|
Grabaseat.co.nz กับกลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ของแอร์นิวซีแลนด์
โดย
ชาญ เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อ 17 ปีก่อน ผมนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาประเทศนิวซีแลนด์เป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าตอนนั้นผมยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ แล้วยังต้องเดินทางข้ามทวีปคนเดียวอีกด้วย ผมยังจำได้ว่าเครื่องบินที่ผมนั่งในวันนั้นเป็นเครื่องโบอิ้ง 767 ซึ่งแคบนิดเดียว ผมยังแปลกใจว่าทำไมแอร์นิวซีแลนด์ใช้เครื่องบินลำแค่นี้บินตั้ง 10 กว่าชั่วโมง ผู้โดยสารไม่อึดอัดแย่หรือ
ความแปลกใจของผมกลายเป็นไม่แปลกใจทันทีเมื่อขึ้นไปบนเครื่อง เพราะไฟลต์นั้นมีผู้โดยสาร เพียงร้อยกว่าคน มีเก้าอี้ว่างเยอะแยะ ผมถึงได้รู้ว่าแอร์นิวซีแลนด์เป็นสายการบินที่บริหารยากมากสายการบินหนึ่ง เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นเกาะอยู่สุด ซีกโลกใต้ ไม่มีประเทศเพื่อนบ้านอยู่ติดกัน ฉะนั้นผู้โดยสารของแอร์นิวซีแลนด์ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น ต่างกับสายการบินอื่นๆ ในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง ที่มีผู้โดยสารทั้งที่ต้องการไปประเทศของเขาเอง และที่ต้องการต่อเครื่องไปประเทศอื่นๆ นี่คือเหตุผลว่าทำไมแอร์นิวซีแลนด์ไม่สามารถใช้เครื่องบินใหญ่ๆ บินระหว่างนิวซีแลนด์ กับเมืองใหญ่ๆ หลายๆ เมืองได้ เพราะกลุ่มผู้โดยสาร ไม่หลากหลายเท่าสายการบินคู่แข่ง ซึ่งยิ่งทำให้แอร์นิวซีแลนด์เสียเปรียบ เพราะผู้โดยสารส่วนมากชอบนั่งเครื่องบินลำใหญ่ๆ กันทั้งนั้น ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งดี เมื่อผู้โดยสารส่วนใหญ่เห็นแอร์นิวซีแลนด์ใช้เครื่องเล็ก แต่คู่แข่งใช้เครื่องบินใหญ่ก็กรูกันไปซื้อตั๋วสายการบินอื่นๆ หมด เพราะไม่อยากนั่งเครื่องที่เล็กกว่า
สภาพการเงินของแอร์นิวซีแลนด์ในช่วงเริ่มศตวรรษที่ 21 นั้นจึงย่ำแย่มาก โดยเฉพาะในปี 2001 นั้น แอร์นิวซีแลนด์ขาดทุนถึง 1,425 ล้านนิวซีแลนด์ ดอลลาร์ จึงมีการหาผู้นำองค์กรหรือ CEO คนใหม่ ซึ่งสายการบินตกลงใจจ้างราล์ฟ นอริส มาเป็น CEO แทนคนเก่า นอริสบอกว่าต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ การตลาดใหม่ ไม่อย่างนั้นสายการบินก็ไปไม่รอด แน่นอน
เผอิญว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตกำลังเริ่มบูม นอริสเลยมีไอเดียว่าจะลดภาวะขาดทุนโดยเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร และวิธีที่น่าจะดีที่สุด ก็คือการทำให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วกับสายการบินโดยตรงทางออนไลน์ ซึ่งปัญหาในตอนนั้นคือ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่นิยมซื้อตั๋วโดยตรงกับสายการบิน เพราะตอนนั้นการซื้อตั๋วโดยตรงกับสายการบิน ราคาแพงกว่าที่เอเย่นต์ขาย นอริสเลยเปลี่ยนแผน การตลาดโดยการขายตั๋วราคาถูกโดยตรงให้ผู้โดยสารทางอินเทอร์เน็ต เริ่มจากไฟลต์ในประเทศ โดยเปลี่ยนชื่อชั้นเดินทางเป็น Express Class แทนชั้นประหยัดธรรมดา และเลิกมีบริการอาหาร สำหรับไฟลต์ในประเทศ ทำให้ต้นทุนการบินในประเทศต่ำลงถึง 20% และจะขาย ตั๋วผ่านเว็บไซต์สายการบินเอง ซึ่งการขายตั๋วโดยตรงก็ทำให้ต้นทุนต่ำลงอีก เพราะไม่ต้องจ่ายคอมมิชชั่นให้เอเย่นต์
ผลตอบรับจากการทำ Express Class ดีเกิน ความคาดหมาย คือเพียงในปีแรกก็มีผู้โดยสารมากขึ้นถึง 23% เพราะไฟลต์ในประเทศที่ราคาเคยแพงมากจนคนไม่นิยมซื้อ ราคาถูกลงมาก คนนิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่ที่เคยมองข้ามการเดินทางในประเทศโดยเครื่องบิน จึงหันมาบินกันแทน ถึงจะไม่มีอาหารบริการ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจ และที่ได้ผลที่สุดคือจำนวนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วในประเทศโดยตรงกับสายการบินทางอินเทอร์เน็ต เพิ่มจาก 4% เป็น 44%
นอริสจึงเห็นว่าวิธีนี้ได้ผลและขยายการตลาด การขายตั๋วเครื่องบินออนไลน์ใน Express Class ไปยังไฟลต์ระหว่างนิวซีแลนด์กับออสเตรเลียด้วย โดยเรียกว่า Tasman Express โดยขายตั๋วออนไลน์ในราคาถูกกว่าเดิม แต่ต้องซื้อตรงกับสายการบินและไม่มีการให้ไมล์เดินทางกับผู้โดยสารที่เก็บสะสม ไมล์ ซึ่งเสียงตอบรับก็ประสบความสำเร็จตามคาด จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทันตาเห็น เพราะสามารถ เดินทางข้ามประเทศได้ถูกลง และต้นทุนต่ำลง เนื่องจากไม่ต้องเสียคอมมิชชั่นให้เอเย่นต์ แค่ในเดือน แรกที่เริ่มขาย Tasman Express จำนวนลูกค้าที่ซื้อตั๋วออนไลน์กับสายการบินโดยตรงในเส้นทางระหว่าง นิวซีแลนด์ไปออสเตรเลีย เพิ่มจาก 3% กลายเป็นถึง 30%
ซึ่งก็ถือว่านอริสได้พาแอร์นิวซีแลนด์รอดพ้นความหายนะได้สำเร็จ แต่ปัญหาคือถึงแอร์นิวซีแลนด์ จะสามารถทำกำไรในเส้นทางในประเทศ และเส้นทางไปออสเตรเลียได้ แต่เส้นทางบางสายที่บินไกลๆ ก็ยังขาดทุนอยู่ และเพราะนอริสสามารถทำให้แอร์นิวซีแลนด์พ้นภาวะวิกฤติได้ ทำให้ธนาคาร Com-monwealth Bank ของออสเตรเลีย มาซื้อตัวเขาไปเป็น CEO แอร์นิวซีแลนด์จึงต้องหา CEO คนใหม่ ซึ่งสายการบินก็ได้เลือกร็อบ ไฟฟ์ มาเป็น CEO คนใหม่ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2005
เมื่อไฟฟ์เข้ามานั่งเก้าอี้ CEO เขาก็มีนโยบาย เช่นเดียวกันกับนอริส ว่าจะต้องทำให้ผู้โดยสารใช้เว็บไซต์แอร์นิวซีแลนด์เป็นสถานที่แรกในการซื้อตั๋ว ให้ได้ ไม่ว่าจะบินในประเทศ หรือต่างประเทศ บินใกล้หรือบินไกล จะได้ตัดรายจ่ายเรื่องค่าคอมมิชชั่น ที่ต้องจ่ายให้เอเย่นต์ออกไปได้สำเร็จ และตัดรายจ่าย ในการจ้างพนักงานขายตั๋วทางโทรศัพท์ออกไปได้ แต่การจะทำอย่างนั้นได้ก็จะต้องทำให้เว็บไซต์ของ แอร์นิวซีแลนด์เป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้าเยอะๆ จึงมีการวิจัยกันว่าใครเป็นกลุ่มผู้โดยสารที่สายการบินควรจะเน้นความสำคัญให้มากที่สุด คำตอบที่ได้คือ กลุ่มผู้โดยสารที่น่าจะยั่งยืนที่สุด ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ คือคนนิวซีแลนด์เองนั่นแหละ เพราะบ้านของเขา คือนิวซีแลนด์ จะเดินทางไปไหน ยังไงก็ต้องออกจาก นิวซีแลนด์และกลับมานิวซีแลนด์ ถ้าจะทำให้สายการบินมีกำไร ก็ต้องหาทางเอาคนกลุ่มนี้มาเป็นลูกค้าประจำที่จะเลือกแอร์นิวซีแลนด์เป็นทางเลือกแรกให้ได้
ผมเองไม่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ขอออกความเห็นจากประสบการณ์ว่า ผมคิดว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงๆ ส่วนใหญ่คือธุรกิจที่ผู้ขาย สามารถเปลี่ยนสินค้าของเขาจากสิ่งที่ไม่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันให้กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นสิ่งปกติที่พวกเขาต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้สำเร็จ เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก หรือในสังคม ออนไลน์ ก็เช่นการใช้ฮอตเมล เฟซบุ๊ก หรือ Skype คุยข้ามประเทศ ซึ่งใครก็ตามที่มีกลยุทธ์การตลาด สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ของเขากลายเป็นส่วนหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้สำเร็จโอกาสที่เขาจะรวยเละก็อยู่แค่เอื้อมเท่านั้น
ไฟฟ์ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะทำให้การบิน กับแอร์นิวซีแลนด์กลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันของชาวนิวซีแลนด์ให้ได้ แต่การเดินทางโดยเครื่องบิน เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักที่จะเปลี่ยนให้เป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวัน ไฟฟ์จึงบอกกับพนักงานในองค์กรว่า อยากให้ทุกคนช่วยคิดเว็บไซต์ที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อนที่จะดึงดูดความสนใจให้คนนิวซีแลนด์ตื่นตัวกับการบินกับแอร์นิวซีแลนด์ทุกวันให้ได้ เขาบอกพนักงานว่า เป้าหมายสำคัญของเขาคือการทำให้คนนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับการเดินทางด้วยแอร์นิวซีแลนด์ตลอดเวลา จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนนิวซีแลนด์ และพยายามเดินทางกับแอร์นิวซีแลนด์ทันทีเมื่อมีโอกาส อีกจุดประสงค์หนึ่งคือเขาต้องการให้คนนิวซีแลนด์ที่เดินทางกับแอร์นิวซีแลนด์หันมาซื้อตั๋วโดยตรงกับสายการบินแบบออนไลน์ในการเดินทางทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลขนาดไหน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ทั้ง 2 นี้ หากว่าโปรเจ็กต์เว็บไซต์ที่พวกเขาจะนำเสนอ จะทำให้สายการบินเสียผลประโยชน์ในด้านอื่นไปบ้าง ก็อย่ากลัวที่จะเสนอโปรเจ็กต์ที่พวกเขาคิดได้ให้ที่ประชุมรับรู้ แต่ให้บอกมาว่าสายการบินอาจจะเสียผลประโยชน์อย่างไรบ้าง หากว่าผลประโยชน์ที่เสียไปสามารถทำให้แอร์นิวซีแลนด์บรรลุจุดประสงค์หลัก 2 อย่างที่เขาได้บอกไปแล้ว ก็ยังถือเป็นโปรเจ็กต์ที่น่าพิจารณา
มีพนักงานยื่นไอเดียมามากมายและสุดท้ายสายการบินตัดสินใจเลือกที่จะเปิดเว็บไซต์ ชื่อ “Grabaseat” (www.grabaseat.co.nz) ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็แปลว่า “คว้าคนละ 1 ที่นั่ง” ซึ่งจะมีการอัพโหลดที่นั่งที่จะขายในราคาพิเศษทุกวันในตอนเช้า ซึ่งจะมีเส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกันวันละประมาณ 10 เส้นทาง เส้นทางละประมาณ 100 ที่นั่ง ขึ้นมาอย่างหลากหลาย ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน ซึ่งราคาพิเศษที่สายการบินขาย ในเว็บไซต์ Grabaseat ส่วนใหญ่เป็นราคาที่ถูกกว่า ราคาปกติมาก แบบที่คนนิวซีแลนด์เห็นแล้วตาลุกว่าถูกเกินห้ามใจ ไม่ไปไม่ได้แล้ว เช่น โอ๊กแลนด์-โอซากา ไป-กลับชั้นธุรกิจราคา 1,000 ดอลลาร์ หรือโอ๊กแลนด์-เกาะตาฮิติ ไป-กลับ ราคา 500 ดอลลาร์ ซึ่งสามารถกดซื้อแล้วจ่ายเงินทางเครดิตการ์ดได้ทันที และไอเดียที่แปลกใหม่กว่าสายการบินอื่น คือในเว็บไซต์ Grabaseat จะมีการลิสต์จำนวนที่นั่งเอาไว้ชัดเจน ว่าที่นั่งที่เอามาขายราคาพิเศษในเส้นทางนี้ มีกี่ที่นั่ง ทางด้านขวาของเว็บไซต์และทุกครั้ง ที่มีคนซื้อไป 1 ที่นั่ง จำนวนที่นั่งก็จะลดลงเรื่อยๆ ให้คนเห็นชัดๆ เลยว่าตอนนี้เหลือกี่ที่นั่งแล้ว และถ้าเส้นทางไหนขายหมดเมื่อไหร่ ก็จะมีป้ายขึ้นว่า Sold Out หรือขายหมดแล้ว ซึ่งมันทำให้คนซื้อรู้สึกตื่นตัวว่าต้องรีบซื้อ เพราะที่นั่งราคาพิเศษนี้มีจำกัดช้าอาจหมด
แน่นอนว่าไอเดียของเว็บไซต์ Grabaseat นั้นมีผู้บริหารหลายคนค้านหัวชนฝาว่า มันอันตรายมาก เพราะอาจจะทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่เลิกคิดจองตั๋วเครื่องบินในราคาธรรมดา แล้วหันมารอราคา พิเศษใน Grabaseat แทน ผลปรากฏว่า Graba-seat ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากแบบที่หลายคนกลัว เพราะที่นั่งใน Grabaseat ทางสายการบินจะกำหนดวันเวลามาค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องเดินทางอาทิตย์ไหน และกลับอาทิตย์ไหน ซึ่งผู้โดยสารจำนวนมากที่มีงานประจำ ก่อนจะเดินทางก็จะต้องทำเรื่องลางานก่อน และวางแผนล่วงหน้ากันยาวๆ คนพวกนี้ยังไงพวกเขาก็จะซื้อตั๋วในราคาธรรมดา เพราะเขาต้องการตัดสินใจเองว่าเขาจะไปเมื่อไหร่ กลับเมื่อไหร่ ฉะนั้นสายการบินก็ไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรมากนักจากคนกลุ่มนี้
ถ้าจะมีการเสียผลประโยชน์จริงๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่แอร์นิวซีแลนด์อาจจะขายที่นั่งหลายที่นั่งในราคาที่ได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะได้ แต่จริงๆ แล้ว แอร์นิวซีแลนด์เป็นผู้กำหนดเองว่าที่นั่งที่จะเอามาขายใน Grabaseat นั้น เป็นที่นั่งไฟลต์ไหน วันไหน ซึ่งส่วนใหญ่ที่นั่งที่เอามาขายจะเป็นที่นั่งจากไฟลต์ที่มีคนจองน้อย ยังไงก็ขายที่นั่งไม่หมดลำแน่ ก็เลยเอาที่นั่งสัก 100 ที่จากไฟลต์นั้นมาขายในราคาถูก เมื่อรายจ่ายค่าน้ำมัน ค่าลงจอด และค่าพนักงานเท่ากันอยู่แล้วในทุกไฟลต์ การมีรายได้เพิ่มขึ้นมาบ้างในไฟลต์หนึ่งๆ ถึงจะไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ก็ยังดีกว่ามีแต่เก้าอี้เปล่าๆ เต็มลำ โดยไม่มีรายได้เลย
แม้สายการบินอาจจะเสียผลประโยชน์จากยอดกำไรต่อที่นั่ง ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปบ้าง แต่ Grabaseat ทำให้จุดมุ่งหมายหลักทั้ง 2 ของไฟฟ์สำเร็จผลทุกประการ เพราะจำนวนผู้โดยสารของแอร์นิวซีแลนด์นั้นพุ่งกระฉูดหลังจากมี Grabaseat คนนิวซีแลนด์ตื่นเต้นกับตั๋วราคาถูกที่แอร์นิวซีแลนด์นำมา ขายในแต่ละวันมาก ที่นั่งที่เอามาขายใน Grabaseat มีคนแย่งซื้อกันอย่างดุเดือด ขายหมดเกลี้ยงหรือเกือบหมดทุกวัน และเว็บไซต์ Grabaseat เป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้าไปดูถึงวันละ 120,000 คน ถือว่าจุดมุ่งหมายในการทำให้คนนิวซีแลนด์เห็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน เป็นเรื่องปกติ และตื่นตัวกับการเดินทางกับแอร์นิวซีแลนด์ ตลอดเวลา ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
ส่วนจุดมุ่งหมายที่สอง ที่ต้องการให้ผู้โดยสารหันมาซื้อตั๋วโดยตรงกับสายการบินทางออนไลน์ อันนี้ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะก่อนแอร์นิวซีแลนด์เปิดเว็บไซต์ Grabaseat สายการบินมีรายได้จากการขายตั๋วออนไลน์เพียงปีละ 150 ล้านดอลลาร์ แต่เพียง 1 ปีครึ่งหลังจากมี Grabaseat สายการบินมีรายได้จากการขายตั๋วออนไลน์ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากผู้ที่ใช้ Grabaseat ซื้อตั๋ว ก็จะชินกับระบบการซื้อตั๋วออนไลน์ของแอร์นิวซีแลนด์ หากเขาต้องการซื้อตั๋วในราคาธรรมดา หลายคนเลือกใช้เว็บไซต์แอร์นิวซีแลนด์ ซื้อตั๋ว เพราะชินกับการซื้อตั๋วออนไลน์แล้ว ทำให้สายการบินสามารถประหยัดค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายให้เอเย่นต์ และค่าจ้างพนักงานที่ขายตั๋วทางโทรศัพท์ได้อย่างมหาศาล นั่นก็หมายความว่าแอร์นิวซีแลนด์กลายเป็นสายการบินที่สามารถทำกำไรได้ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสายการบินที่ทำเลเสียเปรียบและค่าแรงสูงมาก ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันสูงลิบในเวลานี้
ความนิยมของเว็บไซต์ Grabaseat ทำให้แอร์นิวซีแลนด์สามารถหารายได้ทางอื่นจากเว็บไซต์ Grabaseat อีกด้วย เช่น มุมขวาล่างของเว็บไซต์จะเป็น มุม Cheapsleep ซึ่งจะมีโรงแรมหลายแห่งทั่วประเทศ นำห้องพักในคืนที่มีห้องเหลือเยอะๆ มาขายโรงแรมละ 10 ห้อง ในราคาถูกกว่าปกติมาก โดยกำหนดวันเดินทางแน่นอนว่าต้องเช็กอินวันไหน เช็กเอาต์วันไหน และจ่ายเงินทางเครดิตการ์ดทันทีเวลาจอง ซึ่งแอร์นิวซีแลนด์ก็ได้ค่าคอมมิชชั่นจากโรงแรมพวกนี้เป็นรายได้พิเศษ
ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมมาก คือ Grabaseat Themed Flight คือเป็นเที่ยวบินพิเศษเวลามีแมตช์กีฬาใหญ่ๆ หรือมีเทศกาลอะไรสำคัญๆ สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปดูกีฬานัดนั้น หรือไปร่วมเทศกาลนั้นๆ โดยเฉพาะจะขายแพ็กเกจ รวมที่พัก ตั๋วเครื่องบินไปกลับไฟลต์พิเศษนั้นๆ และตั๋วดูกีฬาแมตช์นั้นเข้าไปเสร็จสรรพ
ซึ่งไฟลต์เหล่านี้เป็นที่นิยมมาก เพราะผู้โดย สารทุกคนที่จองที่นั่งไฟลต์พวกนี้จะเป็นแฟนกีฬาทีมเดียวกัน หรือคนที่มีรสนิยมเดียวกัน การพบเจอเพื่อนใหม่ที่เป็นคนคอเดียวกัน พวกนี้จะคุยกันสนุกมาก การเลือกพนักงานที่จะขึ้นไปบริการในไฟลต์พิเศษ แอร์นิวซีแลนด์ก็จะเลือกพนักงานที่เป็นคนรสนิยมเดียวกับผู้โดยสารกลุ่มนั้นๆ ให้เป็นผู้ที่จะขึ้นไปบริการผู้โดยสารบนไฟลต์พิเศษด้วย ยิ่งทำให้ไฟลต์นั้นสนุกขึ้นไปอีกและนี่ก็ยิ่งทำให้ Grabaseat เป็นเว็บไซต์ที่ทำเงินให้แอร์นิวซีแลนด์อย่างมหาศาล ทำให้คนนิวซีแลนด์ เห็นการเดินทางกับแอร์นิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ตามจุดมุ่งหมายที่ไฟฟ์ตั้งใจไว้
เรื่องราวกลยุทธ์การตลาดของแอร์นิวซีแลนด์นั้น ผมอ่านแล้วก็ทึ่ง เพราะความจำเป็นที่เขาจะต้องทำให้สายการบินอยู่รอดให้ได้ ทั้งจากทำเลที่เสีย เปรียบและจำนวนประชากรที่น้อยนิด ทำให้เขาสามารถสร้างเว็บไซต์แปลกใหม่ที่ทำให้สายการบินเขาทำกำไรได้ ซึ่งผู้ทำธุรกิจในเมืองไทยหากจะดูตัวอย่างของแอร์นิวซีแลนด์ แล้วหากลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องให้เจอ แล้วสร้างเว็บไซต์ หรือหน้าในเฟซบุ๊กสักหน้าหนึ่งแล้วอัพเดตอะไรพิเศษอยู่บ่อยๆ ให้กลุ่มลูกค้าของเขาตื่นตัวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือราคาพิเศษของสินค้าอยู่ตลอดเวลา จนลูกค้าของเขา เห็นผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่จะต้องซื้อต้องใช้เป็นปกติ ผมเชื่อว่าน่าจะเพิ่มยอดกำไรให้กับธุรกิจของพวกเขาได้ไม่มากก็น้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|