ปัญหาแค่ชั่วคราว แต่โอกาสยั่งยืน

โดย Jerome Rene Hassler
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ส่วนที่ 4 ปัญหาและอุปสรรคของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

จากการพูดคุยกับผู้มีบทบาทต่อธุรกิจพลังงานทดแทนในไทย ได้แก่ องค์กรช่วยเหลือต่างๆ และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ พบว่า มีอุปสรรคหลายระดับเป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างศักยภาพกับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทย ตลาดพลังงานทดแทนในไทยก็ยังเล็ก และส่วนต่างระหว่างการลงทุนกับกำไรก็ไม่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จึงมีเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เกิดขึ้นไม่กี่ราย ทั้งที่เมืองไทยเต็มไปด้วยแสงแดด

บริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงเซลล์สุริยะ PV เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลัง แสงอาทิตย์ คือตัวอย่างผู้ผลิตรายหนึ่งที่สามารถสะท้อนภาพปัญหาด้านการลงทุนโรงไฟฟ้า พลังงานอาทิตย์ แม้บริษัทจะตั้งอยู่ในเมืองไทย แต่ล่าสุดบริษัทกลับเลือกที่จะขยายการลงทุน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมนี แทนที่จะเลือกขยายโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกันนี้ในไทย ทำให้เทคโนโลยีซึ่งรับถ่ายทอดมาจากยุโรปโดยอดีตหุ้นส่วนชาวฮังการี ถูกนำกลับไปลงทุน เพื่อ หารายได้ในยุโรปให้กับบริษัทไทย แทนที่จะหารายได้จากตลาดไทยซึ่งอยู่ใกล้ตัวมากกว่า

อุปสรรคต่อมาคือธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ค่อยกล้าปล่อยสินเชื่อให้แก่นักลงทุนในตลาดพลังงานทดแทน เพราะการลงทุนเริ่มแรกต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ใช้ระยะเวลาคืนทุนนาน ส่วนต่างกำไรก็ค่อนข้างต่ำ และตลาดยังมีขนาดเล็กมาก ถึงแม้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐในแง่ของการให้คำแนะนำด้านเทคนิค มาตรการจูงใจทางภาษี และการอุดหนุนอื่นๆ แต่พลังงานทดแทนก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้มากเท่าภาคธุรกิจอื่นๆ แม้ว่าจะมีศักยภาพสูงก็ตาม

ตัวอย่างบริษัทที่พบกับอุปสรรคนี้ ได้แก่ บริษัท Thai Biogas Energy ซึ่งเริ่มธุรกิจ เมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากมีพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นธุรกิจชนิดใหม่ขึ้น คือการลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา แล้วนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ไปคำนวณหาคาร์บอนเครดิตนำไปซื้อขายในตลาด

เหตุจูงใจนี้ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ 2 ราย คือ กองทุนรวมตราสารทุน (Equity fund) ชื่อ Private Energy Market Fund (PEMF) และมูลนิธิเจ้าชายแห่งโมร็อกโกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย แต่กลับไม่ได้รับ สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ไทย นักลงทุนทั้ง 2 รายจึงเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ใช้เงินกู้และเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินของตัวเอง 100% ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกตินักในการทำธุรกิจ ขณะนี้ธุรกิจของ พวกเขามีพนักงาน 93 คน และมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล 4 แห่งในไทย และกำลังจะมีเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมทั้งจะมีพนักงานเพิ่มเป็น 140 คน ในปี 2555

ทิศพล นครศรี ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด บริษัท ในเครือ Bangkok Cable and Steel เริ่มต้นธุรกิจพลังงานทดแทนมานานกว่า 10 ปี แล้ว มีประสบการณ์ตรงไม่ต่างจากนักลงทุนต่างชาติ 2 รายแรก เขาเล่าว่า บริษัทบางกอก โซลาร์ เริ่มต้นเป็นบริษัทร่วมทุนกับหุ้นส่วนจากฮังการี ซึ่งนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาจากยุโรป แต่ไม่กี่ปีต่อมาหุ้นส่วนฮังการีได้ ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่บางกอกโซลาร์

เมื่อครั้งเริ่มต้นธุรกิจนั้น การขอสินเชื่อ จากธนาคารยากมาก เพิ่งมาดีขึ้นในช่วง 2 ปี หลังนี้ การเจรจาขอสินเชื่อล่าสุดจากธนาคาร กสิกรไทยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายสำคัญใน โครงสร้างพื้นฐานของภาคพลังงาน โดยเริ่มปล่อยสินเชื่อโครงการพลังงานทดแทนมาตั้งแต่ 20 ปีก่อนแล้ว ให้กับโครงการพลังงานชีวมวลเล็กๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ความ เคลื่อนไหวด้านธุรกิจในภาคพลังงานทดแทนของไทย เริ่มคึกคักหลังจากที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการ First-adder-feed-in-tariff เมื่อ 10 ปีก่อนนี้เอง โดยมาตรการนี้จะรับประกันการอุดหนุนให้แก่ผู้ผลิตพลังงานทดแทนสูงสุด ถึง 8 บาท

อย่างไรก็ดี ธนาคารกสิกรไทยเริ่มเอาจริงที่จะลุยให้สินเชื่อสำหรับผู้สนใจลงทุน ในธุรกิจพลังงานทดแทนเมื่อ 2 ปีมานี้ โดยธนาคารมีแผนจะสนับสนุนการลงทุนในโซลาร์ ฟาร์มของกลุ่มโซลาเพาเวอร์ (SPCG) ระหว่างปี 2554-2555 34 แห่ง มูลค่ารวม 21,000 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 แห่งของผู้ผลิต รายอื่นมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท คาดว่าสินเชื่อ ของกลุ่มพลังงานทดแทนของธนาคารจะเพิ่มจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท

ผลจากการปล่อยสินเชื่อนี้ทำให้ธนาคาร กสิกรไทยตั้งเป้าขายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 100% จาก 30,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยพัฒนาตามแผนการพัฒนาพลังงานที่มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า ในประเทศเพิ่มเป็น 54,000 เมกะวัตต์

โดยเฉลี่ยแล้วการลงทุนในพลังงานทดแทนต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงประมาณ 40 ล้านบาท ต่อเมกะวัตต์ ทำให้เงินทุนเป็นปัญหาด่านแรกที่ผู้ผลิตต้องผ่านไปให้ได้

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับนักลงทุนในภาคพลังงานทดแทนของ ไทย นอกจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่แล้ว โครงการพลังงานทดแทนอื่นๆ ทั้งหมดต่างต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงเสนอการ สนับสนุนทางการเงินที่แตกต่าง โดยมีทางเลือกหลายทางเริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษาการให้สินเชื่อปกติ แม้แต่การที่ธนาคารเข้าไปซื้อหุ้นและหลักทรัพย์

นพเดช กรรณสูต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสหบรรษัทธนกิจ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ตั้งหน่วยงานเพื่อพิจารณาการให้สินเชื่อสำหรับธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะกล่าวว่า แหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญที่สุดของไทยคือพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล

พลังงานชีวมวลมีความก้าวหน้ามาก เพราะภาคเกษตรกรรมของไทยมีปริมาณขยะอินทรีย์สูง ทำให้มีต้นทุนในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล นอกจากนี้ระบบการผลิตไฟฟ้ายังสามารถขอรับการสนับสนุนจากกลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด (CDM-Clean Development Mechanism) ซึ่งเป็นผู้รับรองคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย นับว่า การลงทุนพลังงานชีวมวลในไทยมีโมเดลธุรกิจที่ดีและมีผลตอบแทนการลงทุนที่นำไปใช้ขอสนับสนุนทางการเงินได้ดี ซึ่งธนาคารกสิกรไทยยืนยันว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลในไทยมีความคุ้มค่า ทางการเงินที่จะลงทุน โดยไม่ต้องอาศัยคาร์บอนเครดิตก็ได้

ส่วนแหล่งพลังงานทดแทนที่มีอนาคตที่สุดคือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ พลังงานลมยังมีปัญหา เนื่องจากการหาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความเร็วลมมากพอ ทำได้ยาก ตอนนี้จึงมีอยู่แต่ที่โคราชเท่านั้นที่ธนาคารให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกจากที่ธนาคารให้การสนับสนุนล้วนอยู่ในพื้นที่อีสานแทบทั้งสิ้น เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เขาค้อ

นพเดชเล่าว่า จากที่สัมผัสธุรกิจพลังงานทดแทนของไทย พบว่ายังมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ปัญหาสำคัญคือการหาหุ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เชื่อถือได้

“สำหรับไทย ปัญหาเรื่องราคายังเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการหาเทคโนโลยี พลังงานทดแทนที่เชื่อถือได้ มีต้นทุนการดำเนินงานและการบำรุงรักษาต่ำ ส่วนปัญหาใหญ่อีก ประการคือ การหาที่ดินที่เหมาะสม เพราะชาวบ้านมักกลัวผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นพลังแสงอาทิตย์ ชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานลม จึงเกิดการต่อต้าน ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้า ชีวมวลมีปัญหาเรื่องกลิ่น ส่วนฟาร์มกังหันลมก็มีปัญหาเรื่องเสียงดัง ปัญหาอื่นๆ ยังมีการที่นักลงทุนต่างชาติต้องอาศัยหุ้นส่วนคนไทยจึงจะมีสิทธิ์ซื้อที่ดิน ปัญหาใหญ่อีกประการคือการกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน ตอนนี้มีการพัฒนาแบตเตอรี่และวิธีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องการ”

นอกจากแผนพัฒนาพลังงาน 3 แผนหลักที่กล่าวมา ไทยกำลังยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติฉบับใหม่เกี่ยวกับพลังงานโดยกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ GIZ (German Development Agency) หน่วยงานช่วยเหลือ ของเยอรมนี คาดว่าจะผ่านการอนุมัติในปีนี้ คำถามคือ แผนการทั้งหลายเหล่านี้จะนำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร

รัฐบาลไทยออกมาตรการหลายอย่างเพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทน โดยมาตรการสำคัญที่สุดคือระบบ feed-in-tariff ดังที่กล่าว ไปแล้ว ไทยเริ่มใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่ปี 2549 โดยกฎเกณฑ์ฉบับแรกของไทยที่สนับสนุนพลังงานทดแทน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 มีการออกระเบียบใหม่ว่าด้วย “การรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายย่อยขนาดเล็ก” (Very Small Power Purchase) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่สนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทนเป็นครั้งแรกในไทย ระบบ feed-in-tariff และการ ให้เงินเพิ่ม (Adder) แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ก็คือการต่อยอดจากระเบียบ นี้ ส่วนมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลไทยยังมีกองทุนทดแทนดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาล กองทุนร่วมลงทุนกับบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCO) ซึ่งรัฐบาลไทยหนุนหลังและนโยบายลดหย่อนภาษีต่างๆ

กองทุนทั้งหมดนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับ สนุนการลงทุนของธุรกิจไทยในภาคพลังงานทดแทนเป็นครั้งแรก ระหว่างปี 2546-2553 กองทุนทดแทนดอกเบี้ยต่ำได้ปล่อยกู้ทั้งหมด 7,000 ล้านบาท โดยเป็นการปล่อยกู้นาน 7 ปี และดอกเบี้ยสูงสุดเพียง 4% ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานไทยระบุว่า มาตรการนี้ได้ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน 400 ล้านลิตร หรือเท่ากับการผลิตไฟฟ้าได้ 200 MW ต่อปี

ส่วนกองทุน ESCO ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลไทยร่วมกับบริษัทจัดการพลังงาน หรือ ESCO มีจุดประสงค์สนับสนุนธุรกิจ SME ในการพยายามลดการใช้พลังงาน ส่วนนโยบายจูงใจทางภาษีมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ และการลดหย่อนภาษีรายได้

มาตรการทั้งหมดข้างต้นทำให้การผลิตพลังงานทดแทนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของแหล่งพลังงานทดแทน 6 แหล่ง โตขึ้น 4-8 เท่า และโตมากกว่านั้นในกรณี ของพลังงานชีวมวล พลังงานชีวมวลได้รับประโยชน์อย่างมากจากมาตรการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้สนธิสัญญา Kyoto Protocol แก้ปัญหาโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการส่งเสริมออกมามากมายแต่การผลิตพลังงานทดแทนใน ไทยก็ยังคงเป็นเพียงตลาดเฉพาะกลุ่ม และเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งจูงใจทางการเงินยังไม่เพียง พอ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไทยกำลังจะมีระบบใหม่มาแทนที่ระบบ Feed-in-Tariff ในปีนี้

การเปลี่ยนแปลงนี้กำลังสร้างความไม่แน่นอนให้แก่นักลงทุนอย่าง Peter Kurtz จากบริษัท German Global Energy Management ซึ่งรวมกลุ่มนักลงทุนเพื่อลงทุนในโครงการ กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่โคราช เนื่องจากยังไม่มีใครรู้รายละเอียดเกี่ยวกับระบบใหม่ ที่จะมาแทนที่ feed-in-tariff จึงยังไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบกับเรื่องราคาและการอุดหนุนพลังงานทดแทนอย่างไร

นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่บริษัทผลิตพลังงานทดแทนอย่างบริษัท Solar Power และ Thai Biomass Energy (TBEC) ชี้ว่า จะทำให้การตัดสินใจลงทุนในพลังงานทดแทนของไทยในอนาคตยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ลงทุนในพลังงานชีวมวล เนื่องจากพลังงาน ชีวมวลได้รับประโยชน์จากนโยบายการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งก็จะหมดอายุลงในปีนี้ และยังไม่มีระบบอื่นใดมาแทนที่

อย่างไรก็ตาม ยังมีธนาคารไทยอย่างธนาคารกสิกรไทย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ของไทยอย่างบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี ที่ยังคงเดินหน้าต่อไปในภาคการผลิตพลังงานทดแทน โดยนอกจากลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว บริษัทราชบุรีฯ ยังลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ของบริษัท ซึ่งมีชื่อว่า SOLARTA จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 34 MW

นอกจากมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเงินกู้แล้ว ยังมีปัจจัยและปัญหาอื่นๆ อีกที่ต้องแก้ไข หากต้องการผลักดันให้พลังงานทดแทนเดินหน้าได้เต็มศักยภาพ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือความล่าช้าในระบบราชการ พลังงานทดแทนจะสามารถแข่งขันได้ก็ต่อเมื่อสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก เหมือนกับที่เชื้อเพลิงฟอสซิลและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำได้

ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันได้ในตลาด แต่การ จะได้รับอนุมัติการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนขนาดใหญ่เป็นเรื่องยากมาก ยกตัวอย่างในกรณีของไทย หากต้องการจะสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินกว่า 10 MW กระบวนการอนุมัติจะใช้เวลานานและเสียเวลามาก

ยกตัวอย่าง กรณีของบริษัท Global Energy Management (GEM) ผู้พัฒนากังหันลมของเยอรมนี และมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในหลายประเทศ จะเริ่มเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกในไทยในปี 2555 การอนุมัติโครงการนี้ต้องผ่านการพิจารณา จากหน่วยงานของไทย 9-10 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุมัติ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า การอนุมัติโครงการของ GEM จึงใช้เวลานานถึง 4-5 ปี กว่าบริษัทจะได้รับใบอนุญาตและการอนุมัติที่จำเป็นทั้งหมด ซึ่งเป็นการเสียเวลามากเกินไป และเป็นเหตุผลว่า เหตุใดพลังงานลมจึงยังไม่ไปถึงไหนในไทย

ผลการศึกษาพบว่า กังหันลมมักผลิต พลังงานได้น้อยกว่าที่คาดเสมอ โดยในบางกรณีน้อยกว่าที่คาดถึง 20% ยิ่งกังหันลมมีขนาดใหญ่เท่าใด ความแตกต่างระหว่างไฟฟ้า ที่คาดว่าจะผลิตได้กับที่ผลิตได้จริงก็ยิ่งแตกต่างกันสูง ผลก็คือ มีไฟฟ้าส่งไปเข้าระบบจ่ายไฟของการไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีการใช้สูงสุดในปริมาณน้อย ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาที่มี ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

ปัญหาต่อมาคือ พลังงานทดแทนยังคงถูกมองด้วยสายตาที่เคลือบแคลงสงสัยว่า มีความน่าเชื่อถือได้จริงหรือ ที่จะเข้ามาแทนที่ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานนิวเคลียร์ ในฐานะของแหล่งพลังงานหลักสำหรับมวลมนุษยชาติ แม้ว่าพลังงานทดแทน หลายอย่างแสดงให้เห็นแล้วว่า มีความเชื่อถือ ได้ เทคโนโลยีพลังงานทดแทนยังต้องปรับปรุง อีกมาก เพื่อให้สามารถรับมือกับความคาดหวัง ที่สูงได้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้ให้แก่การลงทุนในพลังงานทดแทนก็ต่อเมื่อรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนมีความมั่นคง มิฉะนั้นระยะเวลาการให้กู้และการจ่ายคืนหนี้ คงจะต้องได้รับผลกระทบ เนื่องจากการคิดคำนวณเงินที่จะให้กู้ ขึ้นอยู่กับการประเมินปริมาณพลังงานที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน บวกราคาพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะขายได้

ฟาร์มเกษตรกรรมของมูลนิธิโครงการ หลวงบริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ฟาร์มแห่งนี้มีการติดตั้งกังหันลม 20 ตัว ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่คาดอย่างมาก เนื่องจากที่ตั้งฟาร์มแห่งนี้มีเทือกเขาล้อมรอบจึงบังกระแสลมไปบางส่วน หลังจากติดตั้งแผงเซลล์สุริยะเพิ่มเติม ฟาร์มแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้เพียงพอกับความ ต้องการ

ฟาร์มแห่งนี้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก พลังงานทดแทนให้แก่รัฐบาล โดยได้รับประโยชน์จากระบบ feed-in-tariff ทำให้ขายไฟฟ้าได้ในราคาสูงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตโดยใช้แหล่งพลังงานดั้งเดิม แล้วนำเงินที่ขายไฟที่ผลิตจากพลังงานทดแทนได้นี้ มาจ่ายค่าไฟ ที่ผลิตได้จากพลังงานดั้งเดิมซึ่งมีราคาถูกกว่าทุกโครงการที่ได้ประโยชน์ จากระบบ feed-in-tariff ก็จะทำในลักษณะเดียวกันนี้

นี่คือการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากความต่างของราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน กับพลังงานดั้งเดิม ทำให้ฟาร์มดังกล่าวแทบไม่ต้องจ่ายค่าไฟเลยในแต่ละเดือน นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการสร้างระบบอุดหนุนพลังงานทดแทนและระบบ feed-in-tariff ขึ้นมา

สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นแต่ยังไม่เป็นจริง คือการที่ฟาร์มหรือธุรกิจใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ตนผลิตได้ แล้วจึงขายไฟฟ้าที่ผลิตเหลือให้แก่รัฐบาล เพื่อส่งเข้าสู่ระบบจ่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ระบบ feed-in-tariff เลยทำให้เห็นปัญหาอีกประการว่า พลังงานทดแทนไม่อาจขาดการอุดหนุนได้ สาเหตุเพราะแหล่งพลังงานทดแทนดั้งเดิมก็มักได้รับการอุดหนุนในรูปแบบที่ซ่อนเร้น เนื่องจากมีการจ้างงานจำนวนมากในภาคธุรกิจพลังงานดั้งเดิม และความต้องการใช้ พลังงานดั้งเดิมอย่างก๊าซและน้ำมันยังคงมีอยู่สูง แม้กระทั่งในประเทศก้าวหน้ามากๆ อย่างเยอรมนี ซึ่งมีแรงสนับสนุนพลังงานทดแทนอย่างแข็งแกร่งมาก แต่ก็ยังมีการแอบอุดหนุนพลังงาน ดั้งเดิมในรูปแบบที่ซ่อนเร้นต่างๆ ซึ่งหากคิดเป็นเงินก็เป็นจำนวนมหาศาล เมื่อเทียบกับการอุดหนุนอันน้อยนิดที่ให้กับพลังงานทดแทน ดังนั้น ราคาพลังงานดั้งเดิมในตลาดจึงไม่ได้สะท้อน ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่แท้จริง ซึ่งก็ยิ่งทำให้พลังงานทดแทนยากที่จะแข่งขันกับพลังงาน ดั้งเดิมมากยิ่งขึ้นไปอีก

อีกปัญหาสำคัญของธุรกิจมาจากการที่ธุรกิจพลังงานทดแทนมักใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สุดที่มีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงในขั้นแรก แต่โรงไฟฟ้าที่ผลิตโดยใช้แหล่งพลังงาน ดั้งเดิม กลับมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก ดังนั้น การอุดหนุนจึงยังจำเป็นสำหรับพลังงานทดแทน เพื่อปรับสนามแข่งขันของตลาดพลังงานให้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่การออกแบบระบบการอุดหนุนพลังงานทดแทนต้องมีความรอบคอบ

มีตัวอย่างการแก้ปัญหาเรื่องนี้จากเยอรมนีเช่นกัน เยอรมนีมีการคิดระบบรับประกันราคาให้แก่ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่แล้ว ภายใต้ระบบนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้า ตามบ้านจะต้องจ่ายเงินเพิ่มบ้านละ 1 ยูโรเซ็นต์ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง ของราคาค่าไฟฟ้าในตลาด ที่ผลิตโดยพลังงานดั้งเดิม โดยเงินที่จ่ายเพิ่มนี้ก็จะนำไปอุดหนุนพลังงานทดแทนในเยอรมนีนั่นเอง ระบบนี้ช่วยให้ค่าไฟที่ผลิตโดยพลังงานลม เกือบจะแข่งขันกับค่าไฟที่ผลิตโดยแหล่งพลังงานดั้งเดิมได้ ในอีกไม่นานนี้ การผลิตพลังงานลมอาจจะไม่ต้องพึ่งระบบอุดหนุนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันไปดูพลังงานแสงอาทิตย์กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน

พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนได้รับการอุดหนุนมากที่สุดในเยอรมนีและบริษัทผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์สามารถทำกำไรอย่างงดงาม แต่บริษัทเหล่านี้กลับไม่นำกำไรที่ได้กลับไปลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้มีราคาถูกลง ขณะนี้ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมนีจึงกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากคู่แข่งอย่างเช่นจีน สามารถผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพ คล้ายกันแต่ราคาถูกกว่ามาก ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การที่บริษัทผลิตพลังงานทดแทนคาดหวังว่าจะได้รับการอุดหนุนเป็นเวลายาวนาน เป็นสิ่งที่ขัดขวางการคิดค้นนวัตกรรม จนขณะนี้บริษัทผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์รายใหญ่ในเยอรมนีบางแห่งถึงกับประสบปัญหาธุรกิจถึงขั้นต้องดิ้นรนเอาตัวรอด

นี่คืออุทาหรณ์สำหรับรัฐบาลอื่นๆ หากต้องการจะส่งเสริมพลังงานทดแทนจะต้องสร้างระบบการอุดหนุนและการสนับสนุน ทางการเงินที่รอบคอบที่จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้พลังงานทดแทน และจะต้องส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมด้วย จึงสรุปได้ว่า มาตรการอุดหนุนอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมพลังงานทดแทน

อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมพลังงานทดแทน นั่นคือความไม่เชื่อมั่นในพลังงานทดแทน กังหันลมก่อให้เกิดมลพิษ ทางเสียงในระดับหนึ่ง บางคนรู้สึกว่า ภาพ กังหันลมขนาดยักษ์ทำลายความสวยงามของ ทิวทัศน์ธรรมชาติ ส่วนพลังงานชีวมวลมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น เนื่องจากน้ำเสียและของเสียถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและชีวมวลจึงมักประท้วงต่อต้าน วิธีแก้คือกระบวนการ วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะต้องให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการออกแบบโรงไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบและทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงประโยชน์ของพลังงานทดแทน

GEM บริษัทพัฒนาไฟฟ้าพลังลมของเยอรมนีประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแก้ปัญหานี้ ผู้บริหาร ของบริษัทใช้เวลาวางแผนร่วมกับชาวบ้าน สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทต้องเช่าที่ดินเพื่อตั้งกังหันลมต้องการให้ชาวบ้านช่วย ดูแลที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งกังหันลมนั้นตลอดไป ดังนั้น บริษัทจึงจ่าย 2 ต่อให้แก่ชาวบ้าน เป็นค่าเช่าที่ดินและค่าดูแลที่ดินและกังหันลม ชาวบ้านในโคราชจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากการให้เช่าที่ดินทำโรงไฟฟ้าพลังงานลม มากกว่าที่เคยได้จากการใช้ที่ดินผลิตพืชผลการเกษตร ดังนั้น การใส่ใจกับปัญหาของชาวบ้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ไม่แต่เฉพาะในไทย แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ เพราะจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้าน

ปัญหาอีกประการคือการผลิตแผงเซลล์สุริยะ แม้ว่าแผงเซลล์สุริยะจะทำให้เราสามารถ สร้างพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากแสงอาทิตย์ได้ แต่กรรมวิธีการผลิตแผงเซลล์สุริยะเหล่านี้ กลับไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนัก และต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีที่ซับซ้อนหลายอย่าง มีการใช้สารเคมีที่เป็นอนินทรีย์ซึ่งไม่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตและยังมีพิษด้วย อย่างเช่น ซิลิกอน สารแกลเลียมอาร์เซไนด์ (Gallium-arsenide) หรือสารประกอบคอปเปอร์-อินเดียม (Copper-indium) เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์หลายพันคนทั่วโลก กำลังระดมกำลังพัฒนาแผงเซลล์สุริยะรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นแผงเซลล์สุริยะชนิดสารอินทรีย์ (organic solar panel) ซึ่งจะใช้ส่วนประกอบที่เป็นสารชีวภาพที่พบในธรรมชาติและไม่มีพิษ

แผงเซลล์สุริยะรุ่นใหม่นี้จะมีประโยชน์หลายอย่าง มีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่น ราคาถูกและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาใหญ่สำหรับแผงเซลล์สุริยะรุ่นใหม่คืออัตราประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับแผงเซลล์สุริยะแบบเดิม โดยแผงเซลล์สุริยะแบบเดิมที่ใช้ซิลิกอนเป็นส่วนประกอบหลัก มีประสิทธิภาพการแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า 15-25% แต่แผงเซลล์สุริยะรุ่นใหม่มีประสิทธิภาพเพียง 6-8% เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลกันมากและความก้าวหน้าในการปรับปรุงประสิทธิภาพของแผงเซลล์สุริยะ รุ่นใหม่ก็คืบหน้าไปช้ามาก ทั้งนี้ เป้าหมายประสิทธิภาพแผงเซลล์สุริยะที่มีการตั้งไว้ในอนาคตคือ 30%

บริษัทในเกาหลีใต้ได้ประกาศว่า สามารถสร้างแผงเซลล์สุริยะชนิดสารอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 10% แล้ว แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ เชื่อว่าความก้าวหน้าในเรื่องนี้เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากการที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทุ่มเทความสนใจกับการพัฒนาแผงเซลล์สุริยะอย่างมาก โดยในปี 2011 มีรายงานการวิจัยถึง 2,000 ฉบับเกี่ยวกับแผงเซลล์สุริยะชนิดอินทรีย์

นอกจากนี้ปัญหาที่กล่าวมานี้ เรายังอาจได้เห็นความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ในการแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนที่กล่าวถึงไปข้างต้นก็ได้ อย่างเช่นปัญหาความไม่เชื่อมั่นในพลังงานทดแทน ซึ่งส่วนหนึ่งของความไม่เชื่อมั่นเกิดจากเรายังค้นไม่พบวิธีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน ยกตัวอย่างเช่น กระแสลมมักจะแรงในตอนกลางคืน แต่เรากลับไม่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากพอสำหรับนำมาใช้ในตอนกลางวัน ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้

อย่างไรก็ตาม จากการแก้ปัญหาที่ผ่านมา เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาเหล่านี้จะค่อยคืบหน้าและหาทางออกได้อย่างเหมาะสมในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.