|

CEO Sharing
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจากไทยเพียงรายเดียวที่เป็นสมาชิกในระดับ Industrial Partner ของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นเมมเบอร์ระดับพรีเมียมที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปีละราวๆ 8 ล้านบาท เพื่อได้สิทธิ์ในการเข้าประชุมร่วมกับซีอีโอจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ที่เป็นสมาชิกอยู่กว่า 1,000 ราย โดยการประชุมจะให้สิทธิ์เฉพาะซีอีโอและผู้ติดตาม ระดับซีเอฟโออีกคนเท่านั้นเข้าร่วมได้และในการประชุมที่เอ็กคลูซีฟกว่านั้นจะอนุญาต ให้ซีอีโอเข้าร่วมเพียงคนเดียว
เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองต้นกำเนิด WEF ซึ่งก่อตั้งโดย Klaus Schwab เมื่อปี 1971 ในช่วงวันที่ 25-29 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีแต่บรรดาซีอีโอและผู้ติดตามเกือบ 2 พันคนเดินอยู่ เต็มเมืองเล็กๆ แห่งนี้ รวมทั้ง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.จากไทย ที่มี เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) และ ดร.ธีรเดช ทังสุบุตร ผู้จัดการฝ่าย ฝ่ายแผนและบริหาร บริษัทในเครือปิโตรเคมีติดตามไปด้วย
ปตท.อัพเกรดขึ้นเป็นสมาชิกระดับอินดัสเทรียลพาร์ตเนอร์เพียงแค่ 2 ปี ใน ฐานะบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย จึงควรต้องเข้าไปอัพเดตเทรนด์ของโลกโดย ตรงเป็นกลุ่มแรกๆ
อีกเหตุผลสำคัญตามคำบอกกล่าวของ ดร.ธีรเดชก็คือรัฐบาลต้องการให้ ปตท. ในฐานะตัวแทนธุรกิจด้านพลังงานเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลในอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทั้งต่อการกำหนดกลยุทธ์องค์กรและใช้เป็นข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประเทศ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ดร.ไพรินทร์มีโอกาสไปร่วมงานปีนี้เป็นปีแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งซีอีโอเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เขาจึงถือโอกาสนี้นำประสบการณ์และข้อมูลจากการประชุมที่ เผยแพร่ได้มาแบ่งปันผ่านงาน “WEF and The New Energy Architecture” สู่แวดวง ของผู้บริหารไทย โดยมีสภาอุตสาหกรรมไทยเป็นผู้ดำเนินงานทำหน้าที่จัดเชิญบรรดาซีอีโอจากภาคเอกชนเข้าร่วมฟังในรูปแบบ Luncheon Talk
ประเด็นหลักๆ เพื่อเป็นการบอกเล่า รายงานความเสี่ยงสถานการณ์โลกของปีนี้ ข้อมูลที่ ปตท.ได้รับและส่วนที่นำไปแชร์ใน ที่ประชุม บทสรุปความเคลื่อนไหวด้านพลังงานที่ได้จากการประชุม โครงสร้างสถาปัตยกรรมพลังงานซึ่งเป็นเรื่องหลักที่เกี่ยวเนื่องกับ ปตท. และที่สำคัญเป็นการบอกกล่าวให้ผู้บริหารไทยเตรียมความพร้อมไว้รองรับการที่ไทยจะมีผู้บริหารจากทั่วโลกมาชุมนุมกันที่กรุงเทพฯ เมื่อ WEF กำหนดจะเข้ามาจัดประชุมเสวนาเรื่อง “Shaping the Region’s Future through Connectivity” ตอบรับกระแส AEC (ASEAN Economic Community) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2555
“หัวข้อนี้เกิดขึ้นเพราะ WEF มองว่า เอเชียเป็นจุดที่มีการเติบโตสูงสุด จนบางคนพูดว่าเอเชียตะวันออกจะเป็นคนมาช่วย เศรษฐกิจโลก ก็คือจีน และแถบบ้านเราถึงตอนนั้นเราค่อยมาดูกันว่าไทยจะเป็นตัวเชื่อมหรือว่าเราจะเติบโตไปกับเศรษฐกิจ ข้างหน้าหรือไม่” ดร.ไพรินทร์กล่าว
ก่อนจะถึงตอนนั้น มาฟังสาระจากดาวอสที่ซีอีโอนำมาแบ่งปัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่คนไทยต้องช่วยกัน คิดหาทางออกกันในหลายประเด็นทีเดียว
บรรยากาศการประชุมมีทั้งแบบที่เป็นเวทีใหญ่คนฟังเป็นพัน และหัวข้อ เฉพาะของอุตสาหกรรมน้ำมันที่เปิดให้ซีอีโอเข้าร่วมประชุมได้คนเดียว และใช้ Chatham house rule หรือกฎแบบคลับสุภาพบุรุษในอังกฤษที่รู้กันว่าเรื่องที่คุยจะฟังกันเฉพาะคนในห้อง ห้ามนำออกนอก ห้องเด็ดขาด (Nothing out the room) และการบันทึกจะไม่บอกว่าใครเป็นผู้พูด เพื่อให้พูดคุยและแสดงความคิดกันได้อย่าง อิสระทุกเรื่อง
ดร.ไพรินทร์บอกว่า Chatham house rule เป็นสิ่งที่เขาประทับใจ เพราะ ทำให้ทุกคนมีเสรีในการแสดงความคิดและ คิดว่าถ้านำรูปแบบนี้มาใช้ในการประชุมของ AEC บ้างอาจจะทำให้พูดกันง่ายขึ้น ส่วนประเด็นที่จะพูดถึงนั้น เขาบอกว่า “เป็นความรู้ใหม่ของผมที่จะมาเล่าให้เพื่อนนักธุรกิจฟัง”
เริ่มด้วยเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโลก หรือ Global Risk
“WEF จะมีรายงานฉบับหนึ่งที่สอบ ถามผู้เชี่ยวชาญ 469 คนจากภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล การศึกษา และภาคประชาสังคมว่าโลกมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ผลออกมามี 50 เรื่องใน 5 ประเด็นหลัก คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง สังคม และเทคโนโลยี แต่เมื่อนำมาพล็อตกราฟและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ปรากฏว่าปัญหาทุกด้านล้วนเชื่อมโยงและส่งผลถึงกันหมด ซึ่งถ้าเราละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจจะส่งผลต่อความล้มเหลวของธรรมาภิบาลในระดับโลก (Global Governance Failures) หรือเกิดกลียุคได้” (ดูภาพแผนที่ความเสี่ยง ของโลกปี 2012)
รายงานฉบับนี้ถือเป็นการอัพเดต เทรนด์ความเสี่ยงที่สำคัญต่อการวางกลยุทธ์ เพราะการกำหนดกลยุทธ์องค์กร หากละเลยเทรนด์และความเสี่ยงของโลกก็เท่ากับตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว
สถานการณ์น้ำท่วมของไทยเป็นประเด็นที่ติดอยู่ในความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวด ล้อม จากภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นผลกระทบที่ ทุกประเทศต้องเผชิญเหมือนๆ กัน ขณะที่ น้ำซึ่งเกี่ยวพันทั้งกับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมถูกจัดเป็นประเด็นปัญหาสังคมโลก
ส่วนกรณีสึนามิของญี่ปุ่นที่ปรากฏในรายงาน ชี้ให้เห็นว่าเป็นความเสี่ยงอันตราย (Hazard Risk) ซึ่งสามารถขยายผลกระทบทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทั้งความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ความเสี่ยงด้านการวางกลยุทธ์ และความเสี่ยงด้านการเงินเหมือนโดมิโนเอฟเฟ็กซ์
อธิบายคร่าวๆ ก็คือ จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวเกิดคลื่นสึนามิ กระทบโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกทำลาย ธุรกิจ ได้รับผลกระทบ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในพื้นที่อาจจะมีสารปนเปื้อนต้องถูกเรียกกลับ พลังงานขาดแคลนเพราะโรงไฟฟ้าต้องหยุด เดินเครื่องกระทบระบบซัปพลายเชน สูญเสียลูกค้า ลูกค้าต้องเปลี่ยนไปซื้อของจากที่อื่น ยอดขายตก มีผลต่อสภาพคล่อง ราคาหุ้นในตลาดตก เป็นต้น
“กรณีสึนามิผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่ดีในการทำกลยุทธ์องค์กรของเรา จากเดิมที่ ปตท.เราเคยวัดความเสี่ยงเป็นเรื่องๆ ทำเป็นเรื่องๆ เพราะไม่คิดว่ามีการเชื่อมโยง หรือไม่คิดว่าจะนำไปสู่ความเสียหายของเศรษฐกิจโดยรวมได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เรานำมาปรับใช้ในการวางกลยุทธ์ต่อไปได้”
อย่างไรก็ดี ดร.ไพรินทร์ยกย่องปฏิกิริยาของชาวญี่ปุ่นต่อมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาหลังเหตุการณ์สึนามิ เพราะเมื่อโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่สามารถป้อนพลังงาน นอกจากรัฐบาลจะหันไปใช้วิธีให้โรงไฟฟ้าจากทางตอนใต้ของประเทศส่งพลังงานไปชดเชยบางส่วน แต่เมื่อรู้ว่าอย่างไรก็ไม่เพียงพอ ต้องขอความร่วมมือ ให้ประชาชนทุกคนช่วยกันประหยัดไฟ โดยตั้งเป้าลดการใช้ไฟไว้ 20%
“ตอนแรกรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการลดการใช้ไฟลง 1 ใน 4 แต่ก็ประกาศให้ลด 20% ก่อน กะว่าถ้าไม่ได้ก็จะออกกฎหมาย บังคับ แต่ปรากฏว่าคนญี่ปุ่นลดการใช้ไฟได้ 25% นั่นแสดงให้เห็นว่า ในภาวะปกติเราก็สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 1 ใน 4 โดยไม่ต้องมีมาตรการหรือทำอะไรเลยด้วย ซ้ำ”
นอกจากความเสี่ยง มีผลสำรวจความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้ดูว่า ระหว่างปี 2554 กับปี 2555 มีหลายอุตสาหกรรมที่ความน่าเชื่อถือต่ำลง เช่น กลุ่มพลังงานถูกลดความน่าเชื่อถือไป 7 คะแนน และจากผลของวิกฤติแฮมเบอร์ เกอร์มาจนถึงหนี้ในยุโรปก็เลยทำให้ธุรกิจธนาคารยังรักษาตำแหน่งอันดับ 9 รองบ๊วย ไว้ทั้งสองปี ปิดท้ายด้วยธุรกิจบริการทางการ เงิน ส่วนอันดับหนึ่งยังคงเป็นแชมป์เก่าคืออุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตามมาด้วยอุตสาหกรรมรถยนต์ และอาหาร ซึ่งขยับขึ้นมาจาก อันดับต่ำกว่าเดิมทั้งคู่
ข้อมูลที่น่าสนใจที่มีผลในเชิงสังคม คือการวัดการรับรู้ของคน พบว่า คนหันมา เชื่อมั่นตัวเองเพิ่มขึ้น (+22%) แต่กลุ่มคนที่เคยเป็นผู้นำทางความคิดกลับได้รับความ น่าเชื่อถือลดลง เช่น ซีอีโอ (-12%) นักวิเคราะห์การเงินและนักวิเคราะห์อุตสาหกรรม (-7%) ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ดูแลกฎ (-14%) อยู่ในอันดับท้ายสุด
“ความน่าเชื่อถือของซีอีโอลดลงอย่างน่าใจหาย ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยน แปลงตำแหน่งเพียงปีเดียวน่าจะมาจากการ พัฒนาของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาหรับสปริง ทำให้คนเชื่อมั่นในตัวเอง มากขึ้น และเชื่อมั่นในคนอื่นน้อยลง แม้กระทั่ง NGO ก็มีความน่าเชื่อถือน้อยลง”
ถึงจะตกใจแต่ ดร.ไพรินทร์ก็บอกว่า
“ไม่รู้ว่าอนาคตคนจะเชื่ออะไร แต่ผมคิดว่าข้อมูลการรับรู้ของคนสำคัญมากสำหรับบริษัทที่จะทำประเด็นเรื่องซีเอสอาร์ และการสื่อสาร”
เพราะถ้าไม่รู้ว่าคนจะเชื่อข้อมูลจาก ไหน การสื่อสารและข้อมูลที่มีอยู่ก็อาจจะสร้างความสับสนและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้
เขายกตัวอย่างข้อถกเถียงในอุตสาหกรรมการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่ใช้ระบบ Hydraulic Fracturing สำหรับการขุดเจาะก๊าซจากหินดินดาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้ดีเรื่องหนึ่ง
เรื่องมีอยู่ว่าระบบ Hydraulic Fracturing เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ราคาก๊าซใน อเมริกาถูกลงมาก เพราะลดต้นทุนการขุดเจาะจากระบบเดิมที่ต้นทุนมากกว่า 10 เหรียญต่อหนึ่งล้านบีทียูมาเหลือเพียง 3-5 เหรียญต่อหนึ่งล้านบีทียู ใกล้เคียงกับต้นทุน การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปกติ แต่ระบบนี้มีผลกระทบว่าอาจจะมีมีเทนซึ่งเป็นกรีนเฮาส์แก๊สออกมาทางผิวดิน สุดท้าย ก็กลายเป็นประเด็นว่า ระบบนี้ถูกต้องทางศีลธรรมหรือไม่ ในยุโรปฟันธงแล้วว่าไม่เหมาะสม แต่ในอเมริกายังไม่มีข้อสรุป
“ข้อมูลที่ต่างกันเลยยังไม่สรุปว่าตกลงวิธีนี้ดีหรือไม่ ในอเมริกาท่อน้ำมันเส้น ใหม่ถึงกับถูกแทรกแซงโดยประธานาธิบดีโอบามา ก็เลยเกิดความวิตกว่าธุรกิจเราจะ อยู่ได้อย่างไร ในไทยก็เจอปัญหา แม้กระทั่ง โรงงานบรรจุถังแก๊สที่จันทบุรียังถูกต่อต้าน กรณีแบบนี้ผมเสนอว่าให้ดูอุตสาหกรรมเคมี เป็นตัวอย่าง เพราะเคยเกิดปัญหาลักษณะเดียวกันมาก่อน และเชื่อว่าการดูแลด้วยความรับผิดชอบจะช่วยแก้ปัญหาได้”
ปัญหาลักษณะนี้ทำให้ซีอีโอของกลุ่มพลังงานที่ดาวอสถึงกับต้องทำสัญญาประชาคมร่วมกันออกมาหนึ่งฉบับ โดยหวังว่าสัญญาประชาคมที่พวกเขาทำขึ้นจะช่วยลดความกังวลใจของสังคมและชุมชน และเชื่อมั่นในการดำเนินงานของพวกเขามากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ฉันทานุมัติในการให้ผลิต (License to Operate) มิเช่นนั้นไม่ว่าธุรกิจพลังงานจะขยับไปทำอะไรก็คงไม่ได้
ดร.ไพรินทร์ย้ำว่า การตกลงเงื่อนไข ใดๆ กลุ่มธุรกิจพลังงานจะคุยกับภาคประชาสังคมเท่านั้น เพราะภาคประชาสังคมคือคนที่ให้ License to operate กับธุรกิจ
สัญญาประชาคมที่ทำร่วมกันออกมา 5 ข้อ คือ หนึ่ง-จะหาของถูกมาให้คนได้ใช้ สอง-สัญญาว่าจะทำธุรกิจโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สาม-จะโปร่งใส สี่-จะเป็นคนที่มีนวัตกรรมและผลักดันการใช้เทคโนโลยี และห้า-เพิ่มความรู้ด้านพลังงานให้กับภาคประชาสังคม มากขึ้น
“การให้ความรู้กับสังคมผมว่าเข้าท่า ที่สุด สุดท้ายแล้วเราเข้าใจว่า คนเข้าใจ เรื่องพลังงานน้อย ไม่รู้ว่าอันไหนแพงแล้วดี ถูกแต่ไม่ดี หรือถูกแล้วดี เพราะอะไร”
ข้อจำกัดของสัญญาประชาคม คือเป็นความคิดที่เกิดจากฝ่ายผู้ผลิตเพียงด้าน เดียว ซึ่ง ดร.ไพรินทร์เชื่อว่า สามารถมีการ พูดคุยกันเพิ่มเติมได้อีก หรืออาจจะเกิดการ สร้างสัญญาใหม่ในอุตสาหกรรมขึ้น ในช่วงการประชุมที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งคงมีการพูดคุยกันต่ออีกรอบ
จากมุมมองพลังงานโลกเมื่อย้อนกลับมาดูโครงสร้างสถาปัตยกรรมและสถานการณ์พลังงานของไทยก็จะพบปัญหา ที่น่าแก้ไขหลายเรื่อง
หากมีการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ไทยยังไม่มีแม้แต่การวัดประสิทธิภาพ การใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาด้านพลังงานว่า จริงจังแค่ไหน หรือแท้จริงแล้วไทยซ่อนความเป็นคนขี้โรคด้านพลังงานเอาไว้ โดย ดร.ไพรินทร์กล่าวว่า คนไทยควรรู้ความสัมพันธ์และให้ความสำคัญระหว่างตัวเลขการใช้พลังงานและอัตราการเติบโตของจีดีพี พอๆ กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถาน การณ์ที่แท้จริงของประเทศอย่างรอบด้าน
“ผมว่าเราต้องมาสร้างมาตรฐานความเชื่อถือด้านพลังงานกันใหม่ เราเห็นการเรียกร้องเรื่องพลังงานเยอะมาก โดยเฉพาะประเด็นว่าทำไมไม่เอาพลังงานมาใช้ถูกๆ ทำไมต้องแพง ถ้าดูจากสัญญาประชาคมที่เราทำกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานที่ออกมาข้อห้า ผมไม่แน่ใจว่าคนที่แสดงความคิดเห็นเรื่องพลังงานรู้เรื่องพลังงานจริงหรือไม่”
ดร.ไพรินทร์สรุปเป็นหลักการเพื่อให้ คนเข้าใจเรื่องพลังงานมากขึ้น โดยอธิบายว่าสิ่งที่ทุกคนควรเข้าใจคือต้องรู้ว่าทรัพยากร เป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป มีจำกัด และ ที่สำคัญเมื่อใช้พลังงานก็มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้ารัฐหรือภาคประชาชนจะใช้พลังงานก็ต้องยอมรับกฎพื้นฐานข้อนี้ ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะเป็นตัวกำหนดสถาปัตยกรรมพลังงานใหม่
ทั้งนี้ก่อนจะไปสู่ฟอร์มสถาปัตยกรรมใหม่ขึ้น เขาแนะนำด้วยว่า คนไทยต้องเริ่มหันไปทบทวนเรื่องสิทธิและหน้าที่เป็นอันดับแรก เพื่อให้การทำข้อตกลงใดๆ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค มากกว่ามาโต้เถียงกันเรื่องราคาพลังงานแบบที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะเถียงกันไปก็จะไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา
“สิทธิคือ การเข้าถึงและใช้พลังงาน ได้หลากหลายอย่างเหมาะสมเป็นธรรมและ เสมอภาค หน้าที่คือ ต้องรู้จักเลือกใช้พลังงานชนิดต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่น รถยนต์ใช้เบนซินก็ไม่ควรไปใช้แอลพีจี ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่พูดเรื่องหน้าที่ เพราะถ้าไม่เริ่มคุยกันด้วยสิทธิและหน้าที่ที่ควรจะเป็น สุดท้ายเราก็จะมาจบตรงที่ต้องมาเถียงกันว่า ต้องไม่ใช่ที่สวนหลังบ้านผม เพราะเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าแก๊สในอ่าวไทยกำลังจะหมด คนตัดสินใจต้องเข้าใจภาพใหญ่ของพลังงาน ไม่อย่างนั้นเราก็หลอกตัวเอง แล้วก็จะตอบลูกหลานไม่ถูกว่า ทำไมรุ่นพวกเขาไม่มีแก๊สใช้”
ดร.ไพรินทร์จบการแบ่งปันประสบการณ์จากดาวอสด้วยสถานการณ์พลังงานในไทย ซึ่งยืนยันได้ว่า ไม่ว่าอุตสาหกรรมพลังงานจะก้าวไปไกลถึงไหน แต่ที่เมืองไทยเรายังวนเวียนถกเถียงกันในเรื่องเดิมๆ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|