|
“China 2030” อนาคตจีนอีก 20 ปีข้างหน้า
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
การประชุมที่เรียกว่า “การประชุมเรือกลไฟ” (steamship conference) ของจีนเมื่อปี 1985 คือเหตุการณ์ซึ่งกลายเป็นตำนานบทหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน การประชุมในเรือกลไฟ ชื่อ Bashan ของจีน ขณะล่องไปตามแม่น้ำแยงซีเกียง ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ต่างชาติ ที่หนึ่งในนั้นเคยได้รับรางวัลโนเบลกับนักวิชาการจีนที่มาจากทั้งรัฐบาลและแวดวงวิชาการ ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการคัดท้ายนาวาเศรษฐกิจจีน ที่ยังเดินไม่ตรงทางระหว่างแผนที่วางไว้กับความเป็นจริงในตลาด
การประชุมเรือกลไฟจัดขึ้นโดยธนาคารโลก ตามคำร้องขอ ของรัฐบาลจีน กลายเป็นตำนานบทสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจ จีน เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารโลกก็เพิ่งออกรายงานที่เป็นผลของความร่วมมือระหว่างจีนกับธนาคารโลกอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าจะกลายเป็นตำนานอีกครั้ง เหมือนกับความร่วมมือในครั้งก่อน
รายงาน “China 2030” ของธนาคารโลก เป็นการตรวจสอบว่า จีนจะสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้อย่างไร ในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยที่ทั้งตัวจีนเองและเพื่อนบ้านต่างมีความสุขกันถ้วนหน้า และสิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเรือกลไฟครั้งนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายจีนให้ความสนอกสนใจกับความคิดความเห็นของนักวิชาการต่างชาติเป็นอันมาก
แม้วันนี้เกือบ 30 ปีผ่านมาแล้วจากการประชุมครั้งนั้น จีน จะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ของธนาคารโลก แต่ธนาคารโลกกลับไม่ได้อยู่ในความสนใจของจีนมากนัก แม้ยังคงให้เงินสนับสนุนโครงการ พัฒนาในจีน ตั้งแต่การสร้างถนนใน Ningxia ไปจนถึงการบูรณะ โบราณสถานในบ้านเกิดของขงจื๊อ แต่เงินกู้จากธนาคารโลกจำนวน 20,600 ล้านดอลลาร์นั้น มีค่าเท่ากับเพียง 0.6% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนเท่านั้น
รายงาน China 2030 ของธนาคารโลก เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับกลุ่ม think tank ของรัฐบาลจีนชื่อ Development Research Centre (DRC) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน DRC อาศัยชื่อของธนาคารโลกบังหน้าสิ่งที่ตัวเองอยาก พูดลงไปในรายงานนี้ ส่วนอิทธิพลของ DRC ในจีน ก็ช่วยให้เสียง ของธนาคารโลกมีคนได้ยินในจีน
ในรายงานดังกล่าว คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอการเติบโตลงอย่างช้าๆ หรือ soft landing โดยในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ เศรษฐกิจจีนจะโตเฉลี่ย 7% และลดลงเหลือ 5% ในระหว่างปี 2026-2030 แต่นั่นก็ยังคงเพียงพอที่จะทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกและมีรายได้สูง ธนาคารโลกคาดว่า รายได้ต่อหัวของจีนอาจสูงถึง 16,000 ดอลลาร์ แต่เตือนว่า จีนจะไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าหากไม่ใช้นโยบาย ปฏิรูป
รายงานนี้เรียกร้องรัฐบาลจีนให้หยุดเข้าไปจุ้นจ้านในตลาด ในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องเงินทุน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยรัฐบาลจีน ไม่ใช่ด้วยกลไกการแข่งขัน เรื่องแรงงาน ซึ่งแรงงาน จากชนบทอยู่อย่างลำบากในเมือง และเรื่องที่ดิน ซึ่งข้าราชการจีนมักใช้วิธีบังคับเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน เอาไปพัฒนาเป็นเมือง
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนควรจะส่งเสริมให้เกิดบริษัทหน้าใหม่ๆ ในตลาด เพื่อเพิ่มการแข่งขัน เพราะขณะนี้มีแต่บริษัทของรัฐที่ครองตลาด ส่วนรัฐบาลจีนก็ควรถอยออกไป เพื่อมุ่งเน้นการทำหน้าที่วางกฎเกณฑ์ต่างๆ แทนที่จะเข้าไปยุ่ง เพื่อช่วยให้ตลาดทำหน้าที่ของตัวเองได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ รายงานของธนาคาร โลกระบุว่าเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นเพียง 1 ใน 6 นโยบายปฏิรูปที่รัฐบาลจีนต้องทำ และต้องทำอย่างเร่งด่วนทุกนโยบาย
สาเหตุที่จีนต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนพร้อมๆ กันถึง 6 เรื่อง รายงานธนาคารโลกระบุว่า เป็นเพราะปัญหาของจีนมีมากมาย และเพียงการบิดเบือนหรือลำเอียงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก
ตัวอย่างเช่น หลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งข้าราชการท้องถิ่นของจีนคือ ผลงานด้านเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาข้าราชการท้องถิ่นของจีนแย่งกันเสนอที่ดินราคาถูกๆ ลดค่าไฟ และเก็บภาษีต่ำๆ แก่นักลงทุน และทำทุกอย่างเพื่อจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาตั้งโรงงานในเมืองหรือในมณฑลของตนให้ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมการเติบโตของจีนส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาการลงทุน อย่างมาก
การเติบโตที่ต้องพึ่งพาการลงทุนเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อไปยังสิ่งแวดล้อมของจีน ทรัพยากรธรรมชาติของจีนพร่องหายไปอย่างรวดเร็ว และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่อง จากเกิดมลพิษทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งเป็นความเสียหายที่มากถึง 9% ของรายได้ประชาชาติจีนในปี 2008 ดังนั้น ทั้งการปฏิรูปการคลัง และการปฏิรูปการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นอีก 2 ใน 6 นโยบายปฏิรูปเร่งด่วนที่ระบุอยู่ในรายงาน China 2030 ของธนาคารโลก ในรายงานยังอ้างถึงการประสบความสำเร็จของโครงการทดลองในมณฑลกวางตุ้ง ที่ทดลองใช้ “ดัชนีความสุข” วัดความก้าวหน้าของท้องถิ่น และให้รางวัลข้าราชการที่สามารถสร้างความสุขให้แก่ประชาชน
การเติบโตที่เน้นหนักในด้านการลงทุนของจีนยังส่งผลกระทบต่อแรงงานจีน ซึ่งได้รับส่วนแบ่งเค้กการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชิ้นเล็กเหลือเกิน ทำให้การบริโภคในจีนโตไม่เร็วเท่ากับการโตของเศรษฐกิจ การที่คนจีนไม่ซื้อสินค้าที่ตัวเองผลิตไปขายในต่างประเทศ ส่งผลต่อไปให้เกิดปัญหาดุลการค้า การเกินดุลการค้าอย่างมหาศาลของจีน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมิตรประเทศ และปัญหาดุลการค้าก็คือนโยบายที่ 4 ใน 6 นโยบายปฏิรูป ที่รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน
แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนถูกกำหนดโดยการเมืองและการเมืองว่าด้วยการปฏิรูปในจีนมีผู้เล่นรายใหญ่คือรัฐวิสาหกิจ รายงานของธนาคารโลกคาดว่า ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างรัฐ วิสาหกิจจีนกับกลุ่มบริษัทขนาดยักษ์อันทรงอิทธิพล ซึ่งรัฐวิสาหกิจ เหล่านี้เป็นเจ้าของจะยังคงอยู่ต่อไป
บริษัทเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์มากมายจากการเป็นบริษัทของรัฐ โดยมีภาระรับผิดชอบน้อยมาก มีหน้าที่เพียงแบ่งกำไรเพียง 15% ส่งเข้ารัฐ
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า หากบริษัทเหล่านี้เพิ่มการนำส่งรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นเป็น 50% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่รัฐวิสาหกิจในประเทศร่ำรวยทั่วไปทำกัน จะทำให้รัฐบาลจีนมีรายได้เป็นงบประมาณเพิ่มขึ้น 3% ของ GDP ทันที และสามารถนำเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไปใช้ในโครงการสวัสดิการต่างๆ เพื่อสังคม ได้ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคือนโยบายปฏิรูปเรื่องที่ 5 ที่ธนาคารโลกเสนอให้จีนทำ และแน่นอนว่า ถูกรัฐวิสาหกิจของจีนคัดค้าน
ดังนั้น ธนาคารโลกจึงเรียกร้องให้จีนรักษาการทดลองการปฏิรูปในระดับท้องถิ่นต่อไป เพราะความสำเร็จในการปฏิรูปในระดับท้องถิ่นของจีน มักจะมีผู้สนับสนุนอยู่เสมอ
ม้าไม้เมืองทรอย
หนึ่งในสถาบันหลักของจีนที่มักใช้กลยุทธ์การทดลองปฏิรูป คือธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) ฝ่ายวิจัยและสถิติของธนาคารกลางจีน เพิ่งออกรายงานแผนการผ่อนคลายการควบคุมตลาดทุนของจีน ซึ่งจะใช้เวลา 10 ปีนับจากนี้ ในรายงาน China 2030 ของธนาคารโลก ก็กล่าวถึงการเปิดตลาดทุนของจีนไว้เช่นกัน แต่ระบุว่า มีเงื่อนไขหลายอย่างที่จีนจะต้องทำก่อนเปิดตลาดทุน ได้แก่การเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยน การเลิกควบคุมอัตราดอกเบี้ย ปรับปรุงการตรวจสอบธนาคารเอกชน และปฏิรูปตลาดเงิน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนเห็นว่า หากจะรอให้จีนบรรลุเงื่อนไขเหล่านั้น เช่นการเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย อาจต้องรอไปตลอดชาติ และการเปิดตลาดทุนจีนคงจะไม่มีวันมาถึง
ดังนั้น ธนาคารกลางจีนจึงคิดต่างไปจากธนาคารโลก โดย จะพยายามผ่อนคลายการควบคุมเงินทุนก่อน ซึ่งจะไปช่วยเร่งการเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยนและผ่อนคลายการควบคุมอัตราดอกเบี้ยได้ ถ้าหากธนาคารเอกชนของจีนสามารถเสนออัตราดอกเบี้ยตามความต้องการของตลาด และหากผู้ออมเงินในจีนมีอิสระที่จะเลือกฝากเงินกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เงินทุนก็จะไหลเข้าออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมาทำให้ธนาคารกลางจีนต้องผ่อนคลายการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน
การไหลของเงินทุนยังจะก่อให้เกิดแรงกดดันที่ธนาคารกลางจีนกำลังต้องการอย่างยิ่ง เพื่อจะเอาชนะการต่อต้านภายในประเทศที่มีต่อการปฏิรูปตลาดทุน นักวิเคราะห์ตะวันตกเรียกแผนการของธนาคารกลางจีนนี้ว่า “แผนม้าไม้เมืองทรอย” (Trojan horse)
ด้านฝ่ายปฏิรูปก็พยายามช่วยป่าวร้องผลพลอยได้จากการเปิดตลาดทุนด้วยว่า จะช่วยให้นักลงทุนของจีนสามารถซื้อบริษัทต่างชาติได้ง่ายดายขึ้น ในเวลานี้ซึ่งนักลงทุนตะวันตกกำลังอยู่ในสภาพกระเป๋าแห้ง และราคาสินทรัพย์ต่างชาติแสนจะถูก นอกจากนี้ยังจะทำให้เงินหยวนของจีนกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม การเป็นสกุลเงินระดับโลกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รายงานของธนาคารกลางจีนชี้ว่า ความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนเชื่อว่า เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างจีน คู่ควรกับศักดิ์ศรีการเป็นสกุลเงินระดับโลกไม่น้อยหน้าไปกว่าสหรัฐฯ และยอมรับว่า การที่เงินหยวนจะเป็นสกุลเงินระดับโลก อาจไม่ให้ประโยชน์กับจีนมากนัก แต่เป็นคุณค่าที่จีนคู่ควร
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|