ในบรรดาธนาคารระดับกลางด้วยกันในขณะนี้ต้องยอมรับว่า ธนาคารทหารไทยกำลังเป็นดาวรุ่งที่พุ่งขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตาไม่ว่าในแง่ของสินทรัพย์
หรือในแง่ของการขยายงาน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร แต่ก่อนจะถึงวันนี้ ธนาคารทหารไทยเองก็ต้องผ่านยุคต่างๆ
ของความไม่แน่ไม่นอนและการผูกขาดบริหารมาจนเป็นรูปเป็นร่างได้ในปัจจุบันนี้
บางยุคบางสมัยของธนาคารทหารไทยก็กลายเป็นตำนานที่บอกเล่ากันไม่จบไม่สิ้น
ไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือเหตุบังเอิญแน่ๆ ที่ธนาคารทหารไทยสามารถผลักดันตัวเองจากธนาคารพาณิชย์
ที่มีผลประกอบการอยู่ในอันดับ 10 เมื่อสิ้นปี 2524 ขึ้นมาเป็นอันดับ 7 เมื่อสิ้นปี
2527 อัตราการขยายตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านเงินฝาก เงินให้กู้ยืม
และสินทรัพย์ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
น่าทึ่งและชวนให้สงสัยว่า ทำได้อย่างไรในภาวะที่การแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น
ไม่มีใครยอมเสียพื้นที่การตลาดให้ใครง่ายๆ
ตัวเลข ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2527 ธนาคารทหารไทย มีเงินฝากทั้งสิ้น 23,009
ล้านบาท เงินให้กู้ยืม 20,640 ล้านบาท และสินทรัพย์ 29,750 ล้านบาท เทียบกับตัวเลข
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2524 เงินฝาก 9,225 ล้านบาท บาท เงินให้กู้ยืม 7,918
ล้านบาท และสินทรัพย์ 11,597 ล้านบาท การขยายตัวค่อนข้าง AGGRESSIVE นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมองข้ามไปได้
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน หรือนิตยสารแนวรายงานเชิงวิเคราะห์อย่าง
"ผู้จัดการ"
เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งนี้ อาจจะให้คำจำกัดความสั้นๆ ได้ว่าเป็นธนาคารที่เกิดขึ้นจาก
"ความต้องการของทหาร เพื่อทหาร แต่บริหารโดยนายธนาคารมืออาชีพ และพัฒนาสู่ธนาคารพาณิชย์เต็มตัว"
การก่อกำเนิดของธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ เกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น กับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายทหารที่โด่งดัง
และอื้อฉาวคนหนึ่งของประเทศไทย นายทหารท่านนั้นก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จากเนื้อความในหนังสือที่ตีพิมพ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ธนาคารทหารไทยเมื่อปี
2525 ที่ "ผู้จัดการ" ใคร่ขออนุญาตตัดทอนและเรียบเรียงมาลงอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งคงพอที่จะทำให้เห็นภาพเหตุการณ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการตั้งธนาคารทหารไทยได้อย่างชัดเจน
เดือนมิถุนายน พ.ศ.2497 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มียศเป็นพลเอกและดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น
ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
นอกจากนั้นในปีดังกล่าว ท่านยังเป็นหัวหน้าคณะนายทหารเดินทางไปต่างประเทศ
ทำให้มีโอกาสได้เห็นตัวอย่างในเรื่องการออมทรัพย์ของทหาร ซึ่งรวมไปถึงครอบครัวของทหารด้วย
และการอำนวยความสะดวกในการออมทรัพย์นี้ ได้กระทำในรูปของสถาบันการเงิน
"คือตามที่ท่านจอมพลสฤษดิ์บอกให้ฟังก็คือ ท่านอยากให้มีสถาบันการเงิน
ที่เป็นแบบ MILITARY FINANCE FACILITY คือท่านไปเห็นในฐานทัพของสหรัฐฯ เขามี
MILITARY FINANCE FACILITY ให้บริการเบิก ถอน แลกเปลี่ยนเงิน… ท่านก็อยากให้มีแบบนี้
ซึ่งมันก็คือแบงก์อันหนึ่ง ตอนนั้นฐานทัพสหรัฐฯ ที่อู่ตะเภา CHASE MANHATTAN
BANK เขาก็เข้าไปให้บริการ ต่อมาฐานทัพที่โคราชก็ใช้บริการของ BANK OF AMERICA
พวกพนักงานแบงก์ที่เข้าไปทำงานในฐานทัพ ก็ถือว่าเป็นทหาร แต่เป็นด้านพลเรือน…เป็นลูกจ้างของกองทัพ"
นายอนุชาต ชัยประภา 1ใน 26 พนักงานรุ่นแรกของธนาคารทหารไทย ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ในชั้นแรกนั้นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ วางเป้าหมายว่าธนาคารที่จะจัดตั้งขึ้น
มีฐานะเป็นเพียงธนาคารทหารบกเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำสั่งกองทัพบก ที่
280/21355 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2498 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาโครงการของธนาคารทหารบก
โดยมีพลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร (หลวงสุทธิสารรณการ) รองผู้บัญชาการ ในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการ
หลังจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการในการจัดตั้งธนาคารทหารบก ก็ได้นำเสนอผ่านจอมพล
ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่
15 สิงหาคม 2499 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติ ให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงกลาโหม
ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงมอบหมายให้พลจัตวาอัมพร
จินตกานนท์ เป็นผู้ประสานงานโดยใกล้ชิด กับหน่วยราชการต่างๆ จนกระทั่งกระทรวงการคลังยอมรับในหลักการที่จะอนุมัติให้กองทัพบกจัดตั้งธนาคารขึ้นได้
ดังปรากฏในหนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ลงวันที่ 4 กันยายน 2499
จากหนังสือของกระทรวงการคลัง ที่ยอมอนุมัติให้ตั้งธนาคารตามคำขอของกองทัพบก
หากจะตัดตอนออกเป็น 3 ส่วนจากท้ายความของหนังสือย้อนกลับไปสู่ตอนเริ่มต้น
ก็จะเห็นความน่าสนใจอย่างฉกาจฉกรรจ์อยู่หลายข้อทีเดียว
ในส่วนท้ายความของหนังสือฉบับดังกล่าวที่เป็นความเห็นของกระทรวงการคลัง
แม้จะไม่เห็นด้วยเลยกับการตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่ม ด้วยเกรงว่าจะทำให้เกิดเงินเฟ้อเพราะเป็นแหล่งในการขยายเครดิต
ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสียหายของเศรษฐกิจประเทศได้
แต่ก็เป็นความเห็นเชิงค้านที่อ้อมแอ้มไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคำขอจากกองทัพบกคือจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก
และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
และมาดูข้อความถัดขึ้นไป อันเป็นส่วนความเห็นร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง
กับกระทรวงกลาโหม จากข้อ 2-7 โดยเฉพาะข้อ 4 และข้อ 5 จะเห็นได้ว่า โดยเนื้อแท้แล้วกระทรวงการคลังต้องการผูกมัดไม่ให้ธนาคารแห่งใหม่นี้
ทำธุรกิจอื่นนอกแวดวงของกลุ่มทหาร
ครั้นย้อนหลังขึ้นไปดูความในข้อ 1 ที่เขียนไว้ว่า "ธนาคารที่ขอตั้งนี้จะเป็นไปในรูปของธนาคารพาณิชย์
ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2488 ลักษณะแห่งการทำธุรกิจที่จะกระทำอยู่ในกรอบที่บัญญัติในกฎหมายนั้น"
ก็เลยไม่รู้ว่าจะมาร่างข้อความในข้อ 2 - ข้อ 7 กันอีกทำไม ให้เสียเวลา
เรื่องของเรื่องก็คือว่า กระทรวงการคลัง เกรงว่าหากอนุญาตให้เป็นเพียงธนาคารเฉพาะกิจของทหาร
ก็เกรงว่าอำนาจของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยจะเอื้อมไม่ถึง
เพราะเป็นการริเริ่มก่อตั้ง โดยบรรดานายทหารที่กุมกำลัง กุมอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริงในขณะนั้น
หากจะปล่อยให้ทหารดูแลกันเอง อาจจะดำเนินการเลยเถิดเกินกว่ากฎหมายกำหนด
จากความในข้อ 1 นี้เอง ทำให้ภายหลังธนาคารทหารไทยจึงสามารถดำเนินธุรกิจในรูปของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเต็มตัว
และเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก ผิดกับธนาคารอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นด้วยพระราชบัญญัติพิเศษ
ให้ประกอบธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ
ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์แรกเริ่มของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ธนาคารที่ท่านต้องการก็คือ
ธนาคารเฉพาะกิจ สำหรับให้บริการทหารบก ARMY BANK เท่านั้น
"ด้วยในชั้นเดิมผมได้ดำริจะจัดตั้งธนาคารทหารบกขึ้นเพื่อประโยชน์ในการออมทรัพย์
และในการสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ สำหรับนักเรียนทุนกระทรวงกลาโหม
และฝ่ายทูตทหารในต่างประเทศ ฯลฯ ตามแบบอย่างของธนาคารทหาร (ARMY BANK) ในประเทศอื่น
ผมจึงได้เสนอเรื่องต่อกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดตั้งธนาคารขึ้นได้
แต่ในระหว่างนี้ได้มีเพื่อนนายทหารเรือและทหารอากาศมาปรารภว่า การจัดตั้งธนาคารแต่ละแห่งขึ้นนั้นเป็นการกระทำด้วยความยากลำบาก
และจะต้องเป็นผู้มีความสามารถเพียงพอ ขณะนี้ทางรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะระงับการจัดตั้งธนาคารขึ้นใหม่ด้วย
เมื่อมีโอกาสได้จัดตั้งธนาคารขึ้นแล้วเช่นนี้ ควรจะให้เป็นธนาคารทหารทั้ง 3 กองทัพ
กิจการอันเกี่ยวกับการเงินของกองทัพบก ก็ย่อมจะเป็นไปเช่นเดียวกับกองทัพเรือ
และกองทัพอากาศ หากได้รวมกิจการเงินของทั้ง 3 กองทัพให้ผ่านธนาคารเดียวกันแล้ว
กิจการของทหารทั้ง 3 กองทัพอันเกี่ยวกับการเงินก็จะเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้นกว่าการปฏิบัติในขณะนี้
ซึ่งจะต้องนำเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งแตกแยกกันอยู่ จึงขอให้พิจารณาจัดตั้งธนาคารอันเป็นส่วนรวมของทหารบก
ทหารเรือ และทหารอากาศด้วย…"
ดังนั้น ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการคลัง และมีมติอนุมัติให้กองทัพบกตั้งธนาคารทหารบกขึ้นได้
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้พิจารณาเหตุผลและเห็นชอบด้วยกับแนวความคิดที่จะตั้งธนาคารอันเป็นส่วนรวมของทั้ง 3 กองทัพ
จึงได้มอบให้ พลโทอัมพร จินตกานนท์ ในฐานะผู้เริ่มก่อการผู้หนึ่ง ดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อก่อตั้งธนาคารขึ้นเมื่อวันที่
5 ตุลาคม 2499 ในหนังสือบริคณห์สนธิได้ใช้ชื่อว่า "ธนาคารทหารไทย จำกัด"
และเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "THE THAI MILITARY BANK, LTD."
โดยกำหนดทุนไว้จำนวน 10 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 100,000 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ
100 บาท สำหรับรายชื่อผู้เริ่มก่อการจำนวน 10 คน ตามยศในขณะนั้น มีดังต่อไปนี้
1. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
3. พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร
5. พลเอก ไสว ไสวแสนยากร
7. พลโท ถนอม กิตติขจร
9. พลโท สุรจิต จารุเศรณี
11. พลตรี ประภาส จารุเสถียร
13. พลตรี จิตติ นาวีเสถียร
15. พลตรี สวาสดิ์ เกษสกุล
17. พลตรี ม.ล.คำรณ สุทัศน์
19. พลจัตวา อัมพร จินตกานนท์
งานนี้ก็ถือว่าเป็นโชคของธนาคารทหารไทยไป เพราะผลพวงจากความห่วงใยของ
กระทรวงการคลังยุคนั้นสมัยนั้น ทำให้ธนาคารทหารไทยยืดคอชูหน้าด้วยศักดิ์ศรีผลงานที่ไม่อายใคร
ในยุทธจักรวงการธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน
เมื่อได้รับอนุมัติให้ตั้งธนาคารทหารไทยได้แล้ว ขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งก็คือ
การจัดหาผู้บริหารที่จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาพอสมควร
รวมทั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีชื่อเสียง ได้รับความเชื่อถือในวงการธุรกิจ
การพิจารณาหาผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นที่ว่านี้ จึงถูกกระทำอย่างรอบคอบ โดยจอมพล
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะกรรมการธนาคาร
และในที่สุดก็ได้มีการอนุมัติแต่งตั้ง โชติ คุณะเกษม ให้เป็นผู้จัดการธนาคารทหารไทยคนแรก
เมื่อเดือนมิถุนายน 2500 ก่อนที่ธนาคารจะเปิดดำเนินการ 5 เดือน
สำหรับประวัติโดยย่อของโชติ คุณะเกษม สำเร็จปริญญาทางพาณิชยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม
ประเทศอังกฤษ โดยสอบได้ทุนของกรมรถไฟ เมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อกลับมาเมืองไทยเข้ารับราชการกรมรถไฟระยะหนึ่ง
และต่อมาได้ลาออกจากราชการเข้าทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์นานถึง 12 ปี หลังจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ
ผู้อำนวยการสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร
ประการสำคัญที่สุดเป็นเพื่อนสนิทกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ผู้จัดการ ปีที่
2 ฉบับที่ 13 หน้า 76)
บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้รับการชักจูงจากโชติ คุณะเกษมให้มาเป็นผู้บุกเบิกธนาคารทหารไทยในยุคแรกและเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการบริหารธนาคารทหารไทยในยุคต่อมา
บุคคลผู้นั้นคือ สุขุม นวพันธ์ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรกิจและการเงินไปด้วยพร้อมกัน
สุขุม นวพันธ์ ได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางบัญชี
จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
สำเร็จได้ปริญญาโทบริหารธุรกิจ ก่อนที่ธนาคารทหารไทยจะแต่งตั้งสุขุม นวพันธ์
เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ สุขุมกำลังประกอบธุรกิจด้านประกันภัย และการสอบบัญชี
เมื่อได้ตัวผู้บริหารระดับสูงแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในธนาคาร
ทั้งในขั้นเตรียมงานและในการเริ่มประกอบธุรกิจ
นโยบายในการเลือกพนักงานเข้ามาทำงานนั้น เน้นเรื่องความประหยัด โดยจะบรรจุเฉพาะตำแหน่งที่มีความจำเป็น
และจะต้องได้บุคคลที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว ในขณะเดียวกันธนาคารก็จะพิจารณาตั้งอัตราเงินเดือนให้พอประมาณ
ดังที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มอบหมายนโยบายเป็นอุปมาอุปไมยว่า "รสดี
ราคาถูก" ทำให้โชติ คุณะเกษม ผู้จัดการผู้ทำหน้าที่คัดเลือกพนักงานหนักใจพอสมควร
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องสำคัญในการจัดตั้งธนาคารทหารไทยก็คือ
ปัญหาเรื่องการรวบรวมทุนจดทะเบียนให้ครบ 10 ล้านบาท เนื่องจากเดิมทีคณะกรรมการของธนาคารทหารไทย
ได้เตรียมที่จะนำเงินออมทรัพย์ของบรรดานายทหารที่ฝากไว้กับกองทัพบก โอนมาเป็นทุนในขั้นต้น
ถึงกับระงับการให้กู้ยืมไว้นานประมาณ 6 เดือน จนกระทั่งยอดเงินออมทรัพย์สูงถึง
4 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การระงับการให้กู้ยืมไม่สามารถกระทำต่อไปได้นานนัก เพราะความต้องการกู้ยืมของบรรดานายทหารมีมาก
จนกระทั่งผู้บัญชาการทหารบกต้องตัดสินใจเปิดให้มีการกู้ยืมเช่นเดิม และด้วยเหตุนี้เองความหวังที่จะใช้เงินออมทรัพย์ของกองทัพบกเป็นทุนของธนาคารทหารไทยจึงต้องสลายไป
เมื่อแผนเดิมใช้การไม่ได้ คณะกรรมการจึงเปลี่ยนแผนใหม่ โดยการจัดพิมพ์หนังสือชักชวนให้ทหารซื้อหุ้นของธนาคารทหารไทย
โดยชักชวนให้นายทหารซื้อหุ้นตามลำดับยศของนายทหาร ผู้ที่มียศสูงก็ขอให้ซื้อหุ้นมาก
ผู้ที่มียศลำดับรองลงมา ก็ให้ซื้อหุ้นน้อยลดหลั่นกันไป และก็มิได้จำกัดเฉพาะทหารประจำการ
หากขยายไปถึงทหารนอกประจำการด้วย
สำหรับหุ้นของธนาคารทหารไทยในตอนนั้น แบ่งออกเป็น 100,000 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ
100 บาท รวมกันก็จะเท่ากับ 10 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังตั้งเอาไว้
และแม้ว่า จะมีการทำหนังสือชี้ชวนให้จองซื้อหุ้นดังกล่าว แต่ก็ปรากฏว่า
บรรดาทหารทั้งหลายให้ความสนใจที่จะจองซื้อหุ้นของธนาคารทหารไทยไม่มากนัก
ทำความกังวลและหงุดหงิดให้กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่น้อย ดังปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่
18 กรกฎาคม 2500 มีความตอนหนึ่งว่า
"ผบ.ทบ. (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าขณะนี้ ได้มีปัญหาต่างๆ
เกี่ยว
กับการจองหุ้นของธนาคารทหารไทย จำกัด เกิดขึ้นมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เห็นประโยชน์ของธนาคารว่ามีเพียงใด
และกำหนดจำนวนหุ้นตามที่แสดงไว้ในหนังสือที่ขอให้จองหุ้นนั้น ก็มิได้บังคับให้ต้องซื้อหุ้นตามนั้นแต่อย่างใดเลย
ส่วนที่มีข่าวพูดกันว่า เมื่อตั้งธนาคารขึ้นแล้ว ผู้ใหญ่ต่างหากจจะมีโอกาสได้กู้เงิน
อทบ. (เงินออมทรัพย์กองทัพบก) ขณะนี้ ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ใคร่ได้กู้เงินกัน ผู้กู้เงิน
อทบ. ส่วนมากก็เป็นผู้น้อยแทบทั้งสิ้น และที่มีเสียงกล่าวกันว่าจะขอโอนเงิน
อทบ. มาซื้อหุ้นก็กระทำไม่ได้ เพราะเงิน อทบ. มีระเบียบวางไว้แล้ว คือเมื่อต้องการเงินไปใช้ซื้อหุ้น
ก็ต้องกู้ไปตามระเบียบ จะไปหักล้างระเบียบที่ได้วางไว้มาแต่เดิมไม่ได้… ความจริงเรื่องการจองหุ้นนี้ได้ทำการขายเฉพาะภายในวงการทหารเท่านั้น
ถ้าหากว่าขายจำหน่ายหุ้นให้แก่พ่อค้าภายนอก ก็ไม่ต้องสงสัยว่าเราจะขายหุ้นได้ไม่หมด…นอกจากนั้น
ผบ.ทบ. ได้แถลงว่าการที่ริเริ่มจัดตั้งธนาคารทหารขึ้นนี้ ท่านทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่
ซึ่งแท้จริงแล้ว เมื่อถึงบั้นปลาย ก็จะกลายเป็นการออมทรัพย์อันเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การรู้จักประหยัดการใช้จ่าย
ส่วนผลพลอยได้ก็คือ เงินปันผล ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่ผู้บังคับบัญชาจะได้ไปชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทราบและเข้าใจ
และท่านอยากจะเรียกผู้บังคับบัญชาที่เป็นหัวหน้าหน่วยตั้งแต่ชั้น ผบ.พัน
ขึ้นไป ทั้งในจังหวัดพระนครและต่างจังหวัด มาชี้แจงเรื่องนี้ให้เข้าใจด้วยตนเอง…."
ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ทหารในตอนนั้นยังไม่เข้าใจ รวมทั้งระแวงต่อจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งธนาคารทหารไทยว่า
จะก่อประโยชน์ให้กับเฉพาะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น
"ตอนแรกที่ขายหุ้นนั้น ทหารเขาไม่เข้าใจว่า เขาซื้อหุ้นของธนาคารทหารไทยแล้วเขาจะได้อะไรขึ้นมา
และช่วงก่อนหน้านั้น มันมีเรื่องไม่ดีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ เงินฌาปนกิจของทหารที่อยู่ๆ
มันก็หมดไปเฉยๆ อีกเรื่องหนึ่งก็เงินสวัสดิการทหารที่ใช้ซื้อรถอะไรนี่…ก็หมดไปเฉยๆ
เหมือนกัน ทหารก็ตกใจกันหมด พอมีการตั้งแบงก์ทหารไทย ทั้งๆ ที่บอกว่าให้ทหารมาซื้อ
โดยผ่อนชำระกับหน่วย คือหน่วยเอาเงินให้กู้พวกนี้มาจ่ายเงินซื้อหุ้น 100
บาท สามารถไปผ่อนชำระที่หน่วยนานถึง 12 เดือน ทหารยังไม่ค่อยซื้อ มีบางคนซื้อหุ้นไป
100 บาท แต่เอามาเที่ยวเร่ขายแค่ 50 บาท กันเยอะแยะ" พนักงานเก่าแก่ของธนาคารทหารไทยเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ดังนั้น ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2500 จึงเป็นระยะเวลาที่คณะกรรมการของธนาคารทหารไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนจดทะเบียนอย่างหนัก
โดยเฉพาะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด มีการเรียกประชุมนายทหาร
เพื่อชี้แจงเป้าหมายในการจัดตั้งธนาคารให้เป็นที่เข้าใจและสำหรับนายทหารชั้นนายพลถึงกับมีจดหมายเชิญชวนเป็นการเฉพาะตัว
ทำให้การจองซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไปได้
ผลก็คือ ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรกที่จัดขึ้น ณ หอประชุมกองทัพบก เมื่อวันที่
31 ตุลาคม 2500 ปรากฏว่า ธนาคารทหารไทยมีผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น ประมาณ 5,000
คน และเป็นธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีจำนวนผู้ถือหุ้นมากที่สุด นับตั้งแต่ครั้งนั้น
เป็นต้นมา
และในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2500 อันเป็นวันที่ตรงกับวันสำคัญของทหารไทย กล่าวคือ
เป็นวันพิธีปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารทุกเหล่าทัพ ธนาคารทหารไทยก็ถือเอาเป็นฤกษ์ในการเปิดดำเนินการ
ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นวันแรก ที่ อาคารเลขที่ 96 อาคาร 2 ถนนราชดำเนิน
ก่อนที่จะเปิดดำเนินการธนาคารทหารไทยเพียงประมาณ 2 เดือน สถานะการเมืองของประเทศก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
โดยในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นหัวหน้าคณะทหาร
เข้ายึดอำนาจการปกครองเอาไว้ได้ และนับตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่ง ถึงแก่
อสัญกรรมในปี 2506 ก็ถือได้ว่าเป็นคนที่กุมอำนาจสูงสุดของประเทศแทบทุกด้านไว้ในกำมือแต่เพียงผู้เดียว
ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารทหารไทย และดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการคนแรก
อำนาจบารมีที่มีอยู่จึงมีส่วนช่วยอย่างมาก ที่ทำให้ธนาคารมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว
หากจะมองเฉพาะด้านเงินฝากแล้ว 6 ปีที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ครองอำนาจวาสนา
สามารถขยายตัวเฉลี่ยแล้วประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกปี
สำหรับภายในธนาคารทหารไทยเอง หลังจากที่เปิดดำเนินงานเพียง 2 ปี ผู้จัดการคนแรก
โชติ คุณะเกษม ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
และผู้ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งแทนก็คือ สุขุม นวพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารทหารไทยติดต่อกัน
นานถึง 22 ปีต่อมา และคงจะไม่มีใครสามารถทำลายสถิตินี้ลงได้
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารทหารไทยมีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ เป็นผู้ดำเนินงานด้านกิจการธนาคาร
ก็มีส่วนที่ทำให้ธนาคารมีการเติบโตในทุกๆ ด้านโดยเป็นไปอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักการบริหารของธนาคารพาณิชย์
เพราะลำพังอาศัยการเติบโตโดยบารมีผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วไซร้ บั้นปลายก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดปัญหา
ตัวอย่างนี้เห็นได้จากธนาคารเกษตร ธนาคารมณฑล หรือแม้แต่ธนาคารไทยพัฒนา
หลังอสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการเป็นประธานกรรมการคนที่ 2
การดำเนินงานของธนาคารทหารไทยก็เติบใหญ่ขึ้นอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ ภายใต้การนำของสุขุม
นวพันธ์
สภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในช่วงนี้จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นไปอย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ
ธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศยังดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์เดิม คือพยายามอิงกับผู้มีอำนาจ
แต่ธนาคารทหารไทยโดยโครงสร้างคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนายทหารทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องขวนขวายหากลุ่มอำนาจอื่น
ผู้บริหารที่ได้รับความไว้วางใจ และสามารถสร้าง CONECTION ที่ดีกับคณะกรรมการได้เป็นอย่างดี
อย่างสุขุม นวพันธ์ จึงบริหารงานของตนได้อย่างสบาย โดยไม่มีหน้าไหนมาทาบรัศมี
และในช่วงเวลาที่แสนสงบในธนาคารทหารไทยนี้เอง ได้มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง
นั่นก็คือการเข้ารับตำแหน่งรองผู้จัดการธนาคารทหารไทยของประยูร จินดาประดิษฐ์
ในวันที่ 2 มกราคม 2513 โดยได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าส่วนตรวจสอบการปฏิบัติงานและสอบบัญชี
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ธนาคารทหารไทยได้ดึงบุคคลภายนอกเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งบริหารระดับสูง
แต่จะเป็นเพราะเกิดจากความต้องการของคณะกรรมการในสมัย
นั้น หรือตัวสุขุม นวพันธ์ เอง หรือความปรารถนาของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่มีใครยืนยัน
ที่แน่ๆ ก็คือ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้ลาออกไปรับตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ในปี
2516