|
ปากีสถาน: ความปลอดภัยในบ้านของผู้หญิงและเด็ก
โดย
ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิงในทุกประเทศ และรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการผ่านกฎหมายที่จะเอาผิดผู้ชายที่ทำร้ายร่างกายผู้หญิง แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีกฎหมายนี้ออกมาเพื่อปกป้องผู้หญิง
โดยทั่วไปแล้วประเทศมุสลิมจะไม่มีกฎหมาย ใดๆ ที่ให้การคุ้มครองและปกป้องผู้หญิงจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยสามีหรือบุคคลในครอบครัว เพราะในความเชื่อของศาสนามุสลิมเชื่อว่า ผู้ชายที่เป็นสามีสามารถทำร้ายร่างกายบุคคลที่เป็นภรรยาได้เพื่อเป็นการสอนให้เชื่อฟังสามี ทำให้นักสิทธิสตรี และองค์กรเกี่ยวกับผู้หญิงต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศมุสลิมเคารพสิทธิของสตรีและปกป้องผู้หญิงจากการถูกทำร้าย แต่ประเทศมุสลิม มักจะออกมาโต้ว่าการปกป้องสิทธิของผู้หญิงจากการ ถูกทำร้ายถือว่าขัดต่อคำสอนของศาสนาอิสลาม
ตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อรัฐบาล ปากีสถานได้เห็นพ้องต้องกันในการผ่านกฎหมายการป้องกันและคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงและเด็กเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายนี้ได้มีการประกาศใช้ ตำรวจปากีสถานก็สามารถที่จะจับกุมผู้ชายที่ทำร้ายผู้หญิงและเด็ก ถึงแม้ว่าผู้ชายคนนั้นจะเป็นสามีหรือญาติพี่น้องก็ตาม ก็จะถูกลงโทษตาม กฎหมายทั้งจำคุกและปรับเงิน ซึ่งจากเดิมที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้ชายได้ถึงแม้ว่าเขาจะเห็นสามีหรือพ่อทำร้ายภรรยาและลูกก็ตาม
เช่น บุคคลใดที่พบว่ามีความผิดด้วยการทุบตี ทำร้ายผู้หญิงและเด็กก็จะต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 6 เดือน และจะต้องถูกปรับเงินอย่างน้อย 100,000 รูปีปากีสถาน (ประมาณ 33,400 บาท)
กฎหมายยังมีการระบุไว้อีกด้วยว่า ถ้าหากผู้หญิงหรือเด็กเข้าแจ้งความต่อตำรวจในข้อหาถูกทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องส่งฟ้องคดีนี้ ไปที่ศาลภายในเวลา 90 วัน โดยเริ่มนับจากวันแรก ที่มีการแจ้งความ และศาลจะต้องนัดไต่สวนภายในเวลา 7 วัน
นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองเพียง แค่ผู้หญิงและเด็กจากการถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการคุ้มครองแม่บ้านหรือคนที่รับจ้างดูแลบ้านจากการถูกนายจ้างทำร้ายด้วย
คนสูงอายุและคนพิการทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้วกฎหมายนี้จะคุ้มครองบุคคลใดก็ตามที่ถูกทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือทางอารมณ์โดยไม่คำนึงถึงเรื่องของเพศ
กฎหมายการป้องกันและคุ้มครองความรุนแรง ในครอบครัวต่อผู้หญิงและเด็กฉบับนี้ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ความรุนแรงภายในครอบครัว” ว่า การกระทำใดๆ ก็ตามที่คุกคามทำร้าย หรือกักขัง ให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางจิตใจ หรือการบังคับขู่เข็ญทางเพศ และยังรวมไปถึงการกีดกันไม่ให้ที่อยู่อาศัยและให้เงินกับภรรยาหรือบุตรด้วย
ดังนั้นถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่มีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงและสามีเกิดไม่พอใจภรรยาขึ้นมา คนที่เป็นสามีไม่สามารถขับไล่ภรรยาและลูกออกจาก บ้านได้ เพราะกฎหมายจะให้การคุ้มครองภรรยาและบุตรให้มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบ้านคนหนึ่งเช่นเดียวกับสามี และถ้าสามียังดึงดันที่จะไล่ภรรยา ออกจากบ้านก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายและมีโทษด้วย
กฎหมายฉบับนี้ยังได้ลดความยุ่งยากของขั้นตอนและเอกสารต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าใครก็ตามที่ตก เป็นเหยื่อความรุนแรงจะต้องไปแจ้งความดำเนินคดี และทำเอกสารเพื่อขอความคุ้มครองต่างๆ เพียงแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นศาลจะทำการพิจารณาภาย ในระยะเวลาที่มีกำหนดไว้และออกเอกสารให้ทีเดียว ทั้งหมด ทั้งคำสั่งลงโทษและคำสั่งให้การคุ้มครอง โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหลายๆ ศาลเพื่อขอให้ดำเนินคดีและให้การคุ้มครอง ถ้าหากว่าสามีกลับมาทำ ร้ายอีกครั้งเมื่อหลุดพ้นจากการรับโทษแล้ว
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนด ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครอง เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรง คณะกรรมการคุ้มครองมาจากการคัดเลือกหนึ่งบุคคลจากสาย อาชีพเหล่านี้คือหมอ จิตแพทย์ ตำรวจหญิงที่มีตำแหน่งเป็นสารวัตร ขึ้นไป บุคคลที่ทำงานเพื่อสังคมตามองค์กรอิสระต่างๆ และเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายที่ศาลมีความเห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น ซึ่งบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการคุ้มครองจะถือว่าเป็น ข้าราชการคนหนึ่งที่จะต้องทำงานเต็มเวลา เพื่อดูแลทุกคดีความที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และหาทางลดปัญหาความรุนแรงในสังคมให้หมดลงไป
การกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองนั้นเรียกว่าเป็นเรื่องที่ดีและสำคัญมากมาก เพราะคณะกรรมการจะดูแลและป้องกันเรื่องความรุนแรง และในที่สุดปัญหาเรื่องนี้ก็จะลดน้อยลงเมื่อมีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆที่มักจะไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐบาลที่จะดูแลเรื่องความรุนแรงโดยเฉพาะที่จะคอยติดตามดูแลและหาทางแก้ไขปัญหา
อย่างเช่น ประเทศส่วนใหญ่มักจะกำหนดแค่ว่าเมื่อมีการสอบสวนเรื่องที่เกี่ยวกับความรุนแรงจะขอให้มีจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์และตำรวจหญิงเข้าร่วมการสืบสวนด้วย และเมื่อการสอบสวนสิ้นสุดลงบุคคลเหล่านี้ก็จะแยกย้ายกันไปทำงานตาม สายงานของตัวเอง
นอกจากนี้การผ่านกฎหมายในครั้งนี้ของประเทศปากีสถานถือได้ว่าเป็นจุดสำคัญของการเริ่มต้นให้สิทธิและคุ้มครองผู้หญิงมากขึ้น กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและองค์กร Human Right Watch ก็เห็นด้วยวว่า นี่เป็นก้าวสำคัญของประเทศปากีสถาน ในการส่งเสริมความเสมอภาคในสังคมระหว่างชายหญิงและปกป้องผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรง เพราะผู้หญิงและเด็กในประเทศปากีสถานมักจะได้รับการเลือกปฏิบัติที่รุนแรง เช่น การถูกข่มขืน การถูกทำร้ายร่างกายจากพ่อหรือสามี และการถูกบังคับให้แต่งงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นปัญหา ที่ใหญ่มากในปากีสถานและควรจะมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายร่างกาย เพราะในแต่ละปี ตำรวจจะได้รับ การแจ้งความเป็นจำนวนมากว่า มีสามีหลายคนที่ตบตีภรรยาเป็นประจำและในบางครั้งถึงขนาดเผลอ ทำร้ายภรรยาจนถึงแก่ชีวิต หรือในบางกรณีสามีก็จะโกนคิ้วและผมของภรรยา ถ้าหากพวกเขารู้สึกว่าภรรยาทำอะไรให้ไม่พอใจ
ประเทศปากี สถานถือได้ว่าใช้เวลาค่อนข้างนานมากก่อนที่จะมีการผ่านกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงและเด็ก ออกมา ถ้าลองเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างนิวซีแลนด์ก็จะเห็นได้ชัดเจน เพราะมีการประกาศใช้กฎหมายนี้มา 17 ปีแล้ว หรืออย่าง ประเทศอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับประเทศปากีสถานก็มีกฎหมายนี้ใช้ในปี 2549 และประเทศไทยเราก็มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและเด็กจากการถูกทำร้ายมาตั้งแต่ปี 2550 และถ้าเราลองไปดูถึงระยะเวลาที่รัฐบาลปากีสถานเองใช้ในการผ่านกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องบอกว่าใช้เวลาในการพิจารณานานกว่าประเทศอื่นๆ อีกเช่นกัน
กฎหมายการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากการ ถูกทำร้ายนั้นได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรของปากีสถาน ด้วยมติเอกฉันท์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 และต้องใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่ง ในการนำกฎหมายฉบับนี้ไปให้วุฒิสภาพิจารณา และสุดท้ายยังต้องรออีกประมาณ 1 เดือนเพื่อให้ประธานาธิบดีลงชื่อในกฎหมายฉบับนี้ก่อนจึงจะสามารถนำกฎหมายนี้มาประกาศใช้ได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีในการพิจารณาและประกาศใช้
ถึงแม้ว่าปากีสถานจะใช้เวลานานไปสักนิดสำหรับการพิจารณา แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากการถูกทำร้ายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีฉบับหนึ่งเลยก็ได้ในการให้ความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรง
เพราะถ้าหากลองนำกฎหมายฉบับนี้ของปากีสถานมาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียที่มีการใช้กฎหมายคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงมาก่อนถึง 6 ปี ก็จะเห็นได้ว่าใจความหลักๆ ของกฎหมายฉบับนี้ของปากีสถานมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายของประเทศอินเดียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านมาก จะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยในข้อบังคับต่างๆ เช่น กฎหมายในประเทศอินเดียนั้นจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ไม่มีการให้ความคุ้มครองคนสูงอายุและคนพิการเพศชายที่ถูกทำร้าย ในขณะที่ของประเทศปากีสถาน จะคุ้มครองบุคคลทุกเพศทุกวัย
หรืออย่างส่วนในเรื่องของคณะกรรมการคุ้มครอง ทางประเทศอินเดียก็มีเช่นกัน เพียงแต่ไม่มี การระบุไว้ในกฎหมายว่า จะต้องมีคณะกรรมการ คุ้มครองที่ทำงานเป็นข้าราชการเต็มเวลา ดังนั้นคณะกรรมการคุ้มครองจึงมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความรุนแรง แต่ไม่ได้มีส่วนในการช่วยลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในอนาคต
ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงเรียกได้ว่าคุ้มค่าสำหรับการรอคอยสำหรับผู้หญิงและเด็กชาวปากีสถาน เพราะรัฐบาลได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กฎหมายที่ผ่านออกมานี้ครอบคลุมและปกป้องทุกเพศทุกวัยและยังมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า ต้องการที่จะลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในอนาคต โดยการจัดให้มีหน่วยงานประจำที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของความรุนแรงโดยเฉพาะ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|