|
“พม่า” กับบทบาทว่าที่ประธานอาเซียน
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้นำพม่าเริ่มแสดงบทบาทเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN) ที่จะมีผลในปี 2014 (พ.ศ.2557) ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่ 10 ประเทศในกลุ่มนี้จะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community: AEC) ในปี 2015 (พ.ศ.2558) เพียงปีเดียว
เริ่มจากเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานา ธิบดีเต็งเส่งได้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพพม่า เป็นเวลา 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม
ในการเยือนครั้งนี้ เวียดนามได้หยิบ ยกปัญหาพิพาททะเลตะวันออกขึ้นมาพูด ในการประชุมหารือกับประธานาธิบดีพม่า ที่นครฮานอยด้วย
แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ระบุว่าประธานประเทศ เตรือง เติ๊น ซาง และนายกรัฐมนตรี เหงียน เติ๊น หยุงได้มีการหยิบยกปัญหาทะเลตะวันออกขึ้นมาพูดคุย
ตามแถลงการณ์ ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ “ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสันติภาพ-เสถียรภาพในทะเลตะวันออกและการแก้ไขปัญหาพิพาทด้วยมาตรการสันติ”
สองประเทศสนับสนุนการ “ปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด ตามประกาศว่าด้วยวิธีการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลตะวันออก (DOC) และดำเนินการสร้างและทำให้ระเบียบปฏิบัติในทะเลตะวันออก (COC) สมบูรณ์โดยเร็ว”
ยินดีที่ปฏิรูป
คณะของประธานาธิบดีเต็งเส่งยังประกอบด้วยรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กับบรรดารัฐมนตรี อาทิ กระทรวงมหาด ไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงก่อสร้าง กระทรวงป่าไม้ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยว
ในการเยือนเวียดนามครั้งนี้ นอก จากการประชุมหารือกับบุคคลระดับเดียว กันของประเทศเจ้าบ้าน ประธานาธิบดีเต็งเส่งยังมีการพบปะต่อเนื่องกับบรรดาแกนนำระดับหัวกะทิทุกคนของเวียดนาม ประกอบด้วยเลขาธิการใหญ่ เหงียน ฟุ ตร่อง และนายกรัฐมนตรี เหงียน เติ๊น หยุง สื่อทางการภายประเทศเวียดนามรายงาน ว่า สาระสำคัญของการพูดคุยระหว่างสองฝ่ายก็คือ มาตรการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และการปฏิรูปเปิดประตูประเทศของพม่าเมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งเลขาธิการใหญ่พรรคและประธานประเทศเวียดนาม ต่าง “สรรเสริญ” และยินดีกับบรรดา “ความสำเร็จที่สำคัญ ด้านความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทูต” ของพม่า เวลาที่ผ่านมามีการอ้างคำพูดนายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น หยุง กับประธานาธิบดีเต็งเส่งว่า เขา “สรรเสริญนโยบายใหม่ๆ” ของพม่าเกี่ยวกับ “การปรองดองชนชาติ, การพัฒนาประเทศ และการบูรณาการสากล”
นายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น หยุง ขอให้พม่าอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจ เวียดนามที่เข้าไปยังพม่าและออกใบอนุญาต ให้บรรดาโครงการลงทุนของเวียดนามโดยเร็ว ทั้งสองฝ่ายกล่าวว่าจะเดินหน้าสถาปนา กลไกสนทนาด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงความมั่นคงเวียดนามและกระทรวงมหาดไทยพม่า
ความสัมพันธ์อบอุ่น
การเยือนเวียดนามครั้งนี้ของประธานาธิบดีเต็งเส่งมีขึ้นเพียงสัปดาห์เศษๆ หลังการไปเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ฝ่าม บิ่ญ มิญ
ก่อนหน้านั้น เมื่อปลายปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น หยุงได้เดินทาง ไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ ซึ่งตามมาด้วยการเดินทางมาเยือนเวียดนามของพลเอก Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า
การที่แกนนำเวียดนามและพม่า ต่างมาเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องเมื่อเร็วๆ นี้ได้เป็นรอยจารึกยุคสมัยแห่งความสัมพันธ์อบอุ่นระหว่างสองประเทศ บรรดาผู้นำเวียดนามได้มีการต้อนรับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ด้วยอากัปกิริยาที่พบ เห็นกันบ่อยๆ ขณะต้อนรับแกนนำบรรดาประเทศสังคมนิยมที่เป็น “พี่น้อง”
ภาพที่ปรากฏทางโทรทัศน์ได้แสดงให้เห็นนายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น หยุง โอบกอดประธานาธิบดีเต็งเส่งอย่างอบอุ่น ประธานาธิบดีเต็งเส่งก็ได้เชิญเลขาธิการใหญ่และประธานประเทศเวียดนามไปเยือน พม่า มีการรายงานว่าบรรดาแกนนำเวียดนาม “ยินดีรับคำเชิญ”
นายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น หยุง บอกกับประธานาธิบดีเต็งเส่งว่า ประเทศของเขาสนับสนุนพม่าในตำแหน่งประธาน ASEAN ในปี 2557 และจะสนับสนุนประเทศนี้ต่อไปในเวทีภูมิภาคและเวทีสากล
ประธานาธิบดีพม่าให้คำมั่นจะสร้าง ความสะดวกให้แก่ธุรกิจเวียดนามที่ไปลงทุนในพม่า โดยเฉพาะในขอบเขตอุตสาหกรรม, โทรคมนาคม, ก๊าซ-น้ำมัน และโรงแรม
ในการพบกับเลขาธิการใหญ่ เหงียน ฟุ ตร่องนั้น ประธานาธิบดีเต็งเส่งบอกว่า เขาอยากพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพรรค สามัคคีและพัฒนาสหภาพพม่ากับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์กองทัพประชาชนในเวียดนาม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 กล่าวว่าความสัมพันธ์สองประเทศพัฒนาแข็งแรงเป็นพิเศษภายหลังการเยือนพม่าเมื่อปี 2553 ของนายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น หยุง
สองฝ่ายได้เปิดเส้นทางบินตรงเชื่อม ระหว่างนครฮานอยและนครโฮจิมินห์ กับกรุงย่างกุ้ง นครใหญ่ที่สุดของพม่า และบริษัทใหญ่จำนวนหนึ่งของเวียดนามได้เปิดสำนักงานตัวแทนในพม่า
ดัชนีการค้าระหว่างสองประเทศในช่วงปี 2554 มีมูลค่า 167 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสองประเทศตั้งเป้าหมายให้ถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558
ในจำนวน 31 ชาติที่ได้เข้าไปลงทุน ในพม่าทุกวันนี้ จีนกำลังลงทุนมูลค่าเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 35% ของเงินลงทุนต่างประเทศ และดำรงฐานะ เป็นนักลงทุนหมายเลข 1 ในประเทศนี้ ตามข้อมูลของกรมใหญ่สถิติพม่า
ต่อจากฮานอย ประธานาธิบดีเต็งเส่งมีกำหนดการไปเยือนพนมเปญของกัมพูชา และเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว เป็นลำดับต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|