Global Game Jam สร้างสรรค์เกมไทย ก้าวไกลเศรษฐกิจโลก

โดย ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้ามาเป็นคณะกรรมการในงาน มหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมนานาชาติ หรือที่เรียกว่า Global Game Jam 2012 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต

งาน Global Game Jam เป็นงานมหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นงานที่เปิดโอกาสให้เหล่านักพัฒนาเกม นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย จะต้องพัฒนาเกมภายในเวลาที่จำกัดแต่จินตนาการไม่จำกัด นั่นก็คือภายในเวลา 48 ชั่วโมง ภายใต้โจทย์ที่เหมือนกันทั่วโลก โดยไม่จำกัดเทคนิคหรืออุปกรณ์ หรือกล่าว อีกนัยหนึ่งก็คือในเวลา 2 วันเต็มๆ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะใช้เวลาพร้อมกันทั่วโลก ในการสร้างเกมที่มีโจทย์เดียวกัน ซึ่งในปี 2012 มีผู้เข้าร่วมงานกันมากกว่า 11,000 คนจากทั้งหมด 48 ประเทศจากทุกทวีปทั่วโลก เรียกว่ามีเหล่านักพัฒนาเกม จากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกัน เพื่อแสดง ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์กันเต็มที่

มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัย แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ครั้งนี้ โดยผ่านความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาเกมนานาชาติ (International Game Developers Association: IGDA) โดยในปีนี้ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานในปีที่สอง โดยในปีแรก ฯพณฯ อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน Global Game Jam ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

เรามาพูดถึง Global Game Jam อะไรคือผลิตผลของการแข่งขันพัฒนาเกม พวกนี้ ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านที่ใช้โทรศัพท์ iPhone, iPad หรือ iPod touch จะต้องเคยมีโอกาสเล่นเกมแองกี้เบิร์ด (Angry Birds) หรือภาษาไทยอาจเรียกกันง่ายๆ ว่า เกมนกพิโรธนั่นเอง Angry Birds เป็นวิดีโอ เกมแนวลับสมอง พัฒนาขึ้นโดยบริษัทจาก ฟินแลนด์ที่ชื่อ โรวิโอ (Rovio) ถือว่าเป็นหนึ่งในเกมที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดเกม หนึ่งในโลก ผลจากความนิยมดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัท Rovio สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำอย่างรวดเร็ว บริษัท Rovio กำลังจะเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงภายในปี 2013 ซึ่งไม่ต้องคิดเลย ครับว่าเม็ดเงินของบริษัทจะมีจำนวนมหาศาลเพียงใด ในปี 2011 ที่ผ่านมา บริษัท Rovio มียอดรายได้รวมทั้งหมดกว่า 100 ล้านเหรียญ หรือมากกว่า 3,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

หลักการสร้างเศรษฐกิจหรือเม็ดเงิน จากบริษัท Rovio อย่างนี้ ผมขอเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) กล่าวคือเป็นการสร้างหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยแนวความคิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การใช้องค์ความรู้ การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมสมัยใหม่ เป็นการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของคน

ใครจะทราบครับว่า บริษัท Rovio ผู้ผลิต Angry Birds นี้ เริ่มต้นมาจากการรวมตัวของนักศึกษาฟินแลนด์เพียง 3 คนจากมหาวิทยาลัย Helsinki University of Technology โดยแต่ละคนมีชื่อว่า Niklas Hed, Jarno Vakevainen และ Kim Dikert โดยนักศึกษาทั้ง 3 คนนั้น ได้เข้าร่วมการแข่งขันพัฒนาเกมที่คล้ายๆ กับ Global Game Jam นี่แหละ ที่จัดขึ้นในปี 2003 ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยทั้งสามคนได้สร้าง Application เล็กๆ ขึ้นมา ในตอนแรกมีเพียงแค่การนำเสนอ concept หรือแนวคิดก่อน เป็นรูปแบบที่อยู่ในกระดาษ ด้วยซ้ำไป และนำแนวความคิดมาต่อยอด หลังจากจบการแข่งขันแล้ว มาสร้างเกม Angry Birds และประสบความสำเร็จอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เกมเล็กๆ จากคนกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อมารวมตัวกันมีเวทีให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาทำสิ่งเล็กๆ ให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ สามารถนำมาต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะมองในมิติ เทคนิคแล้ว จริงๆ Angry Birds ก็ไม่ได้เป็นเกมที่ implement หรือผลิตยากอะไร มากมาย แต่ด้วยไอเดีย ความคิดสร้าง สรรค์ จินตนาการ ที่ไม่เคยมีใครทำเกมแบบนี้มาก่อน ก็ทำให้เกมออกมาดัง และประสบความสำเร็จได้ในระดับโลก

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าในศตวรรษที่ 21 โลกของเราแคบมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมทุกอย่างเข้าหากันมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยของเราเองก็ต้องอยู่บนเวทีโลกไปโดยปริยาย การแข่งขันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ในงานแข่งขันพัฒนาเกมที่หนึ่งสามารถผลักดันแนวคิดใหม่ๆ ให้กับคนที่อยู่อีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว งาน Global Game Jam นี้ก็เช่นกัน เมื่อเรามีนักพัฒนาเกมสร้างเกมขึ้นมาใหม่ อาจมาจาก Jammer ที่กรุงโตเกียว ก็สามารถผลักดันความคิดใหม่ๆ ให้กับเยาวชนเด็กๆ ที่อยู่ที่กรุงลอนดอน ให้สร้างเกมของตัวเองขึ้นมาใหม่ หรือเมื่อมีนักวิจัยเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่กรุง บอสตัน ก็ทำให้นักศึกษาที่อยู่ที่ประเทศไทย ที่นั่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

พูดถึงเรื่องมิติของความเป็นนานา ชาติแล้ว ในงานมหกรรมการแข่งขันพัฒนา เกมนานาชาติครั้งนี้ก็มีลูกศิษย์ของผมเอง ที่มาจากภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้าร่วมออกแบบพัฒนาเกมเช่นกัน ลูกศิษย์ของผมเข้าร่วมทั้งหมด 15 คน แบ่งเป็น 3 ทีม นักศึกษา 15 คนจากภาควิชา ICT วิทยาลัยนานาชาติ ของผมนี้มาจากเชื้อชาติต่างๆ ที่หลากหลายด้วยกัน อาทิ มาจากประเทศเยอรมนี ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ภูฏาน พม่า คองโก สาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร และประเทศไทย

และด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความคิดนี่เองที่ผมเชื่อว่า ทำให้นักศึกษาของผมได้มีการผสมผสานกันในเรื่องการสร้างไอเดียใหม่ๆ การสร้าง ความคิดใหม่ๆ สร้างจินตนาการใหม่ๆ ได้หลากหลาย และผมต้องยอมรับครับว่าเท่าที่ผมมาตรวจดูนักศึกษาขณะพัฒนาเกมในงาน Global Game Jam นอกจากนักศึกษาของผมได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกันพัฒนาเกมแล้ว นักศึกษาเองเมื่อต้องมาทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้ทุกคนได้แสดงความ คิดเห็นที่แตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด ทัศนคติ ซึ่งถือเป็นการฝึกให้นักศึกษาปรับตัวและยอมรับให้เข้ากับสังคมที่แตกต่าง เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 จะเป็นโลกที่เราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นมากขึ้น เคารพในความแตกต่างกันของคนอื่น และเป็นโลกที่เราต้องใช้จินตนาการ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน

ในปีหน้าอย่าลืมมาร่วมงาน Global Game Jam กันอีกนะครับ มาร่วมสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ประเทศไทยไม่น้อยหน้าประเทศอื่นกันครับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.