การเมืองร้อนแรงเบื้องหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

"จีนกำลังจะถ่ายเลือดใหม่ในปีนี้ แต่ก่อนที่จีนจะได้ผู้นำรุ่นใหม่ สงครามว่าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนเริ่มร้อนแรงขึ้น"

ฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปในจีนต้องทนทุกข์มานานหลายปี พวกเขาต่างบ่นว่า เศรษฐกิจจีนที่เจริญรุ่งเรืองทำให้รัฐบาลจีนไม่กล้าต่อกรกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเตรียมจะผ่องถ่ายอำนาจต่อไปยังผู้นำจีนรุ่นใหม่ภายในปีนี้ ทำให้ฝ่ายปฏิรูปในจีนเริ่มมองเห็นช่องทางสว่างแม้เพียงเล็กน้อยในการผลักดันการปฏิรูปในจีน

เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายปฏิรูปของจีนได้สนับสนุนรายงาน 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการวางแผนการเปลี่ยนแปลงระยะยาวในจีน รายงานฉบับแรกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา People’s Bank of China หรือธนาคารกลางจีนออกแผนงาน 10 ปีเพื่อเปิดเสรีตลาดทุนจีนในระยะยาว จุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการของจีนซื้อบริษัทต่างชาติได้ง่ายขึ้น และเปิดทางให้กับการเปิดเสรีตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงตลาด อสังหาริมทรัพย์ในจีน 4 วันหลังจากนั้น กลุ่มนักปฏิรูปในจีนถึงกับดึงธนาคารโลกลงมาเล่นด้วย

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ธนาคารโลกร่วมกับกลุ่ม think tank ของรัฐบาลจีนชื่อ Development Research Centre (DRC) ออกรายงานหนา 468 หน้า มีเนื้อหาที่เห็นได้ชัดว่า สะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงจีนของกลุ่มหัวปฏิรูปในจีน รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ไปจนถึงการลดอิทธิพลของบริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ และเพิ่มความเข้มแข็งให้เกษตรกรจีนในการรักษาสิทธิ์ ในที่ดินของตนเอง รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้เตือนด้วยว่า หากจีนไม่เร่งปฏิรูปนโยบายต่างๆ ตามแนวทางของรายงานนี้ จีนอาจจะติด “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) ซึ่งหมายถึง การมีปัญหาเงินเฟ้อและความไร้เสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของจีนชะงักงันหยุดนิ่งอยู่กับที่

ความสำคัญของรายงานของธนาคารโลกไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่สำคัญที่ใครเป็นคนพูด เป็นที่รู้กันดีว่าธนาคารกลาง ของจีนคือด่านหน้าของฝ่ายปฏิรูปในจีน จึงมักจะถูกข่มอยู่เสมอ รายงานของธนาคารกลางจีนจึงอาจถูกมองเมิน แต่รายงานของธนาคารโลกน่าสนใจมาก เนื่องจากธนาคารโลกมีสัมพันธภาพกับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่ กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศรุ่นต่อไปของจีน เป็นสิ่งที่น่าประหลาด มากที่มีองค์กรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนอย่าง DRC ไปร่วมมือทำงานใกล้ชิดกับองค์กรต่างชาติอย่างธนาคารโลก ในการจัดทำรายงานที่สำคัญและอ่อนไหวสูงต่อนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติของจีนเช่นนี้ ฝ่ายอนุรักษนิยมในจีนมีความหวาดระแวงในธนาคารโลกอย่างล้ำลึกตลอด มา โดยมองว่าเป็นตัวแทนของการเปิดเสรีแบบตะวันตกที่ล้มเหลว Robert Zoellick ประธานธนาคารโลก รู้ซึ้งเป็นอย่างดีในเรื่องนี้

ในระหว่างที่เขาแถลงข่าวเปิดเผยรายงานของธนาคารโลกที่กรุงปักกิ่งนั้น ชายชาวจีนคนหนึ่งที่บอกว่าตัวเองเป็นนักวิชาการอิสระ ลุกขึ้นรบกวนการแถลงข่าวของ Zoellic ด้วยการกล่าวประณามธนาคาร โลกอย่างไม่มีชิ้นดีที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของจีน

ในรายงานล่าสุดของธนาคารโลกดังกล่าวระบุไว้ว่า Zoellick คือผู้ที่เสนอในปี 2010 ให้ธนาคารกลางจีนและรัฐบาล จีนจับมือกันวางแผนพัฒนาจีนในระยะยาว แต่ข้อเสนอของ Zoellick นั้นน่าจะมี กำเนิดมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน Li Keqiang รองนายกรัฐมนตรีจีน แสดงความสนใจอย่างยิ่งต่อความคิดของ Zoellick เมื่อประธานธนาคารโลกหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาคุยกับเขา และ Li ที่เป็นคนแนะนำกลุ่ม think tank DRC ของรัฐบาลจีน ให้เข้าไปร่วมทำรายงานดังกล่าวกับธนาคารโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังของจีนด้วย หลังจากธนาคารโลกออกรายงานฉบับนี้แล้ว Li ยังได้ไปพบกับ Zoellick ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อรายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ และ Li หาใช่แค่รองนายกรัฐมนตรีธรรมดาๆ หากแต่เขากำลังจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนต่อไป สืบต่อจากนายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ในปีหน้า

แทบไม่มีนักวิเคราะห์คนใดเชื่อว่า ผู้นำรุ่นใหม่ของจีนจะรับเอาการปฏิรูปที่ธนาคารกลางจีน ธนาคารโลกและกลุ่ม DRC ของจีนแนะนำไปใช้ในทันที อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่า ฝ่ายปฏิรูปในจีนกำลังพยายามสร้างอิทธิพลเหนือการตัดสินใจด้านนโยบาย ที่กลุ่มผู้นำ รุ่นหน้าของจีนกำลังเผชิญ บทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์จีนต่างกล่าวถึงการครบรอบ 20 ปี การเดินทางทัวร์ภาคใต้ของจีนในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1992 ของเติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุด ของจีนผู้ล่วงลับ เติ้งใช้การทัวร์นี้กล่าวโจมตีพวกหัวแข็ง และกดดันให้จีนเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาดให้เร็วขึ้น บทความเหล่านี้ถึงกับแนะนำว่า ควรจะจัดให้มีการ “ทัวร์ภาคใต้ภาค 2” ได้แล้ว

เดินตามรอยเท้าเติ้งเสี่ยวผิง
แม้แต่กระบอกเสียงหลักของรัฐบาลจีน อย่างหนังสือพิมพ์ People’s Daily ก็ขอลงเล่นในเกมนี้ด้วย บทบรรณาธิการของ People’s Daily เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนบางคนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะกลัวจะเสี่ยงถูกตำหนิติเตียน People’s Daily เตือนว่า การทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้เกิดวิกฤติที่หนักหนามากขึ้นในจีน และการ “ทำเล่นๆ” ไม่เอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปจะหมาย ถึงความหายนะของประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างจีน รวมทั้งพรรคคอมมิว นิสต์จีนที่ยิ่งใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของจีนเอนเอียงไปทางฝ่ายปฏิรูป ไม่ได้หมายความว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากนักในจีน หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะประกาศเปลี่ยนตัวผู้นำรุ่นใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ความคาดหวังต่อการปฏิรูปในจีน ก็เคยสูงเหมือนกับตอนนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ในช่วงผู้นำจีนรุ่นปัจจุบันกำลังจะขึ้นรับตำแหน่ง แต่ความหวังนั้นก็เลือนรางลับไป เมื่อผู้นำจีนรุ่นปัจจุบันแสดงชัดว่า พวกเขาขาดเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นหรือความ แข็งแกร่งมากพอที่จะกล้าจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ทรงอิทธิพล อย่างเช่นรัฐวิสากิจและอุตสาหกรรมส่งออกของจีน ส่วน Xi Jinping ซึ่งกำลังจะขึ้นกุมบังเหียน พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีนี้ และจะขึ้นเป็น ประธานาธิบดีจีนคนต่อไปในปี 2013 คงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าอำนาจของเขาจะเข้าที่

ขณะเดียวกัน กลุ่มผลประโยชน์ก็เตรียมจะปกป้องตัวเองอย่างเต็มที่ รายงานของธนาคารโลก-DRC เสนอว่า อำนาจการควบคุมรัฐวิสาหกิจของจีนควรจะโอนไปให้หน่วยงานอิสระหน่วยงานใหม่ ซึ่งจะนำดอกผลที่ได้จากรัฐวิสาหกิจนำส่งให้รัฐไปใช้เป็นงบประมาณของประเทศ และเสนอให้ลดสัดส่วนการเป็นเจ้าของในบริษัทที่เป็นของรัฐวิสาหกิจจีน ทำให้ Assets Supervision and Administration Commission (SASAC) หน่วยงานของจีนที่มีอำนาจดูแลรัฐวิสาหกิจลุกขึ้นเต้นทันที ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง จีนคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ SASAC ยังทำหนังสือ ถึงกลุ่ม DRC โต้แย้งว่า ที่ฝ่ายปฏิรูปพยายามยืนยันว่า รัฐวิสาหกิจของจีนกำลังเจริญขึ้น แต่บริษัทเอกชนจีนกลับเจริญลงนั้น ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง

การปฏิรูปในจีนไม่เพียงถูกขัดขวางโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอิทธิพลในจีนเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การไร้ความกระตือรือร้น ในหมู่ชาวจีนเอง ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ฝ่ายปฏิรูปสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนไม่ชอบได้สำเร็จ อย่างเช่นการลอยแพ พนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ แลกกับการที่จีนจะได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Center) ซึ่งจีนได้เข้าร่วมในปี 2001 แต่ตอนนี้ไม่มีข้ออ้างแบบนั้นอยู่ใกล้มือให้ฝ่ายปฏิรูปหยิบฉวยไปใช้ได้อีกแล้ว

ดังนั้น สงครามเพื่อการปฏิรูปในจีนจะยังคงดำเนินต่อไป และผู้นำจีนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีอาวุธที่มากกว่าเพียงรายงานของธนาคารชาติจีน ธนาคารโลก หรือกลุ่มนักวิชาการจีน ถ้าหากต้องการจะเอาชนะในสงครามนี้

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.