้านบันเทิงแต่ลืมมองรากเหง้าของปัญหาในสังคมไทยอย่างแท้จริง เริ่มจาก 30+ โสดออนเซลส์ที่แม้จะเน้นความน่ารักและตลก ที่จริงแล้วเป็นการตอกย้ำเรื่องที่เรามักจะ stereotype ผู้หญิงไทยเสมอ เรื่องแรกคงไม่พ้นเรื่องคาน แม้ว่าเราจะเอามาเป็นเรื่องตลก แต่ที่จริง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือสังคมของเรากับการแต่งงานและหน้าที่ของผู้หญิงหลังการแต่งงาน ภาพที่ออกมาไม่แปลกเลยว่า จะสะท้อนความต้องการอย่างแรงกล้าในการที่จะหาผู้ชายสักคนมาเป็นคู่ชีวิต ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดแบบโบราณอย่างที่เราเห็นกันในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างแรงกดดันให้ผู้หญิง หาคู่ก่อนอายุ 25
ผมจำได้ว่าเคยสัมภาษณ์นักศึกษาผู้หญิงชาวญี่ปุ่นเพื่อเข้าเรียนโดยมีคำถามว่า พวกเขาอยากเป็นอะไรในอนาคต ปรากฏว่า จำนวนมากต้องการแต่งงาน และเป็นแม่บ้าน เช่นเดียวกับบ้านเราที่จะเห็นผู้หญิงในต่างจังหวัดแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย ขณะที่ในเมืองหลักๆ จะไปสร้างแรงกดดันที่ผู้หญิงอายุ 30 โดยที่ไม่ได้มองคุณค่าที่แท้จริงของพวกเธอ โดยเฉพาะคุณค่าที่มีต่อประเทศชาติทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ
ขณะที่ theme ของรักสุดท้ายป้าย หน้า หรือ 30 กำลังแจ๋ว ได้ตอกย้ำสังคมของ เราว่าเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีสิทธิน้อยกว่า ผู้ชายในทุกๆ ด้าน ผมขอให้ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่าทั้งสองเรื่องเกิดจากผู้หญิงวัยทำงานที่มีอายุมากกว่าพระเอกแต่ตกหลุมรักกันท่ามกลางกระแสต่อต้านจากสังคม ตามสโลแกนที่ว่า ป้ายหน้าขอให้รอด เมื่อดูภาพยนตร์ทั้งสอง เรื่องก็กลับมาคิดว่าหากคนวัย 30 เป็นเจ้าหน้าที่ระดับที่สูงกว่ากับเจ้าหน้าที่เข้าใหม่วัย 22 เข้ามาทำงานและรักกัน แต่ถ้าคนที่อายุ มากกว่าเป็นผู้ชาย จะเป็นประเด็นจนต้องไปทำภาพยนตร์หรือไม่ เช่นเดียวกับหญิงวัย 25 ไปรักเด็กหนุ่มวัย 18 กลายเป็นหนังที่ว่าป้ายหน้าจะรอดหรือไม่ แต่ถ้าชายหนุ่มวัย 25 ไปชอบหญิงวัยรุ่นอายุ 18 อาจจะดูไม่งาม แต่สังคมเรารับได้ไหม ถ้าผู้ชายทำได้ ทำไมผู้หญิง จะรักผู้ชายที่อายุน้อยกว่าไม่ได้
เมื่อกลับมามองสังคมเอเชียทำให้ทราบว่าความเท่าเทียมของชายหญิงนั้นห่างจากฝรั่งจนน่าตกใจ ผมจำได้ว่าภาพยนตร์ที่ทำให้ผมคิดถึงสถานะของสตรีนั้นมีอยู่มาก ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย ในญี่ปุ่นผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยอ่านเรื่อง Maison Ikkoku นางเอกมีอายุมากกว่าผู้ชาย 2 ปี เป็นแม่ม่าย ทำให้ถูกจับตามองจากสังคมญี่ปุ่น
เมื่อหันกลับมามองในบ้านเราก็จะเจอเรื่องแปลกประหลาด เช่น ข่าวของอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่วัยกว่า 50 กำลังจะแต่งงานกับว่าที่เจ้าสาววัย 25 ซึ่งเป็นลูกศิษย์มาก่อน สื่อหลายกระแสต่างออกมาชื่นชม แต่ถ้าเราหันมามองในมุมกลับกันว่าถ้ามีอาจารย์หญิงวัย 50 จะวิวาห์กับลูกศิษย์หนุ่มที่จบไปแล้วด้วยวัย 25 บ้าง ผมไม่เชื่อว่ามีสื่อไหนจะออกมายกย่องว่าอาจารย์หญิงที่ผมสมมุติว่าจะเป็นอมตะหรืออาเจ้แกช่างมีบุญเพราะได้แฟนเด็กแบบที่ตลกชอบพูดกันแน่นอนเรื่องอาจารย์แต่งงานกับลูกศิษย์ในบ้านเรา แม้จะไม่ฉาวโฉ่จนเป็นประเด็น แต่เท่าที่ทราบก็มีไม่น้อย จนบางคนเอาชื่อสถาบันที่เกิดเรื่องแบบนี้ บ่อยๆ มาล้อเลียนว่าเป็นโรคประจำสถาบัน ในขณะที่หลายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในต่างประเทศการที่อาจารย์และนักศึกษาจะมีความสัมพันธ์แบบนั้นสามารถนำไปฟ้องศาลได้ทีเดียวเพราะเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ครั้งที่ผมสอนอยู่ในต่างประเทศ บางครั้งที่มีนักศึกษาต่างเพศเข้ามาหาอาจารย์จำเป็นต้องเปิดประตูหรือแง้มไว้เพื่อป้องกันข้อครหาทั้งปวง
ผมจำได้ว่าราวๆ 20 ปีก่อนเคยมี ภาพยนตร์ออสเตรเลียเรื่อง The Heartbreak Kid ที่เล่าถึงความรักระหว่างครูสาวที่จบใหม่กับเด็กนักเรียนเกรด 12 ที่สร้างความฮือฮาในออสเตรเลียเกี่ยวกับรักต้องห้ามที่เห็นตามหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ในทางกลับกันแม้แต่ผู้ชายเองก็ไม่สามารถที่จะหนีศีลธรรมทางสังคมในเมืองฝรั่งได้เหมือนกับในเอเชีย
ภาพยนตร์เรื่อง ATM แม้จะสร้างมาเพื่อความตลกเป็นที่ตั้งก็ไม่พ้นที่จะทำให้ผมเขียนถึงภาพผู้หญิงในหนังเรื่องดังกล่าว ไม่ว่า จะเป็นการที่เจ้านายสาวสวยโดนลูกน้องผู้ชาย ที่แสนจะลามกมองอย่างมีความต้องการทางเพศ หรือพระเอกซึ่งเป็นลูกน้องของนางเอกปฏิเสธการลาออกจากงานเพราะไม่เห็นด้วยว่าผู้ชายต้องมาให้ผู้หญิงเป็นแกนหลักในการหาเงินทั้งๆ ที่นางเอกในเรื่องเป็นคนที่เก่งกว่า ฉลาดกว่า และตำแหน่งสูงกว่าพระเอกก็ตาม ทั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นแนวคิดหลักของสังคมว่า แม้ในภาพรวมเราจะยอมรับด้วยเหตุผลว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อยสามารถเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำได้ดีกว่าผู้ชาย แต่ในทางอารมณ์ลึกๆ ในสังคมของเรา กระแสการไม่ยอมรับผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้นำหรือผู้บริหารก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย
แม้แต่นักพูดทอล์กโชว์ที่มีชื่อเสียงอย่างอุดม แต้พาณิช สามารถนำเสนอเรื่อง ผู้หญิงออกมาได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องอาร์ต ตัวแม่ไปจนถึงสิทธิสตรีในภาคล่าสุด แม้ว่าใน เชิงความบันเทิง ผมออกจะสนุกและเห็นคล้อย ไปกับคุณอุดมในหลายประเด็นที่ทำให้อดหัวเราะไม่ได้ในสำเนียงและแนวคิดแบบประชด ประชัน ไม่ว่าจะการละเล่นของผู้หญิงในวัยเด็ก หรือความเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองในหลายๆ เรื่อง แต่ที่น่าสนใจคือนักสิทธิสตรีหลายคนมองว่าเรื่องตลกที่เราได้ยินจากอุดม แท้จริงแล้วคือพื้นฐานทางความคิดของพวกสิทธิสตรีแบบ Different Feminism ที่เชื่อว่าเพราะผู้หญิงเริ่มจากการละเล่นที่ไม่ใช้ความรุนแรงแบบเด็กผู้ชาย ทำให้พวกเธอเป็นนักบริหารที่มีความประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย
ขณะที่สาย Liberal Feminism ก็มองว่าเมื่อผู้ชายทำได้ผู้หญิงก็ต้องทำได้ เมื่อผู้ชาย เป็น CEO ได้ผู้หญิงก็เป็นได้ แม้ว่าแนวคิดโดย รวมจะเป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้ แต่เราก็ต้องยอม รับว่าแนวคิดผู้หญิงเก่ง หลายครั้งก็เหมือนโครงการเรียกแขกให้ออกมาโจมตีผู้หญิง โดยแขกที่ว่าก็คือ บรรดาผู้ชายที่ไม่เห็นด้วยกับผู้หญิงเก่งมาเป็นหัวหน้า ที่น่าสนใจคือผู้หญิงบางกลุ่มก็วิจารณ์ไม่แพ้กัน แต่ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องอิสตรีจึงไม่ขอวิจารณ์ในประเด็น ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ทำให้เกิดรายการ ขุดเจาะข้อเสียของผู้หญิงออกมาสาดโคลนกัน แม้ในความเป็นจริงแล้ว การขุดเรื่องออกมาสาดโคลนนั้นทั้งชายและหญิงอาจจะไม่ได้เอามาจากพื้นฐานของเหตุผล ตรงนี้ผมไม่ได้ว่าผู้ชายเพียงกลุ่มเดียวนะครับ แต่ทั้งสองเพศ เวลาที่ไม่พอใจอะไรอาจจะเกิดมาจากเรื่องอารมณ์ล้วนๆ เพราะเวลาที่เราใช้อารมณ์เหนือ เหตุผลบางครั้งอาจจะมองข้ามข้อดีของคนอื่น ไป เรื่องไม่ดีที่เอามาพูดกลับกลายเป็นเรื่องที่มีมูลความจริงอยู่น้อยแต่มีเรื่องของอารมณ์อยู่มาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องที่ทำให้คนหัวเราะยกเมืองคือเรื่องอิสตรีที่คุณอุดมพูดนั้น หลายคนอาจจะขำเรื่องแม่บ้านที่สามารถเข้าออกอาละวาดในห้องน้ำชาย ถ้ามองกลับกัน บางอาชีพจะหาผู้ชายทำได้ไหม เช่น แม่บ้าน คนทำความสะอาดห้องน้ำก็อาจจะมีบ้าง แต่สังคมไทยรับได้มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ผมไม่โทษเพศหรือฐานะ แต่อยากให้หันมามองว่าสังคมเรามีทัศนคติเรื่องเพศมากน้อยขนาดไหน แล้วทำไมถึงยัดเยียดงาน บางอย่างให้กับสตรี เพศ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องห้องน้ำ ถ้าเอาตามที่คุณอุดมพูด ผมเชื่อว่าคนไทยร้อยละ 70 เป็นอย่างน้อยต้องเห็นตามคุณอุดมว่าผู้หญิงทำงานเป็นแม่บ้าน ผู้ชายทำไม่ได้เป็นการละเมิดทางเพศของบุรุษ
ถ้ามองอีกประเด็นคือ สังคมเราแบ่งแยกเรื่องเพศมากไปหรือไม่ ในไทยอาชีพทหาร หรือตำรวจ หากมีผู้หญิงเป็นหน่วยรบ กองปราบ ต้องเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตำรวจหรือทหารหญิงมักจะอยู่หน่วยพยาบาล แพทย์หรือเสนารักษ์ กองทะเบียน กฎหมายหรือพระธรรมนูญ อย่างมากก็ไม่เกินจราจร ส่วนตำรวจหญิงเก่งกาจยิงผู้ร้ายกระจายเห็นจะมีแต่ในจอโทรทัศน์ ในทางกลับกันที่ประเทศนิวซีแลนด์หรือออสเตรเลียตำรวจหญิงมีทั้งกองปราบ ปราบปรามยาเสพติด ส่วนทหารนั้นประเทศที่สิทธิสตรีสูงที่สุดในโลก ทหารหญิงอยู่หน่วยรบ จู่โจม ทั้งทหารราบ ม้า ปืน ต่างมีอยู่ครบ ในเรือนนอนก็ไม่มีแยกชายหญิง เวลาออกปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถนอนเต็นท์เดียวกันได้ ถามว่าถ้าทำในบ้านเราจะเป็นปัญหาหรือไม่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เพศหรืออาชีพ แต่อยู่ที่สังคมเรายอมรับและเคารพความเท่าเทียมกันของผู้ชายกับผู้หญิงได้จริงหรือไม่
ในทางกลับกันเรื่องของห้องน้ำที่เป็นที่หัวเราะในเดี่ยวไมโครโฟน 9 ไม่แพ้มุกอื่นๆ ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผม เนื่อง จากผมเคยอยู่ต่างประเทศมานานหลายปีจนลืมๆ คิดเรื่องนี้ไป เนื่องจากในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นมีห้องน้ำอยู่สองแบบคือ แบบแบ่งเพศเหมือนในบ้านเรา กับห้องน้ำรวม ทุกเพศหรือที่เรียกว่า Unisex ตรงนี้อาจเริ่มจาก ห้องน้ำในปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก ซึ่งคงจะแบ่งเพศ ยากเหมือนห้องน้ำบนเครื่องบินหรือรถประจำทาง อย่างไรก็ตาม concepts ดังกล่าวขยาย ไปอย่างรวดเร็ว เช่น สวนสาธารณะในเมือง Palmerston North ของนิวซีแลนด์ก็เป็นห้องน้ำ Unisex หรือตอนที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่ที่ Bruce Hall ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรเลีย ก็มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำรวม โดยเป็นห้องอาบน้ำหลายๆ ห้องแต่รวมชายหญิงด้วย ความที่ผมชินกับระบบดังกล่าวก็ไม่เคยคิดว่ามันแปลกประหลาดอะไร นักศึกษาทั้งชายหญิงฝรั่งเอเชียคนผิวสีก็เดินเข้าออก เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง มีนักศึกษาหญิงจากญี่ปุ่นที่มาแลกเปลี่ยนเดินสวนกับผมในห้องน้ำแล้วโวยวายไปถึงหอพักว่า ทำไมห้องน้ำหญิงชายรวมกัน ลามไปจนถึง ทำไมคนทำความสะอาดห้องน้ำหลายแห่งเป็น ผู้ชาย การโวยวายดังกล่าวสร้างความขบขันให้กับชาวออสเตรเลีย เพราะเขาประกาศอยู่แล้วว่าเป็นห้องน้ำ unisex คนของเขาก็ใช้กันมานานไม่เห็นจะเป็นปัญหาเพราะต่างเคารพในสิทธิของเพศตรงข้าม
ในทางกลับกันผมเชื่อว่าที่นักศึกษา ญี่ปุ่นโวยวาย เพราะเขาคงไม่สบายใจที่มีเพศตรงข้ามมาอาบน้ำห้องข้างๆ ทั้งที่มีการปิดอย่างมิดชิด ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าคนเอเชียเราน้อย แต่เป็นเพราะการเคารพสิทธิของเพศตรงข้ามที่ผู้ชายเอเชียมีอาจจะต่ำกว่าฝรั่ง
ผมมองง่ายๆ ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยไหน ในเมืองไทย ประกาศว่าหอพักเป็นหอแบบรวม และห้องน้ำรวม ภาพที่ออกมาจากสื่อกระแสหลักคงจะเป็นหอหื่น หรือไม่ก็โดนโจมตีเกี่ยวกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
ถ้าหันมามองในอีกองศาหนึ่ง การมีหอพักและจัดห้องน้ำ ห้องอาบน้ำแบบไม่แบ่งแยกเพศ ทำไมผู้หญิงไทยต้องกลัวผู้ชาย ขณะที่ฝรั่งโดยเฉพาะประเทศที่สิทธิสตรีของเขาอยู่ระดับต้นๆ ของโลกไม่มีความกังวล ในส่วนนี้ ทำไมเราถึงต้องกลัว ผมคิดว่าผู้หญิงเอเชียกลัว การถูกละเมิดสิทธิเป็นเรื่องแรก เช่น โดนแอบ ถ่ายในห้องน้ำ โดนแอบถ่ายใต้กระโปรง
เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราได้ยินมามากในสังคมเอเชีย ในขณะที่ฝรั่งกลับกล้าที่จะนอนแก้ผ้าอาบแดดโดยไม่แคร์สื่อที่หาดหลายแห่งเพราะอย่างน้อยที่สุดผู้ชายฝรั่งเขาเคารพในสิทธิสตรีไม่ทำตัวเป็นสไปเดอร์แมนที่จ้องถ่ายคลิปสาวๆ เวลาอาบน้ำ
เมื่อเรามาเปรียบเทียบกรอบทางความคิดของผู้ชายต่อผู้หญิงในไทยกับประเทศ ที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าปัญหาทั้งมวลที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะผู้หญิงเรื่องมาก หรือเรียกร้องมากจนเกินควร แต่เป็นผู้ชายจำนวนมากที่ไม่เปิดใจยอมรับในสิทธิและความเท่าเทียมที่ผู้หญิงควรจะมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การเล่นการเมืองเรื่องใต้สะดือเป็นเรื่องที่ทำในไทย แต่ไม่มีในต่างประเทศ
คำดูถูกเหยียดหยามไม่ว่าจะเป็นหน้าตัวเมีย หรือไล่คนไปใส่กระโปรง ต่างเป็นคำพูดติดปากในการดูถูกสตรีเพศในสังคมไทย จะมีสักกี่ครั้งที่เราไล่คนไปใส่กระจับหรือกางเกง หรือด่าว่าหน้าตัวผู้
ความแตกต่างทางเพศในประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่เราจะมีนายกฯ หญิงกี่คน รัฐมนตรีหญิงเท่าไหร่ อยู่ที่ผู้ชายไทยเคารพในสิทธิของสตรีมากน้อยเพียงใด เราให้เกียรติผู้หญิงในสังคมของเราจากใจจริงมากเท่าไหร่ เพราะถ้าผู้ชายไม่ให้เกียรติและเคารพในจุดนี้ ไม่ว่าผู้หญิงจะเรียกร้องเท่าไหร่ พวกเธอก็จะไม่ได้เสียงตอบรับในทางที่ดีจากสังคมของเราเพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิงในสายตาของคนที่ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|