|
ก.เอ๋ย ก.กาแฟ “เชื่อในสิ่งที่ฝัน ชอบในสิ่งที่เป็น”
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
อาจนานกว่า 10 ปีสำหรับเทรนด์อาชีพของคนหนุ่มสาว ที่หลายคนฝันว่าอยากทำธุรกิจของตัวเอง หนึ่งในธุรกิจยอดฮิตของนักล่าฝันยุคใหม่หนีไม่พ้นร้านกาแฟ ธุรกิจที่ดู “ชิล” แต่ไม่ชิลอย่างที่คิด ทว่าก็ไม่ยากเกินกว่าจะลงมือทำ
“I Like You, ก.เอ๋ย ก.กาแฟ: ร้านในฝัน ของคนตัวใหญ่ แต่หัวใจอร่อยมาก” หนังสือกึ่ง How to เพื่อการเปิดร้านกาแฟและร้านอาหารเล็กๆ ผ่านมุมมองและประสบการณ์กว่า 2 ปี ในการทำธุรกิจร้านกาแฟของ “ธนกร แสงสินธุ์” หนุ่มวัย 34 ปี ผู้มีความเชื่อที่เด็ดเดี่ยว มีความฝันเหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่อยากมีกิจการของตัวเอง
ธนกรเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารต้าเจียห่าว นิตยสาร Life on Campus และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ mars space เขายังเป็น ผู้เขียน “สะบายดีวังเวียง”, เหมยโหย่วเฉียน ป้วนเปี้ยนยูนนาน, ต้าเจียห่าว ฉบับต้าเจียห่าว อีสคัมมิ่งทูทาวน์ และเล่มล่าสุดคือ I Like You, ก.เอ๋ย ก.กาแฟฯ
หนังสือเล่มนี้อาจเป็นเพียงหนึ่งในหนังสือ ประเภทคู่มือทำร้านอาหารและร้านกาแฟที่วาง อยู่เต็มชั้นในร้านหนังสือชั้นนำ แต่เป็นเล่มที่จุดประกายให้หนุ่มสาวที่ฝันอยากมีร้านกาแฟ นำ พาตัวเองมารู้จักกับร้านกาแฟสไตล์ “บ้านๆ” ที่มีชื่อว่า “ก.เอ๋ย ก.กาแฟ” ของธนกร
บ้านไม้สามชั้นหลังเก่าทาด้วยสีเหลืองนวล เข้ากับประตูหน้าต่างสีชมพู ตู้ไปรษณีย์ที่มีข้อความชวนหัว “เวลาไข: ทุกๆ ลมหายใจแห่งรัก-เวลาพัก: จะไม่รักใครนอกจากเธอ” บวกกับแผงของเล่นยุคโบราณ และการตกแต่งแบบอินดี้ ให้อารมณ์ราวนั่งอยู่ในร้านเก๋ๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิพ อย่างปาย อัมพวา สามชุก หรือไม่ก็เชียงคาน
ร้านกาแฟแห่งนี้อยู่ในย่านที่การจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ตรงข้าม พาต้าปิ่นเกล้า เข้าไปเพียง 30 เมตรในซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 19
เพราะไม่อาจสู้ราคาทำเลเปิดร้านในห้างหรือปั๊มน้ำมัน ตัวเลือกถัดมาจึงเป็นทำเลใกล้หอพัก โดยรอบที่ตั้งของร้านแห่งนี้มีหอพักจำนวนมาก รวมทั้งสิ้นกว่า 700 ห้อง มีผู้พัก อาศัยไม่ต่ำกว่าพันคน ทั้งกลุ่มคนทำงาน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เมื่อกลุ่มลูกค้าหลักคือผู้พักอาศัยในหอพักย่านนั้น บรรยากาศร้านจึงออกแบบให้มี “ความเป็นบ้าน” เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนของชาวหอเหล่านี้ ธนกรเชื่อว่าเมื่ออยู่บ้าน ทุกคน จะรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกอบอุ่น ไม่มีพิธีรีตอง และกล้าปลดปล่อยความรู้สึก เขาจึงเลือกตกแต่ง ร้านให้ดูเรียบง่าย เป็นสไตล์ “บ้านๆ” ที่มีอารมณ์ของร้านต่างจังหวัด มากกว่าจะดูเป็นร้านกาแฟในเมืองหลวง
ก.เอ๋ย ก.กาแฟเปิดตัวราวปลายปี 2552 เริ่มจากความชอบท่องเที่ยวของธนกร และแฟนสาว “สุภวรรณ แย้มเวช” ซึ่งแต่ละ ครั้งที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด เขามักหายหน้าไป ไม่ต่ำกว่า 10 วัน ถ้าท่องเที่ยวประเทศเพื่อน บ้านโดยเฉพาะจีน พวกเขาอาจใช้นานเวลาเป็นเดือน ดังนั้นการทำธุรกิจของตัวเองจึงดูน่าจะลงตัวกว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศ
“เราไม่รู้ว่าร้านกาแฟที่ดีควรเป็นยังไง แต่เราทำอะไรที่เป็นเรา เราชอบอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยว ชอบกินอาหารไทย ชอบนั่งร้านเล็กๆ เรียกว่าเราเอาประสบการณ์ และความชอบของตัวเองมาผสมจนเป็นสไตล์ของร้าน”
ทั้งคู่เป็นแบ็กแพ็กเกอร์ตัวยงที่เดินทางมาแล้วหลายจังหวัดในเมืองไทย และหลายประเทศในเอเชีย ทุกแห่งที่ได้แวะไป พวกเขาไม่พลาดที่จะต้องแวะร้านหนังสือ และนั่งดื่มกาแฟตามร้านเล็กๆ ริมทาง โดย ประสบการณ์และรูปแบบการใช้ชีวิตของทั้งคู่กลายมาเป็นส่วนผสมสำคัญที่นำมาหยิบ ใช้ในการทำร้านกาแฟแห่งนี้
การเลือกซื้อโปสต์การ์ด ไม่ว่าเพื่อเก็บหรือส่งให้เพื่อนหรือตัวเอง เป็นวัฒนธรรม ที่มาคู่กับการท่องเที่ยว ธนกรจึงมีมุมขายโปสต์การ์ดในร้าน และยกเอาตู้จดหมายมาไว้หน้าบ้าน เพื่อให้ลูกค้าส่งโปสต์การ์ดไปถึง ผู้รับได้จากร้านของเขา เหมือนอารมณ์การส่งโปสต์การ์ดจากแหล่งท่องเที่ยวต่างแดน
ชั้นล่างยังมีมุมแสดงโปสต์การ์ดและภาพถ่ายที่ธนกรถ่ายเก็บมาและเขียนข้อความลงไปขณะเดินทาง จัดไว้ให้ลูกค้าได้มานั่งอมยิ้มกับข้อความหรือคำคมที่อาจพลิกมุมคิดของตัวเองได้
อีกด้านเป็นมุมตู้โชว์จัดวางของที่ระลึกจากแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยแต่ละชิ้นแม้ไม่ได้มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่สูงนัก แต่หลายชิ้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีคุณค่าทางความทรงจำ ซึ่งทั้งคู่พร้อมแบ่งปันให้ลูกค้าได้ฟัง
บนชั้นสองประกอบด้วยพื้นที่นั่งทานอาหาร และมุมร้านหนังสือที่ทุกชั้นแน่นขนัดด้วย หนังสือแนวปรัชญาและท่องเที่ยว รวมถึงวรรณกรรมดีๆ จากหลากหลายสำนักพิมพ์ที่นักอ่าน ตัวยงอย่างธนกรได้คัดสรรมาให้ แม้หนังสือเหล่านี้จะมีไว้ขาย แต่เขาก็ยินดีให้ลูกค้าหยิบออกมาอ่านฟรี โดยบนชั้นนี้ยังมีมุมเล็กๆ ที่ธนกรมักนำภาพถ่ายระหว่างเดินทางมาถ่ายทอด ประสบการณ์และมุมมองให้ลูกค้าได้สัมผัส
ชั้นสามเป็นห้องค่อนข้างโล่ง พร้อมกับโต๊ะยาวแบบนั่งพื้น ซึ่งเป็นโซนยอดนิยมของกลุ่มนักเรียนที่มักจะนัดกันมาหัดเล่นกีตาร์ มาติวหนังสือ หรือมาสังสรรค์กันเป็นกลุ่มใหญ่ ก่อนหน้านี้ทางร้านมีโต๊ะปิงปองไว้ให้บริการฟรี เพื่อให้ลูกค้ามีกิจกรรมในการสร้างปฏิสัมพันธ์ ระหว่างกัน
“เราอยากให้ร้านเป็นพื้นที่ส่วนกลางของคนที่อยู่หอพักย่านนี้ บางคนอยู่ห้องติดกันไม่เคยคุยกันเลย แต่กลับมาสนิทกันที่นี่ บางคนก็มานั่งเล่นหรือมานั่งทำงานที่นี่เป็นประจำ จนในที่สุด ร้านนี้ก็ก่อเกิดสังคมเล็กๆ ระหว่างลูกค้ากับลูกค้า และระหว่างเรากับลูกค้าก็กลายเป็นเพื่อนกัน ซึ่งความผูกพันแบบนี้ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน”
ธนกรเชื่อว่า “ความเป็นเพื่อน” เป็นหัวใจที่ทำให้ร้านนี้อยู่รอดมาถึงวันนี้ และลูกค้าที่เปลี่ยนมาเป็น “เพื่อน” มีส่วนช่วยให้ร้านนี้ฝ่าฟันวิกฤติมาได้หลายครั้ง รวมถึงวิกฤติน้ำท่วม ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งลูกค้าหลายรายอาสามาช่วยฟื้นฟูเพื่อให้ร้านกลับมาดำเนินการได้โดยเร็ว
ปรัชญาการบริการและดูแลลูกค้าเหมือนเพื่อน โดยมีลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่บนเมนูขนาด 24X30 นิ้ว ของร้าน ก.เอ๋ย ก.กาแฟ ทุกแผ่น เขียนไว้ว่า “ทุกท่านที่มาอุดหนุน คุณคือเพื่อน ไม่ใช่ลูกค้า”
ธนกรมั่นใจว่า คงมีร้านกาแฟในเมืองหลวงเพียงไม่กี่ร้านที่นักศึกษามัณฑนศิลป์สามารถเดินมาขอยืมเลื่อยจากร้านกาแฟไปใช้ หรือมีลูกค้าวัยรุ่นกล้ามาเปิดใจปรึกษาปัญหา เรื่องผู้หญิงกับเจ้าของร้านกาแฟ หรือมีลูกค้าทั้งครอบครัวที่นอกจากลูกจะมาปรึกษาเรื่องเรียนกับเจ้าของร้านกาแฟแล้ว พ่อแม่ของเด็กยังต้องมาขอร้องให้เจ้าของร้านกาแฟช่วยเขาเกลี้ยกล่อมลูกให้เปลี่ยนใจ ฯลฯ
นอกจากนี้ ความเป็นสังคมของร้านยังทำให้เกิดเรื่องเล่าน่ารักๆ ของพนักงานหนุ่มสาวของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันแม้จะทำงานตึกเดียวกัน แต่กลับมารู้จักกันที่ร้านนี้ แล้วทั้งคู่ก็มาจีบกันที่ร้านนี้ จนตกลงเป็นแฟนกันจนวันนี้ สมดัง เจตนาของธนกรที่อยากเห็นคนหนุ่มสาวเลิก ใช้ร้านเหล้าและแอลกอฮอล์เป็นสื่อรัก
ด้วยความตั้งใจอยากให้ร้านเป็นทางเลือกในการแฮงก์เอาต์ โดยปราศจากสิ่งมอมเมาสำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ธนกรจึงปฏิเสธการขายเบียร์และเหล้าภายใน ร้านอย่างเด็ดขาด
ก.เอ๋ย ก.กาแฟ มีรายการอาหารคาว-หวานและเครื่องดื่มให้เลือกกว่า 50 รายการ สนนราคากาแฟอยู่ระหว่าง 30-45 บาท และราคาอาหารเฉลี่ย 60-80 บาท
แม้จะเป็นร้านสไตล์บ้านๆ ทว่าธนกรได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของอาหารและเครื่องดื่มไม่น้อยหน้าร้านอาหารย่านสีลมหรือสุขุมวิท โดยมีเชฟจากโรงแรมเทวมันตรา จ.กาญจนบุรี มาเป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งรสชาติและหน้าตาให้มีมาตรฐานระดับโรงแรม ด้านบริการ ธนกรได้ว่าจ้างอดีตรองผู้จัดการจากร้านอาหารบ้านจิม ทอมป์สันฯ เข้ามาเป็นผู้จัดการร้านที่นี่
ถึงแม้จะเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ในซอย แต่ก็มี Free Wi-Fi และปลั๊กไฟไว้คอยบริการลูกค้า ที่นี่จึงไม่เพียงเป็นห้องสมุด แต่ ยังเป็นห้องทำงานของหนุ่มสาววัยทำงานหลายคน โดยธนกรยืนยันว่า แม้จะทานข้าวเพียงจานเดียว ดื่มเพียงกาแฟ 1 แก้ว หรือไม่ได้ซื้ออะไรเลย ลูกค้าสามารถมานั่งคุย นั่งเล่น หรือนั่งทำงานที่ร้านได้ทั้งวัน ตั้งแต่ 10.00-23.00 น.
“ร้านนี้ไม่เคยรู้จักคำว่า “ขาดทุน” หรือ “เท่าทุน” เพราะสำหรับเราร้านนี้มีกำไรคือ “ความสุข” ที่ได้เห็นลูกค้าของเรา เจริญก้าวหน้าและเติบโตไปบนแนวทางของเขา” ในแง่ผลประกอบการแว่วมาว่า ตั้งแต่เปิดร้านมาร้านนี้ยังไม่เคย “ขาด ทุน” เลยสักเดือน
จากวันแรกๆ ที่แม้แต่เครื่องชงกาแฟยังต้องผ่อน เวลาเพียง 2 ปีกว่า “ก.เอ๋ย ก.กาแฟ” กลายเป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก ที่ประสบความสำเร็จทั้งแง่รายได้และความนิยม เรื่องราวและประสบการณ์ทำร้านของธนกรจึงถูกหยิบมานำเสนอเป็นหนังสือ กึ่งคู่มือสำหรับหนุ่มสาวที่กำลังฝันอยากจะเปิดร้านกาแฟ ให้ได้หยุดสำรวจความฝันและความพร้อมของตัวเอง
“ร้านกาแฟเปิดไม่ยากเลย แค่มีทุนก็เปิดได้ แต่จริงๆ แล้วการเปิดร้านกาแฟไม่จำเป็นต้องใช้ทุนเยอะ แต่ต้องคิดให้เยอะ คิดให้ชัดว่าต้องทำยังไงร้านถึงจะอยู่รอด ซึ่งตรงนี้ยากกว่ามาก” นี่เป็นคำเตือนที่สุภวรรณมักพูดย้ำกับลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาเรื่องการเปิดร้านกาแฟ ซึ่งมีเข้ามาอยู่ตลอดเวลา
กลางปีนี้ ธนกรคาดว่าจะได้ฤกษ์เปิดร้านสองในย่านราชพฤกษ์ ซึ่งมีทำเลติดริมน้ำ เขาตั้งใจจะเปิดเกสต์เฮาส์เล็กๆ ใกล้ๆ ร้าน เพื่อบริการลูกค้าที่ชื่นชอบสไตล์เดียวกันได้ครบ วงจรมากขึ้น นอกจากนี้เขายังมีแผนเปิดสาขาใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยดีไซน์อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนคือ บรรยากาศบ้านๆ และความเป็นกันเอง อันหมายถึง “จิตวิญญาณ” ของร้าน ก.เอ๋ย ก.กาแฟ
“เราทำร้านกาแฟ เหมือนคนทำงานศิลปะ เมื่อผลงานออกมาดี เราก็อยากโชว์ให้คนนอกได้เห็น ความฝันหนึ่งของผมคือ อยากไปเปิดตามห้างหรือที่สุวรรณภูมิ ไม่ใช่เพราะอยากทำกำไรเยอะๆ แต่อยากทำให้ผู้บริโภคได้เห็นว่ามันมีร้านกาแฟอีกแบบที่เหมือนยกแหล่งท่องเที่ยวไปไว้ในห้าง และคุณสามารถส่งโปสต์การ์ดประทับตราจากห้างได้”
ทั้งนี้ ธนกรรู้ดีว่า ในพื้นที่ (มหา) ทุน นิยมเช่นนั้น โอกาสสำหรับ SME เล็กๆ อย่าง เขาคงมีน้อยเหลือเกิน แต่เขาก็ยังคงฝันและ พยายามเดินตามความฝันนี้ต่อไป
กว่าจะเป็นร้าน ก.เอ๋ย ก.กาแฟที่ประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ ทั้งธนกรและ สุภวรรณเคยล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายครั้งระหว่างที่เขาล่าฝันอันอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจขายเสื้อเป็นผู้ถือหุ้นเว็บไซต์จนถึงลงทุนทำหนังสือแจกฟรี
แม้ว่าการล้มทุกครั้งจะทำให้เขาเจ็บ แต่สิ่งที่ได้มานอกจากประสบการณ์และการเรียนรู้ เขายังพบว่าการล้มทำให้ความกลัวที่จะเดินหน้าต่อไปลดลง
“คนที่ฝันแล้วไม่ลงมือทำ มัวแต่กล้าๆกลัวๆ หรือผลัดไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าความฝัน นั้นสูญเปล่า ถ้าเราลงมือทำแล้วพลาด อย่างน้อยก็จะได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์ที่จะทำให้เราเดินเข้าใกล้ความฝันอันใหม่ของเรามากขึ้น” หนุ่มสาวนักล่าฝันคู่นี้สรุป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|