Alibaba.com เครื่องมือขายสินค้าผ่านออนไลน์

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

อาลีบาบา ด็อท คอม ผู้ให้บริการการซื้อขายสินค้าของผู้ซื้อและผู้ขายผ่านออนไลน์สัญชาติจีน ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางบนโลกไซเบอร์ ปัจจุบันมีสมาชิก 72 ล้านรายทั่วโลก ปีนี้เริ่มเข้ามาเปิดตลาดไทยอย่างจริงจัง

Alibaba.com ก่อตั้ง ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2542 เป็นช่วงเวลาที่การค้าทั่วโลกเริ่มเปิดเสรีและเชื่อมโยงกันภายใต้สัญญา WTO และพันธสัญญาอีกหลายฉบับ ขณะที่ความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อีกด้าน หนึ่งก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต เครื่องมือที่ทำให้โลกใกล้ชิดกันมากขึ้น

องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบ การธุรกิจมีความหลากหลาย ทำให้อาลีบาบามองเห็นโอกาสที่จะใช้โลกธุรกิจอีคอม เมิร์ซมาให้บริการกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมในรูปแบบ B to B (Business to Business) ได้ขายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อาลีบาบาจึงเปิดการซื้อขายสินค้าของผู้ซื้อและผู้ขายด้วยวิธีแบบออนไลน์ผ่านตลาดกลาง 3 ช่องทาง ได้แก่ www. alibaba.com สำหรับผู้นำเข้าและส่งออก www.1688.com สำหรับการซื้อขายภาย ในประเทศจีน และ www.aliexpress.com สำหรับผู้ซื้อรายย่อยที่การสั่งซื้อสินค้าส่งใน ปริมาณไม่มากและต้องการส่งของรวดเร็ว

ปัจจุบันอาลีบาบามีสมาชิกกว่า 70 ล้านราย แบ่งเป็นสมาชิกจากทั่วโลก ประมาณ 25 ล้านราย และสมาชิกจากประเทศจีน 50 ล้านรายจาก 240 ประเทศ ทั่วโลกและมีสำนักงานใหญ่อยู่กว่า 70 เมืองทั่วประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป สหรัฐอเมริกา และจดทะเบียนอยู่ใน ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

รายได้หลักของอาลีบาบาเกิดจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขายและค่าโฆษณาบางส่วน ดังนั้นการเพิ่มผู้ค้ามากขึ้นเท่าไรก็ย่อมสร้างรายได้ให้กับอาลีบาบา เป็นเงาตามตัว

ดังนั้นในปีนี้แผนการขยายตลาดของอาลีบาบาส่วนหนึ่งเริ่มหันมามองกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีเป้าหมายเปิดเสรีการค้าอย่างจริงจังในปี 2558 บริษัทจึงเริ่มต้นในประเทศไทย และ เวียดนาม

ไบรอัน เอ. วอง รองประธานฝ่ายพัฒนาผู้ผลิตสินค้าระดับสากล บริษัทอาลีบาบา ด็อท คอม ฮ่องกง จำกัด เข้ามา เปิดตัวและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะมองเห็นโอกาสตลาดไทยมีอัตราการเติบโตในการส่งออก รวมถึงมีผู้ค้าขนาดย่อมถึง 2 ล้านราย และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 18 ล้านราย

และยิ่งมองเห็นโอกาสมากขึ้นหลังจากประเทศไทยประสบภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับมาทำการค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

แม้ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้เข้ามาตั้ง สำนักงานในประเทศไทย แต่มีผู้ประกอบ การไทยจดทะเบียนใช้งาน (Registered users) จำนวน 226,000 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2554 จากเริ่มแรกเมื่อปี 2550 มีสมาชิก 42,000 ราย

ความสนใจอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการ ประกอบกับข้อมูลของอาลีบาบาพบว่าแนวโน้มการค้าของประเทศไทย ได้รับการตอบรับจากตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมจาก ผู้ซื้อต่างประเทศ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกษตรกรรม เครื่องนุ่งห่ม และลูกค้า ที่นิยมซื้อจากซัปพลายเออร์ไทย เช่น สหรัฐ อเมริกา อินเดีย จีน (ดูตารางประกอบ)

ส่วนด้านของซัปพลายเออร์ไทย บริษัทมองว่า มีจุดแข็งด้านคุณภาพสินค้า การออกแบบสินค้าและบริการที่มีลักษณะพิเศษ และประเทศไทยยังมีทรัพยากร ธรรมชาติจำนวนมาก

องค์ประกอบเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อาลีบาบาตัดสินใจเซ็นสัญญาร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออก www.thai trad.com กระทรวงพาณิชย์ เมื่อต้นเดือน กุมภาพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกส่งออกและธุรกิจเอสเอ็มอีของกรมส่งเสริมการส่งออกได้เรียนรู้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น ความต้องการของผู้ซื้อในตลาดโลกและหลักการสำคัญการค้าระหว่างประเทศบนโลกออนไลน์

นอกจากนี้อาลีบาบาจะเปิดช่องทาง ให้ลูกค้าไทยได้พบกับลูกค้าต่างชาติโดย ตรงผ่านเว็บไซต์ www.Th.Alibaba.com และส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้ความรู้ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้จัดอบรมร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก “E-Solutions” นอกจากนี้ อาลีบาบาจะให้สมาชิกของกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นสมาชิกของอาลีบาบาโดยอัตโนมัติ

บริษัทมองหาพันธมิตรท้องถิ่นใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยร่วมมือกับธนาคาร ช่วยเหลือเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีอาลีบาบาเป็นตัวกลาง ซึ่งถือว่าการ เข้ามาของอาลีบาบายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

แม้อาลีบาบาจะเป็นยักษ์ใหญ่ออนไลน์ก็ตามแต่ก็ไม่ใช่รายแรกที่มองเห็นโอกาสธุรกิจในประเทศไทย เพราะกูเกิล ลิฟวิ่ง โซเชียล และ Groupon ผู้ค้าออนไลน์ระดับโลกได้เข้ามาอยู่ในตลาดไทยเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนว่าโลกโซเชียลคอมเมิร์ซ กำลังคึกคักไม่น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.