แรงขับเคลื่อน

โดย เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

เว็บไซต์ BBC ภาษาเวียดนาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 แปลบทความจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ซึ่งวางจำหน่ายที่ฮ่องกง ในโอกาสเยือนฮานอยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเต็งเส่ง โดยประเมินปฏิกิริยาของความสัมพันธ์เวียดนาม-พม่า-ในกระดานหมากรุกภูมิภาคและสากล

เนื้อหาในบทความชิ้นนี้ระบุว่าการเยือนของเรือรบพม่า 2 ลำที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือด่าหนังในสัปดาห์ก่อนหน้าที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้วางจำหน่าย ดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจ เท่ากับการเยือนของบรรดาเรือรบสหรัฐฯ รัสเซีย และอินเดีย การที่เรือพม่าเข้าเยือนเวียดนาม “เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้นที่หน้าประตูของจีน”

การเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเต็งเส่งในครั้งนี้ทำให้เพิ่มส่วนลึกในความสัมพันธ์ทวิภาคี ภายหลังการเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้นของฝ่าม บิ่ญ มิญ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม

ซึ่งในตอนนั้นได้มีการออกประกาศร่วมฮานอยย้ำถึงเรื่องที่สองประเทศ “เน้นย้ำความสำคัญของการรับประกันสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ (หรือทะเลตะวันออก ในความหมายของเวียดนาม)”

ภาพซับซ้อนขึ้น
บทความนี้อ้างคำพูดฝ่ายเวียดนามว่า “ยินดีกับวิวัฒนาการของพม่าที่สามารถเข้าร่วมคณะกรรมการแม่น้ำโขง” และปักกิ่งได้ยอมรับประกาศทั้งสองฉบับนี้ เพราะพวกเขา “ติดตามยุทธศาสตร์การทูตของเวียดนามอย่างใกล้ชิด”

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างคำพูดของ Ian Storey ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงภูมิภาค ประจำสถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่สิงคโปร์ ที่กล่าวว่า “มีข้อสังเกตว่า พม่าส่วนใดเคยมีบทบาทติดตามความช่วยเหลือจากจีนในกลุ่ม ASEAN”

“ปัจจุบันภาพกลายเป็นหลากหลายขึ้น เช่น ความสัมพันธ์พม่ากับเวียดนาม ที่แสดงให้เห็นทั้งสองประเทศต่างต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน เพราะมีแนวชายแดนยาวร่วมกัน แต่พวกเขาก็ต้องการเปิดกว้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคและสากลอื่นๆ อีก”

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ก็เขียนว่า นักวิเคราะห์บางคนในภูมิภาค ประหลาดใจต่อวิวัฒนาการในหลายเดือนที่ผ่านมาของพม่าที่ถอยห่างจากจีน ชาติที่เคยอุปถัมภ์หลักทางทหารให้แก่กลุ่มทหารนิยมของพม่า เพื่อเดินหน้าสู่นโยบายการทูตที่เปิดกว้างขึ้น รวมทั้งกระบวนการปรับปรุงความสัมพันธ์กับวอชิงตัน

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรพม่า ถึงแม้ประเทศนี้จะปฏิรูปการเมืองและสังคมเมื่อเร็วๆ นี้

เวลาเดียวกัน ท่าทีของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้เด่นชัดขึ้นในแนวโน้มแยกห่างจากจีน ในคำสั่งที่ออกเมื่อเดือนกันยายน 2554 ให้หยุดโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมิตซง ที่แควต้นน้ำแม่น้ำอิระวดี ขณะที่มีความกังวลในประชามติเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการที่จีนก่อสร้างนี้ มีการวางแผนส่งไฟฟ้าส่วนใหญ่จากโครงการนี้ไปยังมณฑลหยุนหนันของจีน

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ให้ความสนใจว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้ซึ่งเคยเป็นนายพลของกองทัพพม่า ก่อนโอนไปเป็นแกนนำพลเรือน ขณะเยือนฮานอยก็มีตัวแทนทางทหารคณะหนึ่งเป็นผู้ติดตาม

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้บัญชาการสูงสุด Min Aung Hlain ได้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ คือหลังจากขึ้นสู่ตำแหน่ง ก็ได้ไปเยือนฮานอยทันที โดยไม่ไปจีนก่อนเหมือนธรรมเนียมปกติ

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้วิเคราะห์ว่า เวียดนามได้แสดงความพร้อมจะเผชิญหน้ากับจีน ในภูมิภาค ถึงแม้ว่ายังคงมีความพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับปักกิ่ง

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้หยิบยกคำถามคือ ในขณะระบอบคอมมิวนิสต์ที่ฮานอยแสดงความสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่าอย่างเปิดเผย และกิจกรรมบูรณาการต่างๆ ของประเทศนี้เข้ากับภูมิภาค บรรดาแกนนำฮานอยรู้สึกลำบากใจต่อการลุกขึ้นของฐานประชาธิปไตยใหม่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่

ทูตพิเศษ ASEAN รุ่นเก่าคนหนึ่งประเมินว่า “ในเวลานี้ฝ่ายเวียดนามแสดงความพอใจกับพม่าที่กำลังบูรณาการกับ ASEAN กับภูมิภาค และกับฝ่ายตะวันตก”

ยังมีการอ้างคำพูดนักการทูตคนนี้ว่า “ในหลายด้าน ที่สำคัญ นี่ก็เป็นการสะท้อนวิธีการ เข้าถึงของ (เวียดนาม) และเป็นธรรมดาเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและภูมิภาค กลายเป็นซับซ้อนขึ้น”

ในการวิจารณ์ความผิดปกติอีกประการหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบเอเชียตะวันออกของสหรัฐอเมริกา Kurt Campbell ได้ยืนยันบทบาทของฮานอยในการส่งเสริมวอชิงตันและเนปิดอมาใกล้กัน

แต่ Campbell ก็กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงในพม่ามีผลกระทบต่อ “การขับเคลื่อน” การเมืองภายในเวียดนามหรือไม่ ถึงแม้ฮานอยเคยส่งเสริมยุทธศาสตร์เชื่อมประสานพม่ากับสหรัฐฯ

ได้มีการอ้างคำพูดของ Campbell ที่กล่าวว่า “มีบางครั้งเมื่อปีที่แล้ว พวกผมได้รับความสำเร็จน้อยมากในการเอาชนะพม่าและเวียดนาม เวลานั้นยังคงมีการเร่งเร้าทางลับให้พวกผมเจรจาโดยตรงต่อไปกับรัฐบาลพม่า และยังจัดหาบรรดาข่าวสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการเร่งให้ปัญหามีความคืบหน้า”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.