นิวเคลียร์ หรือ ทดแทน แนวทางที่ไทยต้องเลือกให้ถูก

โดย Jerome Rene Hassler
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ส่วนที่ 3 นโยบายด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทย

นโยบายพลังงานของไทยปรากฏอยู่ในเอกสารสำคัญ 3 ฉบับคือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2553-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2551-2565 ซึ่งรัฐบาลไทยทั้งชุดก่อนและชุดปัจจุบัน กำลังปฏิบัติตามแผนเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาพลังงานของไทย

ทั้งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จุดประสงค์เพื่อเพิ่มความหลากหลายของวิธีผลิตพลังงานในไทย

ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ต้องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งในไทยภายในปี 2573 เนื่องจากเกิดเหตุ โศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukishima ในญี่ปุ่นเมื่อ 1 ปีก่อน ทำให้ต้องชะงักแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ก่อน แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณแล้วว่า พร้อมจะเดินหน้าแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป (อ่าน “ ‘นิวเคลียร์’ ตัวเลือกที่ ‘ถูก’ (ต้อง) จริงหรือ?” ฉบับเดือนมกราคม 2554 ในบทความกล่าวถึงอันตรายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ)

ส่วนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้สัดส่วน 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในไทย โดยภายในปี 2565 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5,600 เมกะวัตต์ หลังจากปี 2565 เป็นต้นไป จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่จะทำได้โดยง่าย แต่รัฐบาลไทยทั้งชุดก่อนและชุดปัจจุบันออกมาตรการหลายอย่างเพื่อสนับสนุนภาคพลังงานทดแทนในไทย

มาตรการที่สำคัญที่สุดคือมาตรการที่เรียกว่า มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานทดแทนระบบ feed-in-tariff (FT) เนื่องจากในปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน แพงกว่าไฟฟ้าที่ผลิต จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น เพื่อช่วยให้พลังงานทดแทนแข่งขันกับราคาไฟฟ้าจากฟอสซิลและนิวเคลียร์ที่ถูกกว่าได้ หลายประเทศในโลกจึงริเริ่มนำระบบอุดหนุนที่ซับซ้อนและใช้กลไกทางกฎหมาย เพื่อช่วยให้พลังงานทดแทนเข้าถึงตลาดพลังงานได้ง่ายขึ้น และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ก็คือมาตรการ feed-in-tariff นี่เอง

มาตรการ FT คือการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตด้วยพลังงานทดแทนในอัตราพิเศษ เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อ เร่งการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโน โลยีพลังงานทดแทน นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ ด้วยการเสนอสัญญาระยะยาว แก่ผู้ผลิตพลังงานทดแทน โดยขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนที่เลือกใช้แต่ละประเภท

ดังนั้น ภายใต้ระบบ FT นี้ ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ไปจนถึงเกษตรกรรายเล็กๆ สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ตามต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนได้ทั้งสิ้น

โดยพลังงานลมมีราคารับซื้อต่ำสุดต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) แต่ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) และพลังงานน้ำจะได้ราคาสูงกว่า เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าพลังงานลม

มาตรการ FT ให้ประโยชน์หลัก 3 ประการแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนคือ 1-รับประกันการเชื่อมต่อกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า 2-สัญญาระยะยาวในการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทดแทน และ 3-ราคารับซื้อที่ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตตามจริง

FT เป็นข้อตกลงรับประกันการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน โดยอยู่ในกรอบของการทำสัญญาระยะยาว 15-25 ปี นโยบาย feed-in-tariff ถูกนำไปใช้ในกว่า 50 ประเทศแล้ว ได้แก่ แอลจีเรีย ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเชก เดนมาร์ก เอสโทเนีย ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิหร่าน ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี เคนยา เกาหลีใต้ ลิทัวเนีย ลักเซม-เบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส แอฟริกาใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ แทนซาเนีย ตุรกี และไทย ซึ่งนำมาตรการ feed-in tariff มาใช้เมื่อปี 2549 โดยจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในอัตราที่แตกต่างกันตามชนิดของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่นำมาใช้ และขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และรับประกันการรับซื้อไฟฟ้านาน 7-10 ปี โดยพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับราคาสูงสุดคือ 8 บาทต่อ kWh


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.