ฟ้าชายชาร์ลส์ “ชุบชีวิต” ดัมฟรีส์ เฮาส์


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายปีก่อน วงการอสังหาริมทรัพย์ที่สหราชอาณาจักร สั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อ “ดัมฟรีส์ เฮาส์” (Dumfries House) อสังหาริมทรัพย์แห่งสำคัญและมีความสวยงามเชิงประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในเครือจักรภพ อยู่ในภาวะล่อแหลมว่าจะถูกขายทิ้งหรือจะมีผู้เห็นความสำคัญซื้อไว้แล้วบูรณะให้มีชีวิตยืนยาวต่อไป

ดัมฟรีส์ เฮาส์เป็นคฤหาสน์ที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์พาลเลเดียนยุคศตวรรษที่ 18 (สถาปัตยกรรมสไตล์พาลเลเดียนได้รับอิทธิพลจากงานออกแบบของสถาปนิกอิตาลี อันเดรีย พาลเลดิโอ จุดเด่นอยู่ที่ความสมมาตร ความมีทัศนมิติ และคุณค่าของ สถาปัตยกรรมการก่อสร้างวัดของกรีกและโรมันโบราณ) ตั้งอยู่ที่ Ayrshire ประเทศสกอตแลนด์

คฤหาสน์บนเนื้อที่ 2,000 เอเคอร์นี้ นอกจากเป็นผลงานต้นแบบของ Robert Adam สถาปนิกชื่อดังที่ทำงานร่วมกับพี่น้องอีกสองคนคือ John กับ James แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกสไตล์ British Rococo โดยเฉพาะผลงานของช่างไม้นักออกแบบชื่อก้องโลกชาวอังกฤษอย่าง Thomas Chippendale ที่มีอยู่ถึง 50 ชิ้น เพราะเอิร์ลที่ห้าแห่งดัมฟรีส์ ผู้สร้างคฤหาสน์นี้เมื่อปี 1759 เป็นผู้สั่งทำโดยตรง ในปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของคฤหาสน์ดังพระราช ดำรัสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งสหราชอาณาจักรที่ว่า “เป็นงานฝีมือดีเยี่ยมที่สุดของอังกฤษ”

ดัมฟรีส์ เฮาส์ประสบชะตากรรมความไม่แน่นอนปี 2005 เมื่อเจ้าของคือ John Crichton-Stuart หรือลอร์ดบิวท์ (มาร์เกสที่ห้าแห่งบิวท์) ได้คฤหาสน์หลังนี้เป็นมรดกตกทอด รู้สึกว่าการครอบครองทั้งดัมฟรีส์ เฮาส์กับตำหนักเมาท์ สจ็วต (Mount Stuart) ที่ตนพำนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้นเป็นภาระหนักเกินกว่าจะรับไหว แม้พยายามดูแลดัมฟรีส์ เฮาส์อย่างเต็มที่แล้ว ก็ไม่สามารถทำนุบำรุง ให้อยู่ในสภาพสวยงามมีชีวิตชีวาอย่างที่ควรเป็น เนื่องจากเป็นคฤหาสน์ร้างคนอยู่อาศัยมานานถึง 150 ปี ยกเว้นระหว่างปี 1956-1993 ที่ภริยาม่ายของมาร์เกสที่ห้าใช้เป็นที่พำนักร่วม 40 ปี

ลอร์ดบิวท์ตกลงใจขายดัมฟรีส์ เฮาส์ผ่านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และว่าจ้างคริสตี้ส์ บริษัทประมูลเป็นผู้ขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งกำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2007

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันประมูล ความทราบ ถึงพระกรรณเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้ทรงได้รับยกย่องว่า ทรงอุทิศพระองค์ให้กับงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอังกฤษอย่างต่อเนื่องไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด

มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปยังสกอตแลนด์เพื่อเจรจาซื้อดัมฟรีส์ เฮาส์ได้ทันเวลา ทำให้ต้อง ยกเลิกงานประมูลขายทอดตลาด และรถบรรทุกหลายคันที่ขนทรัพย์สินมุ่งหน้าไปยังกรุงลอนดอนก็ต้องเลี้ยวกลับไปสกอตแลนด์ กะทันหัน

ภายใต้การนำของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีการตั้งบริษัททรัสต์ขึ้นเพื่อซื้อดัมฟรีส์ เฮาส์ด้วยมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออนุรักษ์อสังหาริมทรัพย์ที่ทรงคุณค่าเชิงประวัติ ศาสตร์ไว้ให้ชาวอังกฤษและทุกคนที่ชื่นชมงานสถาปัตยกรรมรวมทั้งงานตกแต่งชั้นเยี่ยมระดับโลก

นอกจากทรงซื้อดัมฟรีส์ เฮาส์สำเร็จแล้ว เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ยังทรงรับเป็นภาระในงานบูรณะอย่างครบวงจรด้วย พระองค์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศ เพื่อรับผิดชอบศึกษาและวางแผนงานซึ่งตามปกติต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่พวกเขาใช้เวลาเพียง 5 เดือนคือฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาวของปี 2010 Baron Piers von Westenholz หนึ่งในคณะกรรมการวางแผนงาน ยอมรับว่า

“เมื่อได้เห็นคฤหาสน์ครั้งแรก มันรกร้างไม่มีชีวิตชีวาเลย ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะไม่มีใครอยู่มานานมาก หน้าที่ของผมคือ พยายามคืนชีวิตและความสง่างามให้กับบ้านคันทรีของอังกฤษหลังนี้ให้ได้”

Charlotte Rostek ภัณฑารักษ์ของคฤหาสน์เพิ่มเติมว่า

“เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระราชดำริตั้งแต่แรกแล้วว่า พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ดัมฟรีส์ เฮาส์มีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ ทรงต้องการให้ขึงเชือกหรือกั้นคอกเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ทรงวางแนวทางให้มัคคุเทศก์ปฏิบัติตนเหมือนเป็นเจ้าของบ้านผู้มีหน้าที่พาแขก (นักท่องเที่ยว) เดินชมรอบๆ บ้าน ซึ่งจะให้ประสบการณ์น่าประทับใจยิ่งทีเดียว”

ก่อนกำหนดแนวทางงานตกแต่ง Westenholz จัดทำแผนงานเกี่ยวกับการแต่งห้องแต่ละห้อง แล้วเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งมักก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่เขาให้ความกระจ่างว่า ท้ายที่สุดแล้ว “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้ทรงกระตือรือร้นและทรงมีส่วนในโครงการนี้เป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ซึ่งโชคดีมากที่พระองค์ทรงโปรดในเกือบทุกข้อเสนอที่ผมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทอดพระเนตร”

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับคณะที่ปรึกษาของพระองค์ เห็นชอบกับวิธีว่าจ้างแรงงานจำนวนมากจากสหราชอาณาจักร แล้วข้ามฟาก มายังสกอตแลนด์เพื่องานบูรณะดัมฟรีส์ เฮาส์อย่างเร่งด่วน มีการ ติดตั้งระบบทำความร้อน การเดินสายไฟ และติดตั้งระบบท่อประปา และแก๊สใหม่หมด รวมทั้งการให้คณะผู้เชี่ยวชาญเข้ากอบกู้ผลงาน ภาพเขียนดั้งเดิมที่ประดับฝาผนังและเพดาน ส่วนบริษัท Humphries Weaving สัญชาติอังกฤษได้รับเกียรติให้ทอผ้าไหมยกดอกสีสดใส เช่น สีน้ำเงินพลอยไพลินสำหรับห้องรับแขก สีเหลืองเลมอนสำหรับ ห้องนั่งเล่น รวมทั้งผ้าชนิดอื่นๆ ที่ลอกแบบจากเอกสารเกี่ยวกับคฤหาสน์ยุคแรกที่ยังเหลืออยู่

Westenholz ขยายความว่า งานบูรณะคืบหน้าตลอดเวลา จนทุกวันนี้ “บ้านกลับมามีชีวิตมีบรรยากาศของบ้านอย่างแท้จริง” ส่วนเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์นั้น ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระทัยในความเป็นไปของดัมฟรีส์ เฮาส์อย่างต่อเนื่อง พระองค์เสด็จไปประทับปีละ 5-6 ครั้ง จึงมีการตกแต่งห้องประทับตามรสนิยมของ พระองค์และสงวนไว้เป็นห้องประทับของพระองค์เท่านั้น ระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเวลาเสด็จ จึงมีบางห้องไม่เปิดให้ สาธารณชนเข้าชม บางครั้งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จถึงคฤหาสน์ตรงกับช่วงเวลาที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเสร็จสิ้นการเข้าชมและกำลังเดินทางกลับพอดี Rostek เล่าว่า

“พระองค์ทรงพระเกษมสำราญยิ่งกับการทรงมีพระปฏิสันถารกับกลุ่มนักท่องเที่ยว เมื่อเร็วๆ นี้ยังทรงให้คำแนะนำกับคู่บ่าวสาวคู่แรกที่วางแผนจัดพิธีสมรสที่คฤหาสน์แห่งนี้ด้วย”

“ที่นี่จึงเป็นที่ประทับของพระองค์ด้วย จึงทำให้บ้านเกิดความมีชีวิตชีวา ฉันคิดว่าพวกเราทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำให้ดัมฟรีส์ เฮาส์มีลมหายใจขึ้นมาอีกครั้ง”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.