Tokyo Gate Bridge

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

สะพานโครงสร้างแปลกตาดูละม้ายไดโนเสาร์คู่หนึ่งที่ยืนประจันหน้าเข้าหากันดั่งกรอบประตูเปิดกว้างต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนมหานครโตเกียวโดยทางเรือนั้น กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองหลวงญี่ปุ่น ซึ่งแท้จริงแล้วนี่คือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของเส้นทางบายพาสเชื่อมต่อระบบการจราจรรอบอ่าวโตเกียวชั้นในเป็นวงแหวน

Tokyo Gate Bridge เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกของอ่าวโตเกียวขั้นที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2002 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2011 เชื่อมโยงฝั่งตะวันออก Wakasu ในเขต Koto พาดข้าม ทะเลไปยังเกาะป้องกันคลื่นกลางอ่าวโตเกียว (Chuo Bouhatei) แล้วต่อไปที่ฝั่งตะวันตก Jonanjima ในเขต Ota ได้ฤกษ์เริ่มเปิดให้สัญจรเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ผ่านมา

การออกแบบสะพานแห่งนี้ไม่ได้มุ่งท้าทายให้เกิดจินตนาการหลากมุมมองผ่านการสร้างสรรค์รูปทรงเรขาคณิตมาประกอบเข้ากันเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โดดเด่นสะดุดสายตา หากแต่มุ่งหมายให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดจากแนวคิดการสร้างสะพานอันแข็งแกร่ง สำหรับรองรับเศรษฐกิจของกรุงโตเกียวในอีก 100 ปีข้างหน้า โดยประยุกต์เทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาล้ำสมัยภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง

ประการแรก เมื่อโครงการในขั้นที่ 2 นี้เสร็จสมบูรณ์จะช่วยลดความคับคั่งของการจราจรบริเวณริมอ่าวโตเกียวชั้นในโดยเฉพาะในเส้นทางของโครงการขั้นที่ 1 ซึ่งเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกของโตเกียวกับ Jonanjima และถนนบริเวณภายใน Odaiba* ที่มักถูกใช้เป็นเส้นทางผ่านของรถบรรทุกขนส่งสินค้าของ ท่าเรือน้ำลึกโตเกียว 3 แห่ง ได้แก่ Shinagawa, Oi และ Aomi ซึ่งลำเลียงคอนเทนเนอร์สินค้ามากกว่า 10,000 ตู้ต่อวัน ดังนั้นสะพานจำต้องมีความสูงมากกว่า 54 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือเดินสมุทรผ่านเข้าออกได้

ประการที่สอง Tokyo Gate Bridge สร้างในบริเวณใกล้เคียงกับสนามบินนานาชาติฮาเนดะ** ซึ่งมีเที่ยวบินขึ้นลงหนาแน่นอันดับ 5 ของโลก (สถิติปี 2011 จาก Airports Council International) เป็นข้อกำหนด ความสูงของเสาสะพานซึ่งห้ามเกิน 98.1 เมตร

ประการถัดไป เสาของสะพานฝั่งตะวันตกตั้งอยู่บนเกาะป้องกันคลื่นกลางอ่าวโตเกียวแถบด้านนอก ส่วนเสาของสะพานฝั่งตะวันออกตั้งอยู่ทางด้าน Wakasu ซึ่งเสาทั้งสองแห่งปักฐานอยู่บนเกาะที่สร้างขึ้นโดยใช้ขยะถมทะเลจึงมีความจำเป็นต้องออกแบบพิเศษให้รับน้ำหนักและสมดุลของสะพานได้อย่างมั่นคง

เกาะป้องกันคลื่นกลางอ่าวโตเกียวหรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Chuo Bouhatei เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 1973 โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งเศรษฐกิจด้านในของอ่าวโตเกียว ท่าเรือโตเกียวรวมทั้ง Odaiba ที่มีสาเหตุจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลรวมถึงช่วยลดความรุนแรงของ Tsunami ที่อาจรุกล้ำเข้าสู่อ่าวโตเกียวซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ปัจจุบัน Chuo Bouhatei ประกอบด้วย 2 ส่วนคือแถบด้านในของเกาะเป็นบริเวณที่ถมทะเลเสร็จเรียบร้อย ซึ่งมีพื้นที่ 780,000 ตารางเมตร และแถบด้านนอกของเกาะมีพื้นที่ 3,140,000 ตารางเมตร ซึ่งมีแผนจะถมทะเลเพิ่มออกไปอีก 4,800,000 ตารางเมตร

พิกัดที่ตั้งฟากหนึ่งของสะพานทางฝั่งตะวันตกนี้กลายเป็นข้อจำกัดประการสำคัญที่ออกแบบ Tokyo Gate Bridge ให้มีศักยภาพรับแรงทั้งตามแนวนอนและแนวดิ่งได้มากกว่าข้อกำหนดมาตรฐานการสร้างสะพานขนาดเดียวกัน 3 เท่า หรือประมาณ 7,000 ตัน เพื่อเป็นหลักประกันความ ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และ Tsunami ขนาดยักษ์ได้ ซึ่งเลือกสร้างสะพานแบบ Truss bridge ที่มีพื้นฐาน มาจากกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน โดยสร้างขึ้นจากหน่วยย่อย รูปทรงสามเหลี่ยมที่ประกอบกันทำหน้าที่รับแรงกดและแรงเค้นของสะพานที่ยึดต่อกันในแต่ละจุด

ยิ่งไปกว่านั้นเสาคู่แฝดของสะพานหล่อด้วยปูนซีเมนต์ ที่มีความทนทานสูงหุ้มโครงสร้างเหล็กกล้า BHS (Bridge High-performance Steel) ติดตั้งระบบตรวจวัดแรงกระทำ บนตัวสะพานทั้งสองแนวแล้วประมวลผลเพื่อปรับผ่อนแรงในสองทิศทางรักษาสมดุลของสะพานขณะเกิดแผ่นดินไหวได้โดยอัตโนมัติ

เชิงสะพานฝั่งตะวันออกทางด้าน Wakasu เป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะชื่อ Wakasu Kaihin Park ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่รวมกิจกรรมสันทนาการไว้หลากหลายกว่าสวนสาธารณะแห่งอื่นของเมืองหลวง เช่น เลนจักรยาน สถานที่สำหรับตั้งแคมป์ สนามกอล์ฟ แหล่งตกปลาทะเล สถานที่ฝึกซ้อมเรือยอชต์รวมถึงจุดถ่ายภาพ Tokyo Gate Bridge ที่สวยที่สุด

นอกจากนี้ในวันท้องฟ้าแจ่มใสสามารถเดินหรือขี่จักรยานขึ้นไปชมวิวของมหานครโตเกียวและ Tokyo Sky Tree ที่มีภูเขาไฟฟูจิเป็นฉากหลัง ได้จาก Tokyo Gate Bridge ในช่วงเวลา 10.00-17.00 น. ของวันศุกร์-เสาร์ในฤดูร้อน เปิดบริการถึงเวลา 20.00 น.

ถนนวงแหวนใหม่นี้เปิดให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งเอื้อให้การจราจรและการขนส่งลำเลียงสินค้าในบริเวณริมอ่าวโตเกียวชั้นในคล่องตัวมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิมราว 40% กล่าวคือ การเดินทางระหว่าง Jonanjima-Wakasu โดยใช้เส้นทางเดิมผ่าน Odaiba ใช้เวลาประมาณ 21 นาที ในความเป็นจริงอาจจำเป็น ต้องใช้เวลานานกว่านั้นเนื่องเพราะการจราจรที่มักจะติดขัดตลอดวันโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน แต่หากเปลี่ยนไปข้าม Tokyo Gate Bridge แทนจะร่นระยะเวลาเหลือ 12 นาที ซึ่งไม่เพียงแต่ประหยัดเวลาเดินทางได้แล้วยังช่วยประหยัดน้ำมันและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศไปพร้อมกัน

โครงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกของอ่าวโตเกียวทั้งหมดที่แล้วเสร็จนี้คาดว่าจะช่วยระบายความหนาแน่นของการจราจรในมหานครโตเกียวได้เฉลี่ย 32,000 คันต่อวัน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ถึง 3 หมื่นล้านเยนต่อปีหรือคำนวณได้กว่า 3 ล้านล้าน เยนต่อศตวรรษ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ได้วางตั้งแต่ต้น

อ่านเพิ่มเติม:
* นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนธันวาคม 2548 เรื่อง “Odaiba” โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=42831
**
(1) นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เรื่อง “Big Bird กางปีก” โดย ชุมพล ธีรลดานนท์ หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=29187
(2) นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนธันวาคม 2553 เรื่อง “Dual Hub Airports of Japan” โดย ชุมพล ธีรลดานนท์ หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=90312


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.