|
ปรากฏการณ์พลังงานที่หนองเสาเถียร
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพโรงไฟฟ้ากับโรงแยกก๊าซกลางทุ่งนากว้างใหญ่ใกล้กับชุมชนที่หนองเสาเถียร อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นภาพแปลกตาที่ดูขัดแย้ง แต่มาลงตัวอยู่ด้วยกันแบบที่ไม่เคยเกิดกับโรงไฟฟ้าที่ไหนมาก่อน แต่โรงไฟฟ้ารูปแบบนี้เป็นปรากฏการณ์ที่อาจจะได้เห็นเพิ่มขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นยากขึ้นทุกวัน จนอาจจะกลายเป็นรูปแบบ 1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้า อย่างที่มีหลายหน่วยงานเคยเสนอ ภายใต้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตที่แตกต่างกันไป
ใช่ว่าทุกที่จะตอบรับและสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าเหมือนที่หนองเสาเถียร
“ที่นี่ใช้เวลาประมาณ 2 ปีตั้งแต่เริ่มจนเป็นโรงไฟฟ้า ถือว่าเปิดได้เร็วมาก โดยทั่วไปเวลาบอกว่าจะเปิดโรงไฟฟ้า ถ้าไม่นับรวมคนต่อต้านอย่างไร้เหตุผล สิ่งที่คนไม่เชื่อจะมีแค่ 2 เรื่อง คือไม่เชื่อมั่นในระบบของการผลิตไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น กับไม่เชื่อมั่นในการบริหารงาน” ธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพลังงานเขต 6 กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงทัศนคติของประชาชนที่พบโดยทั่วไปเมื่อมีข่าวว่าจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตัวเอง
กระบวนการแก้ปัญหาหรือทำความเข้าใจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน จึงต้องรู้ปัญหาที่แท้จริงเพื่อแก้ไขได้ถูกจุด
ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่า ในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่ดูแลอยู่นั้น บางพื้นที่แค่พูดว่า “โรงไฟฟ้า” ก็ปิดประตูตาย ปฏิเสธอย่างเดียว ขณะที่บางแห่งก็พร้อมจะเปิดรับเต็มที่ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทุกฝ่ายต้องเปิดรับและฟังเหตุผล และคำนึง ถึงส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละฝ่ายอย่างแท้จริง
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ Ratch มีประสบการณ์มามากทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และการประสานงานกับชุมชนในท้องที่ เมื่อมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่หนองเสาเถียร หรือชื่อโครงการเต็มๆ ว่า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบแหล่งเสาเถียร-เอ” ระหว่างที่บริษัทเตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและ การลงทุนเรื่องอื่นๆ ในอีกด้านหนึ่งบริษัทก็ดำเนินงานด้านชุมชนสัมพันธ์ไปพร้อมกัน
“ถ้าไม่เชื่อระบบ ก็พาเขาไปดูระบบ” และนี่คือวิธีการหนึ่งของ Ratch ซึ่งมีการจัดพาชุมชนในพื้นที่ไปดูงานจากผลงานเก่าๆ ของบริษัท โดยเฉพาะที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ชุมชนเช่นกัน และเคยมีปัญหาต่อต้านแต่สุดท้ายก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่และสามารถเปิดดำเนินงานมาได้อย่างราบรื่น
นอกจากพาไปดูระบบ Ratch ยังจัดสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในชุมชนอย่างต่อเนื่องมาติดต่อกันกว่า 4 ปี รวมทั้งใช้นโยบายว่าจ้างคนในพื้นที่เข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าที่ตั้งขึ้นด้วย
โรงไฟฟ้าที่หนองเสาเถียร เป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำดิบ (Flare Gas) แหล่งเสาเถียร-เอที่อยู่ในแหล่งเอส 1 ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งขายก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการผลิตน้ำมันให้กับ Ratch เป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าแทนการนำเข้าน้ำมันเตาเป็นโครงการที่ 2 โดยเมื่อปี 2550 มีโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติที่เป็นผล พลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบแหล่งประดู่เฒ่า ซึ่งอยู่ในแหล่งเอส 1 เช่นกันไปแล้วหนึ่งโครงการ ซึ่งก๊าซธรรมชาติบางส่วนในโครงการนั้น ยังนำไปใช้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า โดยให้ชาวบ้านใช้ในการทอดกล้วย
นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัด การใหญ่ Ratch ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติแหล่ง เสาเถียร-เอ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มูลค่าโครงการประมาณ 190 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 24 ล้านหน่วย ต่อปี กำลังการผลิตประมาณ 4 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซวันละ 8 แสนลูกบาศก์ฟุตเป็นเชื้อเพลิง ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งเข้าระบบสายส่งของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้บริษัทราชบุรีพลังงาน ซึ่งเป็นบริษัทลูก ส่วนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งน้ำมันที่ประดู่เฒ่า ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอกงไกรลาศเช่นกัน ผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเฉลี่ยปีละ 18 ล้านหน่วย
รวมทั้ง 2 โครงการสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 42 ล้านหน่วย หรือมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6.3 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนการใช้งานในครัวเรือนได้ 7,000 ครัวเรือน ช่วยลดปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เดิมต้องเผาทิ้งวันละ 1.4 ล้านลูกบาศก์ฟุต และทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าลงปีละประมาณ 10.5 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันเตาที่ลดลงไปได้ 175 ล้านบาท
ตัวโรงงานมีการจัดการด้านสิ่งแวด ล้อม โดยปรับแต่งสัดส่วนของอากาศและเชื้อเพลิงในห้องเผาไหม้ให้เหมาะสมภายใต้การบำรุงรักษาที่ได้มาตรฐาน และป้องกันผลกระทบจากเสียงโดยการติดตั้งระบบ ควบคุมเสียง ไม่ให้ดังเกิน 70 เดซิเบล-เอ เท่ากับความดังของเสียงภายในสำนักงานทั่วไป โดยวัดจากระยะห่างจากรั้ว 10 เมตร
ทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้เป็นไปตาม นโยบายของกรมฯ ที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จึงเป็นการเสริมประสิทธิภาพของหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบ โดยนำก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบซึ่งเดิมต้องเผาทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
ขณะที่ประโยชน์อื่นๆ ที่ได้จากโครงการนั้น ยังคาดหวังถึงการเสริมความมั่งคงในระบบไฟฟ้าท้องถิ่น ให้ชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสามารถนำรูปแบบโครงการที่เกิดขึ้นไปเป็นต้นแบบในการเพิ่มเติมคุณค่าแหล่งทรัพยากรน้ำมันในแห่งอื่นๆ
โดยปกติในแหล่งน้ำมันดิบจะมีก๊าซ ที่เรียกว่า Flare Gas หรือ Associated Gas ซึ่งต้องเผาทิ้งเพราะถ้าปล่อยไปจะเป็น อันตรายเพราะอาจเกิดระเบิดเมื่อมีใครจุดไฟ และเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ก่อนตั้งโรงไฟฟ้าที่หนองเสาเถียรมี Flare Gas จากแหล่งน้ำมันดิบ ในพื้นที่ที่ต้องเผาทิ้ง 1 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน พอตั้งโรงไฟฟ้าก็ดึงไปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าได้ 8 แสน ลบ.ฟุตต่อวัน
“พอกรมฯ มีนโยบายให้ใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพเราก็คุยกับราชบุรีและ ปตท.สผ. ไม่อยากให้เผา Flare Gas ทิ้ง ถ้าเผาเยอะๆ เอาไปปั่นไฟดีกว่า เลยเกิดเป็นโรงไฟฟ้าขึ้น แท่นผลิตน้ำมันดิบเองก็ไม่ต้องซื้อไฟ แต่ก็ยังมีก๊าซฯ เหลือเผาทิ้งอีกไม่เกิน 2 แสนลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เราพยายามอัดกลับลงดินไปไล่น้ำมันพยายาม เพื่อให้มันพอดีที่สุด”
นับตั้งแต่แหล่งน้ำมันดิบแห่งนี้เปิดผลิตมาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2551 รวมแล้วมีปริมาณ Flare Gas ที่เคยถูกเผาทิ้งไปจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้านอกจากเกิดประโยชน์ยังสามารถ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้กว่า 3 หมื่นตันต่อปี ซึ่งบริษัทสามารถนำไปยื่นขอ CDM เป็นการสร้างรายได้กลับคืนสู่บริษัทมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทต่อปีได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทางฝั่ง ปตท.สผ. ไพโรจน์ แรงผล สัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่โครงการเอส 1 เล่าว่า การขุดเจาะสำรวจแหล่งน้ำมันดิบแต่ละหลุม โดยทั่วไปใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงราวๆ 1-2 ล้านบาท บางแหล่งอาจจะมี ปริมาณไม่มากพอที่จะลงทุนให้คุ้มทุน แต่ด้วยราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การตัดสินใจนำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ทำได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้บริเวณน้ำมันที่แหล่งเสาเถียร ถือเป็นแหล่งใหม่ที่งที่มีศักยภาพดี ยังเป็น Natural Flow หรือมีศักยภาพระดับที่ก๊าซไล่ขึ้นสู่ผิวดินได้เองโดยไม่ต้องปั๊ม ขณะที่แหล่งประดู่เฒ่าต้องใช้ปั๊ม
“ในโครงการเอส 1 จะมีแหล่งเล็กๆ ที่กระจายอยู่หลายจุด บางจุดก็ไม่คุ้มที่จะลงทุน ถึงแม้ว่าหลังจากที่เราซื้อแหล่งนี้ต่อมาจากไทยเชลล์ฯ แล้วสำรวจพบเชื้อเพลิงมากขึ้น จากเดิมที่เขามีกำลังการผลิต น้ำมันดิบได้เพียง 1.9-2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน พอคนของเราเข้ามาก็ทำได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน คาดว่าปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน เราจึงวางแผนรวบรวมเชื้อเพลิงที่ได้จากแต่ละ แหล่งให้ไปรวมอยู่ที่เดียวกันเพื่อหาวิธีจัด การให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”
แนวทางที่ ปตท.สผ.วางไว้คือ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท ทำการเดินท่อขนาด 3-5 นิ้วเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแต่ละจุดในแหล่งเอส 1 ไปรวมไว้ที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร โดยคาดว่าจะรวบรวมปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นได้อีกวันละ 10-15 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 22 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ส่วนจะนำไปผลิตไฟฟ้าหรือผลิตก๊าซ NGV จะพิจารณาจากความต้องการและนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก
“ใช้เวลาเดินท่อไม่นาน เราทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและยื่นเรื่องไปแล้วเป็นปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ถ้าผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก็พร้อมจะดำเนินการวางท่อส่งก๊าซได้เลย ซึ่งใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ ก็น่าจะแล้วเสร็จ” ไพโรจน์กล่าว
สิ่งที่ค้นพบจากปรากฏการณ์พลังงานที่หนองเสาเถียรดังกล่าวมานี้ ไม่ใช่แค่ภาพแปลกตาของโรงไฟฟ้ากลางท้องนาเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่รับรู้ได้ไปพร้อมๆ กันก็คือเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเบื้องหลังความพยายามต่อสู้กับปัญหาพลังงานของไทยจากหน่วยงานต่างๆ ที่พยายามร่วมกันคิดและประสานงานกันเพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการพัฒนาประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|