พลังงานทดแทน มั่นคงได้ไม่แพ้นิวเคลียร์

โดย Jerome Rene Hassler
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ส่วนที่ 1 บริบทด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยและของโลก

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทั่วโลกในปัจจุบันก็คือ ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย คงต้องย้ำกันว่า ปัจจุบันเรื่องพลังงานทดแทนไม่ใช่ประเด็นสำหรับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ตลาดเฉพาะ (Niche market) แต่เป็นตลาดที่ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสูงอย่างในเยอรมนีและเดนมาร์ก ใช้เป็นทางเลือกหลักในการผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของพลังงานทั้งหมด หรือมากกว่า 20% แล้วในตอนนี้

เฉพาะในประเทศเยอรมนี มีแนวโน้มจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ทั้งจาก เหตุผลที่ไม่มีทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นของตัวเอง ปี 2554 เยอรมนีตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2565 ทั้งที่ปัจจุบันพลังงาน นิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานหลักของเยอรมนี

ผลการศึกษาภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้ พบว่าจาก 20% ของพลังงานทดแทนที่ใช้อยู่ในวันนี้หากพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เยอรมนีจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ 100% ภายในปี 2593

เป้าหมายนี้มีความเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงก็มีอุปสรรคมากเช่นกัน

อุปสรรคชิ้นโตเกิดจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) จำนวนมาก จากกลุ่มผลประโยชน์มากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองในเยอรมนี

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งต้องการใช้พลังงานมหาศาล ในตอนแรกพวกเขาจึงไม่วางใจว่าจะวางอนาคตของธุรกิจไว้กับพลังงานทดแทนได้อย่างไร แต่เมื่อพลังงานทดแทนได้รับการพิสูจน์ว่ามีความมั่นคงมากพอ จากสัดส่วนที่ผลิตใช้ในปัจจุบัน และสามารถขยายเพื่อพัฒนาเพิ่มขึ้นในอนาคต ข้อกังขานี้จึงได้รับการคลี่คลายไปในที่สุด

ความน่าเชื่อถือด้านพลังงาน มีพื้นฐาน มาจากความมั่นใจในเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนด้วยส่วนหนึ่ง ภาคธุรกิจเอกชนไทยเองก็มีความก้าวหน้าและมีโอกาสเข้าถึงเทคโน โลยีที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ไม่ต่างกัน ไทยจึงถือเป็นประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจมหาศาลในตลาดพลังงานทดแทน ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนไทยไม่ควรพลาดหากต้องการจะรักษาความได้เปรียบด้านการแข่งขันในเศรษฐกิจโลกที่มีความเกี่ยวพันกันมากยิ่งขึ้น

คนไทยอาจสงสัยว่า พลังงานทดแทน เกี่ยวอะไรกับประเทศไทย คำตอบคือพลังงาน ทดแทนเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างของไทยและของโลก โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด อีกทั้งในปัจจุบันการคิดถึงแต่เพียงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจคงจะไม่เพียงพอต่อการทำธุรกิจอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับที่อุทกภัยครั้งใหญ่สุดที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2554 เห็นได้ชัดว่า เป็นผลกระทบมาจากปัญหาระดับโลก จากปัญหาโลกร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องย้ำว่า ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนที่หนักที่สุดด้วยซ้ำ

ผลการศึกษาวิจัยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า สิ่งที่ เรียกว่า “กระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภูมิอากาศโลก” เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และไม่ใช่เกิดจากฝีมือมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ความเกี่ยวข้องกันระหว่างดวงอาทิตย์ กับโลก รวมถึงภูเขาไฟที่ยังไม่สงบบนโลก ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (อ่าน “โลกร้อน เมื่อ 56 ล้านปีก่อน” ใน Beyond Green ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555)

ในประวัติศาสตร์ของโลก ย้อนหลังไปนับพันๆ ล้านปี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนโลกใบนี้ แต่ทว่ากระบวนการนี้กินเวลายาวนานมาก ตั้งแต่หมื่นๆ ปีจนกระทั่ง ถึงแสนๆ ปี แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้กลับแตกต่างออกไป

ในช่วง 300 ปีล่าสุด หรือนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้นในยุโรป ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก และสาเหตุใหญ่ มาจากพฤติกรรมของมนุษย์

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สรุปผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ 6 ปัญหาใหญ่ๆ และคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในช่วง 100 ปีข้างหน้านี้ คือ 1) อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2) รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลง 3) แห้งแล้งหนักขึ้น 4) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 5) พายุเฮอร์ริเคน ซึ่งอาจจะไม่เกิดมากขึ้น แต่ความรุนแรงจะมากขึ้น และ 6) ความเป็นกรดในทะเลมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำ

ไทยเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ด้วยเช่นเดียวกับอีกหลายที่ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฤดูร้อนในไทยจะยิ่งร้อนขึ้น ในอนาคตคาดว่า 9 ใน 10 ฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในไทย จะเกิดขึ้นระหว่างปี 2603-2643 (2060-2100) และจะร้อนมากกว่าฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของไทย เท่าที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไทยจะมีฝนตกมากขึ้นในบางพื้นที่และบางช่วงของปี ในขณะเดียวกันก็จะเกิดความแห้งแล้งในพื้นที่อื่นๆ สภาพเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย คาดว่าระดับน้ำทะเลของไทยจะสูงขึ้น 0.5-1 เมตร หรืออาจจะถึง 2 เมตรหรือมากกว่านั้น ภายในปี 2593

การทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์พยากรณ์สภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องยากมาก และการพยากรณ์ก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากเป็นการพยากรณ์รูปแบบของสภาพอากาศในอนาคต จากข้อมูลสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้การรวบรวมข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การย่อส่วน (down-scaling) และการตีความข้อมูลภูมิอากาศ เป็นงานที่ยากมาก นักวิจัยต้องทำงานกับระบบที่มีความซับซ้อนหลายชั้นและมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งประเทศไทยยังขาดระบบรวบรวมและกระจายข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ ทำให้ในปัจจุบัน การจะพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้อย่างถูกต้อง 100% ก็ยังทำได้ยากมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศที่ใช้หลักคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนสูงเหล่านั้น ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า อุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ฝนที่ตกมากขึ้นในบางช่วงของปี และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หมายความว่าไทยมีโอกาสประสบกับอุทกภัยที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ระดับความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลเป็นภัยอีกอย่างหนึ่งที่คุกคามความมั่นคงด้าน อาหารและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เพราะการที่ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น หมายความว่า ชีวิตของสัตว์ทะเลและห่วงโซ่อาหารในทะเลจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดย ตรงต่อพื้นที่ชายฝั่งของไทยที่พึ่งพาการประมงและการทำฟาร์มกุ้งเป็นหลัก

บางคนอาจจะคิดว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ดังนั้นจึงน่าจะต้องรับผิดชอบต่อการ แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกน้อยกว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวนมากควรเป็นผู้แก้ปัญหา ปรับตัวรับปัญหา และแสดงความรับผิดชอบมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ทัศนคติเช่นนี้นอกจากไม่แสดงวิสัยทัศน์แต่ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง อีกทั้งความจริงแล้ว ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้วขณะนี้อาจจะน้อยกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย แม้กระทั่งประเทศไทยก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

ดังนั้นผลกระทบจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม จะสามารถบรรเทาลงได้ก็ต่อเมื่อคนในทุกมุมโลก ไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือยังไม่พัฒนา ต้องร่วมมือและพยายามต่อสู้ผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนภูมิอากาศที่ห่อหุ้มโลกใบเดียวกันนี้ร่วมกัน

อย่างน้อยที่สุดก็พึงตระหนักด้วยว่า การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำได้เพียงแค่ “บรรเทา” เท่านั้น เพราะปัญหาได้ลุกลามไปไกลเกินกว่าจะหยุดยั้งได้แล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.